AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

ลูกอ่านหนังสือไม่ออก มีภาวะดิสเล็กเซีย (Dyslexia) หรือเปล่า?

รายงานจากกรมสามัญศึกษาชี้ว่า กว่า 20% ของนักเรียนทุกระดับชั้นในประเทศไทย กำลังประสบปัญหาเกี่ยวกับการอ่านและการตีความโจทย์คณิตศาสตร์ ซึ่งมีสาเหตุหนึ่งมาจาก ภาวะเสียการอ่านเข้าใจ หรือ ดิสเล็กเซีย (Dyslexia) อาการที่คุณแม่ชาวไทยอาจยังไม่คุ้นหูนัก เราจึงหยิบข้อมูลเกี่ยวกับภาวะนี้มาฝากกันค่ะ

ดิสเล็กเซีย คืออะไร

ดิสเล็กเซีย (Dyslexia) หรือภาวะเสียการอ่านเข้าใจ คืออาการเกี่ยวกับระบบประสาท หรืออาการผิดปกติที่ซ่อนอยู่ในสมอง ทำให้เด็กอ่านหนังสือไม่ออก ส่งผลให้เขียนและตีความไม่ได้ ความจำไม่ดี เกิดความสับสนด้านทิศทาง ภาษาและตัวเลข แม้จะสอนหลายๆ ครั้งก็ยังไม่อาจจำหรือทำความเข้าใจได้ อีกทั้งยังขาดอารมณ์ขันและเข้ากับผู้อื่นได้ไม่ดี หากไม่เข้าใจวิธีการแก้ปัญหาจะส่งผลให้เกิดเป็นความกดดันทั้งต่อตัวเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองและครูผู้สอน

มีคนเก่งคนดังระดับโลกหลายคนที่เป็นภาวะนี้ แต่ก็ยังมีความสามารถโดดเด่นในสิ่งที่ตัวเองถนัด เช่น จอห์น เลนนอน สมาชิกวงดนตรี The Beatles ผู้มีผลงานการแต่งบทเพลงมากมาย อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักฟิสิกส์ชื่อก้องโลกที่ถือเป็นอัจฉริยะคนหนึ่งของโลก หรือ ปิกัสโซ่ ศิลปินดังที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก แม้แต่นักแสดงที่ต้องอ่านเพื่อท่องบทในการทำงานก็มีผู้ที่เป็นภาวะนี้กันด้วยค่ะ เช่น ทอม ครูซ, คีอานู รีฟส์, เคียร่า ไนท์ลีย์ เป็นต้น

อ่านต่อ “อาการของดิสเล็กเซียเป็นอย่างไร” คลิกหน้า 2

ดิสเล็กเซียมีอาการอย่างไร

ภาวะเสียการอ่านเข้าใจมักปรากฏเด่นชัดเมื่อเด็กเริ่มเข้าโรงเรียน ซึ่งกว่าคุณครูกับคุณพ่อคุณแม่จะสังเกตเห็นก็อาจช้าเกินไปแล้ว ดังนั้นจึงควรเริ่มสังเกตตั้งแต่หนูๆ ยังอยู่ในวัยก่อนเรียน  โดยสังเกตจากอาการผิดปกติเหล่านี้

  1. ลูกมีปัญหาด้านการจับจังหวะ เช่น ไม่สามารถส่งเสียงฮัมเพลงกล่อมเด็กหรือจังหวะเพลงของโมบายหมุนได้
  2. ลูกออกเสียงผิด หรือมักใช้ภาษาอ้อแอ้แบบเด็กทารก ทั้งที่พูดได้แล้ว หรือมักใช้คำผิด ทั้งที่รู้ว่าคำที่ถูกต้องคืออะไร และจำคำยาวๆ ไม่ได้
  3. เขาใช้เวลานานในการเรียนหรือจำตัวอักษร (แม้ว่าจะอายุเกือบ 5 ขวบแล้วก็ตาม) และเริ่มต้นพูดได้ช้ากว่าเด็กทั่วไป

แม้จะดูน่ากลัว แต่ภาวะเสียการอ่านเข้าใจก็ใช่ว่าจะรักษาให้หายขาดไม่ได้ ถ้าครอบครัวให้ความเอาใจใส่ต่อเจ้าตัวเล็กมากเป็นพิเศษ คุณหมอแซลลี่ เชย์วิทส์ ผู้เขียน Overcoming Dyslexia บอกข่าวดีแก่เราว่า ผลการศึกษาจากกลุ่มเด็กที่เคยมีอาการเสี่ยงต่อภาวะเสียการอ่านเข้าใจ พบว่า พวกเขาสามารถมีทักษะการอ่านและความเข้าใจในคำศัพท์รวมถึงวิชาเรขาคณิตที่ดีได้ เมื่อได้รับแรงสนับสนุนและความช่วยเหลือทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ จากคุณพ่อคุณแม่และคุณครู โดยพยายามสอนการอ่านเขียนอย่างใจเย็น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่กดดันจนเกิดเป็นความเครียดด้วยนะ

 

บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids

ภาพ: Shutterstock