“ซื่อสัตย์” เป็นคำที่ทุกคนคงรู้จักกันดี การ “สอนลูกให้ซื่อสัตย์” คือการสอนให้ลูกน้อยแสดงความจริงใจ ตรงไปตรงมา ซื่อตรง ไม่โกหก ศรัทธาในการพูดความจริง หรือไม่ขโมยสิ่งของของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง การที่ลูกน้อยมีความซื่อสัตย์ จะทำให้เขาเป็นที่น่าไว้วางใจ และเป็นที่รักของทุกคน
สอนลูกให้ซื่อสัตย์
การ “โกหก” ของเด็กเลี้ยงแกะ
เมื่ออาหารเย็นรออยู่บนโต๊ะเรียบร้อยแล้ว คุณแม่ก็ถามน้องว่าล้างมือแล้วหรือยัง
“ล้างแล้วครับ”
“ฟอกสบู่ด้วยหรือเปล่าคะ”
แต่เมื่อแม่มองดูมือทั้งสองข้างของน้องดูแห้งๆ น่าสงสัยชอบกล
“หนูเช็ดด้วยผ้าเช็ดมือจนแห้งเลยแม่” น้องบอกคุณแม่ แต่ผ้าเช็ดมือก็แห้งด้วยเหมือนกัน
ฟังคุ้นๆ ใช่ไหมคะ เพราะเป็นเรื่องปกติที่เด็กวัยนี้จะทดสอบลิมิตเกี่ยวกับการโกหกค่ะ แม้จะตกใจเมื่อจับโกหกลูกได้เป็นครั้งแรก คุณก็ไม่จำเป็นต้องกังวลว่ากำลังฟูมฟัก ”เด็กเลี้ยงแกะ” ไว้ในบ้าน จึงไม่มีเหตุผลที่จะปฏิบัติต่อลูกเหมือนเขาเป็นแบบนั้นด้วย
เด็กส่วนใหญ่โกหกเพราะไม่อยากให้เกิดปัญหา ฉะนั้นถ้าคุณทำเหมือนเป็นเรื่องใหญ่โตและพูดกับลูกทำนองว่า “ตายละหนูโกหกแม่หรือเนี่ย!” เขาจะกลัวและอาจโกหกมากขึ้นในวันหลัง เพราะไม่อยากให้แม่โกรธหรือลงโทษ แทนที่จะประสาทเสีย คุณควรบอกลูกไปตรงๆ ว่าจับโกหกได้ และให้เขาทำในสิ่งที่คุณสั่งไว้ตั้งแต่แรก เช่น คุณอาจพูดว่า “แม่รู้ว่าหนูยังไม่ได้ล้างมือหรอก ลุกขึ้นไปล้างเดี๋ยวนี้เลยนะ”
แต่ถ้ารู้สึกว่าลูกโกหกในทางที่ไม่ถูกไม่ควรมากขึ้น (เช่นบอกคุณว่าพ่ออนุญาตทั้งที่พ่อพูดชัดๆ เลยว่าไม่อนุญาต) คุณก็ต้องเข้มงวดกับลูกมากขึ้นด้วย เช่นพูดว่า “ตอนที่หนูโกหก แม่รู้สึกเหมือนกับว่าคงไว้ใจหนูไม่ได้ เพราะฉะนั้นหนูเลิกนิสัยโกหกเสียตั้งแต่ตอนนี้เลยเถอะนะ ถ้าอยากจะได้อะไรก็ขอกับแม่ตรงๆ เลยดีกว่า”
การคุยกันตรงๆ แบบนี้มักทำให้ลูกรู้สึกเหมือนถูกลงโทษพอแล้ว และอาจทำให้เขาไม่อยากโกหกอีกต่อไป ว่าแต่ว่าอย่าลืมชมเชยเมื่อลูกพูดความจริงด้วยนะคะ แม้จะเป็นการสารภาพว่าไปทำความผิดอะไรสักอย่างมาก็เถอะ!
อ่านต่อ ทำยังไงดี!? เมื่อลูกชอบ “ขโมย” คลิกหน้า 2
ทำยังไงดี!? เมื่อลูกชอบ “ขโมย”
ถ้ามีใครสักคนบอกคุณพ่อ คุณแม่ว่า ลูกขโมยเงิน หรือของของคนอื่น คุณพ่อ คุณแม่จะรู้สึกอย่างไร แน่นอนว่าคนเป็นพ่อ เป็นแม่ ย่อมไม่เชื่อว่าลูกของตัวเองจะขโมยเงินของคนอื่น เพราะลูกน้อยไม่เคยมีพฤติกรรมแบบนี้ และเป็นเด็กดีมาโดยตลอด แล้วคุณพ่อ คุณแม่จะเริ่มต้นพูดกับลูกว่าอย่างไร? จะถามลูกว่าไปขโมยเงินของคนอื่นมาจริงหรือเปล่า? ก็กลัวว่าลูกจะเสียใจ ถ้าพบว่าลูกไม่ได้เอาไปจริงๆ พ่อแม่บางคนจึงเลือกที่จะ “ไม่ทำอะไรเลย!!”
แล้วถ้าลูกน้อยขโมยจริงๆ ล่ะ คุณพ่อ คุณแม่จะรับมืออย่างไร? ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ถ้าลูกอยู่ในวัยเด็กเล็ก เขายังไม่เข้าใจเรื่องความเป็นเจ้าของ และไม่รู้ว่าสิ่งไหนควรทำ ไม่ควรทำ พ่อแม่จึงต้องอบรมสั่งสอน และปลูกฝังในเรื่องนี้ตั้งแต่ยังเล็ก ให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องการเป็นเจ้าของ สิ่งไหนของเขา สิ่งไหนของคนอื่น และไม่ควรเอาของของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง
ถ้าเป็นเด็กโต เขาจะเรียนรู้เรื่องการเป็นเจ้าของแล้ว แต่ยังควบคุมตัวเองได้ไม่ดี อาจอยากได้ของคนอื่นมาเป็นของตัว ถ้าคุณพ่อ คุณแม่เลี้ยงดู และปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเล็กๆ ก็คงไม่น่าเป็นห่วง แต่ถ้าลูกน้อยมักจะได้ตามที่ตัวเองต้องการมาตลอด อยากได้อะไรก็ได้ เมื่อลองเอาของคนอื่นมาเป็นของตัวแล้ว ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็จะทำขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นความเคยชินในที่สุด
ปัญหาที่ตามมาคือ “การโกหก” เพราะไม่กล้าพูดความจริง กลัวว่าจะโดนลงโทษ คุณพ่อ คุณแม่จึงควรรีบแก้ปัญหา พูดคุยกับลูก ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไ
วิธีแก้ไขเมื่อพบว่าลูก “ขี้ขโมย”
1.ถามลูกด้วยท่าทีที่อ่อนโยน ว่าตอนที่เกิดเหตุ ลูกทำอะไรอยู่ เล่นอะไร เล่นกับใคร อยู่ที่ไหน ชวนพูดคุยถึงสิ่งที่เขาทำในเวลานั้น คุณพ่อ คุณแม่ จะสังเกตได้ว่าลูกน้อยพูดความจริงหรือเปล่า ลองเล่าให้ลูกฟังว่ามีคนทำของหายไป ไม่รู้ว่าหายไปไหน เขากังวลว่าจะหายไปในช่วงที่ลูกอยู่แถวนั้น ลูกเห็นบ้างหรือเปล่า
2.ถ้าลูกยอมรับผิด ลองถามลูกว่า ทำไมถึงเอาเงินเขาไป หรือมีความจำเป็นอะไรที่ต้องเอาเงินเขาไป พูดด้วยท่าทีปกติ ไม่ใช้อารมณ์ รับฟังว่าเพราะอะไร บางครั้งเขาอาจจะทำอะไรบางอย่างเสียหาย และกลัวถูกลงโทษ ไม่กล้าบอกพ่อแม่ พอเห็นเงินก็คิดว่าจะเอาเงินนั้นไปซื้อของชดใช้ เมื่อรับฟังลูกแล้ว ต้องอธิบายถึงผลของการกระทำนั้น เช่น เมื่อหนูขโมยเงินคนอื่น คนๆ นั้นจะต้องเดือดร้อน เสียใจ และเป็นทุกข์
3.ให้ลูกเรียนรู้ว่าสิ่งที่ทำเป็นสิ่งที่ผิด ต้องรับผิดชอบการกระทำของตัวเอง เริ่มจากการยอมรับผิด เอาเงินไปคืนเจ้าของ และกล่าวขอโทษ อาจลงโทษโดยการตัดสิทธิบางอย่าง เช่น ค่าขนม งดดูรายการโปรด ลงโทษลูก เพื่อให้เขาได้เรียนรู้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ ถ้ามีการทำผิดครั้งหน้า จะมีการลงโทษเพิ่มขึ้น
อ่านต่อ คุณธรรมพื้นฐานของคำว่า “ซื่อสัตย์” คลิกหน้า 3
คุณธรรมพื้นฐานของคำว่า “ซื่อสัตย์”
ความซื่อสัตย์ เป็นคุณธรรมที่แสดงถึงความจริงใจ ตรงไปตรงมา ซื่อตรง ไม่โกหก ไม่คดโกง ไม่ลักขโมย ความซื่อสัตย์ทำให้เกิดความน่าไว้วางใจ และเป็นที่รัก การที่ลูกน้อยเป็นคนซื่อสัตย์ พูดจริง ทำจริง จริงใจ และเป็นคนตรง จะทำให้เขาเป็นที่เชื่อถือ และได้รับการเคารพนับถือจากคนอื่น มีความเข้มแข็งทางจิตใจ การพูดโกหกเพราะกลัวถูกลงโทษ หรือกลัวโดนดูถูก เป็นนิสัยที่มักจะเกิดขึ้นกับเด็กๆ วิธีแก้ไขคือ การให้ความรัก ไม่ทอดทิ้ง สอนให้ลูกรู้จักพูดความจริง เมื่อทำอะไรผิดต้องยอมรับ ทำให้ลูกรู้ว่า คุณพ่อ คุณแม่หวังดีต่อเขา ให้อภัยเขาได้ และไว้วางใจซึ่งกันและกัน
กิจกรรมส่งเสริมลูก เรื่องความซื่อสัตย์
คุณพ่อ คุณแม่สามารถฝึกฝนให้ลูกน้อยรู้จักความซื่อสัตย์ได้ ด้วยการนำกิจกรรมมาสอดแทรกความรู้เรื่องความซื่อสัตย์ ให้ลูกน้อยเข้าใจง่ายขึ้น เช่น
- กิจกรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ งานประดิษฐ์ หรือศิลปะ
- กิจกรรมเคลื่อนไหว เข้าจังหวะ ได้แก่ การร้องเพลงที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการซื่อสัตย์
- กิจกรรมการเล่น ได้แก่ การเล่นตามกติกา มารยาท
- กิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์ ได้แก่ การเล่านิทานที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความซื่อสัตย์ เล่นบทบาทสมมติ ล้อมวงพูดคุยถึงเหตุการณ์ตัวอย่าง
- การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ได้แก่ เป็นแบบอย่างที่ดีของลูก ชี้ให้ดูคนที่มีความซื่อสัตย์เป็นตัวอย่าง
การปลูกฝังความซื่อสัตย์ คุณพ่อ คุณแม่สามารถฝึกลูกน้อยได้ตั้งแต่ยังเล็ก โดยการเป็นแบบอย่างที่ดี ซื่อสัตย์ต่อกัน ซื่อสัตย์ต่องานที่ทำ ซื่อสัตย์ต่อการดำรงชีวิต และทำให้ลูกน้อยรู้ว่าความซื่อสัตย์มีประโยชน์อย่างไร ลูกน้อยจะสามารถควบคุมตัวเองได้
สอนลูกซื่อสัตย์ตามหลัก “ศีล 5”
1.สอนลูกน้อยให้ละเว้นจากการทำร้ายคนอื่น เช่น แอบหยิก แอบตี แอบแกล้ง หรือแอบรังแกสัตว์เลี้ยง
2.สอนลูกน้อยไม่ให้ลักขโมยของของคนอื่น เช่น ของเล่น เงินค่าขนม ดินสอ ให้ลูกน้อยมีจิตใจที่ซื่อตรง
3.สอนลูกน้อยไม่ให้ทำร้าย หรือทำลายของที่คนอื่นรัก เช่น ตุ๊กตา หุ่นยนต์ ที่เป็นการทำลายจิตใจคนอื่น
4.สอนให้ลูกน้อยไม่ให้พูดโกหก หลอกลวง หรือพูดถึงผู้อื่นในแง่ไม่ดี สอนให้ยอมรับผิด เมื่อลูกน้อยทำผิด
5.สอนให้ลูกน้อยหลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือคบเพื่อนที่ไม่ดีที่ชอบโกหก เพราะจะทำให้ลูกโกหกตาม
เครดิต: ผู้จัดการออนไลน์, วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, ถามครู.com
Save
Save