ว่ากันว่าเด็กในช่วง 2-12 ปี จะซนและดื้อมากที่สุด พ่อแม่พูดอะไรก็ไม่เชื่อฟัง ไม่ยอมทำตาม ยิ่งถ้าบอกว่า “อย่า” เด็กก็จะยิ่งอยากทำสิ่งนั้นมากขึ้น ยิ่งบังคับมากเท่าใด เด็กก็จะต่อต้าน และอยากเอาชนะมากเท่านั้น
เด็กดื้อ ในความหมายของคนทั่วไป น่าจะหมายถึงเด็กที่ต่อต้านไม่เชื่อฟังในเด็กเล็ก เด็กอาจอาละวาดเพื่อแสดงความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งอาจถือเป็นพัฒนาการปกติ และจะถือว่าผิดปกติเมื่ออาการเป็นมากและไม่อยู่ในกฎเกณฑ์ทั่วไปของสังคม
ลูกดื้อควรทำอย่างไร
ในเรื่องนี้ ผศ.นพ.ปราโมทย์ สุคนิชย์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาล มนารมย์ ให้ข้อมูลว่า การที่เด็กดื้อ หรือซนเกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่น ที่ตัวของเด็กเอง เพราะเด็กที่เกิดมาแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ต่างมีพื้นฐานทางด้านอารมณ์ที่แตกต่างกันไปด้วย คือว่าตามลักษณะธรรมชาติของเด็กบางคนอาจจะมีจังหวะจะโคนของตัวเอง พื้นฐานโดยทั่วไปก็จะแตกต่างกัน แต่เด็กที่ดื้อจะมีลักษณะที่เลี้ยงยากสักหน่อย มักมีอารมณ์ที่หุนหันพลันแล่น ไวต่อสิ่งเร้า มีการกินการนอนที่ไม่เป็นเวลา ซึ่งตรงนี้แต่ละคนก็จะมีพื้นฐานทางด้านอารมณ์ของตัวเองอยู่
Good to know นักวิจัยระบุว่า เด็กดื้อ มีพฤติกรรมก้าวร้าว ชอบสร้างปัญหา เพราะเกิดมาเป็นแบบนั้น หรือกล่าวในเชิงวิทยาศาสตร์ได้ว่า พฤติกรรมที่เป็นปัญหาฝังติดมากับดีเอ็นเอของเด็ก โดยนักวิจัยพบยีน monoamine oxidase A ที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมต่อต้านสังคม
ยีนดังกล่าวมีผลอย่างมากกับพฤติกรรมของเด็ก กล่าวคือ หากยีนตัวนี้อ่อนแอ และเด็กถูกล่วงละเมิดหรือถูกปลูกฝังให้ต่อต้านสังคม มีความเป็นไปได้มากที่เด็กคนนั้นจะแสดงลักษณะนิสัยดังกล่าวออกมา แต่ถ้ายีนตัวนี้แข็งแรง เด็กจะมีแนวโน้มน้อยลงที่จะแสดงพฤติกรรมขวางโลก ไม่ว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นอย่างไรก็ตาม
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ “เด็กดื้อ” จิตแพทย์ท่านนี้บอกว่า เป็นเรื่องของวัย เพราะโดยปกติแล้ว ในช่วง 1-3 ปี เด็กจะมีความเป็นตัวของตัวเองสูง เมื่อเขาสามารถก้าวเดินได้ เป็นธรรมดาที่จะต้องอยากทำนู้นทำนี่ สำรวจไปทั่ว เพราะเขายังไม่เข้าใจอย่างแท้จริงว่าสิ่งแวดล้อมที่เขาเห็นอยู่นั้นคืออะไร และเด็กๆในวัยนี้มักจะคิดว่าตัวเองสำคัญที่สุด ถ้าหากว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจัดการไม่ถูกต้อง อาจจะส่งผลทำให้เด็กดื้อต่อเนื่องยาวนานถึงระดับอนุบาลหรือประถมศึกษาได้
Must read : ใช้จิตวิทยาในการเลี้ยงเด็กดื้อ เอาใจตัวเอง
Must read : รับมือเจ้าหนูจำไมจอมดื้อ วัย 3-5 ขวบ
Must read : ลูกดื้อเหลือเกิน ทำไงดี
ทั้งนี้กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้เด็กดื้อและซนมีได้หลายสาเหตุ
- ช่วงตั้งครรภ์ พบว่า เด็กที่มารดาสูบบุหรี่และ/หรือดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงตั้งครรภ์ รวมทั้งเด็กเล็กที่สัมผัสหรืออยู่ใกล้ผู้ที่สูบบุหรี่ มีโอกาสแสดงปัญหาซน ดื้อ สมาธิสั้นได้มากกว่าเด็กที่มารดาไม่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ หรือไม่ได้อยู่ใกล้ผู้สูบบุหรี่
- วัยเด็กเล็ก มีหลักฐานยืนยันว่าหากเด็กจ้องมองหรือดูทีวี หรือเล่นคอมพิวเตอร์ ตั้งแต่เล็กๆ (ก่อน 2 ขวบ) หรือเล่นเกิน 1 ชั่วโมง (อายุ 2 – 5 ขวบ) หรือ 2 ชั่วโมง (อายุมากกว่า 5 ขวบ) มีโอกาสเกิดปัญหาซน ดื้อและสมาธิสั้นได้
- พัฒนาการตามวัย เด็กเล็กกระหายที่จะเรียนรู้ตามวัย ตามธรรมชาติ เช่น เด็กบางคนพอเริ่มคลานก็จะซนแล้ว จริงๆ คิดว่าเขาอยากจะฝึกทักษะทางร่างกายที่เขาได้พัฒนาขึ้นมา ถ้าเขาเริ่มยืน เดินได้ เขาก็จะเริ่มซนในเรื่องเดิน มันก็สนุกและท้าทายที่เขาเริ่มทำได้ แล้วก็อาจจะเริ่มไปค้น ไปคุ้ย ไปรื้อ เพราะเมื่อก่อนอาจจะได้แต่นั่งนิ่งๆ เพราะไม่รู้ว่าคืออะไร ไปเองก็ไม่ได้ จับก็ไม่ได้ จะให้คนอื่นพาไปก็ยังสื่อสารไม่รู้เรื่อง พอเดินได้ก็อยากไปดู แต่จริงๆ มันก็ตรงกับวัยที่เขาจะต้องสำรวจโลก แล้วก็ลงมือทำ โดยจะเริ่มในช่วง 1 ขวบกว่าๆ พอเริ่มเก่งขึ้นก็อาจจะเริ่มเล่นสมมุติ เป็นเรื่องเป็นราวมากขึ้น
- ปัญหากล้ามเนื้อ จากการอุ้มผิดท่า ท่านอนหรือนั่งที่ไม่เหมาะสม หรือเท้าแบนเกินไป ขาดการเคลื่อนไหวหรือออกแรงที่เหมาะสม ทำให้เด็กทรงท่าให้อยู่นิ่งไม่ได้ นั่ง หรือยืนนานๆ ไม่ได้ ต้องยุกยิกหรือขยับตัวตลอด แบบนี้เขาเรียกว่าซนแบบมีปัญหา ควบคุมร่างกายตัวเองให้นิ่งเพื่อที่จะทำกิจกรรมไม่ได้
- ปัญหาการเรียนรู้ผ่านระบบประสาทสัมผัส ส่งผลให้เด็กแสดงพฤติกรรมซน อยู่ไม่นิ่งหรือสมาธิสั้นได้ ซึ่งต้องได้รับการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญ
- ปัญหาการเลี้ยงดู ที่ขาดวินัย และความสม่ำเสมอ
- ปัญหาสุขภาพของเด็ก เช่น นอนกรน นอนน้อย เป็นโรคบางชนิด หรือกินยาบางชนิด
- เป็นโรคซน สมาธิสั้น
อ่านต่อ >> “7 เหตุผลดีๆ ของการมีลูกดื้อ” คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
ใครๆ ก็ชอบคิดว่า การที่เด็กมี “นิสัยดื้อรั้น” คือเรื่องที่ไม่ดี เวลาสอนลูก สอนหลาน ก็จะบอกว่า อย่าดื้อนะลูก เป็นเด็กดีต้องว่านอนสอนง่าย ต่างๆ นานา เพราะ “นิสัยดื้อรั้น” คนมักคิดว่า มันจะมาพร้อมกับ การมีอีโก้สูง อารมณ์ร้อน จู้จี้ และชอบการแข่งขันไป แต่คุณพ่อคุณแม่รู้หรือไม่ การที่ลูกเป็น เด็กดื้อ ก็มีข้อดีเหมือนกัน ซึ่งข้อดีเหล่านี้ล้วนแต่เป็นโยชน์กับตัวเด็กๆ เองด้วย จะมีอะไรบ้าง ไปดูกันค่ะ
1. เป็นเด็กมีความคิดนอกกรอบ
เด็กที่ดื้อ คือเด็กที่ไม่เชื่อฟัง ไม่ทำอะไรตามคำสั่ง นั่นแปลว่า เขามีความคิดเป็นของตัวเอง ไม่ต้องการทำอะไรในกรอบ มีความคิดสร้างสรรค์ที่ต้องการปลดปล่อยมันออกมามากกว่าเด็กคนอื่น และมีความกล้าที่จะทำในสิ่งที่คนอื่นไม่กล้าทำ ซึ่งเด็กพวกนี้ เมื่อประสบปัญหาก็จะสามารถแก้มันได้ด้วยตัวเอง ถึงแม้จะไม่มีพ่อแม่อยู่ตรงนั้นก็ตาม
Must read : กิจกรรมเพิ่มความคิดสร้างสรรค์
2. สามารถทนแรงกดดันได้
อีกหนึ่งข้อที่เด็กดื้อ เด็กซน ที่เหนือกว่าเด็กปกติทั่วไป ก็คือความอดทน โดยคุณพ่อคุณแม่ลองคิดดูว่า กว่าลูกน้อยจะโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ได้ ต้องถูกดุ ถูกว่า ถูกตี ถูกตำหนิมามากแค่ไหนจากพฤติกรรมซน ๆ จนน่าปวดหัว ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นเหมือนเกราะป้องกันให้พวกเขามีความอดทนต่อแรงกดดันได้ ต่างจากเด็กทั่วไปที่ไม่ค่อยได้โดนดุ โดนว่า ทำให้เจอแรงกดดันนิดหน่อยก็อาจถอยได้ง่าย ๆ
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
3. จะเป็นผู้นำในอนาคต
เรื่องนี้อาจเชื่อยาก แต่ก็ต้องเชื่อนะ เพราะถึงมีผลวิจัยรายงานออกมาให้เห็นว่า พวกเด็กที่ ดื้อและซน มีโอกาสที่จะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีอนาคต เพราะพวกเขามีแรงบันดาลใจจากตัวเอง มีความมุ่งมั่น และเพราะคุณสมบัติของอีก 2 ข้อด้านบนที่กล่าวมาข้างต้นด้วยนั้น จึงทำให้ในอนาคตพวกเขาจะได้ใช้ประโยชน์จากความดื้อและความซนของตัวเอง โดยสามารถก้าวขึ้นเป็นผู้นำของคนอื่น ๆ ได้
4. เด็กดื้อ จะรู้ว่า ตัวเองต้องการอะไร และไม่ต้องการอะไร
การที่คนคนหนึ่ง ดื้อรั้น ไม่เอนเอียงตามความเห็นของคนอื่น มันไม่ได้หมายความว่า เขายึดตัวเองเป็นหลักเสมอไป เพียงแต่ว่า เด็กเหล่านี้รู้ว่า จริงๆ แล้วเขาต้องการอะไรมากกว่า และไม่ต้องการให้อะไรมาเปลี่ยนแปลงไป หรือมาบดบังได้ง่ายๆ
Must read : 1-3 ขวบ ต้องการเป็นตัวของตัวเอง
อ่านต่อ >> “7 เหตุผลดีๆ ของการมีลูกดื้อ” คลิกหน้า 3
5. มีความ “เด็ดขาด” กว่าคนอื่น!
นอกจากคนดื้อ จะรู้ว่าอยากได้อะไรแล้ว นั่นทำให้เขามักจะตัดสินใจ “เด็ดขาด” กว่าคนอื่นๆ ที่มักจะลังเล หรือเอนเอียงไปกับสิ่งรอบข้างได้ง่าย ซึ่งบางที คนที่อยู่ตรงข้ามพวกที่ดื้อรั้น อาจจะรู้สึกว่า ถูกเอาเปรียบให้ต้องเลือก หรือทำตามที่พวกดื้อรั้นทำ แต่นั่นจริงๆ แล้ว ไม่ใช่ข้อเสียของคนดื้อรั้น แต่มันอาจจะเป็นขอเสียของอีกฝ่ายมากกว่า ที่ไม่หนักแน่นในความคิดของตนเองมากพอ ซึ่งเขาจะคิดเสมอว่ามีสิทธิ์เลือกที่เขาจะถูกควบคุม หรือ ไม่ถูกควบคุม นั้นเอง
6. มีความพยายามสูงมาก
เด็กที่มีความดื้อรั้นอยู่ในตัวจะมีความพยายามสูงมาก และมากกว่าคนอื่นๆ เพราะด้วยความที่เขาเชื่อมันว่าความคิดของเขาถูก เขาจะไม่ล้มเลิกความพยายามได้ง่ายๆ เขาจะตามล่าความฝันของเขาจนถึงที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเรียน เรื่องงาน หรือแม้กระทั่งเรื่องความรักก็เช่นเดียวกัน คนพวกนี้ คำว่า “ยอมแพ้” แทบจะไม่มีอยู่ในหัวเลยแม้แต่น้อย
7. เด็กดื้อมีความต้องการคนชี้นำ
เพราะเด็กที่ดื้อ จะมีความคิดเป็นของตัวเอง ซึ่งบางครั้งมันอาจเป็นความคิดที่ผิด เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง การกระทำบางอย่างของพวกเค้ามันอาจจะเกินรับได้มากไปหน่อย คนเป็นพ่อเป็นแม่ จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการจะชี้นำลูกว่าสิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ ซึ่งการปล่อยลูกไว้กับสิ่งที่เขาสนใจ แล้วก็ไปทำอย่างอื่น ไม่ได้ช่วยให้เขาโตมาเป็นคนดีได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องสอนและชักจูงเค้าไปในทิศทางเหล่านั้นด้วยตัวเราเอง
จากข้อดีของพฤติกรรมดังกล่าวมา สำหรับสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่เหนื่อยใจกับลูกวัยรุ่น โดยเฉพาะผู้ที่พบว่า ลูกมีอาการดื้อรั้น เถียงเก่ง ลองฟังทางนี้ เพราะมีการวิจัยระบุว่า การที่ลูกวัยรุ่นมีอาการดื้อรั้น หรือสามารถแสดงความคิดเห็นของตนเองได้อย่างตรงไปตรงมา (แม้จะไม่ถูกหูคุณพ่อคุณแม่) อาจเป็นสิ่งที่ดีสำหรับตัวเขาเอง โดยเด็กที่มีพฤติกรรมเหล่านี้มักจะมีภูมิต้านทานอบายมุข เช่น ยาเสพติด หรือแอลกอฮอล์ เหนือกว่าเด็กที่เก็บกด หรือไม่เคยได้รับโอกาสในการแสดงความคิดเห็นใด ๆ
งานวิจัยนี้เป็นของมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกาซึ่งได้ทำการศึกษาพฤติกรรมของเด็กวัยรุ่นที่มีอายุ 13 – 16 ปี และพ่อแม่ของพวกเขา พบว่า เด็กวัยรุ่นนั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา และสามารถบอกถึงมุมมองของตนเองต่อผู้ปกครองได้ แม้จะมีการถกเถียงกันก็ตาม จะมีภูมิคุ้มกันบางอย่างเกิดขึ้น และมันช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ไม่หันหายาเสพติด หรือแอลกอฮอล์เมื่อถูกชักชวนจากเพื่อน ๆ
นอกจากนี้นักวิจัยยังพบด้วยว่า การที่เด็กลุกขึ้นมาลุยเล็ก ๆ กับผู้เป็น “แม่” ยิ่งมีประโยชน์กับตัวเด็กเอง มากกว่า พ่อ พี่น้อง ญาติ ๆ หรือเพื่อน ๆ ด้วย เพราะการคุยกับแม่นั้น เด็กจะต้องหาเหตุผลต่าง ๆ มาโต้แย้งให้ตัวเองรอดพ้นจากข้อกล่าวหา หรือการถูกบ่นว่าต่าง ๆ มากกว่าสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ นั่นเอง ตรงกันข้ามกับเด็กที่ไม่สามารถแสดงความคิดเห็น หรือต้องเก็บกดเนื่องจากครอบครัวไม่เปิดโอกาสให้ พวกเขาจะไประบายให้เพื่อนฟังแทน นั่นทำให้เด็กรู้สึกว่าเพื่อนเป็นที่พึ่งทางใจ และทำให้เพื่อนมีอิทธิพลต่อตัวเด็กมากขึ้น ดังนั้นหากวันหนึ่งเพื่อนชักชวนให้ลองเสพยาเสพติด เด็กก็อาจคล้อยตามได้ง่าย
ทั้งนี้ทั้งนั้นการรู้ว่ามีลูกดื้อ สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ควรฟังลูกให้มากขึ้น ไม่ได้ให้ตามใจเด็ก แต่ให้รับฟังเขา พอเขาต่อรองอะไรมา ถ้าทำได้เราก็ต่อรองกลับ ถ้าทำไม่ได้เราก็รับฟังแต่ไม่ได้ตามใจ อยากให้พ่อแม่ยุคใหม่เข้าใจเรื่องของการต่อรองกับลูก พูดคุยกัน ไม่จำเป็นต้องไปสั่งเด็กทั้งหมด การฝึกให้ลูกต่อรองกับเราให้เป็น เขาก็จะมีทักษะเวลาเขาโตขึ้นแล้วไปเจออะไรที่ไม่เข้าที เขาก็สามารถต่อรองได้ เอาตัวรอดได้
ก็เรียกว่า งานนี้คงเพิ่มความเหนื่อยให้คุณแม่อีกหลายเท่าเลยทีเดียว แต่เชื่อว่า ถ้าเป็นสิ่งที่ดีต่อลูก หรือทำให้ลูกมีภูมิคุ้มกันทางใจ คุณแม่คนไหนก็ยอมเหนื่อยค่ะ ส่วนลูกวัยรุ่นก็อย่าชะล่าใจ หรือใช้โอกาสนี้พูดจาโต้เถียงหักหาญน้ำใจพ่อแม่กันมากจนเกินไปนักนะคะ เพราะการแสดงความคิดเห็นก็มีหลายแบบให้เลือกใช้ ฝึกมาแบบใดมันก็จะติดตัวคุณลูก ๆ ไปจนโตเช่นกันค่ะ ลองคิดหาทางโต้แย้ง – แสดงความคิดเห็นแบบที่ไม่ทำร้ายจิตใจพ่อแม่กันก็ดีค่ะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- ลูก 9 เดือน กรี๊ดเอาแต่ใจได้แล้วหรือ??
- ลูกดื้อตาใสพ่อแม่ยิ่งแรง จอมซนยิ่งร้าย
- ลูกเอาแต่ใจตัวเอง รับมืออย่างไรดี?
- วิธีลงโทษลูกเมื่อลูกทำผิด โดยไม่ต้องตี หรือดุด่า
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.kiitdoo.com , imgads.manager.co.th