6 วิธีสอนการบ้านลูกให้ได้ผลดี ไม่มีดราม่า
1. กำหนดเวลาที่แน่นอนในการสอน
เพราะเด็กไม่สามารถสนใจในสิ่ง ๆ หนึ่งได้นานเหมือนผู้ใหญ่ การสอนการบ้านลูกจนกว่าจะเสร็จหรือสอนจนกว่าลูกจะเข้าใจ โดยไม่คำนึงถึงเวลานั้น จะทำให้ลูกหมดสมาธิในการเรียนในช่วงหลัง ๆ เพราะเหนื่อยเกินกว่าจะรับฟังคุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น จึงควรกำหนดเวลาที่แน่นอนและเหมาะสมกับวัยของลูก โดยต้องทำการตกลงกับลูกก่อนว่าจะเริ่มสอนการบ้านในเวลานี้ และหยุดพักกี่นาที
2. ไม่เรียกลูกให้ทำการบ้านในทันที
การเรียกให้ลูกทำการบ้านในทันที ก็เหมือนกับการบังคับลูก จะทำให้ลูกรู้สึกต่อต้านต่อการทำการบ้าน ดังนั้น จึงควรให้เวลาลูกในการเตรียมตัว เตรียมอุปกรณ์ และเตรียมใจ ก่อนที่จะเริ่มทำการสอนการบ้าน ลูกก็จะไม่รู้สึกว่าถูกพ่อแม่บังคับให้ทำการบ้าน แต่เป็นหน้าที่ของลูกที่จะต้องทำ โดยมีพ่อแม่ช่วยสอนหากไม่เข้าใจ
3. ออกแบบการสอนให้สนุก
เคยสังเกตกันไหมคะ ว่าทำไมเด็กถึงตั้งใจฟังนิทานได้ แต่กลับไม่ค่อยตั้งใจเรียน ก็เพราะนิทานเป็นเรื่องที่สนุกน่ะสิ แต่การเรียนนั้นน่าเบื่อสำหรับเด็ก แล้วทำไมไม่ลองเปลี่ยนให้การเรียนการสอนเป็นเรื่องที่น่าสนุกดูล่ะคะ ลองนำเกมหรือกิจกรรมมาช่วยดึงดูดลูก ๆ แทนการอธิบายเป็นประโยคที่ยาวเหยียด เช่น หากกำลังเรียนเรื่องคำคล้องจอง ลองสลับกันพูดคำคล้องจอง หากใครที่ไม่สามารถต่อคำคล้องจองได้ คนนั้นจะถูกหักคะแนน เป็นต้น
4. ชมเชยทุกครั้งที่ลูกทำสำเร็จ
ไม่มีใครที่ไม่ชอบคำชมเชยหรอกค่ะ โดยเฉพาะคำชมเชยจากพ่อแม่นั้น เป็นยาชั้นดีที่จะทำให้ลูกมีกำลังใจในการเรียนเลยล่ะค่ะ ดังนั้น เมื่อลูกทำการบ้านถูก อย่าลืมพูดคำว่า “เก่งมากจ้ะ” และควรหลีกเลี่ยงคำพูดที่จะตัดสินเด็ก เช่นคำว่า ทำไมลูกไม่เก่งวิชานี้เลย เพราะคำพูดเหล่านี้ จะทำให้ลูกรู้สึกหมดความมั่นใจในการเรียนวิชานั้น ๆ
5. มีช่วงพักบ้าง
ลองเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่ที่เมื่อทำงานไปนาน ๆ สมองก็จะล้าเป็นธรรมดา การได้พักสายตาหรือการได้พักสมองสักครู่ ก็จะทำให้กลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เด็กก็เช่นกัน การจะให้ลูกเรียนไปเรื่อย ๆ จนไม่ได้พักเลย นั้นไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะเมื่อลูกสมองล้าแล้ว ต่อให้คุณพ่อคุณแม่สอนอะไรไป ลูกก็ไม่เข้าใจอยู่ดี
6. เมื่ออารมณ์เสีย ให้หยุดสอน
เมื่อลูกหรือแม่เริ่มอารมณ์เสีย หากยังคงเรียนหรือสอนการบ้านต่อ ก็จะยิ่งทำให้บรรยากาศการสอนการบ้านแย่ลง ลองเปลี่ยนมาทำกิจกรรมอื่น ๆ แทนไปก่อน เช่น วาดรูป ระบายสี เป็นต้น จนกว่าอารมณ์ของทั้งสองฝ่ายจะดีขึ้น แล้วค่อยกลับมาทำการบ้านกันใหม่
การที่ทีมงาน Amarin Baby & Kids ได้นำวิจัยนี้มากล่าวถึง ก็เพราะต้องการให้พ่อแม่ตระหนักว่า การดูแลเอาใจใส่ในการเรียนของลูกนั้นเป็นหน้าที่ของคนเป็นพ่อเป็นแม่ด้วยเช่นกัน ไม่ควรผลักหน้าที่นี้ไปให้โรงเรียนเพียงอย่างเดียว เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วนั้นว่าครอบครัวมีอิทธิพลต่อลูกมากกว่า โรงเรียนดี ดังเช่นคำกล่าวที่ว่า พ่อแม่เป็นครูคนแรกของลูก นั่นเองค่ะ
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
7 คำถามสำคัญ ถามลูกหลังกลับจากโรงเรียน
วิธีสอนลูกเรียนเก่ง เริ่มต้นได้ที่บ้าน
เลี้ยงลูกแบบญี่ปุ่น อย่างไร? ให้พึ่งพาตัวเองได้ มีวินัย ไม่งอแง
ข้อมูลอ้างอิงจาก : www.telegraph.co.uk, kruupdate
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่