ชักจากไข้สูง เกิดขึ้นได้กับเด็กๆ เสมอค่ะ ดังนั้นหากพบว่าลูกมีไข้พ่อแม่ต้องดูแลลดไข้ให้ลูกทันทีด้วยการหมั่นเช็ดตัวบ่อยๆ เพราะหากปล่อยให้อุณหภูมิในร่างกายลูกสูง อาจทำให้ลูกเกิดอาการชักจากไข้ขึ้นมาได้ ทีมงาน Amarin Baby & Kids มีคำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับทุกครอบครัวไว้รับมือ และดูแลลูกเบื้องต้นเมื่อ “ชักจากไข้สูง” มาให้ทราบกันค่ะ
ชักจากไข้สูง เป็นอย่างไร?
เวลาที่ลูกไม่สบายตัวร้อน ต้องระวังอย่าให้เกิดมีภาวะ ชักจากไข้สูง ฉะนั้นหากลูกไม่สบายมีไข้ตัวร้อนvสิ่งที่พ่อแม่ต้องทำเป็นอันดับแรกเลยคือการเช็ดตัว และให้ลูกทานยาลดไข้สำหรับเด็กเท่านั้น …เพราะหากลูกไม่สบายตัวร้อนแล้วมีอุณหภูมิ ในร่างกายที่สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียล อาจเสี่ยงต่อการชักได้ สำหรับการชักจากไข้สูง จะมีอาการชักแบบเกร็ง หรือไม่ก็กระตุกไปทั้งตัว ภาวะชักจากไข้เกิดขึ้นได้กับเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 6 เดือน ถึงช่วงอายุ 6 ปี
ชักจากไข้สูง มีผลต่อพัฒนาการ หรือสติปัญญาของเด็กหรือไม่
อ.นพ.สรวิศ วีรวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ความรู้ในเรื่องของภาวะชักจากไข้ ดังนี้…
เมื่อเด็กมีไข้สูงแล้วเกิดการชักขึ้นมานั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่สมองเด็กยังเจริญไม่เต็มที่ จึงทำให้มีโอกาสชักได้เมื่อถูกกระตุ้นจากปัจจัยต่างๆ เช่น ไข้สูง
ซึ่งการชักจากไข้ไม่ได้มีผลต่อพัฒนาการ หรือพัฒนาการการเรียนรู้ของเด็กๆ แต่ที่อันตรายคือ หากปล่อยให้เด็กมีอาการชักจากไข้สูงนานมากกว่า 30 นาที จนมีภาวะตัวเขียว ขาดออกซิเจน ก็ทำให้อาจจะมีผลกระทบต่อสมองของเด็กได้[1]
บทความแนะนำ คลิก>> พ่อแม่ระวัง! โรคจูบ โรคติดต่อที่พบได้ในเด็กวัย 2 ปีขึ้นไป
มีโอกาสชักซ้ำ ถ้ามีไข้สูงอีกหรือไม่
โดยทั่วไป ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีโอกาสชักซ้ำได้ถ้ามีไข้สูง จนกว่าจะอายุมากกว่า 5-6 ปี ส่วนในรายที่เริ่มมีอาการชักจากไข้ครั้งแรกก่อนอายุ 1 ปี และมีประวัติคนในครอบครัวมีภาวะนี้ในตอนเด็ก อาจมีโอกาสชักซ้ำได้มากขึ้น
มีโอกาสเป็นโรคลมชักหรือไม่
โดยทั่วไปความเสี่ยงในการเป็นโรคลมชักในอนาคต ไม่ได้แตกต่างจากเด็กปกติทั่วไป ยกเว้นในรายที่มีอาการชักที่นานกว่า 15 นาที มีอาการชักซ้ำมากกว่า 1 ครั้งภายใน 24 ชั่วโมง มีความผิดปกติทางสมองและพัฒนาการก่อนมีอาการชัก หรือมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคลมชัก จะมีโอกาสเป็นโรคลมชักได้มากกว่าเด็กปกติ
อ่านต่อ >> ควรทำ vs ไม่ควรทำ เมื่อลูกชัก เพราะไข้สูง คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การปฐมพยาบาลเบื้องต้น เมื่อลูก ชักจากไข้สูง
ณ ขณะที่ลูกเกิดอาการเป็นไข้แล้วชัก คนเป็นพ่อแม่อาจตกใจจนทำอะไรไม่ถูก สิ่งแรกที่ควรทำคือ ตั้งสติให้ดี และรีบปฐมพยาบาลให้ลูกหยุดชักโดยเร็ว
แม่ควรทำ เมื่อลูกชักเพราะไข้สูง
- ตั้งสติให้ดี อย่าตกใจ
- จับให้ลูกนอนตะแคง หันศีรษะไปด้านใด ด้านหนึ่ง เพื่อเปิดทางเดินหายใจ ป้องกันการสำลัก
- ระวังไม่ให้ลูกตกเตียง
- คลายเสื้อผ้าให้หลวม
- เช็ดตัวด้วยน้ำจากก๊อกประปา หรือน้ำอุ่น
- ขณะที่เช็ดตัวให้ประคบด้วยผ้าชุบน้ำที่บริเวณ หน้าผาก รักแร้ และขาหนีบไว้ด้วย
- หากลูกรู้ตัว ให้รับประทานยาลดไข้ เช่น ยาพาราเซตามอล
- เมื่อลูกหยุดชัก ให้รีบนำเด็กส่งโรงพยาบาล
อ่านต่อ >> ไม่ควรทำ เมื่อลูก ชักเพราะไข้สูง คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
แม่ไม่ควรทำ เมื่อลูกชักจากไข้สูง
- ไม่ควรให้ลูกหนุนหมอน เพื่อป้องกันการสำลัก
- ไม่ต้องพยายามจับหรือกอดรัดให้ลูกหยุดชัก
- ไม่ควรเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น หรือแอลกอฮอล์
- ห้ามใช้ช้อนหรือวัตถุอื่นใด หรือนิ้วมืองัดปาก เนื่องจากทำให้เยื่อบุช่องปากเด็กฉีดขาดหรือฟันหักและหลุดเข้าอุดกั้นทางเดินหายใจ เป็นอันตรายถึงชีวิตได้
- ห้ามป้อนยาหรือน้ำทางปาก ในขณะที่เด็กไม่รู้สึกตัว
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
สิ่งที่แม่ควรรู้เกี่ยวกับอาการชักจากไข้
- อาการชักจากไข้มีปัจจัยทางด้านพันธุกรรมเกี่ยวข้องด้วย เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีประวัติการชักจากไข้จะมีโอกาสชักจากไข้สูงมากกว่าเด็กที่ครอบครัวไม่มีประวัติชักจากไข้
- โดยทั่วไปแล้ว การชักจากไข้สูงไม่ทำให้เกิดสมองพิการ เด็กจะมีความสามารถในการเรียนและสติปัญญา (IQ) เหมือนเด็กปกติทั่วไป
- การเกิดอาการชักซ้ำจากไข้ โดยทั่วไปโอกาสเกิดอาการชักซ้ำพบร้อยละ 30 และมักเกิดภายใน 2 ปีแรก
- การป้องกันการชักซ้ำ เมื่อเริ่มมีไข้ให้กินยาลดไข้พาราเซตามอล และเช็ดตัวลดไข้ แล้วพามาพบแพทย์ ส่วนการให้ยากันชักอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้ดูแล และผู้ปกครองต้องเข้าใจวิธีการบริหารยากันชักอย่างถูกต้อง
อาการชักจากไข้ดูเหมือนจะไม่กระทบต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ของลูก หากอาการชักนั้นไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ หรือไม่ได้ชักติดต่อกันหลายครั้งใน 1 ชั่วโมง แต่เมื่อใดก็ตามที่ลูกมีอาการชักจากไข้ที่นานเกินกว่า 2-3 นาทีขึ้นไป ถือว่าอันตรายมากค่ะ เพราะสมองอาจขาดออกซิเจน และถ้าลูกกัดลิ้นตัวเองขณะชักลิ้นอาจขาดได้ ดังนั้นแนะนำว่าเมื่อลูกมีอาการไม่สบายเป็นไข้ให้รีบเช็ดตัว หมั่นเช็กอุณหภูมิบ่อยๆ หากไข้ยังขึ้นโดยไม่มีท่าทีว่าจะลดลง ให้รีบพาลูกส่งโรงพยาบาลทันที อย่าปล่อยให้ไข้ขึ้นสูงไปเรื่อยๆ เพื่อเลี่ยงภาวะชักจากไข้สูง
…ด้วยความใส่ใจและห่วงใยค่ะ
อ่านต่อ บทความน่าสนใจ คลิก
ขอบคุณข้อมูลจาก
1อ.นพ.สรวิศ วีรวรรณ ภาควิชากุมารเวชศาตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. ภาวะชักจากไข้ คืออะไร. www.si.mahidol.ac.th
phyathai.com , haamor.com , si.mahidol.ac.th
รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?