AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เทคนิค ตอบคำถามลูก แบบได้ประโยชน์สูงสุด

เทคนิคตอบคำถามลูกแบบได้ประโยชน์สูงสุด

ตอบคำถามลูก …หากพูดถึงประเด็นเรื่องเด็กขี้สงสัยช่างซักถาม จิตแพทย์เด็ก อธิบายว่า ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กวัยอนุบาล เนื่องจากเด็กวัยนี้ เป็นวัยกำลังเรียน และช่างพูดเจรจา เรียกได้ว่า พ่อแม่ต้องเตรียมหูไว้เลย เพราะบางครั้ง เมื่อเด็กได้เข้าสังคม เรียนหนังสือ และต้องเจอกับสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากบ้าน ซึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อน อาจเป็นตัวตั้งคำถามให้ลูกได้ไม่น้อย เช่น ทำไมท้องฟ้าถึงเป็นสีฟ้า? แม่มีน้องได้อย่างไรค่ะ? . . . ซึ่งแต่ละคำถามของเด็ก เป็นคำถามที่พ่อแม่อธิบายยาก ทำให้บางครั้งไม่รู้จะตอบคำถามลูก อย่างไร เพราะตอบไป ลูกก็ไม่เข้าใจ

แต่เด็กที่ขี้สงสัย ไม่ใช่พฤติกรรมที่ผิดปกติแต่อย่างใด พ่อแม่ไม่ควรกังวล เพราะเด็กทุกคน มีความสนใจใคร่รู้โดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่จะถามมากน้อย หรือยินดีที่จะเป็นผู้นำ ผู้ตามขึ้นอยู่กับตัวเด็กเอง

ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูของพ่อแม่ ซึ่งเด็กบางคนถูกเลี้ยงให้เก็บรายละเอียดมาดี พ่อแม่ตั้งคำถามให้ลูกช่างสังเกตอยู่เสมอ เด็กก็จะช่างถามมากเป็นพิเศษ แต่ถ้าเด็กบ้านไหน ไม่ชอบถาม ใช่ว่าเด็กจะเก็บรายละเอียดได้ไม่ดีเสมอไป เพียงแต่ไม่มั่นใจที่จะเป็นผู้เริ่มเท่านั้น ทางที่ดีพ่อแม่ต้องช่วยเด็กตั้งคำถาม เพื่อให้ลูกเป็นคนช่างสังเกต ถ้าลูกไม่ถาม ไม่ควรเร่งเร้า เพราะจะทำให้เด็กกังวล แต่อาจจะใช้กิจกรรมเช่น หนังสือ สื่อต่างๆ เป็นตัวตั้งคำถามก็ได้ พ่อแม่จึงควรใช้โอกาสนี้ ส่งเสริมความช่างพูด ช่างถามให้เกิดประโยชน์กับตัวลูกมากที่สุดค่ะ

ลูกช่างถาม ขี้สงสัย ไม่ใช่พฤติกรรมที่ผิดปกติแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี การที่ลูกขี้สงสัย ส่วนหนึ่งมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้วย กับเรื่องนี้ จิตแพทย์เด็กแนะว่า วิธีสังเกตง่ายๆ ว่าลูกสนใจสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหน ขอให้สังเกตว่า ลูกโต้ตอบกับสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างไร เช่น เห็นลูกสุนัขแล้ว บางคนอยากเข้าไปจับด้วยความเอ็นดู ซึ่งนับว่าใช้ได้

แต่ถ้าเด็กบางคนตอบสนองไม่เหมาะสม อาทิ ดึงหาง เขวี้ยงของใส่ โดยที่ไม่กลัวเกรง พฤติกรรมในส่วนนี้ ต้องให้ปรึกษาจิตแพทย์ เพื่อตรวจดูสาเหตุอีกที เพราะเด็กอาจให้การสนองตอบต่อสิ่งแวดล้อมผิดไป ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมแง่ลบในตอนโตได้

อ่านต่อ >> วิธีถามคำถามเสริมพัฒนาการลูกด้านหลักเหตุผล

และฝึกฝนการแยกแยะสิ่งต่าง ๆ คลิกหน้า 2

การเป็นเจ้าหนูทำไมของลูก นอกจากความอยากรู้อยากเห็นแล้ว ลูกวัยนี้ กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนาหลักเหตุผลและฝึกฝนการแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ฉะนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรเสริมพัฒนาการส่วนนี้ของลูกด้วยวิธีเหล่านี้ค่ะ

เวลาลูกสงสัยเรื่องอะไร เขาอาจจะมีคำตอบอยู่ในใจ แต่ยังพูดอธิบายเองไม่ถูก และถ้าคำตอบของเราไม่ตรงกับกับที่เขาคิดไว้ เขาก็มักจะถามย้ำอยู่เรื่อย ๆ จนบางครั้งอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกรำคาญได้ค่ะ เช่น เขาอาจเข้าใจว่าผลไม้สีแดงเป็นมะเขือเทศ ทั้ง ๆ ที่มันคือแอปเปิ้ล ถ้าเราบอกว่านั่นคือแอปเปิ้ล ลูกก็อาจถามย้ำอยู่เรื่อย ๆ หากเป็นอย่างนี้คุณพ่อคุณแม่ก็อาจถามเขากลับว่า “แล้วหนูคิดว่ามันเป็นอะไรคะลูก” เพื่อที่จะได้รู้ว่าลูกเข้าใจว่าอย่างไร หรือสิ่งที่ลูกอยากรู้จริง ๆ คืออะไร (ลูกอาจจะรู้แล้วว่าผลไม้นั้นคือแอปเปิ้ล และอยากจะทาน แต่ไม่รู้ว่าจะพูดว่าอย่างไร) ซึ่งตรงนี้ก็เป็นโอกาสที่เราจะสอนเขาต่อด้วยการอธิบายอย่างง่าย ๆ ได้ว่า “หนูเห็นมันเป็นสีแดงเหมือนกับที่เรากินที่บ้านใช่มั้ยคะ แต่มันไม่ใช่มะเขือเทศนะ หนูลองดูดี ๆ สิคะ เห็นมั้ยคะว่าเปลือกมันแข็งกว่า กลิ่นก็หอม ๆ ด้วย” ตรงจุดนี้ คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนเจาะลงในเรื่องที่ลูกยังไม่เข้าใจได้ค่ะ

หากลูกขี้สงสัยแล้วไม่อยากหาคำตอบ เราเองต้องทำตัวเป็นคนขี้สงสัย เพื่อกระตุ้นให้ลูกอยากหาคำตอบ ซึ่งเริ่มจากเรื่องง่าย ๆ หรือสิ่งที่ลูกรู้อยู่แล้ว เช่น ทำไมหมามันต้องเห่านะ ทำไมดอกไม้มีสีสวย ๆ ลูกอาจจะตอบในแบบที่เขาคิด เขาอาจคิดว่าดอกไม้มีสีสวย เพราะหนูชอบ ในมุมของเด็กที่เขาตอบแบบนี้ไม่ใช่เรื่องผิดค่ะ แต่การถามหรือกระตุ้นให้ลูกตอบแล้วต่อยอดไปเรื่อย ๆ จะทำให้เรารู้ว่าเขายังไม่รู้ในจุดไหน และคุณพ่อคุณแม่ต้องเสริมเพิ่มเติมให้เขาเรื่องไหนบ้างค่ะ

เด็กวัยนี้ยังเข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลได้ไม่ดีนัก อาจยังสับสนว่าสิ่งใดเป็นต้นเหตุและสิ่งใดเป็นผลลัพธ์ หรือสิ่งใดเกิดก่อนสิ่งใดเกิดหลัง โดยเริ่มต้นสอนได้จากการเล่นค่ะ เพราะจริงๆ การเล่นเปรียบเหมือนการลองผิดลองถูก เมื่อมีอุปสรรคหรือความขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างเล่น จะเป็นโอกาสที่จะสอนลูกเกี่ยวกับเหตุผล และแก้ปัญหาด้วยตนเองได้

อ่านต่อ >>กิจกรรมสร้างสรรค์ช่วยเสริมพัฒนาการให้กับเจ้าหนูจำไม” คลิกหน้า 3

  1. เกมอะไร-ทำไม

คำถาม “ทำไม” เป็นสิ่งที่ลูกคุ้นเคยดีอยู่แล้วค่ะ อาจเล่นเกมคำถามกับลูก เช่น “ลูกจ๋าทำไมนกบินได้” จากนั้นก็รอฟังคำตอบ แต่ถ้าเขายังไม่ตอบ เราก็อาจจะกระตุ้นว่า “เป็นแบบนี้ได้ไหมลูก นกบินได้เพราะมันมีปีกและขาสั้น เวลาเดินมันอาจจะเมื่อย ก็เลยบินดีกว่า” ซึ่งวิธีนี้อาจช่วยกระตุ้นให้เขามีคำตอบและมีแนวทางมากขึ้น

  1. เกมคาดเดาเหตุการณ์

เวลาขับรถพาลูกไปข้างนอก เราก็อาจจะให้เขาลองคาดเดาเหตุการณ์จากสัญญาณไฟจราจร เช่น ถามว่า “ต่อจากไฟแดง จะเป็นไฟอะไรนะ แล้วถ้าไฟเขียวเราทำยังไง” วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้ลูกได้คิดและเข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลด้วย ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่สามารถหยิบยกทุกอย่างรอบตัวทั้งในบ้านและนอกบ้านได้

  1. เกมตั้งคำถาม…สร้างจินตนาการ

เกมตั้งคำถามเหนือธรรมชาติ “หนูคิดว่าถ้าเรามี 4 แขนจะเป็นยังไงลูก” หรือ “ลูกว่าบ้านเราไม่มีแอร์เลยจะอยู่ได้ไหม จะทำยังไงดีน้า ลองช่วยกันคิดหน่อยสิคะ” ให้เขาได้บริหารสมองและใช้จินตนาการค่ะ

เกมตั้งคำถามจากธรรมชาติรอบตัว เช่น เดิน ๆ ไปเจอใบไม้ ก็ลองให้ลูกคิดต่อว่า ใบไม้ไปทำอะไรได้บ้าง เขาอาจจะตอบว่าเอาไปลอยน้ำ เป็นเรือ แค่นี้ก็ช่วยให้เขาได้ใช้จินตนาการแล้วล่ะค่ะ

  1. เกมฝึกประสาทสัมผัส

เกมนี่เสียงอะไร : ฝึกการได้ยิน โดยนำของเล่นที่ลูกคุ้นเคย เช่น เครื่องเขย่า รถ กีต้าร์ เปียโน จากนั้นก็ให้เปิดตา แล้วเขาทายว่านี่เสียงอะไร ลูกก็จะได้ให้ประสาทสัมผัสทั้ง 5

เกมหาของ : ฝึกสายตา ซ่อนของไว้ในมือให้ลูกทายว่าอยู่ข้างไหน เวลาเล่นควรสลับไปสลับมาช้า ๆ ให้เขาได้เล่นไปกับเรา

เกมจับของ : ฝึกการสัมผัส อาจนำขวดปากแคบหรือกล่องทึบ ๆ ใส่ของที่ลูกคุ้นเคย เช่น รถของเล่น ตุ๊กตา ช้อนซ้อม หรือของที่เจอในชีวิตประจำวัน จากนั้นก็ให้ลูกเอามือล้วงลงไป ช่วยฝึกความจำและได้ใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก

เกมจับคู่ : ชวนลูกเก็บของตามประเภทของ เช่น กล่องหนังสือนิทาน กล่องตุ๊กตา กล่องสำหรับลูกบอล เกมนี้นอกจากจะเสริมพัฒนาการลูกและฝึกระเบียบวินัยแล้ว ยังช่วยคุณแม่ทุ่นแรงในการตามเก็บของลูกได้เยอะเชียวค่ะ ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัวเลยนะคะ

แต่ก็มีข้อควรระวังในการรับมือกับลูกขี้สงสัยอีกอย่างหนึ่ง คือ พ่อแม่ไม่ควรใส่อารมณ์ ตำหนิ หรือทำสีหน้ารำคาญใส่ลูก เมื่อลูกขี้สงสัย หรือถามอยู่ตลอดเวลา นั่นจะทำให้เด็กรู้สึกผิดในสิ่งที่เขาถาม ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการการเรียนรู้ และจิตใจ ทำให้กลายเป็นเด็กไม่มั่นใจ และไม่กล้าจะเป็นผู้เริ่ม

ทั้งนี้ เมื่อสงสัยในสิ่งที่เขาอยากรู้ แต่ถ้าลูกถามซ้ำผิดปกติ หรือถามคำถามเดิมบ่อยเกินไป ซึ่งพ่อแม่ตอบให้ลูกฟังไปแล้ว แต่ก็ยังถามอีก วิธีแก้ที่ดีที่สุดคือ ให้พ่อแม่ทำเป็นนิ่ง พร้อมกับทำสีหน้ายิ้มๆ เหมือนไม่สนใจ แต่จริงๆ แล้วสังเกตลูกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเด็กจะรู้ได้เองว่า เขาไม่ควรถามซ้ำอีก

แค่คุณพ่อคุณแม่พร้อมที่จะเรียนรู้ไปกับลูก และหากิจกรรมง่าย ๆ ที่สามารถจะหยิบยกมาจากสิ่งต่าง ๆ รอบตัวให้เขาได้เล่นบ้าง ก็จะช่วยเสริมให้เจ้าหนูของเรากลายเป็นเจ้าหนูทำไมที่ เก่ง ฉลาด และสร้างสรรค์ได้แล้วล่ะค่ะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : พญ.ปริชวัน จันทร์ศิริ