AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เด็กช่างจำ หรือ เจ้าขี้ลืม

คุณแม่แสนจะงุนงงกับระบบความจำของลูกชายวัย 6 ขวบเสียเหลือเกิน คนเก่งร่ายชื่อตัวละครในการ์ตูนเรื่องขบวนการเคโรโระได้ทุกตัว แถมบอกยศบอกตำแหน่งได้ด้วยนะ แต่พอถามว่าเอากล่องดินสอไปวางไว้ที่ไหน พ่อหนูกลับตอบไม่ได้เสียอย่างนั้น!

เวอร์จิเนีย ซิลเลอร์ ผู้เขียน Rewards for Kids! อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า “การเลือกจำ” เป็นธรรมชาติของเด็กวัยเรียน พวกเขาจะแบ่งพื้นที่สมองไว้สำหรับเก็บสิ่งที่ตนคิดว่าสำคัญเท่านั้น แต่ในทางตรงกันข้าม สำหรับพ่อแม่ เรื่องหยุมหยิมเหล่านั้นไม่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเลยสักนิด ความแตกต่างนี้จะเห็นชัดขึ้นเมื่อเด็กๆ เข้าโรงเรียน เพราะพวกเขาจะมีเรื่องมากมายเข้ามาในสมอง ดังนั้นถ้าคุณกำลังห่วงเจ้าขี้ลืมที่ไม่เคยเอาวัตถุดิบวิชางานฝีมือไปโรงเรียนสักที หรืออยากวางมือจากภารกิจตามหาผ้าเช็ดหน้าที่หายไป ก็ลองใช้เทคนิคใส่เรื่องควรจำลงไปในสมองเล็กๆ กันดีกว่า

1. อย่าใส่ข้อมูลในครั้งเดียว

ถ้าคุณมีงานบ้าน 3 อย่างที่อยากให้ลูกช่วยดูแล แต่คร้านจะต้องมาจ้ำจี้จ้ำไชเจ้าขี้ลืมอยู่ทุกวี่วัน ลองมอบหมายงานให้เขาทำทีละอย่าง ปล่อยให้ลูกทำงานเหล่านั้นจนเป็นกิจวัตรแล้วจึงค่อยเพิ่มหน้าที่ใหม่ๆ ให้เขา ที่สำคัญ อย่าเตือนหรือดุว่าเขาบ่อยเกินไป เพราะเด็กจะยิ่งเบื่อและผลักเรื่องที่พ่อแม่บ่นออกไปจากสมองมากยิ่งขึ้น

2. ให้ลูกเป็นฝ่ายได้ประโยชน์

ตั้งรางวัลสำหรับคนความจำดี ผู้ไปโรงเรียนโดยไม่ลืมอะไรเลยตลอดสัปดาห์ จะได้กินขนมที่ชอบเป็นของว่างในวันหยุด หรือให้รางวัลสำหรับคนที่เก็บที่นอนเองทุกเช้าโดยไม่อิดออดด้วยผ้าปูเตียงผืนใหม่ลายน่ารัก ฯลฯ

3. เทคนิคช่วยจำ

ไอเทมเหล่านี้ช่วยกระตุ้นต่อมความจำได้ กระดานเตือนความจำลายการ์ตูนตรงหัวนอน การ์ดโปเกมอนในกระเป๋าใส่กล่องข้าว (ถ้าไม่เอากล่องข้าวกลับบ้าน สมบัติสุดหวงหายไปไม่รู้ด้วย) หรือถ้าฉุกเฉิน หาสมุดจดไม่ได้จริงๆ จะยอมผ่อนผันเรื่องความสะอาด ให้ลูกจดโน้ตลงบนฝ่ามือมาก่อน กลับบ้านค่อยล้างออกก็ไม่สาย

และถ้าลูกไม่พยายามจำอะไรเลยสักนิด…ปล่อยให้เขาได้รับผลของความขี้ลืมเสียบ้าง เช่น งดว่ายน้ำ 3 ครั้ง ต่อแว่นตาว่ายน้ำที่เขาลืมไว้ที่สระ 1 อัน หรือไม่ต้องจ้ำจี้จ้ำไชเตือนเขาเรื่องการบ้านวิชาศิลปะ (ถ้าไม่มีผลงานประดับบนกระดานดำเหมือนเพื่อนๆ ใครกันเล่าที่จะมานั่งเสียดาย)

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง