มีข่าวรายงานว่าในประเทศไทย ลูกน้อยแบกกระเป๋าหนัก ไปโรงเรียนเกินจำเป็น โดยจริงๆ แล้วควรแบกไม่เกิน 15% ของน้ำหนักตัว เพราะจะทำให้หลังโค้ง ปวดไหล่ คอ และหลัง นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อความสูงของลูกน้อยในระยะยาวด้วย แพทย์แนะนำว่าให้ทางโรงเรียนมีตู้ล็อกเกอร์แบบต่างประเทศ
ผลจากการวิจัยสเปนรายงานในวารสารเด็กของอังกฤษพบว่า เด็กกว่า 1,400 คน จาก 11 โรงเรียนในสเปน สะพายกระเป๋าหนักถึง 7 กิโลกรัม ซึ่งเกินกว่า 10% ของน้ำหนักตัว และเกือบ 1 ใน 5 มีน้ำหนักเกิน 15% เด็กที่สะพายกระเป๋าหนักเหล่านี้ พบว่ามีอาการที่เกี่ยวข้องกับหลัง เช่น กระดูกสันหลังคด โค้งผิดรูป ปวดหลัง มีอาการหดตัวของกล้ามเนื้อเฉียบพลัน และต่อเนื่อง
ในประเทศไทยพบว่า เด็กแบกกระเป๋าเกินค่าความปลอดภัยถึง 2 เท่า เด็กบางคนแบกกระเป๋าหนักถึง 6 กิโลกรัมไปโรงเรียน คุณพ่อ คุณแม่ หรือตัวเด็กเองเรียกร้องให้มีตู้เก็บของส่วนตัวให้เด็ก ทางโรงเรียนก็กลัวว่าเด็กจะไม่จัดตารางสอน กลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ เมื่อเด็กต้องแบกกระเป๋าหนักทุกวันก็เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อจนเรื้อรัง
ทำไมเด็กถึงไม่จัดตารางสอน?
เพราะเด็กกลัวว่าหนังสือที่เตรียมมาเรียนจะไม่ตรงกับที่คุณครูสอน เพราะบางวิชามีหนังสือเรียนหลายเล่ม ทั้งหนังสือแบบเรียน หนังสือแบบฝึกหัด สมุดปกแข็ง สมุดปกอ่อน เด็กจึงนำหนังสือมาหมดทุกเล่ม รวมๆ แล้ววิชาละประมาณ 4 เล่ม ซึ่งในแต่ละวันเด็กๆ ต้องเรียนหนังสืออย่างน้อยประมาณ 6 วิชา ทำให้ต้องเตรียมหนังสือมาทั้งหมด สำหรับเด็กบางคนก็อาจจะแอบใส่หนังสือไว้ในลิ้นชัก แต่ก็มีความเสี่ยงที่หนังสือเรียน หรือสมุดจะหาย
นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า พบเด็กนักเรียนไทยแบกกระเป๋าหนักไปเรียนเกินมาตรฐาน ซึ่งจริงๆ แล้วต้องควรไม่เกิน 10-20% ของน้ำหนักตัว เช่น เด็กที่มีน้ำหนักตัว 20 กิโลกรัม ควรแบกกระเป๋านักเรียนไม่เกิน 2-4 กิโลกรัม
ผลกระทบของการแบกกระเป่าหนัก
การแบกกระเป๋าหนักมากเกินไปจะทำให้กระดูกสันหลังโค้ง ปวดหลัง ปวดคอ ปวดไหล่ บางคนอาจเป็นแค่เพียงสั้นๆ แต่บางคนอาจเป็นเรื้อรัง และส่งผลต่อพัฒนาการด้านความสูง และเมื่อมีปัญหาสุขภาพ ย่อมมีผลต่อการเรียนด้วย
นายระพินทร์ พิมลศานติ์ ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ แพทย์ผ่าตัดกระดูกและข้อและอาจารย์ประจำภาควิชาศัลยศาสตร์ ออร์โธปิดิกส์ กายภาพบำบัดคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลให้สัมภาษณ์ว่า การแบกกระเป๋าหนักส่งผลต่อร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อบ่าทำงานหนัก เพราะรับน้ำหนักจากการเกร็ง และกดทับของกระเป๋า เด็กที่ทีอายุ 5-10 ขวบ อาจส่งผลในอนาคต
การแบกกระเป๋าจนเกิดความเคยชิน จะส่งผลต่อโอกาสเสี่ยงโรคกระดูกเร็วขึ้น เนื่องจากความเสื่อมของกระดูกสันหลัง ถึงแม้ว่าเรื่องการแบกกระเป๋าหนักแล้วทำให้เด็กไม่สูงนั้น ทางการแพทย์จะยังให้คำตอบได้ไม่แน่ชัด เพราะยังไม่มีผลรับรอง แต่คุณหมอเชื่อว่าอาจส่งผลให้สูงน้อยกว่าปกติได้เช่นกัน
คำแนะนำการแบกกระเป๋าจากคุณหมอ
นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี แนะนำวิธีการป้องกันเอาไว้ดังนี้
- เด็กชั้น ป.1-2 ควรแบกน้ำหนักไม่เกิน 3 กิโลกรัม
- เด็กชั้น ป.3-4 ควรแบกน้ำหนักไม่เกิน 3.5 กิโลกรัม
- เด็กชั้น ป.5-6 ควรแบกน้ำหนักไม่เกิน 4 กิโลกรัม
นอกจากนี้ควรจัดกระเป๋าอย่างถูกวิธี ควรสะพายกระเป๋าทั้ง 2 ข้าง วางสิ่งของให้สมดุล ไม่หนักไปข้างใดข้างหนึ่ง
เครดิต: CSIP ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก, www.unigang.com, https://blog.eduzones.com