AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

วิจัยชี้ อนาคตลูกพัง-เจ๊ง เพราะพ่อแม่ ช่วยลูกทำการบ้าน

งานวิจัยเผย อนาคตลูกพัง-เจ๊ง ได้ เพราะพ่อแม่ ช่วยลูกทำการบ้าน

งานวิจัยเผย อนาคตลูกพัง-เจ๊ง ได้ เพราะพ่อแม่ ช่วยลูกทำการบ้าน ไม่อยากทำลายชีวิตลูก..ต้องอ่าน  ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร?

นักวิจัยเตือน! ช่วยลูกทำการบ้าน = ทำลายชีวิตลูก

การที่พ่อแม่ ช่วยลูกทำการบ้าน ถือเป็นเรื่องดี เพราะเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัวให้พ่อแม่ลูกได้ใช้เวลาร่วมกัน  แต่การช่วยลูกทำการบ้านในที่นี้ ไม่ใช่พ่อแม่ลงมือลงแรงทำหรือหยิบจับขีดเขียนให้ลูก  แต่ควรต้องเป็นเพียงให้แนวความคิด ช่วยสอน หรือให้กำลังใจอยู่ข้างๆ เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ลงมือทำเสียเอง ก็อาจส่งผลเสียต่อลูกน้อยได้

ซึ่งเรื่องนี้ก็มีงานวิจัยออกมายืนยัน โดย จูดิธ ล็อค นักจิตวิทยาคลินิก  จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีควีนส์แลนด์ รัฐควีนส์แลนด์ ประเทศออสเตรเลีย  พิมพ์เผยแพร่งานวิจัยเชิงจิตวิทยาครั้งใหม่ ที่แสดงให้เห็นถึงผลกระทบจากการที่พ่อแม่ ผู้ปกครองที่รักลูกหลานมากจนเกินไป จนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทำการบ้านของลูกๆ มากจนเกินไป โดยชี้ให้เห็นว่า … ในที่สุดแล้วจะส่งผลกระทบต่อเด็กๆ เหล่านั้นไม่น้อย

โดยงานวิจัยดังกล่าว ใช้วิธีการสำรวจพฤติกรรมผ่านแบบสอบถามออนไลน์ของผู้ปกครองของเด็กจำนวน 866 คนจากโรงเรียนในระดับมัธยมในหัวเมืองชั้นใน 3 โรงเรียน โดยตั้งคำถามเกี่ยวกับความเชื่อในความเป็นพ่อแม่ และความมุ่งมั่นในฐานะพ่อแม่ กับการใช้มาตรวัดทัศนคติของผู้ปกครองกลุ่มดังกล่าว เชื่อมโยงกับการบ้านของเด็กนักเรียนที่เป็นลูกหลานได้รับ

จากนั้นนำคำตอบที่ได้มาแปลงเป็นคะแนนตามมาตรวัดที่เรียกว่า “ล็อค แพเรนติ้ง สเกล” หรือ “แอลพีเอส”โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงจะเป็นผู้ที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทำการบ้านของลูกมากเกินไป หรือในบางกรณีถึงกับทำการบ้านแทนลูกเพื่อให้งานที่ได้รับมอบหมายมาแล้วเสร็จ

จูดิธ ล็อค สรุปไว้ในงานวิจัยว่า … พฤติกรรมของพ่อแม่ที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทำการบ้านของลูกมากเกินไป จะส่งผลบั่นทอนขีดความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตัวเองของเด็ก และทำให้เด็กขาดแรงจูงใจในการทำงานให้แล้วเสร็จได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องมีใครช่วย  ทำให้เด็กขาดความรับผิดชอบ ไม่เข้าใจถึงผลลัพธ์จากการกระทำใดๆ ของตนเอง

อ่านต่อ >> “ผลวิจัยของพ่อแม่ที่ช่วยลูกทำการบ้าน” คลิกหน้า 2

 

ทั้งนี้ผลวิจัยดังกล่าวที่ว่า  ช่วยลูกทำการบ้าน = ทำลายชีวิตลูก นั้น ยังสอดคล้องกับผลการวิจัยก่อนหน้านี้ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำวิจัยในนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยและพบว่า … การเข้าไปยุ่งกับงานที่ได้รับมอบหมายของลูกๆ มากจนเกินไป ตั้งแต่การปรับแก้รายงานเรื่อยไปจนถึงการทำแทนให้ทั้งหมด

พฤติกรรมดังกล่าวของพ่อแม่ จะส่งผลให้นักศึกษารายนั้นๆ ไม่ใส่ใจในการเรียน มักมีอาการหดหู่ ซึมเศร้า และความพึงพอใจในชีวิตลดน้อยลง อย่างมีนัยสำคัญ

ที่มาจาก : นสพ.มติชนรายวัน

แต่ทั้งนี้ก็ใช่ว่าจะห้ามคุณพ่อคุณแม่ไม่ให้เข้าไปยุ่งกับการบ้านของลูกเลยซะทีเดียว    เพราะบางครั้งคุณก็อาจจะได้เห็นลูกนั่งขมวดคิ้วกลุ้มอยู่กับการบ้านเลขสุดหิน ซึ่งนั่นก็ทำให้คุณพ่อคุณแม่พลอยเครียดไปด้วยทุกที … แต่พอจะช่วยสอนก็กลายเป็นเข้าไปจัดการทำแทน >> แถมที่ร้ายกว่านั้น บางทีการบ้านบางวิชาก็ยากจนพ่อแม่ที่ห่างโรงเรียนมานานอย่างเราๆ ยังไม่เข้าใจ  ซึ่งก่อนที่ทั้งลูกน้อยและคุณพ่อคุณแม่จะเครียดจนปวดหัวจี๊ด Amarin Baby & Kids มีเทคนิคให้คุณพ่อคุณแม่ช่วยลูกทำการบ้านได้อย่างราบรื่น โดยไม่เข้าไปจัดการจนเกินไปมาฝาก ดังนี้ค่ะ

เทคนิคสอนลูกทำการบ้าน

5 เทคนิค ช่วยลูกทำการบ้าน อย่างราบรื่น

1 หาตัวช่วย

รีบตรงดิ่งไปที่ร้านหนังสือ ตอนนี้มีตำราและคู่มือการสอนสำหรับทุกชั้นปีออกมามากมาย เปิดอ่านดูสักบท เลือกเล่มที่อธิบายแล้วเข้าใจง่ายที่สุด ลองสุ่มอ่านดูสักหัวข้อก่อน ถ้าคุณพ่อคุณแม่เข้าใจขนาดไปอธิบายต่อให้ลูกฟังได้ก็ถือว่าโอเค ทีนี้เวลาลูกไม่เข้าใจตรงไหนเปิดคู่มือช่วยได้ทันที (แต่ต้องไม่ใช่การลอกคำตอบจากคู่มืออย่างเดียวนะ) ไม่แน่ลูกอาจไม่ต้องพึ่งคอร์สสอนพิเศษเลย ?? ก็มีติวเตอร์ส่วนตัวอยู่ที่บ้านแล้วนี่นา

2 เป็นกองกำลังเสริม

การบ้านเดี๋ยวนี้ไม่ได้เป็นแค่คำถามข้อๆ ให้เขียนตอบอีกแล้ว แต่ยังมาในรูปของโครงงานสารพัด ถึงแม้ว่าหลักๆ คนที่ต้องทำงานเหล่านี้ก็คือลูก แต่คุณช่วยอำนวยความสะดวก เช่น ไปเดินซื้ออุปกรณ์ด้วยกัน หรือเสนอความคิดเห็นเรื่องการออกแบบ และหาข้อมูลเพิ่มเติมมาให้ แล้วปล่อยให้เขาจัดการต่อเอง

3 ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะ

เด็กแต่ละคนมีวิธีเรียกสมาธิไม่เหมือนกัน ขณะที่น้องเกลชอบนั่งคิดเลขเงียบๆ คนเดียว เด็กชายแพท พี่ชายจอมเซี้ยวกลับเขียนเรียงความเรื่องอาชีพในฝันได้ลื่นไหลกว่าเมื่อเปิดเพลงฟังไปด้วย ฉะนั้นลองสังเกตลูกดูว่าเขาชอบแบบไหน แล้วช่วยปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมดีกว่า

 

อ่านต่อ >> “เทคนิคช่วยลูกทำการบ้านได้อย่างราบรื่น” คลิกหน้า 3

 4 จัดเวลาทำการบ้านประจำวัน

ตารางเวลาที่เป็นกิจวัตรจะทำให้ลูกเลิกอิดออดหรือผัดผ่อนการทำการบ้านออกไปเรื่อยๆ หาเวลาที่เหมาะที่สุดในแต่ละวันเช่น ช่วงค่ำหลังอิ่มมื้อเย็นแล้วสักชั่วโมง เวลาแบบนี้คุณพ่อคุณแม่อาจเอางานที่หอบกลับบ้านมานั่งจัดการต่อใกล้ๆ หรือนั่งอ่านหนังสืออยู่ในห้องเดียวกันก็ไม่เลว

5 กำลังใจให้กันได้

ถึงจะไม่ได้ลงมือทำ แต่ถ้อยคำให้กำลังใจที่ติดอยู่ตรงโต๊ะหนังสือหรือรางวัลเล็กๆ น้อยๆ (ที่ไม่ใช่การติดสินบนให้ทำการบ้าน) เช่น ของว่างแก้เหนื่อยกับนมอุ่นๆ สักแก้ว น่าจะช่วยให้ลูกมีกำลังฝ่าฟันการบ้านที่ยากแสนยากต่อไปได้

เคล็ดลับ ช่วยลูกทำการบ้าน แบบไม่ทำลายชีวิตลูก

ทำการบ้านให้เป็นเรื่องง่ายและสนุก!

นอกจากนี้สำหรับเจ้าตัวน้อยที่ยังอยู่ในวัยชั้นอนุบาล และต้องขยับชั้นไปประถม ก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของการเรียนอย่างมากช่วงหนึ่ง จากชั้นอนุบาลที่เน้นทักษะการช่วยเหลือตัวเอง และการเรียนรู้วิชาการยังไม่เข้มข้นมาก การบ้านลูกอนุบาลมีไม่มาก หรือบางโรงเรียนอาจมีมากแต่ก็ไม่ยาก พอขึ้นชั้นประถม การเรียนวิชาการชัดเจนขึ้น

เคล็ดลับช่วยลูกทำการบ้าน

สำหรับเด็กวัยนี้การบ้านเริ่มไม่ใช่เรื่องง่ายๆ อีกต่อไป … คุณพ่อคุณแม่จึงเป็นคนสำคัญที่จะช่วยให้ลูกรู้สึกดีกับการบ้าน และผ่อนคลายกับช่วงเวลาที่ไม่สนุกนัก โดยสามารถช่วยเรื่องการบ้านของลูกน้อยนี้ให้เป็นเรื่องง่ายและสนุกได้ ดังนี้

• ทำเช็กลิสต์  ⇒  จดวิชาที่มีการบ้านลงในกระดาษ พอทำเสร็จแต่ละอย่าง ก็ให้ลูกทำเครื่องหมายบอก จะใช้สีระบายเป็นสัญลักษณ์หรือวาดรูปก็ได้แล้วแต่เขา ให้รู้ว่าวิชาไหนเสร็จเรียบร้อยแล้ว เด็กน้อยจะรู้สึกว่าการบ้านเป็นสิ่งที่เขาควบคุมได้ ทำได้ เพราะมองเห็นเป้าหมาย

• ช่วยเรียงลำดับการบ้าน มีทั้งยากและง่าย ⇒  ทั้งที่เขาชอบและไม่ชอบ การให้ลูกเลือกทำอะไรก่อนหลังอาจไปได้ดีกับลูกที่มีสมาธิต่อเนื่อง ดังนั้นควรต้องรู้จักและสังเกตลูกของคุณด้วย หากลูกเป็นเด็กเบื่อง่าย ความอดทนน้อย การช่วยลำดับการทำการบ้านยากง่ายให้เหมาะกับความสนใจและสมาธิของลูกจะช่วยให้เวลาทำการบ้านไม่ใช่เวลาสุดทรมานของเขาและคุณ

• สถานที่ทำการบ้านก็ทำสำคัญ ⇒  ลูกที่เสียสมาธิได้ง่าย มุมทำการบ้านที่มีข้าวของมากมายดึงสายตา ใกล้ทีวีหรือสิ่งเร้ามากๆ ย่อมไม่ส่งเสริม เด็กขี้เบื่อ ขี้ร้อนอึดอัดหงุดหงิดง่าย ถ้าต้องทำการบ้านในที่เดิมนานๆ หรือมุมปิดเกินไป ก็ทำให้ความสนใจลดลงง่ายๆ อีก ควรจัดบริเวณทำการบ้านให้สอดคล้องกับลักษณะของลูก

• คอยสอบถามและให้กำลังใจ ⇒  วัยอนุบาลคุณต้องอ่านโจทย์หรือคำสั่งและคอยแนะนำใกล้ชิด แต่ถึงแม้ลูกจะ ขึ้นประถมแล้ว เริ่มอ่านได้ แต่ก็ยังไม่คล่องนัก การคอยอยู่ข้างๆ สอบถาม ชมบ้าง ให้กำลังใจหรือให้ความช่วยเหลือเท่าที่ลูกต้องการจะทำให้เขารู้สึกมีเพื่อน หรือจะให้ดีกว่านั้น คุณจะทำงานของคุณไปข้างๆ ลูกก็ยังได้ ให้เขามีเพื่อนพูดคุยระหว่างทำการบ้าน   บรรยากาศก็ยิ่งผ่อนคลาย เขาต้องทำการบ้านที่อยากทำบ้างไม่อยากทำบ้าง   พ่อแม่ก็ต้องทำงานที่อยากทำบ้าง ไม่อยากทำบ้างเหมือนกัน   แต่ทุกคนมีหน้าที่ ต้องรับผิดชอบและถึงไม่ชอบนัก เขาก็มีคุณเป็นเพื่อนอยู่ข้างๆ

• คุยกับครูของลูก ⇒  ครูก็เป็นหนึ่งในทีมฝึกสอนและพัฒนาลูกไปพร้อมกับคุณ การพูดคุยกับคุณครูของลูกเป็นระยะๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ จะช่วยให้ทั้งคุณและคุณครูได้รู้จักลูกมากขึ้น  และเห็นจุดแข็งจุดอ่อนของลูกที่คุณจะนำไปส่งเสริมหรือพัฒนาต่อได้ถูกทาง

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids