“ย้ายโรงเรียน” ปัญหาสุดปวดใจของทั้งลูกและพ่อแม่ จะแก้ทั้งทีต้องแก้ให้ตรงจุด ช่วยลดปัญหาลูกเครียดต้อนรับเปิดเทอม!
เตรียมตัวนับถอยหลังวันเปิดเทอม วันที่คุณพ่อคุณแม่และผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่านตั้งตารอคอย … แต่หารู้ไม่ว่า มีเด็กตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งที่เขาอยากหยุดเวลาไว้เพื่อจะได้ไม่ต้อง “ย้ายโรงเรียน” ด้วยเหตุผลเล็ก ๆ เพียงไม่กี่ข้อ ยกตัวอย่างเช่นเรื่องราวของคุณแม่ท่านนี้ เป็นต้น
สวัสดีค่ะ ทีมงาน Amarin Baby and Kids ดิฉันเป็นคุณแม่ท่านหนึ่งที่กำลังประสบกับปัญหาปวดใจที่ต้องทนเห็นลูกสาววัย 7 ขวบ ร้องไห้งอแงทุกวัน ด้วยเหตุผลที่แม่อย่างดิฉันฟังแล้วคิดว่า เรื่องเล็กนิดเดียว ไม่เห็นจะต้องเครียดอะไร ก่อนอื่นขอท้าวความก่อนค่ะ ดิฉันเป็นคุณแม่คนหนึ่งที่ลูกสาวกำลังจะย้ายเข้าเรียนในโรงเรียนใหม่ในตัวเมือง ที่มีระบบการศึกษาที่ดี สังคมที่ดี และแน่นอนค่ะว่า ย่อมมีอนาคตที่ดี … ลืมบอกไปค่ะ ลูกดิฉันกำลังจะเริ่มเข้าศึกษาในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในปีนี้
อีกไม่กี่สัปดาห์ลูกสาวของดิฉัน ก็ต้องไปเริ่มเรียนที่ใหม่แล้ว แต่ทว่าลูกสาวของฉันเริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป จากเด็กที่พูดจาเข้าใจง่าย ไม่งอแง กลายเป็นเด็กที่เอาแต่ร้องไห้ และเงียบซึม พอถามก็เอาแต่พูดว่า “หนูไม่อยากไปโรงเรียน หนูไม่อยาก ย้ายโรงเรียน” ซึ่งดิฉัน พยายามหาทุกคำพูดมาโน้มน้าวจิตใจให้กับลูกได้เข้าใจ แต่ก็ไม่สำเร็จ เลยอยากปรึกษาทีมงานว่า พอจะมีวิธีอะไรแนะนำให้ลูกดิฉันหยุดงอแงและยอมไปเรียนที่ใหม่บ้างหรือไม่คะ
หลังจากที่ทีมงานได้รับคำถามนี้จากคุณแม่ทางบ้านที่ส่งเข้ามานั้น ทำให้ทีมงานคิดทันทีว่า ใช่! ปัญหานี้เป็นปัญหาที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้คิดถึง หรืออาจจะมองดูว่า นี่คือเรื่องเล็ก! โดยหลงลืมไปว่า เรื่องเล็กสำหรับเรา อาจกำลังเป็นเรื่องใหญ่สำหรับลูกหรือเด็กเล็ก ๆ คนนึงก็เป็นได้
ทีมงานจึงได้ทำการศึกษาค้นคว้า จนไปเจอกับคำแนะนำที่น่าสนใจของคุณหมอที่เขียนขึ้นในเว็บไซต์ชื่อดังอย่าง Honestdocs ว่า เป็นเรื่องปกติของเด็กหลาย ๆ คน ที่อาจจะกำลังรู้สึกเครียดที่ต้องกลับไปเรียนหนังสือหลังจากที่ใช้เวลาปิดเทอมเป็นระยะเวลานาน หรือเกิดความกังวลเกี่ยวกับการย้ายโรงเรียน โดยกลัวว่า จะเข้ากับเพื่อนไม่ได้ กลัวคุณครูดุ หรือกลัวว่าจะไม่มีเพื่อน หรือไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยลดความกังวลใจของลูกได้ด้วยวิธีเหล่านี้
ลูกเครียดเพราะต้อง ย้ายโรงเรียน แก้ไขอย่างไรดี?
- ให้คุณพ่อคุณแม่สร้างบรรยากาศภายในบ้านให้ดูน่าตื่นเต้น ยกตัวอย่างเช่น มองหากระติกน้ำ กล่องข้าว กล่องดินสอ ยางลบ หรือของใช้ส่วนตัวที่จะนำไปใช้ในโรงเรียนชิ้นใหม่ เพื่อให้ลูกรู้สึกตื่นเต้น และนับวันที่จะใช้ของชิ้นนั้นด้วยความใจจดใจจ่อ
- พาลูกไปสร้างความคุ้นเคยกับโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นการพาลูกไปโรงเรียน ไปเล่นสนามเด็กเล่น ไปดูว่าภายในโรงเรียนนั้นมีกิจกรรมหรือสถานที่อะไรที่ลูกเล่นได้บ้าง นอกจากนี้ยังสามารถกล่าวถึงวิชาเรียนที่ลูกชอบได้ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น หากคุณแม่ทราบดีอยู่แล้วว่า ลูกชอบวาดภาพระบายสี ก็อาจจะพูดจาโน้มน้าวให้ลูกฟังว่า ที่โรงเรียนใหม่นี้ มีอะไรเป็นจุดเด่นเกี่ยวกับเรื่องของการวาดภาพระบายสีบ้าง ที่นี่มีประกวดวาดภาพระบายสีด้วยถ้าหากลูกทำสวย ๆ ก็อาจได้รางวัลก็เป็นได้
- พูดถึงข้อดีของโรงเรียน คุณหมอแนะนำว่า การพูดถึงข้อดีให้ลูกฟังว่า หากลูกได้เข้าไปเรียนในโรงเรียนใหม่ ลูกจะต้องชอบแน่นอน เพราะลูกจะได้เจอกับเพื่อนใหม่ สนามเด็กเล่นใหม่ คุณครูคนใหม่ หรือแม้แต่ได้ใส่ชุดยูนิฟอร์มใหม่ เป็นต้น
- ให้ลูกพักผ่อนให้เพียงพอและรับประทานอาหารที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารเช้า ที่ควรจะอุดมไปด้วยโปรตีนและคาร์โบไฮเดรตที่เป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงานของสมอง อารมณ์ และสมาธิ เป็นต้น
นอกจากคุณหมอจะแนะนำวิธีการดูแลลูกแล้ว คุณหมอยังได้ให้คำแนะนำคุณพ่อคุณแม่ดังนี้อีกด้วยค่ะ
- พูดจาให้กำลังใจและอธิบายให้ลูกฟัง บอกให้ลูกได้เข้าใจว่า นอกจากลูกแล้ว ยังมีเด็ก ๆ อีกหลายคนที่กังวลใจเกี่ยวกับการไปโรงเรียนวันแรก และแน่นอนว่าคุณครูเข้าใจถึงปัญหานี้ดี ว่าเด็กนักเรียนนั้นมีความกังวลใจ และอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเพื่อทำการปรับตัวและสร้างความคุ้นเคย ดังนั้น ลูกไม่ต้องกลัวหรือกังวลไปว่า คุณครูจะดุ จะตี หรือไม่เข้าใจ เพราะฉะนั้นสบายใจได้
- ใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ ท่านอาจจะใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานใช่ไหมละคะ พอกลับมาถึงบ้านก็อาจจะรู้สึกเหนื่อยและอยากพักผ่อน จึงไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูกมากเท่าไร ซึ่งสิ่งที่คุณหมอแนะนำก็คือ ในช่วงก่อนเปิดเรียน หรือหลังเปิดเรียนในสัปดาห์แรก ๆ ให้คุณพ่อคุณแม่พยายามใช้เวลาอยู่กับลูกให้มากที่สุด พยายามถามไถ่ถึงความรู้สึกของลูก ยกตัวอย่างเช่น ชีวิตประจำวันในวันนั้น ลูกได้ทำอะไรบ้าง ได้เจอเพื่อนใหม่กี่คน อาหารที่โรงเรียนอร่อยไหม ได้เล่นเกมส์หรือสนามเด็กเล่นอันใหม่บ้างหรือเปล่า คำถามเหล่านี้จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่น และดีใจที่อย่างน้อย คุณพ่อคุณแม่ก็รู้สึกสนใจว่า พวกเขาทำอะไรมาบ้าง และแน่นอนที่สุดเลยก็คือ ลูกจะรู้สึกดีใจที่ได้กลับมาใช้เวลาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ เป็นต้น
- คอยจับตาดูเรื่องของโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม ข่าวคราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียน โดยบางข่าวนั้นอาจจะเกี่ยวข้องกับลูกของเราทั้งทางตรงหรือทางอ้อมก็เป็นได้ ดังนั้น รู้ไว้บ้างจะดีที่สุดค่ะ
- ทำความรู้จักกับผู้ปกครองคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อนใหม่ที่ลูกคบด้วย เพราะอย่างน้อย เผื่อมีอะไรฉุกเฉินหรือติดขัดเรื่องการเรียนหรือกิจกรรมก็อาจจะสามารถช่วยแนะนำซึ่งกันและกันได้
- พาลูกไปหาเพื่อนเก่าบ้าง เพื่อลูกจะได้รู้สึกและเข้าใจว่า ต่อให้พวกเขาจะไม่ได้เรียนโรงเรียนเดียวกันหรือ ย้ายโรงเรียน กันไปแล้ว ก็ยังสามารถนัดเจอและใช้เวลาว่างด้วยกันได้
ขอแค่คุณพ่อคุณแม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าเราใส่ใจในรายละเอียดทุกอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึก เพียงเท่านี้ลูกของคุณพ่อคุณแม่ก็รู้สึกปลอดภัย หายกังวลใจ และสามารถไปเริ่มต้นใช้ชีวิตเรียนกับสถาบันใหม่ได้อย่างมีความสุขแล้วละค่ะ
ขอบคุณที่มา: Honestdocs
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่