เลี้ยงลูกอย่างไรให้มี TQ (Thinking Quotient) - Amarin Baby & Kids
TQ (Thinking Quotient)

เลี้ยงลูกอย่างไรให้มี TQ (Thinking Quotient) ฉลาดในการคิด เก่ง และประสบความสำเร็จ

event
TQ (Thinking Quotient)
TQ (Thinking Quotient)

นักวิจัยยืนยันว่า IQ มีส่วนเกี่ยวข้องกับความสำเร็จในชีวิต เช่น ในด้านการทำงาน การเรียน เพียงแค่ 20% เท่านั้น แต่คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและมีความสุข ล้วนมีความฉลาดในด้านอารมณ์และสังคม รวมถึง Q ในด้านอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงกันด้วย ดังนั้นเราที่เป็นพ่อแม่จึงไม่ควรมุ่งหวังให้ลูกเป็นแค่เด็กเก่งที่คิดเลขเป็นหรือพูดได้หลายภาษา ลองมาดู TQ (Thinking Quotient) ความฉลาดอีกหนึ่งด้านที่จะทำให้ลูกดำรงชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุขกันค่ะ

TQ คืออะไร?

TQ: Thinking Quotient แปลออกมาได้ตรงตัวก็คือ ความสามารถในการคิด คือการคิดที่เป็นประโยชน์ก่อคุณค่าด้วย ซึ่งในแง่ของการคิดมีผู้รู้ได้แบ่งการคิดออกเป็นหลายลักษณะที่สามารถก่อให้เกิดคุณค่าและนำไปใช้ได้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและงานต่าง ๆ เช่น การคิดเชิงสร้างสรรค์ ความสามารถในการคิดวิเคราะห์แล้วนำมาคิดสังเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ คิดประยุกต์ การคิดเชิงบวก ฯลฯ ได้อย่างเหมาะสม และผสมผสานความคิดต่าง ๆ ออกมาได้ดี ซึ่งคนที่มี TQ (Thinking Quotient)  หรือฉลาดในการคิดจะเป็นคนที่แก้ปัญหาต่างๆ ในทุกสถานการณ์ได้ สามารถคิดไตร่ตรองสิ่งถูกผิด และคิดเลือกทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

เลี้ยงลูกอย่างไรให้มี TQ (Thinking Quotient) ฉลาดในการคิด เก่ง
และประสบความสำเร็จ

ความฉลาดในการคิด

1.ส่งเสริมทักษะทางการคิด

การคิด (Thinking skill) เป็นกิจกรรมที่ใช้ในการประมวลผลข้อมูล แก้ปัญหาตัดสินใจ และสร้างแนวคิดใหม่ ๆ สำหรับเด็กเล็กแล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมทักษะทางการคิดได้ของลูกได้ เช่น จากการเล่นและกิจกรรม มีของเล่นเสริมทักษะและจินตนาการมากมายที่จะช่วยให้เจ้าตัวเล็กได้ใช้ความคิดอย่างสร้างสรรรค์ เกิดจินตนาการในรูปแบบใหม่ ที่เรียกกว่า “การคิดนอกกรอบ” การพาลูกออกไปท่องเที่ยวเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ เกิดการเชื่อมต่อคำถามจากความคิดสงสัย ทำให้คิดวางแผนหรือตัดสินใจว่าจะทำอะไร การสนับสนุนลูก ๆ ให้ได้ลองใช้ความคิด จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีต่อการส่งเสริม TQ ของลูก (อ้างอิงจาก : www.sasimasuk.com)

thinking quotient

2.สอนลูกให้คิดถึงปัญหาและสร้างวิธีแก้ปัญหา

อย่าเพิ่งรีบเข้าไปช่วยแก้ปัญหาสำหรับพวกเขา พยายามส่งเสริมหรือแนะนำให้ลูกหาวิธีที่จะบรรลุหรือแก้ไขผ่านการคิดอย่างสร้างสรรค์ เช่น วัยที่ควรสามารถช่วยเหลือตัวเองได้แล้ว ก็ควรปล่อยให้ลูกได้ลองทำด้วยตัวเอง การทำงานบ้าน การเล่นเกมที่ต้องหาทางออก ฯลฯ การปล่อยให้ลูกได้ลองแก้ปัญหาด้วยตัวเอง จะช่วยกระตุ้นสมอง และสอนให้รู้ว่าพวกเขาสามารถทำงานผ่านอุปสรรคได้ด้วยตนเอง

3.ตั้งคำถามและพูดคุย

การพูดคุยหรือตั้งคำถามกับลูก ไม่ได้เป็นเพียงแค่การสื่อสาร หรือการได้ใช้เวลาอยู่ร่วมกันเท่านั้น แต่การที่พ่อแม่ได้พูดคุยหรือตั้งคำถามต่อสิ่งต่าง ๆ กับลูกในแต่ละวันนั้น ถือเป็นการกระตุ้นพัฒนาการการเรียนรู้ กระตุ้นให้เกิดความคิด เป็นเด็กช่างคิด ช่างสังเกต คุณพ่อคุณแม่สามารถตั้งคำถามกับลูกง่าย ๆ ด้วยคำถามใกล้ตัว “อะไร ทำไม ยังไง” เพื่อให้ลูกได้ลองคิดหาคำตอบและวิธีแก้ปัญหา หรือตั้งคำถามสร้างจินตนาการ ถามคำถามที่ดูเหมือนอยู่ในเทพนิยาย เป็นเรื่องสมมุติ เพราะการใช้จินตนาการก็เหมือนการบริหารสมองอย่างหนึ่ง ที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดความคิดได้ คำถามสร้างสรรค์ที่พ่อแม่ใช้กับลูกจะช่วยให้เด็กได้พัฒนาความคิดและความรู้สึกของตัวเอง และยังช่วยให้คุณพ่อคุณแม่รู้จักตัวตนของลูกดีขั้นผ่านความคิดเห็นเหล่านั้น แม้กระทั่งการพูดคุยกับลูกตั้งแต่ในวัยเบบี๋ก็เป็นกุญแจสำคัญไปสู่การส่งเสริม TQ แม้ว่าลูกจะยังเด็กเกินไปที่จะเข้าใจสิ่งที่พ่อแม่กำลังพูด หรือยังไม่เข้าใจความหมายของคำ แต่การพูดซ้ำ ๆ ในที่สุดลูกก็จะใช้คำศัพท์ เกิดทักษะการฟัง ทักษะการพูด ซึ่งต่อยอดไปสู่ทักษะการเขียนและการอ่านได้ด้วย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นพัฒนาการของลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านหนังสือให้ลูกฟัง

4.อ่านหนังสือกับลูก

“การอ่าน” เป็นเครื่องทำนายความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ การเริ่มอ่านหนังสือกับลูกนอกจากจะเพิ่มคลังคำศัพท์ให้ลูกเพิ่มเติม ให้ลูกรู้ว่าคำศัพท์นั้นหมายถึงอะไร สร้างฐานความรู้และทำหน้าที่เป็นรากฐานของการเรียนรู้ในอนาคตแล้ว การอ่านยังช่วยกระตุ้นสมองให้คิดและเรียนรู้ เมื่อพ่อแม่เล่านิทาน อ่านหนังสือแสนสนุก และชวนคิด ชวนถามให้ลูกตอบ กระตุ้นการใช้ความคิด ยิ่งลูกคิดบ่อย ๆ มากเท่าไรสมองของลูกก็จะยิ่งพัฒนามากขึ้นเท่านั้น และช่วยเปิดโลกจินตนาการจากการคิดตามเนื้อเรื่องที่ได้ฟัง ต่อยอดไปสู่การคิดหาข้อเท็จจริงอย่างเป็นเหตุเป็นผล และเนื้อหาที่ช่วยสนับสนุนความคิดจากการการเรียนรู้ในหนังสือ ถือว่ามีบทบาทสำคัญมากเมื่อเด็กต้องเผชิญกับปัญหาที่ต้องแก้ไข ซึ่งอาจจะนำสิ่งที่ได้มาอ่านมาแปรเปลี่ยนเป็นความคิดที่ช่วยวิเคราะห์ในการแก้ปัญหาได้ ทำให้สามารถจัดการกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงได้

นพ.อุดม เพชรสังหาร ผอ.ศูนย์พัฒนาอัจฉริยภาพเด็กและเยาวชน ได้กล่าวถึงความสำคัญของการปลูกฝังเรื่องการอ่านแก่เด็กว่า” การอ่านหนังสือก่อให้เกิดพัฒนาการในการเรียนรู้ รวมทั้งส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ส่งเสริมความคิด และจินตนาการควบคู่กันไป” ดังนั้นเมื่อพ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง นอกจากจะทำให้เกิดความผูกพันระหว่างกัน ให้ลูกมีความรู้สึกว่าพ่อแม่รัก รู้สึกอบอุ่น ยังก่อให้เกิดกลไกที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการอย่างเต็มที่ด้วยนะคะ

ส่งเสริมการออกกำลังกาย

5.ส่งเสริมการออกกำลังกาย

การออกกำลังกายไม่เพียงทำให้เด็กแข็งแรงและมีสุขภาพที่ดีขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในหลาย ๆ ด้าน มีผลศึกษาจากต่างประเทศระบุว่า การออกกำลังกายนอกจากจะทำให้มีสุขภาพดีและสร้างกล้ามเนื้อให้แข็งแรงแล้ว ยังมีส่วนช่วยให้มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ดีขึ้นกว่าปกติ เพราะการออกกำลังกายจะช่วยพัฒนาสมองซีกขวาที่เป็นจุดสำคัญในด้านของความคิดและจินตนาการนั่นเอง

การส่งเสริมให้ลูกได้ออกกำลังกายเป็นประจำ จะส่งผลดีต่อฮอร์โมนที่จำเป็นต่อการทำงานสำหรับสมองหลาย ๆ อย่าง เช่น ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ประสาทและเซลล์สมองได้ อีกทั้งยังช่วยพัฒนาระบบไหลเวียนของออกซิเจนที่ช่วยในการหล่อเลี้ยงสมอง และพัฒนาเลือดให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยส่งเสริมให้อารมณ์ดี มีการนอนหลับอย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อร่างกาย จิตใจ สมอง มีความสัมพันธ์กันก็ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้น ส่งผลให้การเรียนรู้และความจำดีขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยผ่อนคลายความเครียด ช่วยให้ลูกมีสมาธิและมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ด้วย

ความฉลาดทางความคิด

6.ส่งเสริมความอยากรู้และการสำรวจ

ลูกในวัยเด็กมีความอยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติ การพาลูกออกไปเที่ยวเล่นทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ  การพบเจอกับสิ่งใหม่ เรียนรู้โลกนอกห้องเรียน เรียนรู้จากธรรมชาติ หรือแหล่งประวัติศาตร์จากของจริง ได้ลองสัมผัสสิ่งใหม่ ๆ ถือว่ามีส่วนช่วยกระตุ้นให้ลูกได้ใช้สมองมากขึ้น ทั้งยังช่วยเสริมพัฒนาการของลูกและขยายกรอบความคิดความรู้ของลูกให้มีมากขึ้นด้วย

สอนลูกให้คิดบวก

7.สอนลูกให้คิดบวก

เด็กคิดบวกและมองโลกในแง่ดี จะเชื่อว่าสิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นเสมอ และเมื่อมีอุปสรรค พวกเขาจะสามารถก้าวข้ามผ่านมันไปได้ มีผู้เชี่ยวชาญได้บอกว่าการคิดในแง่บวกสามารถทำให้คนเราฉลาดขึ้นได้ และสามารถปลูกฝังให้ลูกคิดบวกกันได้ตั้งแต่ยังเล็ก  การคิดบวกเขาเริ่มปลูกฝังกันตั้งแต่ยังเล็ก เด็กที่มีลักษณะแบบนี้จะเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ กล้าเผชิญอุปสรรคในชีวิตประจำวันที่ถึงแม้จะทำให้กังวลและเครียดได้อย่างไม่กลัว เช่น การเรียนรู้คำใหม่ๆ การแก้ปัญหาตัวต่อปริศนา ฯลฯ การปลูกฝังเรื่องการมองตัวเองในแง่บวกและทัศนคติที่ดีต่อตัวเองนั้น มีประโยชน์ทางจิตวิทยาอย่างมากต่อพัฒนาการและความคิดของลูกในอนาคต เป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้ลูกอยากเรียนรู้ คิดเลือกทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น ทั้งนี้เด็กจะคิดเชิงบวกได้ ก็ต่อเมื่ออยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มั่นคง ปลอดภัย ซึ่งพ่อแม่ก็คือตัวอย่างที่ดี ฝึกให้ลูกรู้ว่าทุกอย่างมีทั้งด้านบวกและด้านลบ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งก็จะปูทางไปสู่การสร้าง TQ ในตัวเองและดำรงชีวิตอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างมีความสุขกันค่ะ

ในยุคที่พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกเก่ง ฉลาด และพยายามที่จะส่งเสริมสิ่งดี ๆ ให้ลูกเสมอ แต่เด็กยุคใหม่สำหรับความฉลาดแล้ว จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมและสนับสนุสน Q อื่น ๆ ไปพร้อม ๆ กัน รวมถึง TQ ตัวนี้ที่จะช่วยให้ลูกเป็นเด็กที่ฉลาดทางการคิด เก่ง ดี และมีความสุข เพื่อที่จะเป็นรากฐานติดตัวลูกไปในอนาคต และส่งผลดีให้กับคนอื่น ๆ รอบตัวอีกด้วยนะคะ

ข้อมูลอ้างอิงจาก : www.popsugar.com

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจอื่นๆ :

6 เทคนิคดี ๆ สร้าง MQ (Moral Quotient) ให้รู้ผิดชอบชั่วดี โตมาให้เป็นเด็กดีในสังคม

8 กิจกรรมเพิ่ม EQ (Emotional Quotient) ให้ลูกเป็นเด็กดี มีความสุข และมีความฉลาดทางอารมณ์

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

Summary
Review Date
Reviewed Item
TQ (Thinking Quotient)
Author Rating
51star1star1star1star1star

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up