ในขณะที่โรงเรียนสาธิตแห่งที่สองพบว่า การสอบเข้าโรงเรียนชั้นอนุบาล 3 นั้นมีนักเรียนชั้นอนุบาลและผู้ปกครองเป็นจำนวนมากเดินทางมาโรงเรียนกันตั้งแต่เช้ามืด ซึ่งเด็กที่มาสมัครสอบนั้น มีมากกว่า 2,000 คน แต่เปิดรับได้เพียงแค่ 100 คนเท่านั้น หลายครอบครัวคาดหวังให้ลูกสอบเข้าให้ได้ ส่วนบางครอบครัวก็แค่ต้องการให้ลูกผ่านสนามสอบเพื่อเป็นประสบการณ์ชีวิตให้กับตนเอง
ซึ่งจากการแข่งขันที่ดุเดือดนี้ ทำให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษากำลังมีการยกร่างกฎหมายการปฐมวัยแห่งชาติว่าด้วยมาตรา 31 อันกล่าวไว้ว่า เพื่อเป็นการปกป้องพัฒนาการเด็กปฐมวัย ห้ามมิให้สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ และโรงเรียนตามกฎหมาย โรงเรียนเอกชนรับเด็กปฐมวัยเข้าศึกษาโดยใช้วิธีการสอบคัดเลือกหรือทดสอบสมรรถนะ คุณลักษณะ ความรู้ หรือความสามารถอื่นใดของเด็กปฐมวัยรวมถึงการฝากเด็กปฐมวัยเข้าเรียนในสถานศึกษาด้วย โดยหลักการที่จะมีการปฏิรูปก็คือ การห้ามสอบคัดเลือกในระดับเด็กปฐมวัย ตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2
โดยรองศาสตราจารย์ดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานอนุกรรมการเด็กเล็ก ในคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา ให้ความเห็นถึงการสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนชั้นป.1 ว่า “ขณะนี้ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.ปฐมวัย เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย โดยขั้นตอนต่อจากนี้จะนำร่างฯ เสนอให้กับคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษาได้พิจารณาเนื้อหา และหากได้ข้อสรุปแล้วเผยแพร่ต่อสาธารณะเพื่อรับฟังข้อคิดเห็น ก่อนจะส่งไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป”
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ปฐมวัย มีมาตราหนึ่งที่ค่อนข้างสำคัญเป็นอย่างมาก คือ ระบุห้ามไม่ให้มีการสอบแข่งขันเพื่อเข้าเรียนชั้น ป.1 ในโรงเรียนทั่วประเทศ เพื่อป้องกันเด็กและลดการสร้างความกดดันในเด็กปฐมวัย ที่มีอายุตั้งแต่ 0 ขวบไปจนถึง 8 ขวบ และจะเป็นทางออกสำคัญในการสร้างการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กในอนาคต