ความกลัวของเด็กวัย 3 – 5 ขวบ มีมากมายเต็มไปหมดค่ะ คุณพ่อคุณแม่อาจจะเคยได้ยินลูกวัยนี้วิ่งเข้ามาบอกว่าลูกกลัวความมืด กลัวน้ำ กลัวความตาย กลัวสัตว์ต่างๆ ทำไมเด็กถึงมีความกลัวเกิดขึ้นได้ เราจะสามารถช่วยให้ลูกเข้าใจความกลัวนี้ได้อย่างไร ความกลัวของเด็กนี้จะหายไปเมื่อไหร่ เรามีคำตอบค่ะ
เด็กกับความกลัวเป็นเรื่องที่คู่กัน เด็กจะกลัวในเรื่องที่จำฝังใจ ซึ่งความกลัวจะเกิดขึ้นในช่วงหนึ่งของชีวิตเท่านั้น เพราะพอเด็กโตขึ้นและได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เขากลัวนั้น เขาสามารถที่จะรับมือกับสิ่งที่กลัวได้อย่างไรบ้าง ก็จะทำให้เด็กใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น เช่น ถ้ากลัวผี ช่วงเวลาหนึ่งเขาจะรู้ว่าผีไม่มีอยู่จริง กลัวความมืด ช่วงเวลาหนึ่งเขาจะเรียนรู้ที่จะอยู่ให้ได้ถ้าไฟในบ้านเกิดดับขึ้นมา เป็นต้น ในขณะเดียวกันความกลัวที่เกิดขึ้นกับเด็ก จะทำหน้าที่ปกป้องให้เด็กระมัดระวังเรียนรู้ว่าสิ่งใดที่จะปลอดภัย และเป็นอันตรายกับตัวเขาได้บ้าง
เวลาที่มีสิ่งที่ทำให้กลัวอยู่ตรงหน้าไม่ว่าจะเป็น ด้วยความรู้สึก หรือกำลังจะถูกกระทำ ร่างกายจะถูกกระตุ้นให้ตื่นตัวด้วยการทำงานของระบบประสาท ที่เป็นระบบของเนื้อเยื่อพิเศษที่เกิดจากเซลล์ประสาท ทำให้ข้อความผ่านกระบวนการไปมาจากส่วนต่างๆ ของร่างกาย และจะมีการหลั่งสารอะดรีนาลิน ที่เป็นฮอร์โมนสารเคมีที่มีผลกระทบต่อการควบคุมส่วนต่างๆ ของร่างกาย ผลิตโดยต่อมหมวกไตที่อยู่ด้านบนสุดของไต (เป็นสารเคมีของความเครียด ซึ่งเราจะรู้สึกได้ว่าร่างกายจะรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ)
ความกลัวในวัยเด็กที่พบมากที่สุด
• สัตว์ประหลาด
• ความมืด
• กลัวความสูง
• พายุ ฟ้าผ่า ฟ้าร้อง
• แมลง งู สุนัข
• การหลงทาง
• การสอบตกซ้ำชั้น
• กลัวหมอ กลัวเข็มฉีดยา
• กลัวว่าจะเสียพ่อแม่ไป
แม้ว่าสายตาและมุมมองของผู้ใหญ่ต่อสิ่งต่าง ๆ จะมองจากความเป็นจริง และสามารถจัดการกับความรู้สึกไม่มั่นคงได้ แต่เด็กอาจต้องฝึกกันนิดหน่อย ซึ่งวิธีการก็ไม่ยากจนเกินไป โดยต้องเริ่มจาก
– ทำความเข้าใจกับความกลัวของลูกน้อย และใช้เหตุผลในการพูดคุย
– ในการพูดคุยนั้น ไม่ควรทำให้เด็กรู้สึกว่าเป็นความผิดที่ตนเองกลัวในสิ่งต่าง ๆ หรือทำให้เด็กรู้สึกว่าเป็นเรื่องน่าอาย
– อย่าสนับสนุนให้เด็กหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสิ่งที่เขากลัว แต่ควรจะให้เขาได้เผชิญหน้ากับมันบ้าง เพื่อที่เด็กจะได้รู้จักวิธีจัดการกับอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง (ในกรณีนี้คุณพ่อคุณแม่ควรทำด้วยความระมัดระวัง และไม่กระตุ้นในลักษณะที่รุนแรง)
– สร้างความรู้สึกเชื่อมั่นในตัวเองให้เกิดขึ้นกับเด็ก
– สอนวิธีผ่อนคลายให้เด็ก เพื่อที่เขาจะได้นำมาใช้เมื่อเกิดความกลัว หรือไม่มั่นคงขึ้น โดยอาจจะให้เด็กหลับตาและจินตนาการถึงความสุขที่เคยได้พบมา หรือสถานที่ที่พวกเขาชื่นชอบ
อ่านต่อ >> “สาเหตุและวิธีจัดการกับความกลัวของเด็ก” คลิกหน้า 2
สาเหตุของความกลัว
- เด็กที่อยู่แต่ในบ้าน หรือเด็กที่พ่อแม่ปกป้องมากจนเกินไป ไม่กล้าที่จะออกมาทำกิจกรรมข้างนอก เมื่อเจอในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย จึงทำให้เกิดความกลัวได้ง่าย
- ให้ลูกดูทีวีที่มีเรื่องราวน่ากลัว มีความรุนแรง เด็กจะเก็บไปจินตนาการต่อกลายเป็นความกลัวอย่างจริงจัง
- บางครั้งเด็กยังไม่สามารถแยกระหว่างความจริงและเรื่องสมมติได้ เด็กมีจินตนาการที่กว้างไกล และเขาใช้จินตนาการเหล่านี้ในการสร้างสรรค์ เทพธิดา นางฟ้า แม่มด รวมไปถึงสัตว์ประหลาดต่างๆที่ทำให้เขากลัวด้วย แต่เมื่อพวกเขาโตขึ้น เขาจะเรียนรู้ที่จะแยกแยะได้ว่าสิ่งไหนจริงและสิ่งไหนเป็นความเพ้อฝันได้
- ผู้ใหญ่ชอบหลอกเพราะง่ายต่อการปกครองและดูแล บางครั้งสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กกลัวนั้นมาจากผู้ใหญ่ การพูดไม่จริงเพื่อให้เด็กทำในสิ่งที่เราต้องการ เป็นผลเสียมากกว่าผลดี เช่น บอกเด็กๆ ว่าอย่ามุดเล่นใต้เตียงนะ เดี๋ยวผีมาหลอก หรืออย่าเล่นซ่อนแอบในเวลากลางคืน เดี๋ยวผีมาเอาตัวไปเป็นต้น อย่าหลอกเด็กเพื่อให้เขาทำในสิ่งที่เราต้องการ เพราะความกลัวนั้นจะติดตัวไปกับเด็กๆ และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วบางครั้งพวกเขาไม่สามารถกำจัดความกลัวนั้นออกไปได้ และจะเป็นผลเสียตามมา
- เคยมีประสบการณ์กับสิ่งเหล่านั้นมาก่อน เช่น เด็กบางคนกลัวการขี่จักรยานบนท้องถนน หรือกลัวแมงกะพรุนไฟ ความกลัวนี้เป็นความกลัวที่เกิดขึ้น เพราะเด็กเคยมีประสบการณ์กับสิ่งเหล่านี้มาก่อน ทำให้เด็กมีความกลัวฝังใจกับสิ่งเหล่านี้ เป็นต้น
หลักการช่วยเหลือเด็กให้เอาชนะความกลัว
• สอนวิธีเผชิญหน้ากับความกังวลใจ พ่อแม่สามารถสอนลูกถึงวิธีโต้ตอบเมื่อเขากังวลใจ
• ค่อยๆ ขจัดปฏิกิริยาโต้ตอบ วิธีส่งเสริมลูกให้เผชิญหน้ากับความกลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป คือ การค่อยๆ เปิดรับ ปล่อยให้ลูกกำหนดระยะ และไม่บังคับให้เขาทำสิ่งใดๆ โดยไม่สะดวกใจ
• สอนให้ผ่อนคลาย การผ่อนคลายช่วยให้เด็กปลดปล่อยอารมณ์ที่เกิดจากความกังวลใจ มีเทคนิคของผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวพันถึงการให้เด็กจินตนาการ หรือพัฒนาด้วยมโนภาพที่ผ่อยคลาย
4 เรื่องหลักที่เด็กกลัว แก้อย่างไร
- กลัวความมืด กำจัดความกลัวได้ด้วยการ ที่พ่อแม่ค่อยๆ ทำความเข้าใจ ทำให้ลูกรู้สึกอุ่นใจ กอดและพูดคุย ไม่ใส่อารมณ์หงุดหงิด ตวาด หรือเถียงเขา ควรฟังว่าทำไมเขาถึงกลัวความมืด พร้อมปลอบลูกว่าไม่มีอะไรน่ากลัวเกิดขึ้น ไม่ควรขู่ หรือให้ลูกดูหนังที่น่ากลัว เพราะเด็กมีความกลัวที่จินตนาการขึ้นมากพอแล้ว พาลูกออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน หรือหากิจกรรมให้ทำ หรือพาไปที่ที่ เพื่อลดความกลัวของเขาลง หรือเปิดไฟสลัวๆ ไว้
- กลัวสัตว์ สัตว์ที่ว่านี้อาจเป็นสัตว์ที่ลูกเคยเจอหรือไม่เคยเจอมาก่อนก็ได้ เวลาที่ลูกบอกว่าเขากลัวสัตว์ชนิดไหน พ่อแม่ไม่ควรพาไปสัมผัสใกล้ๆ เพราะคิดว่าจะทำให้ลูกหายกลัวได้เร็ว ควรรอให้ลูกคลายความกลัวลงก่อน และอยากที่จะเข้าใกล้เองดีกว่า
- กลัวน้ำ ลูกอาจคุ้นเคยกับการเล่นน้ำในอ่างใบเล็ก แต่เมื่อเจอสระว่ายน้ำที่ใหญ่กว่ามาก หรือเจอทะเลที่กว้างสุดลูกหูลูกตา เด็กอาจเกิดความกลัวขึ้นได้ง่าย ผู้ใหญ่ไม่ควรฝืนพาลูกลงน้ำทั้งๆ ที่ลูกกลัว รอให้เขาค้นพบด้วยตัวเองว่ากการเล่นน้ำสนุกมากขนาดไหน แล้วลูกจะเลิกกลัวเอง
- กลัวความตาย เด็กวัยนี้เริ่มสงสัยเกี่ยวกับความตาย พ่อแม่อธิบายเรื่องนี้ให้ลูกเข้าใจด้วยการใช้คำง่ายๆ ไม่น่ากลัว เช่น เขาป่วยหนักมาก ร่างกายจึงหยุดทำงาน ไม่ควรบอกว่า การตายคือการนอนหลับ เพราะจะทำให้ลูกกลัวการนอน
พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องกำจัดความกลัวให้ลูกทั้งหมด แต่ควรพูดคุยทำความเข้าใจ เมื่อเขาโตขึ้น รู้จักสิ่งต่างๆ มากขึ้น และได้เรียนรู้โลกมากขึ้น ความกลัวจะค่อยๆ หายไปเอง แต่หากลูกกลัวมากจนมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนะคะ
ขอบคุณข้อมูล : คัมภีร์เลี้ยงลูก โดย ดอกเตอร์สป็อก , Life & Family