AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกไอมีเสมหะ เกิดจากอะไรได้บ้าง?

เมื่อลูกไอมีเสมหะ อาจเกิดจากอะไรได้บ้าง เรามีคำตอบจากคุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาฝากค่ะ

ไอมีเสมหะอาจเกิดจาก

• โรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ เช่น

– โรคหวัด โรคไซนัสอักเสบ ทำให้น้ำมูกไหลลงคอ กลายเป็นเสมหะ แก้ไขโดย ล้างจมูกเพื่อช่วยให้น้ำมูกไหลออกดีขึ้นไม่อุดตันหรือไหลลงคอ อาจใช้ยาที่ทำให้น้ำมูกลดลง กินยาแก้อักเสบในกรณีที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย

– โรคต่อมทอนซิลและคอหอยอักเสบ โรคหลอดลมอักเสบโรคปอดอักเสบ ทำให้มีเสมหะที่เกิดจากการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุช่องคอ เยื่อบุหลอดลม เยื่อบุถุงลม แก้ไขโดย กินยาแก้อักเสบในกรณีที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ดื่มน้ำมากๆ เพื่อทำให้เสมหะไม่เหนียว กินยาละลายเสมหะหรือยาขับเสมหะการทำกายภาพบำบัดเคาะปอด เพื่อให้เสมหะไม่เกาะติดเหนียวกับผนังของหลอดลมหรืออุดตันท่อหลอดลมขนาดเล็ก

– โรควัณโรค มักมีอาการไอเรื้อรัง ไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร เจริญเติบโตช้า หากสงสัยว่าเป็นโรคนี้ทดสอบได้ด้วยการเอกซเรย์ปอดและทดสอบผิวหนัง รักษาด้วยยารักษาวัณโรค

• โรคภูมิแพ้ เช่น แพ้นมวัว แพ้อาหาร แก้ไขโดย หยุดกินอาหารที่แพ้ แพ้สารกระตุ้นภูมิแพ้ที่เกิดจากการสูดดม เช่นฝุ่น ไรฝุ่น ละอองเกสร ซากแมลงสาบ รังแค ขนสุนัข-แมว วินิจฉัยโดยการทดสอบผิวหนังหรือเจาะเลือดตรวจดูระดับภูมิคุ้มกัน แก้ไขโดย หลีกเลี่ยงสารดังกล่าวร่วมกับการกินยารักษาภาวะภูมิแพ้

• สิ่งแปลกปลอมอยู่ในระบบทางเดินหายใจ เช่น สำลักชิ้นส่วนของเล่นหรือเศษอาหาร แก้ไขโดย การส่องกล้อง คีบเอาสิ่งแปลกปลอมออก และรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการติดเชื้อ

• โรคกรดไหลย้อน เนื่องจากภาวะอ่อนแรงของกล้ามเนื้อหูรูดที่กั้นระหว่างหลอดอาหารและกระเพาะ ทำให้มีอาหารหรือกรดไหลย้อนขึ้นมาระคายเยื่อบุทางเดินหายใจ จึงไอเรื้อรัง แก้ไขโดยใช้ยาช่วยลดกรดไหลย้อน กินอาหารครั้งละน้อยๆ แต่บ่อยๆ

 

บทความโดย: แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทารกแรกเกิด