คุณหมอเผย! ลูกชัก เพราะฤทธิ์ไข้ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากพ่อแม่ทำความรู้จักให้ดีก่อน!
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนเฝ้าระวังมากที่สุดในเวลาที่ลูกเป็นไข้ก็คือ การมีไข้สูงมากจนส่งผลให้เกิดอาการชักขึ้น ซึ่งอาการชักในเด็กนั้น คุณหมอท่านนี้ได้เผยแพร่ผ่านเว็บพันธิปว่า เรื่องนี้ไม่น่ากลัว ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีความรู้ที่ดี
โดยคุณหมอได้เขียนเล่าเรื่องราวพร้อมวิธีการดูแลมาฝาก บอกเลยค่ะว่า ละเอียดแล้วก็ดีมาก ๆ เลย จะมีเนื้อหาอะไรบ้างนั้น เราไปอ่านบทความของคุณหมอที่ใ้ช้นามแฝงว่า Megamovie นี้พร้อม ๆ กันเลยดีกว่าค่ะ
สวัสดีครับวันนี้เรามาพูดเรื่องของเด็ก ๆ ตัวน้อย ๆ กันบ้างนะครับ ต้องออกตัวก่อนว่าไม่ใช่หมอเด็กแต่เจอเคสอยู่ตลอดและรักษาเคสไข้ชักอยู่บ่อย ๆ และอ่านหนังสือเพิ่มเติมด้วย ผมคิดว่าเรื่องนี้หลาย ๆ คนคงสนใจและมีความกังวลเลยมาเล่าให้ฟังนะครับ
เชื่อได้เลยว่าคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกตัวน้อย ๆ ต้องเคยเจอปัญหาลูกไข้ ไม่สบาย และสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่มักจะกังวลกันมากที่สุด คือ”กลัวลูกชักเวลาไข้ขึ้น” วันนี้เราจะมาเรียนรู้เรื่องนี้กันครับ
อ่านต่อบทความของคุณหมอเพิ่มเติม >>
ทำความรู้จักกับอาการชักเพราะไข้สูง
อาการชักจากไข้สูงเป็นอาการนำที่พาคนไข้เด็กมาโรงพยาบาลบ่อยอาการหนึ่ง โดยพบได้ประมาณ 3% ในเด็กอายุ
ในช่วงอายุ 6 เดือน-6 ขวบ ส่วนมากจะพบอาการชักเมื่อไข้สูงเกิน 39 องศาเซลเซียส (จำตรงนี้ไว้ให้ดีเลยครับเป็นจุดสำคัญเลย ชื่อบอกว่าชักจากไข้สูง ดังนั้นถ้าเราไม่ปล่อยให้ไข้ขึ้นสูงโอกาสชักก็จะน้อยนะครับ)
การวินิจฉัยว่าลูกน้อยของคุณเป็นอาการชักจากไข้สูงต้องดูจากประวัติสำคัญ ๆ เหล่านี้ เพื่อแยก อาการชักจากสาเหตุอื่น ๆ ออกไป ได้แก่
1. ไม่เคยมีอาการชักเมื่อไม่มีไข้มาก่อน
2. ไม่มีความผิดปกติทางด้านสมองและระบบประสาททั้งโดยกำเนิดและเกิดขึ้นทีหลัง
3. ไม่มีลักษณะของการติดเชื้อในระบบประสาท เช่น ไข้สมองอักเสบ ไข้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (ซึ่งจะทราบได้จากการตรวจน้ำไขสันหลังในกรณีที่สงสัยครับ)
สาเหตุคืออะไร?
สาเหตุของการชักจากไข้สูงนั้นยังไม่ชัดเจน แต่คาดว่าน่าจะเกิดจากการที่ระบบสมองของเด็กเล็กยังไม่พัฒนาสมบูรณ์
เมื่อมีสิ่งกระตุ้นคือการติดเชื้อและไข้สูงจึงทำให้เกิดการชักได้ และอาจเกี่ยวข้องกับประวัติการชักในครอบครัวครับ
ลักษณะอาการชักจากไข้สูงโดยทั่วไป คือ อาการชักเกร็งกระตุกทั้งตัว เป็นระยะเวลาน้อยกว่า 15 นาที หลังชักการรู้สึกตัวกลับมาปกติใน 1 ชม.และมักไม่ชักซ้ำอีกในการป่วยครั้งนั้น ซึ่งถ้าเด็กมีอาการชักจากไข้แบบธรรมดานี้ ไม่มีความจำเป็นต้องหาสาเหตุการชักเพิ่มเติม แต่หากเด็กมีอาการชักแบบซับซ้อนไม่ตรงตามที่บอกข้างต้น เช่น มีอาการชักเป็นจุด ๆ ไม่เกร็งทั้งตัว เช่น แขน หรือ ขา ข้างใดข้างหนึ่ง ชักนานเกิน 15 นาที มีการชักซ้ำในการป่วย 1 ครั้ง และภายใน 1 ชม.เด็กยังซึม ๆ ไม่ค่อยรู้สึกตัว ไม่พูดไม่ร้องเท่าไหร่ อาการเหล่านี้ต้องหาสาเหตุเพิ่มเติมทางระบบประสาทครับ อาจใช้การเจาะหลังเพื่อเอาน้ำไขสันหลังไปตรวจหาการติดเชื้อในระบบประสาท ตรวจ x-ray คอมพิวเตอร์สมอง หรือคลื่นไฟฟ้าสมอง
อ่านต่อบทความของคุณหมอเพิ่มเติม >>
ความรู้เบื้องต้นเป็นประมาณนี้ก่อนนะครับ ดังนั้น กลับมาที่จุดที่อยากเน้นย้ำที่สำคัญที่สุดคือ “อย่าปล่อยให้ลูกไข้ขึ้นสูงครับ” หลาย ๆ ครั้งจากประสบการณ์ที่เจอเคส เด็กชักจากไข้สูงคือ คุณพ่อคุณแม่ ไม่รู้วิธีการลดไข้ที่ถูกต้อง จนในที่สุดไข้สูงมากจนชักและพอเด็กชักก็มักตกใจทำอะไรไม่ถูก อ่านบทความนี้แล้วสติสำคัญที่สุดนะครับ
วิธีการเช็ดตัวที่ถูกวิธี
– ถอดผ้าให้หมดครับ การเช็ดตัวให้เช็ดย้อนรูขุมขนตามแขนขาก็จะเป็นการเช็ดขึ้นนะครับ จากปลายแขนปลายขามาหาลำตัว เช็ดด้วยแรงพอสมควรให้ตัวเริ่มแดง ๆ เพื่อเป็นการเปิดรูขุมขนและให้เส้นเลือดที่ผิวหนังขยายตัวคายความร้อนครับ คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่จะกลัวลูกเจ็บกลัวลูกร้อง เลยแค่ลูบ ๆ เบา ๆ นั่นไม่ค่อยได้ช่วยอะไรนะครับ ประสบการณ์ส่วนตัวผมมีน้องตัวเล็ก ๆ ครับ ตอนน้องป่วยผมนี่แหละเป็นคนเช็ดตัวให้จนตัวแดงเลยไข้ลงดี ส่วนน้องน่ะร้องจ๊ากตลอด แต่ตอนนั้นต้องไม่สนใจนะครับ เอาไข้ให้ลงสำคัญที่สุด
– วางผ้าหมาด ๆ ตามบริเวณข้อพับแขนขาเพื่อช่วยระบายความร้อนนะครับ
– ขอย้ำ”เช็ดตัวอย่ากลัวลูกเจ็บครับ” กลัวเจ็บเช็ดไม่ถูกไข้ไม่ลด ในเด็กเล็ก ๆ ไข้สูงจนชักได้นะครับ เช็ดเสร็จก็วัดไข้ใหม่ถ้าไข้ไม่ลงก็เช็ดไปเรื่อย ๆ จนกว่าไข้จะลงนะครับ เช็ดตัวไปประมาณ 10-15 นาทีแล้ววัดไข้ครั้งนึงก็ได้ครับ
มาย้ำเติอนวิธีการลดไข้กันอีกครับ สิ่งสำคัญคือการเช็ดตัวลดไข้และการกินยาแก้ไขครับ
– ยาแก้ไข้พาราเซตามอลกินได้ทุก 4 ชม.ยาน้ำขนาด 120 มก./5มล. ให้ใช้ขนาดตามน้ำหนักตัวนะครับ 10 กิโลกรัม/1ช้อนชาหรือ 5 มล. ลูกหนัก 20 กิโลกรัมก็ 2 ช้อนชาครับ สำหรับยาลดไข้สูงเช่น Ibuprofen หรือบรูเฟนที่เรียกกันนั้น ถ้าไม่จำเป็นไม่แนะนำให้ให้เด็กครับเพราะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการใช้ยาได้หลายอย่าง และโดยส่วนใหญ่ถ้าเช็ดตัวลดไข้ดี ๆ ไข้ก็จะลงเยอะแล้วครับ
– cool pack/cold pad ที่ชอบใช้แปะหน้าผากกันไม่มีประโยชน์ครับ พื้นที่ผิวหน้าผากน้อยเกินไปกับการระบายความร้อน บางคนคิดว่าแปะแล้วไข้จะลด ไม่เช็ดตัว อันตรายนะครับ ไข้อาจขึ้นสูงได้มาก
– การเช็ดตัวหรืออาบน้ำใช้น้ำปกติเลยครับไม่ต้องใช้น้ำเย็น การเช็ดตัวที่ถูกต้องสำคัญมาก!!!!! จะช่วยลดไข้ได้เร็ว
– สิ่งที่ต้องเตรียม อ่างน้ำใส่น้ำปกติ ผ้าขนหนู3-4ผืน
เมื่อมาถึงโรงพยาบาลแล้วเด็กยังชักอยู่คุณหมอจะฉีดยากันชัก ทันที ให้น้ำเกลือ เก็บเลือดไปตรวจแล้วซักถามอาการ ประวัติต่าง ๆ จากคุณพ่อคุณแม่ ระยะเวลาที่ชัก อาการไข้อาการต่าง ประวัติโรคประจำตัว ประวัติลมชักในครอบครัวเป็นต้น และทำการตรวจร่างกาย คุณพ่อคุณแม่ต้องมีสติดี ๆ ครับอย่าตกใจ ให้ประวัติให้ครบถ้วนเพราะประวัติต่าง ๆ เหล่านี้มีผลในการช่วยการรักษาและวินิจฉัยได้มากครับ ในเคสทั่ว ๆ ไป เมื่อให้ยากันชักทางเส้นเลือดเด็กก็มักจะหยุดชักทันที และจะกลับมาร้อง มีสติตามปกติภายใน 1 ชม.นะครับ (ถ้ายังไม่หยุดชักซึ่งพบได้น้อยก็จะมีวิธีการรักษาต่อไปครับ)
อ่านต่อบทความของคุณหมอเพิ่มเติม >>
อาการชักจากไข้สูงมีสาเหตุของไข้ได้หลากหลายครับ โดยส่วนมากก็เป็นการติดเชื้อไวรัส ในทางเดินหายใจทางเดินอาหาร มีไอ น้ำมูก เจ็บคอ ท้องเสีย อาเจียนร่วมด้วย สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งในเด็กเค้าจะบอกอาการเราไม่ได้ อย่างในผู้ใหญ่จะมีอาการ เช่น ปัสสาวะแสบขัด ปวดหลังเวลาเคาะ จึงต้องตรวจปัสสาวะในทุกเคสที่มีอาการชักจากไข้สูงครับ ซึ่งการหาสาเหตุของไข้นี้จะทำได้จากการตรวจร่างกาย ตรวจ lab ดูผลเลือด ผลปัสสาวะ ตามอาการป่วยของเด็กนะครับ
จากข้างบนการวินิจฉัยชักจากไข้สูง ผมบอกว่าต้องแยกการติดเชื้อในระบบประสาท/สมองออกด้วย การแยกนี้ในเด็กที่โตหน่อย ตั้งแต่ 1-2 ขวบจะสามารถทำได้ด้วยการตรวจร่างกาย โดยจะพบลักษณะเช่น คอแข็ง ในเด็กที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบหรือไข้สมองอักเสบบางอย่าง ซึ่งต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาเชื้อโดยการเจาะหลังเอาน้ำไขสันหลังไปตรวจเพาะเชื้อครับ แต่ในเด็กเล็ก ๆ เช่นอายุน้อยกว่า 12-18 เดือนการตรวจร่างกายทำได้ยาก ดังนั้นหากสงสัยคุณหมออาจจะพิจารณาขอคุณพ่อคุณแม่ เจาะหลังน้องเพื่อเอาน้ำเลี้ยงไขสันหลังไปตรวจเพื่อแยกว่าไม่มีการติดเชื้อในสมองนะครับ ซึ่งเป็นหัตการปกติอันตรายมีน้อยและเป็นสิ่งที่จำเป็นครับไม่ต้องกังวลไป เพราะหากมีการติดเชื้อในระบบประสาทและสมองแล้วได้รับการรักษาช้า จะส่งผลกับสมองและพัฒนาการระยะยาวได้
การรักษาหลังหยุดชักก็จะเป็นการรักษาสาเหตุของไข้ตามที่ตรวจพบครับ เช่น การให้ยาฆ่าเชื้อตามชนิดของเชื้อ ให้สารน้ำทางเส้นเลือดในช่วงที่เด็กยังกินได้น้อยให้ยาลดไข้เมื่อมีไข้ เมื่อไข้ลงดีเรียบร้อย เด็กกินได้ตามปกติ ให้ยาฆ่าเชื้อครบก็สามารถกลับบ้านได้ครับ
คำถามที่คุณหมอพบบ่อย
- แล้วการชักจากไข้สูงจะมีอันตรายอะไรในระยะยาวหรือไม่?
- สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่กลัวและถามกันมากคือการชักจากไข้สูงจะส่งผลต่อพัฒนาการทางสมองของลูกหรือไม่ ? คำตอบคือ”ไม่” ครับ ถ้าการชักนั้นเป็นการชักจากไข้สูงแบบปกติ ไม่มีสาเหตุอื่น ๆ ในสมอง เพราะระยะเวลาการชักจากไข้สูงอย่างที่บอกไป คือ ไม่เกิน 15 นาที โดยมากมักจะหยุดชักใน 3-5 นาที ไม่ได้ส่งผลกับสมองในระยะยาวครับ แต่ถ้าพบว่าสาเหตุการชักเกิดจากความผิดปกติในสมองเช่น ไข้สมองอักเสบ หรือมีการชักต่อเนื่องยาวนานผิดปกติ เกิน 30 นาที โดยไม่ได้รับการรักษา ก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดความผิดปกติของสมองและพัฒนาการได้ครับ
- มีโอกาสชักซ้ำได้อีกมั้ยถ้ามีไข้สูงอีกและจะต้องกินยากันชักเพื่อป้องกันการชักครั้งต่อไปมั้ย?
- โอกาสชักซ้ำสามารถเกิดได้ตลอดนะครับหลังมีการชักครั้งแรก ถ้ามีไข้สูงอีก ยิ่งอายุตอนชักครั้งแรกน้อยแค่ไหน โอกาสชักซ้ำก็จะมีมาก พบว่าเมื่อชักครั้งแรกที่อายุ < 1 ขวบ มีโอกาสชักซ้ำ 50 % และเมื่อชักกครั้งแรกที่อายุ < 2 ขวบ มีโอกาสชักซ้ำ 30 %
- การให้ยากันชักกินเป็นประจำเพื่อป้องกันการชักจากไข้สุงมีหลายกรณีที่ต้องพิจารณาครับ ในกรณีที่ชักจากไข้สูงแบบปกติ 1-2 ครั้ง ไม่จำเป็นต้องให้ยากันชักกลับไปกินต่อเนื่อง ในกรณีที่ชักจากไข้สูงแบบปกติ (ชักเกร็งทั้งตัวไม่เกิน 15 นาที นะครับ) เกิน 3 ครั้ง ขึ้นไป พิจารณาให้กินยากันชักดักเอาไว้เวลามีไข้ เป็นต้นส่วนกรณีอื่น ๆ ต้องพิจารณาตามความเสี่ยง และลักษณะการชักแนะนำปรึกษาคุณหมอเด็กเป็นราย ๆ ไปนะครับ
อ่านต่อบทความของคุณหมอเพิ่มเติม >>
- แล้วจะทำให้เป็นโรคลมชักเป็นโรคประจำตัวตามมารึป่าว?
- โดยทั่วไปชักจากไข้สูงกับโรคลมชัก ไม่ค่อยมีความเกี่ยวข้องกันครับ ยกเว้น ในกรณีที่เด็กมีความเสี่ยงทางพันธุกรรม ความผิดปกติทางสมองและพัฒนาการร่วมด้วยอยู่ก่อนแล้ว หรือการชักจากไข้นั้นเป็นแบบซํบซ้อน (ชักนานเกิน 15 นาที ชักแขนหรือขาข้างใดข้างนึง)ซึ่งถ้าไม่มีความเสี่ยงดังกล่าวนี้โอกาสที่จะกลายเป็นโรคลมชักก็เท่า ๆ กับคนทั่วไปครับ คือ น้อยกว่า 1% มีความเสี่ยง 1 อย่าง โอกาสกลายเป็นโรคลมชักอยู่ที่ 1% มีความเสี่ยง 2 อย่างขึ้นไปโอกาสกลายเป็นโรคลมชักอยู่ที่ 10%
บทสรุป:
โดยสรุปแล้วไม่อยากให้คุณพ่อคุณแม่กังวลมากในกรณีที่เด็กชักจากไข้ เพราะโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือการเป็นการเจ็บป่วยระยะยาวนั้น แม้จะมีอยู่บ้างแต่ก็น้อยแต่คุณพ่อคุณแม่ควรจะมีความรู้ในการดูแลเบื้องต้นเมื่อลูกมีไข้ป้องกันไว้ก่อนอย่าให้ไข้สูงมากจนชัก แต่เมื่อชักแล้วก็สามารถดูแลเบื้องต้นได้อย่างมีสติและรีบพาส่งโรงพยาบาลครับ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ ช่วยเพิ่มความมั่นใจในการดูแลลูกเวลาเป็นไข้ และคลายกังวลคุณพ่อคุณแม่เมื่อลูกมีอาการชักจากไข้ได้บ้างนะครับ
ป.ล.เพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับการวัดอุณหภูมิและเกณฑ์ในการบอกว่าเป็นไข้
อุณหภูมิปกติของร่างกายคือ 36.5-37.5 องศาเซลเซียส ดังนั้น อุณหภูมิที่วัดได้สูงกว่านี้ถือว่าเป็นไข้ครับ โดยตัวเลข 36.5-37.5 องศาเซลเซียสนี้เป็นการวัดอุณหภูมิแกนกลางร่างกาย ซึ่งวัดได้ทางหูผ่านแก้วหูและทางก้น เหมือนในเด็ก ๆ ที่เวลาวัดไข้แล้วเราเอาเทอร์โมมิเตอร์เสียบก้นน่ะครับ
แต่ในทางปฏิบัติก็ยากที่จะวัดอุณหภูมิทางก้นจริงมั้ยครับถ้าทำไม่ถูกวิธีก็ไม่ค่อยแนะนำ แแล้วทางหูล่ะ? บางโรงพยาบาลจะมีที่วัดอุณหภูมิทางหู แต่บางแห่งก็ไม่มี ดังนั้น วิธีสะดวกสุดที่เห็นและใช้อยู่ทั่วไป คือการวัดทางปากและทางการเหน็บรักแร้ แต่อุณหภูมิที่ได้จะเป็นอุณหภูมิพื้นผิว ที่จะต่างจากอุณหภูมิแกนกลาง ดังนั้น เกณฑ์ในการบอกว่าเป็นไข้สำหรับการใช้เทอร์โมมิเตอร์วัดตามช่องทางต่าง ๆ คือ
1. เมื่อวัดอุณหภูมิทางก้นได้มากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส
2. เมื่อวัดอุณหภูมิทางปากได้มากกว่า 37.7องศาเซลเซียส
3. เมื่อวัดอุณหภูมิทางรักแร้ได้มากกว่า 37.2 องศาเซลเซียส
“เช็ดตัวอย่ากลัวลูกเจ็บ” วลีเด็ดที่คุณหมออยากฝากถึงทุก ๆ คน ที่สำคัญ อย่าลืมนะคะว่า คุณหมอย้ำว่า สติ! สำคัญที่สุด
เครดิต: คุณหมอ Megamovie จากเว็บพันธิป
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่