AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

คำพูดและการกระทำที่ไม่ควรใช้กับลูก

พ่อแม่ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยสนใจกับคำพูดของตนเองเวลาที่พูดกับลูก หรือในเวลาที่คุณกำลังเครียดหรือโมโหอยู่ ตัวเราอาจใช้คำพูดที่ไปทำร้ายจิตใจลูกอย่างรุนแรงออกไปโดยไม่รู้ตัวหรือไม่ตั้งใจ จึงไม่ทันคิดเลยว่าคำพูดเหล่านั้นจะไปกระทบต่อจิตใจของเด็กมากน้อยแค่ไหน หรือจะส่งผลอย่างไรที่ทำให้เด็กมีปมในใจบ้าง

ทางที่ดีพ่อแม่ควรควบคุมสติและอารมณ์ตัวเองอยู่เสมอ เพราะถ้าพลั้งปากหรือทำอะไรลงไปแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะทำให้เด็กคลายปมปัญหาในใจ จากการที่ถูกพ่อแม่ดุด่าว่ากล่าว ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กในวัย 3-6 ขวบ ถือว่าเป็นช่วงอายุที่พัฒนาการต่างๆ ทั้งร่างกาย อารมณ์ สติปัญญา และภาษา เขาจะเริ่มเรียนรู้ก่อน ว่านี่คือโกรธ รัก หวง  เขาจะมีความสับสน หรือตกใจกับอารมณ์พวกนี้เวลาเกิดเหตุการณ์ แต่เขาก็เรียนรู้อารมณ์คนอื่นด้วย เช่น เริ่มมีสังคม รู้จักการแบ่งปัน เริ่มสร้างลักษณะตัวตนของตัวเองว่าพ่อแม่รู้สึกอย่างไรกับเขา

ดังนั้นคำพูดทั้งหลายที่ดีและไม่ดีจึงสามารถกระทบต่อจิตใจ อารมณ์ สังคมได้ ว่าเด็กมองตัวตนตัวเองแย่ลงหรือไม่ การพัฒนาด้านอื่นๆ จึงมีผลกระทบตาม เมื่ออารมณ์ไม่พร้อม ร่างกาย และจินตนาการก็จะถูกบล็อกไปด้วย โดยเฉพาะลักษณะการกระทำหรือคำพูดดังต่อไปนี้

1. ไม่รักลูกแล้ว/เป็นไปได้ไม่น่ามีลูกเลย

คำนี้มันเสียดแทงใจจริงๆค่ะ และหากว่าลูกมีพี่น้องหลายคน คุณพ่อคุณแม่พูดกับเขาแบบนี้ อาการน้อยใจ และต่อต้านบังเกิดแน่ๆค่ะ ซึ่งอาจส่งผลให้เค้าเป็นเด็กเก็บกด คิดว่าคุณพ่อคุณแม่ลำเอียง ไม่สามารถเป็นที่พึ่งได้อีก เวลาที่มีปัญหาอะไรเค้าก็จะไม่บอกกล่าวให้คุณพ่อคุณแม่ฟังค่ะ เพราะคิดว่าคุณพ่อคุณแม่จะไม่สนใจแล้ว อาจมีปัญหาด้านจิตใจไปเลยก็ได้

2. คำพูดที่ล้อเลียน

เป็นสิ่งที่ต้องห้ามเด็ดขาด เราไม่ควรล้อเลียนหรือเรียกชื่อลูกด้วยชื่ออื่นๆ ที่เป็นปมด้อยของลูกที่อาจทำให้ลูกรู้สึกเสียความมั่นใจ อย่างเช่น อ้วน ดำ เหี่ยว แห้ง สิว เตี้ย เป็นต้นค่ะ

3. หยุดก่อกวนซะที

บางครั้งพ่อแม่อาจต้องการเวลานอก ถ้าคุณบอกลูกว่าอย่ามายุ่ง บ่อยๆ พวกเขาก็อาจจะไม่คุยกับคุณอีกต่อไป ดังนั้น คุณควรอธิบายให้ลูกรู้ว่าบางครั้งพ่อกับแม่ก็ต้องการเวลาพักบ้าง พยายามอธิบายให้ลูกฟังก่อนที่จะระเบิดใส่ลูกของคุณ

4. ต่อว่าลูกตลอดเวลา

การบอกลูกว่าเขาซุ่มซ่าม, มีนิสัยที่ไม่ดี, หรือโง, ไม่เคยรู้เรื่องอะไรเลย … นั่นไม่ใช่คำพูดที่ช่วยให้เด็กมีความมั่นใจ หรือรู้สึกมีคุณค่ามากขึ้นเลยค่ะ ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ได้พูดกับเขาโดยตรงก็ตาม เด็กมักจะเชื่อในสิ่งที่พวกเขาได้ยินเสมอ โดยไม่ถามอะไรทั้งสิ้น สุดท้ายเด็กก็จะเชื่อว่าเค้าแย่อย่างที่คุณพูดจริงๆ

คลิกอ่านต่อ >> คำพูดและการกระทำที่ไม่ควรใช้กับลูก ข้อที่ 5-9

5. เปรียบเทียบระหว่างพี่น้อง

พ่อแม่ไม่ควรนำลูกมาเปรียบเทียบกัน เราควรเข้าใจว่าเด็กมีความแตกต่างกัน มีดีต่างกัน การพูดเปรียบเทียบระหว่างพี่น้องจะทำให้พวกเขาเกลียดกัน พ่อแม่ควรพยายามทำให้ลูกรู้ว่าพวกเขาพิเศษกันคนละแบบ

6. ใช้คำพูดขู่

อย่างเช่น “เดี๋ยวบอกให้พ่อรู้นะ” เมื่อลูกโตขึ้น ลูกจะรู้ว่าคุณก็แค่ขู่เท่านั้น ไม่ทำอะไรจริงๆหรอก และลูกก็จะไม่ฟังคุณอีกต่อไปแล้ว

7. การปรี๊ดใส่ลูก

จะทำให้ลูกขาดความมั่นใจในตัวเอง ต่อไปถ้าพวกเขาคิดจะทำอะไรก็ไม่กล้าอีกต่อไป เขาจะโตขึ้นโดยรู้สึกว่าทำอะไรก็ผิดไปหมดทุกอย่าง และก็ไม่มีวันทำอะไรถูกสักอย่าง ดังนั้น คุณควรพยายามพูดกับลูกดีๆ แทนที่จะพูดกระโชกโฮกฮากต่อว่าลูกตลอดเวลา

8. การลงไม้ลงมือ

การตี หรือการทำโทษหนักๆ อาจจะไม่ส่งผลดีเสมอไป เพราะมันอาจจะใช้ได้ผลแค่ในช่วงแรกๆ เท่านั้น แต่สุดท้ายแล้วมันก็จะใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป

9. คำชมที่พร่ำเพรื่อ

เด็กควรได้รับคำชมบ้าง แต่ไม่ใช่ตลอดเวลาหรือบ่อยเกินไป คำชมนั้นควรจะถูกสงวนไว้สำหรับโอกาสสำคัญๆ เท่านั้น ถ้าคุณชมลูกบ่อยเกินไปก็จะกลายเป็นคำพูดที่ดูไร้ความหมาย และลูกจะคิดว่าพวกเขาสมควรได้รับคำชมสำหรับทุกๆ อย่างที่ทำไม่ว่าเขาจะทำในสิ่งที่ผิดหรือถูกก็ตาม

เชื่อว่าการกระทำและคำต้องห้ามเหล่านี้อาจไม่มีครอบครัวไหนทำได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังพอมีวิธีแก้ไขที่สามารถช่วยได้ ควรเปลี่ยนเป็นการใช้คำพูดที่สื่อว่าเรารู้สึกอย่างไรมากกว่าการดุด่าแบบตรงๆ เช่น แม่รักลูกนะแต่ไม่ชอบที่ลูกทำแบบนี้ รวมถึงการให้เวลาส่วนใหญ่กับเขา เพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนในบ้าน และมองจุดดีมากกว่าจุดด้อย ให้เขารู้สึกว่าการอยู่บ้านนั้นไม่ได้ทำให้เขาถูกตำหนิทุกครั้ง ให้เด็กมีอิสระที่ได้คิด และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง

คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายรู้อย่างนี้แล้ว ก่อนจะพูดจะทำอะไรกับลูกก็ควรจะคิดวิเคราะห์ให้ดีก่อนที่จะพูดออกมา เพื่อผลที่ดีกับลูกในอนาคตนะคะ