AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

20 เคล็ดลับ สร้างลูกรักให้เป็น นักอ่านตัวน้อย

20 เคล็ดลับ สร้างลูกรักให้เป็น นักอ่านตัวน้อย

แม้สมัยนี้จะเป็นโลกแห่งเทคโนโลยีและสื่ออิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยเป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสารที่ทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้ในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลายมากกว่าการอ่านในหนังสือ แต่ถึงกระนั้น การอ่านยังคงมีความสำคัญต่อเด็กทั้งในเรื่องของการพัฒนาความคิดและสติปัญญา เพราะฉะนั้น เราจึงนำ 20 เคล็ดลับ สร้างลูกรักให้เป็น นักอ่านตัวน้อย มาฝากค่ะ

การอ่านหนังสือสำหรับเด็กๆ ไม่เพียงแต่ให้ประโยชน์เฉพาะความรู้กับเด็กเพียงด้านเดียว แต่การอ่านหนังสือจะเป็นการช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์อีกทางระหว่างพ่อแม่กับลูกด้วย เด็กๆ จะได้เรียนรู้จากการตั้งคำถามกับพ่อแม่ รู้จักคิดและเกิดจินตนาการ การมองตามมือที่ชี้ไปยังภาพหรือตัวหนังสือ การโต้ตอบเหล่านี้จะช่วยพัฒนาสมองของลูกได้เป็นอย่างดี

 

ประโยชน์ของการอ่านหนังสือ

***หากเด็กไม่ชอบอ่านหนังสือ ย่อมเท่ากับเป็นการปิดกั้นการพัฒนาความคิด สติปัญญาปิดกั้นมิให้ตนเองได้รับความรู้ที่เพิ่มพูนขึ้น เด็กที่ไม่ชอบอ่านหนังสือแม้ว่าจะได้รับการศึกษาตามระบบและสอบผ่านมาได้แต่เมื่อเติบโตขึ้นเขาจะเหมือนคนที่ขาดความรู้ ขาดความคิดที่ลึกซึ้งไม่สามารถปรับตัวให้เท่าทันโลกที่แข่งขันด้วยความรู้ในอนาคตได้

คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มต้นให้ลูกเป็น นักอ่านตัวน้อย ได้ตั้งแต่ลูกอยู่ในท้อง เบบี๋ และเข้าสู่วัยก่อนเรียนจนถึงในวัยเรียนได้ด้วยการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ยิ่งอ่านมากลูกก็จะยิ่งมีคลังคำศัพท์มากขึ้น … อย่างไรก็ตามเด็กที่ได้ปลูกฝังนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เด็ก ๆ เขาจะเป็นคนรักการอ่านในตอนโตด้วย ซึ่งการสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับการอ่านให้กับเด็ก แล้วความตระหนักก็จะเกิดแก่เด็กเองโดยธรรมชาติ โดยไม่ต้องมีการบังคับ ดังนั้นการสร้างลูกรักให้เป็น นักอ่านตัวน้อย จึงต้องเริ่มต้นจากที่บ้านเป็นอันดับแรก

อ่านต่อ >> 12 ข้อที่พ่อแม่”ต้องทำ” เพื่อฝึกให้ลูกรักเป็นนักอ่านตั้งแต่ตัวน้อย คลิกหน้า 2

คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยให้ลูกรักการอ่านตั้งแต่เล็กๆ ได้โดยการมีหลักง่ายๆ …ถ้าทำได้ตามนี้รับรองลูกน้อยของคุณจะกลายเป็นหนอนหนังสือ และมีนิสัยรักการอ่านตั้งแต่เล็ก และในตอนโตอย่างแน่นอน โดยต้อง 12 อย่างเริ่มจากต้องแรกคือ…

1.ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี

ถ้าต้องการให้ลูกมีพฤติกรรมอย่างไร พ่อแม่ต้องทำแบบนั้นให้ลูกเห็นเพื่อเป็นต้นแบบที่ดี นั่นหมายความว่าถ้าต้องการให้ลูกรักการอ่าน พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบของนักอ่านที่ดีด้วย เช่น มีหนังสือติดตัวอยู่ตลอดเวลา ว่างเมื่อไหร่อ่านเมื่อนั้น ว่างตรงไหนอ่านตรงนั้น หรืออ่านที่ไหนก็ได้ อ่านเมื่อไหร่ก็ได้

2.ต้องอ่านหนังสือกับลูก

พยายามหาเวลาว่างทุกวันเพื่ออ่านหนังสือให้ลูกฟัง และอย่ากังวลหากลูกจะมีความสนใจเพียงระยะสั้น ลองให้เขาจับหนังสือ เปิดดูหน้าต่างๆ ด้วยตัวเอง ให้ลูกรู้สึกถึงเรื่องราว สี และรูปทรงในหนังสือ ซึ่งสิ่งที่เขาสนใจจะบอกคุณได้ว่าครั้งต่อไปคุณควรเล่าหรือเรียกความสนใจจากเขาอย่างไร

สอนให้ลูกรักการอ่าน

3.ต้องมีมุมหนังสือภายในบ้าน

คุณพ่อคุณแม่ต้องนำหนังสือที่อยู่ภายในบ้าน นำมาจัดวางไว้ด้วยกัน จัดเป็นมุมสบาย เป็นที่เป็นทาง ซึ่งเด็กก็จะรู้เลยว่า ถ้าเขาอยากอ่านหนังสือ ก็จะต้องมาอ่านที่มุมนี้ หรือถ้าลูกยังเล็ก เขาก็จะคลาน หรือเดินเข้ามาเปิดหนังสือเล่น หรือได้เห็นภาพสวยๆ เป็นต้น นอกจากนี้ต้องสร้างกติการ่วมกันด้วย เช่น อ่านแล้วต้องเก็บที่เดิม หรืออ่านอย่างทะนุถนอม

4.ต้องเลือกสรรหนังสือสมวัย

คุณพ่อคุณแม่ต้องไม่ถือตัวเองเป็นใหญ่ เช่น เลือกหนังสือตามใจพ่อแม่ เพราะวัยของลูกไม่ใช่วัยของพ่อแม่ หนังสือที่พ่อแม่ชอบลูกอาจจะไม่ชอบก็ได้ ฉะนั้นหนังสือที่ดีสำหรับลูกต้องมีเนื้อหาที่สั้นๆ ง่ายๆ ไม่ซับซ้อน ตรงไปตรงมา น่าคิด น่าติดตาม เป็นภาษาที่ง่ายๆ ซ้ำๆ ย้ำๆ และทวนบ่อยๆ ภาพประกอบสวยงาม ขณะเดียวกันต้องกระตุ้นความคิด และเสริมสมองให้กับ นักอ่านตัวน้อย ด้วย

5.ต้องใส่ใจชวนกันไปอ่าน

คุณพ่อคุณแม่ต้องชี้ชวน หรือเชิญชวนให้ลูกมาอ่านหนังสือด้วยกัน การชักชวนที่ดีที่สุดคือ การที่พ่อแม่อ่านออกเสียงดังๆ เพื่อเรียกร้องความสนใจ หรือชักชวนลูกให้มาเปิดหนังสือร่วมกันชี้ชวนพูดคุยชวนคุยถึงภาพในหนังสือ

6.ต้องชื่นชมกันและกันเสมอ

เวลาลูกหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน พ่อแม่ต้องชมลูก เพราะบางคนจะปากแข็ง คิดว่าถ้าชมมากลูกจะเหลิง เช่น ชื่นใจจังเลย วันนี้ลูกแม่อ่านหนังสือ (แต่ไม่ใช่ชมแบบเหน็บๆ หรือเสแสร้ง แต่ต้องชมแบบจริงใจ)

อ่านต่อ >> 12 ข้อที่พ่อแม่ต้องทำ เพื่อฝึกให้ลูกรักเป็นนักอ่านตั้งแต่ตัวน้อย คลิกหน้า 3

7.ต้องนำเสนออย่างมีความสุข

ทุกครั้งที่คุณพ่อคุณแม่หยิบหนังสือมาอ่าน ขอให้เป็นเวลาแห่งความสุข ไม่ใช่หยิบมาแล้วอารมณ์เสีย แต่ต้องแสดงท่าทางที่เป็นสุข เพื่อที่ นักอ่านตัวน้อย จะได้มีความสุขใจในการหนังสือไปด้วย

8.ต้องหากิจกรรมสนุกๆ มาประกอบ

การอ่านหนังสืออย่างเดียวอาจไม่ถูกใจลูก ดังนั้นก่อนการอ่าน ระหว่างการอ่าน หรือหลังการอ่าน ถ้าพ่อแม่เตรียม และทำกิจกรรม หรือเล่นกับลูก ก็จะสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่านได้ง่ายขึ้น เช่น ทายปัญหาอะไรเอ่ย หรืออื่นๆ ที่สำคัญอย่าลืมตุ๊กตา ของเล่น หรือเกมต่างๆ ที่ควรนำมาอ่านไปเล่นไป อ่านไปร้องไป หรืออ่านไปเต้นไป นั่นจะทำให้ลูกไม่เบื่อ และสนุกกับการอ่านหนังสือร่วมกับพ่อแม่

สร้างนิสัยรักการอ่าน

9.ต้องชอบต่อยอดทางความคิด

เวลาคุณพ่อคุณแม่อ่านหนังสือ หรือนิทานให้ลูกฟังต้องตั้งคำถาม และเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความคิดอยู่เสมอ เช่น ไก่มีกี่ตา นับสิลูก แล้วหนูมีกี่ตาลูก เอ้ามีตาเท่ากับไก่เลย เป็นต้น นี่จึงถือเป็นการต่อยอดทางความคิดขณะเล่านิทาน เจอช่องไฟตรงไหนที่เหมาะสมให้รีบต่อยอดทันที แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรมากจนเกินไป เพราะจะทำให้ลูกรู้สึกเบื่อได้

10.ต้องไม่คิดถึงวัย

เวลาอยู่กับลูกพ่อแม่ต้องสลัดวัยที่เป็นอยู่ทิ้ง แล้วสวมบทบาทให้ใกล้เคียงกับลูก หรือทำตัวร่วมสมัย ร่วมวัยกับลูก เล่นเป็นเล่น ร้องเป็นร้อง คลานเป็นคลาน วิ่งเป็นวิ่ง โดดเป็นโดด เป็นต้น เพื่อให้สอดคล้อง และเป็นเพื่อนเล่นที่ดีของลูกได้ เชื่อว่า เพื่อลูกคุณต้องทำได้ครับ

11.ต้องใช้เวลาพอดี

การอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ต้องใช้เวลาที่ไม่นานมากจนเกินไปจนทำให้ลูกเบื่อ หรือสั้นเกินไปจนทำให้ลุกหงุดหงิด ต้องสังเกตท่าทีของลูกว่า ยังต้องการฟังอยู่หรือเปล่า ถ้ายังต้องการฟังก็ควรอ่านไปเรื่อยๆ แต่ถ้าลูกเริ่มสนใจสิ่งอื่น ก็ควรจะยุติการอ่าน ไม่ควรฝืนลูกให้นั่งฟังต่อไป

12.ต้องมีระเบียบชีวิต

การอ่านหนังสือต้องทำทุกวัน หรือทำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะอ่านหนังสือร่วมกันหลังจากรับประทานอาหาร ปิดโทรทัศน์ตอน 1 ทุ่ม แล้วอ่านหนังสือร่วมกัน หรืออ่านหนังสือก่อนนอนทุกวัน ดังนั้นถ้าทำเป็นประจำ ลูกจะเกิดความเคยชิน และปฏิบัติจนติดเป็นนิสัย มีวินัย ใส่ใจการอ่าน ไม่นานเห็นผลแน่

การสร้างลูกรักให้เป็น นักอ่านตัวน้อย ไม่ใช่เรื่องยาก เริ่มต้นได้จากครอบครัว ส่วนอีก 7 อย่า ที่พ่อแม่ไม่ควรทำกับลูกนั้นมีอะไร สำคัญอย่างไรต่อการสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน ไปดูกันเลยค่ะ

อ่านต่อ >> “8 อย่าเคล็ดลับสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน” คลิกหน้า 4

8 อย่า เคล็ดลับสร้างลูกรักให้เป็น นักอ่านตัวน้อย โดยเริ่มจาก 

1.อย่ายัดเยียดการอ่าน

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรนำหนังสือ หรือซื้อหนังสือแล้วบอกให้ลูกต้องอ่าน เพราะบางครั้งการอ่านต้องอ่านด้วยความรู้สึกอยากอ่านจริงๆ ทำให้ลูกอ่านอย่างสนุก และมีความสุข ถ้าไปบังคับ หรือยัดเยียดให้อ่าน ลูกอาจจะเครียด และเกลียดหนังสือไปเลยก็ได้

2.อย่าคาดหวังสูง

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรคาดหวังว่า หนังสือจะทำให้ลูกเก่ง หรือมีพัฒนาการที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องค่อยเป็นค่อยไป หรือถ้าหวังสูงเกินไป บรรยากาศภายในบ้านอาจตึงเครียดได้ ต้องคิดอยู่เสมอว่าลูกยังเล็ก จะทำอะไรเท่าผู้ใหญ่อย่างพ่อแม่คงไม่ได้ และอย่าเปรียบลูกกับเด็กคนอื่น แต่ต้องเข้าใจว่าเด็กแต่ละคนมีก้าวย่างในการเรียนรู้ที่ต่างกัน

3.อย่าเป็นกังวล

พ่อแม่ต้องอย่ากังวลมากไป ลูกน้อยจะหยิบ จับ ตี ดึง ทุบ หรือขีดเขียนหนังสือ ต้องปล่อยวาง และปล่อยให้เขาขีดเขียนตามความต้องการบ้าง ขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่ต้องสอนวิธีการใช้หนังสือให้กับลูกด้วย ทางที่ดีไม่ควรทำโทษ ตำหนิ หรือบ่นลูก

สร้างนิสัยรักการอ่านให้ลูกรัก

4.อย่าจ้องแต่จะสอน

พ่อแม่ต้องไม่ควรจ้องสอนมากเกินไป แต่ควรใช้เรื่องสนุกๆ ในหนังสือภาพสวยๆ หรือพฤติกรรมของตัวละครมาเป็นช่องทางอบรมสั่งสอนลูกแทน เช่น คุณงามความดีของตัวละคร หรือสอนให้ลูกเห็นผลกรรมของคนไม่ดี ว่าท้ายที่สุดแล้ว ต้องได้รับโทษอย่างไรบ้าง เป็นต้น

อ่านต่อ >> “8 อย่าเคล็ดลับสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน” คลิกหน้า 5

5.อย่ามีคำถามมาก

การตั้งคำถามกับลูกขณะนั่งอ่านหนังสือ หรืออ่านนิทานด้วยกันเป็นเรื่องที่ดี เพราะเด็กจะได้มีส่วนร่วมกับหนังสือ ทำให้ลูกกล้าแสดงออกอย่างมั่นใจ และแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าวได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ถามลูกมากเกินไป จะทำให้ลูกเบื่อการอ่านหนังสือไปเลยก็ได้ เพราะต้องมาคอยคิด และตอบคำถามมากมายทั้งๆ ที่บางเรื่องก็รู้อยู่แล้ว รวมทั้งหมดสนุกกับการติดตามเรื่องราวต่อไป

6.อย่าขัดคอขัดจังหวะขณะอ่าน

เมื่อลูกออกเสียงไม่ชัด หรือพูดผิด คุณพ่อคุณแม่อย่าขัดคอ ตำหนิลูก หรือแสดงความเอ็นดูด้วยการหัวเราะขบขันเป็นอันขาด เพราะจะทำให้ลูกเกิดอาการกล้าๆ กลัวๆ ไม่มั่นใจในการอ่านออกเสียงครั้งต่อไป จนอาจทำให้ขาดความเชื่อมั่นกับการอ่านออกเสียงขณะเรียนหนังสือที่โรงเรียนก็เป็นได้

7.อย่าตำหนิ ต่อว่า

ไม่ว่าลูกจะไม่ชอบอ่านหนังสือไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตามการแก้ปัญหาควรเริ่มต้นที่ ความรัก ความเข้าใจ และตามมาด้วยความตั้งใจที่จะช่วยเหลือ ดังนั้น การตำหนิ การต่อว่า การเปรียบเทียบกับพี่น้องคนอื่นการข่มขู่ หรือการลงโทษ จึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้ลูกรักการอ่านแล้วยังอาจเป็นการเร่งให้เขายิ่งไม่อ่านและทำในสิ่งตรงกันข้ามเพื่อประชด

8.อย่าเบื่อลูก

พฤติกรรม หรือการแสดงออกของพ่อแม่มีผลต่อชีวิตลูกทั้งทางตรง และทางอ้อม เรื่องนี้จึงต้องระวัง เมื่อพ่อแม่ตั้งใจที่จะสร้างลูกรักให้เป็นนักอ่านแล้ว ก็ขอให้ทุ่มเทอย่างเต็มที่ ถ้าลูกสนใจในหนังสือ แล้วต้องการให้พ่อแม่มานั่งอ่านด้วยกัน ถ้าทำในทันทีไม่ได้ ต้องสร้างเงื่อนเวลา เช่น ให้แม่ทำกับข้าว ซักผ้า ถูบ้านให้เสร็จก่อน แล้วจึงจะอ่านหนังสือที่ลูกเลือกไว้ให้ฟังได้ แต่ทั้งนี้พ่อแม่ต้องทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับลูกด้วย ไม่เช่นนั้นจะทำให้ลูกผิดหวัง และไม่เชื่อพ่อแม่อีกต่อไป

เชื่อได้เลยว่า การฝึกลูกรักของคุณให้เป็นนักอ่านตั้งแต่ตัวน้อยๆ จะเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาทันที ถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจหลักและเรียนรู้เทคนิคต่างๆเหล่านี้  ถึงเวลา “สร้างลูกรักให้เป็นนักอ่าน” กันแล้ว ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกครอบครัวนะคะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.manager.co.th , www.dumex.co.th

อ่านต่อ เรื่องน่าสนใจอื่นๆ

อยากให้ลูกฉลาด ต้องอ่านหนังสือให้ลูกฟัง

ชวนลูกอ่านหนังสือ พัฒนาสมอง ด้วยเคล็ดลับ 7 ข้อ

ฝึกให้ลูกรักการอ่าน ทำได้ตั้งแต่วัยทารก!