“ซื่อสัตย์” เป็นคำที่ทุกคนคงรู้จักกันดี การ “สอนลูกให้ซื่อสัตย์” คือการสอนให้ลูกน้อยแสดงความจริงใจ ตรงไปตรงมา ซื่อตรง ไม่โกหก ศรัทธาในการพูดความจริง หรือไม่ขโมยสิ่งของของคนอื่นมาเป็นของตัวเอง การที่ลูกน้อยมีความซื่อสัตย์ จะทำให้เขาเป็นที่น่าไว้วางใจ และเป็นที่รักของทุกคน
สอนลูกให้ซื่อสัตย์
การ “โกหก” ของเด็กเลี้ยงแกะ
เมื่ออาหารเย็นรออยู่บนโต๊ะเรียบร้อยแล้ว คุณแม่ก็ถามน้องว่าล้างมือแล้วหรือยัง
“ล้างแล้วครับ”
“ฟอกสบู่ด้วยหรือเปล่าคะ”
แต่เมื่อแม่มองดูมือทั้งสองข้างของน้องดูแห้งๆ น่าสงสัยชอบกล
“หนูเช็ดด้วยผ้าเช็ดมือจนแห้งเลยแม่” น้องบอกคุณแม่ แต่ผ้าเช็ดมือก็แห้งด้วยเหมือนกัน
ฟังคุ้นๆ ใช่ไหมคะ เพราะเป็นเรื่องปกติที่เด็กวัยนี้จะทดสอบลิมิตเกี่ยวกับการโกหกค่ะ แม้จะตกใจเมื่อจับโกหกลูกได้เป็นครั้งแรก คุณก็ไม่จำเป็นต้องกังวลว่ากำลังฟูมฟัก ”เด็กเลี้ยงแกะ” ไว้ในบ้าน จึงไม่มีเหตุผลที่จะปฏิบัติต่อลูกเหมือนเขาเป็นแบบนั้นด้วย
เด็กส่วนใหญ่โกหกเพราะไม่อยากให้เกิดปัญหา ฉะนั้นถ้าคุณทำเหมือนเป็นเรื่องใหญ่โตและพูดกับลูกทำนองว่า “ตายละหนูโกหกแม่หรือเนี่ย!” เขาจะกลัวและอาจโกหกมากขึ้นในวันหลัง เพราะไม่อยากให้แม่โกรธหรือลงโทษ แทนที่จะประสาทเสีย คุณควรบอกลูกไปตรงๆ ว่าจับโกหกได้ และให้เขาทำในสิ่งที่คุณสั่งไว้ตั้งแต่แรก เช่น คุณอาจพูดว่า “แม่รู้ว่าหนูยังไม่ได้ล้างมือหรอก ลุกขึ้นไปล้างเดี๋ยวนี้เลยนะ”
แต่ถ้ารู้สึกว่าลูกโกหกในทางที่ไม่ถูกไม่ควรมากขึ้น (เช่นบอกคุณว่าพ่ออนุญาตทั้งที่พ่อพูดชัดๆ เลยว่าไม่อนุญาต) คุณก็ต้องเข้มงวดกับลูกมากขึ้นด้วย เช่นพูดว่า “ตอนที่หนูโกหก แม่รู้สึกเหมือนกับว่าคงไว้ใจหนูไม่ได้ เพราะฉะนั้นหนูเลิกนิสัยโกหกเสียตั้งแต่ตอนนี้เลยเถอะนะ ถ้าอยากจะได้อะไรก็ขอกับแม่ตรงๆ เลยดีกว่า”
การคุยกันตรงๆ แบบนี้มักทำให้ลูกรู้สึกเหมือนถูกลงโทษพอแล้ว และอาจทำให้เขาไม่อยากโกหกอีกต่อไป ว่าแต่ว่าอย่าลืมชมเชยเมื่อลูกพูดความจริงด้วยนะคะ แม้จะเป็นการสารภาพว่าไปทำความผิดอะไรสักอย่างมาก็เถอะ!