AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เกาะติดสถานการณ์การ “สอบเข้าป.1” ดีหรือไม่ถ้าจะไม่มีสอบ

เครดิตภาพ: Thai PBS

ติดตามความเข้มข้นของการ “สอบเข้าป.1” จะดุเดือดขนาดไหน แล้วจะดีหรือไม่ถ้าจะออกกฎหมายห้ามสอบ!

 

 

เดี๋ยวนี้ไม่ว่าอะไรก็เป็นการแข่งขันไปเสียหมด เฉกเช่นเดียวกับการสอบเข้าโรงเรียน ซึ่งถ้าหากพูดถึงตอนนี้คงหนีไม่พ้นการแข่งขันสอบเข้าของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ของโรงเรียนมีชื่อเสียงต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนสาธิตต่าง ๆ ซึ่งมีอัตราการแข่งขันที่สูง ด้วยสัดส่วนของจำนวนเด็กที่แต่ละโรงเรียนประกาศรับกับจำนวนเด็กที่มาสมัครสอบ ในอัตราที่ค่อนข้างสูงถึง 1:30 ทำให้ผู้ปกครองหลาย ๆ ท่าน ต้องเตรียมความพร้อมให้กับลูกหลานนานนับปี และหลาย ๆ ครอบครัว ตัดสินใจที่จะพาลูกวิ่งรอกสอบในหลาย ๆ สถาบันเพื่อให้สมหวังดังใจ

ซึ่งล่าสุดกับบรรยากาศการสอบของโรงเรียนสาธิตแห่งแรกพบว่า เด็กที่มาสมัครสอบนั้นมีมากถึง 3,000 คน แต่โรงเรียนเปิดรับนักเรียนเข้าใหม่เพียงแค่ 100 คนเท่านั้น เรียกได้ว่าเป็นการแข่งขันที่น่ากลัวจริง ๆ เลยใช่ไหมละคะ

ในขณะที่โรงเรียนสาธิตแห่งที่สองพบว่า การสอบเข้าโรงเรียนชั้นอนุบาล 3 นั้นมีนักเรียนชั้นอนุบาลและผู้ปกครองเป็นจำนวนมากเดินทางมาโรงเรียนกันตั้งแต่เช้ามืด ซึ่งเด็กที่มาสมัครสอบนั้น มีมากกว่า 2,000 คน แต่เปิดรับได้เพียงแค่ 100 คนเท่านั้น หลายครอบครัวคาดหวังให้ลูกสอบเข้าให้ได้ ส่วนบางครอบครัวก็แค่ต้องการให้ลูกผ่านสนามสอบเพื่อเป็นประสบการณ์ชีวิตให้กับตนเอง

ซึ่งจากการแข่งขันที่ดุเดือดนี้ ทำให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษากำลังมีการยกร่างกฎหมายการปฐมวัยแห่งชาติว่าด้วยมาตรา 31 อันกล่าวไว้ว่า เพื่อเป็นการปกป้องพัฒนาการเด็กปฐมวัย ห้ามมิให้สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ และโรงเรียนตามกฎหมาย โรงเรียนเอกชนรับเด็กปฐมวัยเข้าศึกษาโดยใช้วิธีการสอบคัดเลือกหรือทดสอบสมรรถนะ คุณลักษณะ ความรู้ หรือความสามารถอื่นใดของเด็กปฐมวัยรวมถึงการฝากเด็กปฐมวัยเข้าเรียนในสถานศึกษาด้วย โดยหลักการที่จะมีการปฏิรูปก็คือ การห้ามสอบคัดเลือกในระดับเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2

เครดิตภาพ: Thai PBS

โดยรองศาสตราจารย์ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานอนุกรรมการเด็กเล็ก ในคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา ให้ความเห็นถึงการสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนชั้นป.1 ว่า “ขณะนี้ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ปฐมวัย เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย โดยขั้นตอนต่อจากนี้จะนำร่างฯ เสนอให้กับคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษาได้พิจารณาเนื้อหา และหากได้ข้อสรุปแล้วเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อรับฟังข้อคิดเห็น ก่อนจะส่งไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป”

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ปฐมวัย มีมาตราหนึ่งที่ค่อนข้างสำคัญเป็นอย่างมาก คือ ระบุห้ามไม่ให้มีการสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนชั้น ป.1 ในโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อป้องกันเด็กและลดการสร้างความกดดันในเด็กปฐมวัย ที่มีอายุตั้งแต่ 0 ขวบไปจนถึง 8 ขวบ และจะเป็นทางออกสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กในอนาคต

อย่างไรก็ตาม มาตราดังกล่าวยังคงมีการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลาย และมีประเด็นที่ต้องโต้เถียงกันอยู่ เช่น แม้เราจะตระหนักดีว่าการสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ของเด็กชั้นอนุบาล ที่จะเรียนต่อในชั้น ป.1 มีผลกระทบกับเด็กอย่างมาก รวมถึงผลกระทบต่อรูปแบบการเรียนการสอนในระดับชั้นอนุบาล ที่ต้องผลักดันให้เด็กเก่งด้านวิชาการตั้งแต่เล็ก และขัดกับการพัฒนาที่เน้นการสร้างสรรค์จินตนาการมากกว่า แต่การออกกฎหมายไม่ให้มีการสอบแข่งขันเลย ก็หวั่นว่าจะเกิดช่องโหว่ที่กระทบกับผู้ปกครอง และเมื่อไม่มีกฎหมายบังคับโรงเรียนในการรับเด็กเข้าเรียน ก็จะเป็นช่องให้เด็กที่พ่อแม่ผู้ปกครองมีเงินจำนวนมาก สามารถการันตีที่นั่งเรียนให้กับเด็กได้

รศ.ดารณี ในฐานะอดีตอาจารย์ใหญ่โรงเรียนสาธิตฯ เกษตรศาสตร์ และสอนอยู่ในโรงเรียนแห่งนี้มานานกว่า 30 ปี ย้ำอีกว่า แม้ร่าง พ.ร.บ.ปฐมวัย จะมีมาตราที่ห้ามสอบ พร้อมกับบทลงโทษว่าหากโรงเรียนใดฝ่าฝืนเปิดสอบแข่งขัน จะมีโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท แต่ก็มีอีกเสียงจากคณะกรรมการเห็นว่า หากฝ่าฝืนเกิน 3 ครั้งก็ควรจะยึดใบอนุญาตโรงเรียนไปเลย ซึ่งบางส่วนก็เห็นว่าเหมาะสม และอีกบางส่วนก็เห็นว่ารุนแรงเกินไป แต่ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะต้องผ่านการระดมความคิดเห็นกันอีก ก่อนจะเสร็จอย่างสมบูรณ์ ซึ่งขณะนี้ยังคงเป็นเพียงแนวทางเท่านั้น

“ไปเรียนโรงเรียนดัง ๆ ที่แข่งขันกันแต่เรื่องของวิชาการมากกว่าการเล่นเพื่อเรียนรู้ เด็กที่ยังไม่พร้อมแต่เข้าไปเรียนได้ก็ต้องสอบตก และถามว่าเด็กจะมีความสุขหรือไม่ โรงเรียนที่ดัง ๆ ทั้งหลายก็ไม่ได้การันตีความสุขให้กับเด็ก เด็กสมควรที่จะต้องมารับความกดดันขนาดนี้หรือไม่” รศ.ดารณี ตั้งคำถาม

แล้วคุณพ่อคุณแม่ละคะ มีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้บ้าง ลองแชร์กันเข้ามาดูนะคะ

ขอบคุณที่มาของข่าว: Thai PBS และ Posttoday

อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids