AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เมื่อลูกมี นิสัยเด็กขี้อิจฉา แก้ไขอย่างไร ?

นิสัยเด็กขี้อิจฉา การมีครอบครัวที่อบอุ่น พ่อแม่ พี่น้องรักใคร่กลมเกลียวกัน เป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวปราถนา แต่บางครั้งเรื่องหยุมหยิมกวนใจก็เกิดขึ้นได้ ยิ่งโดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกหลายคน มักมีปัญหาพี่น้องอิจฉากัน ไม่พี่อิจฉาน้อง ก็น้องอิจฉาพี่ ซึ่งหากปล่อยปัญหานี้ไว้อาจติดตัวลูกไปจนโตได้ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีวิธีแก้พฤติกรรม นิสัยเด็กขี้อิจฉา มาให้ทราบค่ะ

 

นิสัยเด็กขี้อิจฉา เกิดขึ้นเพราะสาเหตุใดบ้าง ?

1. มีสมาชิกใหม่เกิดขึ้นในครอบครัว

การมีอีกหนึ่งสมาชิกใหม่เข้ามาในครอบครัว ย่อมเป็นไปได้ว่าลูกคนโตที่ก่อนจะมีน้อง เขาได้รับการดูแลเอาใจใส่จากพ่อแม่ และคนรอบข้าง แบบที่ไม่เคยต้องแบ่งความรักที่ได้รับให้กับใคร แต่พอมีน้องใหม่เข้ามาในครอบครัว ทุกคนต่างให้ความสนใจ แน่นอนว่าลูกคนโต อาจคิดว่าน้องที่เกิดมานั้นจะมาแย่งเอาความรักที่เคยได้รบจากทุกคนไปจากเขาหมด ความรู้สึกกลัว ความรู้สึกน้อยใจจึงก่อตัวเกิดขึ้นในใจเด็กเงียบๆ เมื่อถูกสะสมนานวันเข้าก็กลายเป็นความอิจฉาขึ้นในที่สุด

2. การถูกเปรียบเทียบ  

การที่เด็กสองคนมักถูกพ่อแม่ หรือคนในครอบครัว พูดชมหรือเปรียบเทียบให้เห็นว่าใครเก่งกว่าใคร หรือใครสวยกว่าใคร ฯลฯ ก็อาจนำมาซึ่งความเกลียดชังขึ้นในใจเด็กได้ ว่าที่เขาไม่เก่ง ไม่ดีพอ เลยทำให้พ่อแม่ไม่รักไม่สนใจ ซึ่งการพูดเปรียบเทียบเช่นนี้ไม่ได้ทำให้ลูกรู้สึกดีขึ้น แต่กลายเป็นเด็กรู้สึกว่าถูกตำหนิในเรื่องเดิมซ้ำๆ  ซึ่งก็จะนำไปสู่ความรู้สึกอิจฉาขึ้นในใจเด็ก

3. รักเหมือนกัน แต่ปฏิบัติต่างกัน

เมื่อคนในครอบครัวพยายามให้พี่น้องได้อะไรเหมือนกันโดยไม่นึกถึงความแตกต่างของเด็กแต่ละคนว่ามีนิสัย หรือความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ก็สามารถก่อให้เกิดความอิจฉาขึ้นในใจเด็กได้เหมือนกัน  เช่น การที่พ่อแม่บอกลูกคนเล็กว่า “นี่คือตุ๊กตาหมีตัวใหญ่ที่หนูอยากได้ และบอกลูกคนโตว่านี่เป็นตุ๊กตาแบบเดียวกันสำหรับลูก” การที่พ่อแม่ให้ด้วยความรัก ซึ่งแทนที่ลูกคนโตจะพอใจ เขาอาจระแวงว่าน้องได้ของเล่นที่แพงกว่าและดีกว่า  หรือลูกคนโตอาจรู้สึกว่าที่พ่อกับแม่ซื้อให้แบบเดียวกัน เพราะว่าจะได้ไม่บ่นว่าพ่อแม่รักน้องมากกว่า  แทนที่ลูกคนโตจะคิดว่าที่ซื้อให้เพราะรู้ว่าเขาชอบ

4. พ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน

บางครั้งพ่อแม่ก็ไม่รู้ตัวว่า สิ่งที่พ่อแม่ทำกับลูกสองคนนั้นต่างกัน เช่น การเอาใจใส่ให้ความรักกับลูกชาย มากกว่าลูกสาว (บางครอบครัวเห่อลูกชายมากว่าสาว) การที่พ่อแม่ทำแบบนี้แน่นอนว่าจะส่งผลให้เด็กเกิดความรู้สึกน้อยใจ เก็บกดเอาไว้จนกลายเป็นความอิจฉาริษยาและรู้สึกเกลียดชังพี่น้องกันเอง และรวมถึงกลายเป็นเกลียดคนรอบข้างไปด้วย

5. พี่น้องทะเลาะกัน

การทะเลาะกันของเด็กๆ ที่เป็นพี่น้องกัน ถือเป็นเรื่องปกติ แต่หากลูกทะเลาะกันจนเกินเลยทำให้กลายเป็นเรื่องใหญ่โต และเกิดความไม่ยอมกัน พ่อแม่ควรยื่นมือเข้าไปไกล่เกลี่ย แต่หากพ่อแม่ให้ความไม่เป็นธรรมกับใครคนใดคนหนึ่ง ตำหนิอีกฝ่ายมากเกินไป ก็อาจทำให้เกิดความอิจฉา ไม่พอใจขึ้นกับอีกฝ่ายได้

อ่านต่อ >> “จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกมีนิสัยเด็กขี้อิจฉา” คลิกหน้า 2 

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกมี นิสัยเด็กขี้อิจฉา ?

1. มีพฤติกรรมก้าวร้าว

เด็กจะแสดงออกถึงความอิจฉาด้วยการ ร้องไห้กรีดร้องเสียงดัง ดื้อไม่ยอมเชื่อฟัง แกล้งขัดคำสั่ง บางคนทำลายสิ่งของ ทำร้ายตนเอง หรือบางคนที่อิจฉามากอาจจะแสดงออกถึงขนาดไปแกล้งคนอื่น หรือทำลายของคนอื่นเพื่อความสะใจของตัวเอง

 2. เจ็บป่วยโดยหาสาเหตุไม่ได้

เด็กบางคนที่มีความอิจฉามากๆ อาจจะมีอาการเจ็บป่วยบ่อยๆ เช่น ไม่ค่อยมีแรง ปวดหัว ซึ่งมักเกิดกับเด็กที่โตหน่อย โดยเมื่อคุณพ่อคุณแม่พาไปพบแพทย์ก็จะไม่พบสาเหตุว่าป่วยเป็นอะไร

3. ไม่อยากให้คนที่ไม่ชอบเข้าใกล้

เด็กบางคนที่มีนิสัยขี้อิจฉา จะแสดงออกชัดเจนว่าไม่อยากแบ่งปันของเล่น อาหาร ฯลฯ ให้กับคนที่ไม่ชอบ และเก็บตัวเวลาที่เจอคนที่ไม่ชอบอยู่ใกล้ๆ อย่างถ้าเป็นพี่กับน้องที่อิจฉากัน ก็จะไม่ยอมแบ่งอะไรให้เลย จะหวงไว้คนเดียว

4. มีพฤติกรรมแยกตัวเมื่อมีน้อง

เด็กบางคนเมื่อลูกว่าแม่มีน้องอีกคนที่อยู่ในท้อง หรือน้องคลอดแล้วมาอยู่ที่บ้านด้วยกัน เขาอาจแสดงออกด้วยการเป็นเด็กที่เงียบมากขึ้น เซื่องซึม และแยกตัวจากพ่อแม่ และคนอื่นๆ ในครอบครัว

อ่านต่อ >> “วิธีแก้ไขปัญหา นิสัยเด็กขี้อิจฉา” คลิกหน้า 3

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

วิธีแก้ไขปัญหา นิสัยเด็กขี้อิจฉา

เด็กที่มีนิสัยขี้อิจฉาเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยตามที่ได้กล่าวไปแล้ว ซึ่งเชื่อว่าหากลูกมีนิสัย หรือพฤติกรรมขี้อิจฉา คงเป็นเรื่องไม่ดีแน่ เพราะหากปล่อยไว้ไม่แก้ไข อาจต่อผลกระทบต่อตัวเด็กในการเข้าสังคมกับผู้อื่นในอนาคต  รวมทั้งความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวเอง ระหว่างพ่อแม่ หรือพี่กับน้อง ก็จะยิ่งแย่ลงไปด้วย  ดร.แพง ชินพงศ์ ได้ให้คำแนะนำในการแก้ไขเกี่ยวกับเด็กที่มีนิสัยขี้อิจฉา ดังนี้…

1. เมื่อลูกมีพฤติกรรมเหล่านี้ คุณพ่อคุณแม่อย่าดุ อย่าตีหรือใช้วิธีลงโทษรุนแรงกับลูก เพราะลูกจะยิ่งไม่เข้าใจและเพิ่มความอิจฉาคนอื่นมากยิ่งขึ้น แต่คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบแก้ไข ด้วยการเรียกชื่อลูกและเข้าไปกอดเพื่อให้ลูกหยุดพฤติกรรมไม่น่ารักเหล่านั้นก่อน เมื่อลูกสงบลงแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคุยกับลูกให้เข้าใจว่าแม้ว่าคุณพ่อคุณแม่จะมีน้องใหม่หรือมีลูกหลายคน แต่ความรักที่คุณพ่อคุณแม่มีต่อลูกก็ยังรักเหมือนเดิมไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย1

2. ใช้เวลากับลูกให้มากขึ้น ทั้งในการพูดคุย และทำกิจกรรมด้วยกันบ่อยๆ เช่น เล่านิทานให้ลูกฟัง เล่นกับลูก เล่นกีฬาด้วยกัน ทำงานบ้านด้วยกัน พาลูกไปเที่ยวด้วยกัน เพราะการที่ครอบครัวได้มีเวลาอยู่ใกล้ชิดกันจะทำให้ลูกเกิดความอบอุ่นในจิตใจและมั่นใจในความรักที่คุณพ่อคุณแม่มีต่อเขา ซึ่งเป็นวิธีที่ดีมากที่จะไม่ให้ความอิจฉาเกิดขึ้นในใจลูก2

3. เปิดโอกาสให้ลูกมีส่วนร่วมกับทุกคนในครอบครัว หากกำลังจะมีลูกคนใหม่ คุณพ่อคุณแม่ควรคุยให้ลูกรู้ตั้งแต่เนิ่นๆ ว่าคุณแม่กำลังท้องและกำลังจะมีน้อง ให้ลูกได้สัมผัสและคุยกับลูกในท้อง ชวนลูกไปเลือกซื้อของสำหรับน้อง เช่น ผ้าอ้อม เสื้อผ้าเด็กอ่อน โดยให้ลูกมีส่วนในการช่วยเลือกข้าวของเครื่องใช้ด้วย หรือหากที่ลูกๆ โตแล้ว ควรให้พี่น้องได้ทำกิจกรรมร่วมกันมากขึ้น เช่น ให้ช่วยกันทำงานบ้าน เล่นกีฬาคู่กัน ทำกิจกรรมเสริมนอกบ้านร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อให้พี่น้องได้ใกล้ชิดและผูกพันกันมากขึ้น3

 

ความอิจฉาสามารถกระตุ้นความรู้สึกที่รุนแรงให้เกิดขึ้นได้ แต่จะดีกว่าไหมหากไม่มีความอิจฉาริษยาเกิดขึ้นในใจของทุกคน  ยิ่งในเด็กด้วยแล้ว เราในฐานะพ่อแม่ควรให้ความรัก และการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เขาเกิดช่องว่างขึ้นในใจ จนสะสมกลายเป็นเด็กมีนิสัยขี้อิจฉา การสอนให้ลูกมอง หรือคิดในด้านบวก จะช่วยให้เด็กรู้สึกต่อผู้คนรอบข้างอย่างเป็นมิตร และมีน้ำใจ สุดท้ายเด็กก็จะมีนิสัยน่ารักต่อพ่อแม่ พี่น้อง และคนรอบข้าง ใครเห็นก็รัก …ด้วยความห่วงใยค่ะ

 

อ่านต่อบทความเรื่องอื่นที่น่าสนใจ
สร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้ลูก ตอน อบรมและจัดการพฤติกรรมเด็ก
10 เคส เลี้ยงลูกดี แต่กลับทำให้เป็นเด็กมีปัญหา
ลูกชอบสั่งชอบกรี๊ด ทำอย่างไรดี?

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง
1,2,3ดร.แพง ชินพงศ์. http://www.manager.co.th/
นพ.เบนจามิน สป๊อก/พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ.คัมภีร์เลี้ยงลูกวัยแรกเกิด-วัยรุ่นตอนปลาย