AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

เทคนิคเลี้ยงลูกให้น่ารักและเป็นที่รักของผู้อื่น

27 ข้อ เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กน่ารัก

ในบางครั้ง เราอาจจะเจอกับการที่เด็กๆ หยาบคายได้โดยไม่ได้มีเจตนา พวกเขาอาจจะยังไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่พวกเขาทำมันไม่สุภาพหรือไม่ถูกกาลเทศะ และในบางครั้งก็เป็นการรบกวนผู้อื่นอย่างไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งการเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กน่ารัก และเป็นที่รักของคนอื่น จึงเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำ

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า หัวอกของคนเป็นพ่อแม่ อยากให้ลูกเติบโตเป็นเด็กน่ารัก และเป็นที่รักของผู้อื่น ไม่ว่าจะกับเพื่อน หรือคนรอบข้าง เมื่อไรที่เห็นลูกไม่มีใครเล่นด้วย หรือไม่เป็นที่ต้องการของเพื่อน และสังคม คงไม่ต้องถามเลยว่าคนเป็นพ่อแม่จะรู้สึกเช่นไร

เราจึงมีแนวทาง 27 ข้อ ซึ่งเป็นคู่มือการเลี้ยงลูกที่นอกจากจะทำให้ลูกเป็นคนดี เป็นที่รักของคนรอบข้างแล้ว ยังได้รวมถึงการปรับตัวของคุณพ่อคุณแม่ ต่อบทบาทของความเป็นพ่อแม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถเริ่มทำได้ทันที เพื่อปลูกฝังความดีให้อยู่ในใจลูกไปจนโตค่ะ จะมีอะไรบ้างไปดูกันค่ะ

  1. เป็นตัวอย่างที่ดี เด็กๆ เรียนรู้จากการเลียนแบบ หากคุณไม่ต้องการให้ลูกพูดคำหยาบ แต่คุณยังคงพ่นไฟทุกครั้งที่โมโห การพร่ำสอนด้วยคำพูดจะไม่มีความหมายใดๆ เลย อยากให้ลูกเป็นแบบใด จงแสดงให้ลูกเห็น อยากให้ลูกพบเจอกับคนแบบไหน จงเป็นคนแบบนั้นกับลูก อย่าลืมว่าปลูกพืชอย่างไร ย่อมได้ผลเช่นนั้น
  2. สร้างภูมิคุ้มกันความหลงใหลในโลกวัตถุนิยม ก็เป็นสิ่งจำเป็น สอนให้ลูกรู้จักคุณค่าแท้ คือประโยชน์ที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ เช่น กินอาหารเพื่อให้มีชีวิตรอด ไม่ใช่เพื่อรสชาติหรือปริมาณที่เกินจำเป็น เสื้อผ้ามีไว้เพื่อปกปิดร่างกาย ไม่ใช่เพื่อความสวยงามโก้หรู  สอนให้ลูกเห็นถึงคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งต่างๆ ทุกครั้งที่มีโอกาส เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อความหลงใหลในโลกแห่งวัตถุนิยมให้แข็งแรง
  3. การได้ใช้เวลาร่วมกัน พ่อแม่ลูกเพราะความสุข ไม่ได้ขึ้นอยู่กับวัตถุ บางครั้งของเล่นที่ลูกร้องไห้อยากได้ ก็ไม่ได้ทำให้เจ้าตัวน้อยมีความสุขเสมอไป เพราะเมื่อได้สิ่งหนึ่ง ก็นำมาซึ่งความยากในสิ่งใหม่ ไม่สิ้นสุข ทำให้ลูกเห็นว่าสิ่งที่มีอยู่ก็ทำให้มีความสุขได้
  4. เคารพซึ่งกันและกัน หากคุณต้องการให้ลูกเคารพอย่างจริงใจ ไม่ใช่เพียงเพราะว่าคุณเป็นพ่อแม่ แต่เพราะคุณเป็นแบบอย่างที่ดีในการใช้ชีวิตให้กับเจ้าตัวน้อย คุณก็ต้องเริ่ม การเลี้ยงลูก จากการเคารพเจ้าตัวน้อยด้วยการไม่ตำหนิ ต่อว่าลูกต่อหน้าคนอื่นๆ รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีด้วยการเคารพซึ่งกันและภายในครอบครัว รับฟังและสังเกตความต้องการของลูก อย่าลืมว่า ไม่มีใครสามารถให้ในสิ่งที่ตนเองไม่เคยได้รับได้
  5. กล่าวคำมหัศจรรย์ ตั้งแต่เจ้าตัวน้อยยังพูดไม่ได้ คุณควรเป็นตัวอย่างที่ดีด้วยการกล่าวคำว่า สวัสดี ขอบคุณ และขอโทษทุกครั้งที่มีโอกาส คุณอาจขอบคุณเจ้าตัวน้อยในวันที่เขาอารมณ์ดีเลี้ยงง่ายไม่งอแง ขอโทษเมื่อคุณเผลอทำให้เจ้าตัวน้อยตกใจ เมื่อลูกโตขึ้นสอน การเลี้ยงลูก ให้เจ้าตัวน้อยหัดพูดขอบคุณและขอโทษจนเป็นนิสัย รวมทั้งคุณก็ยังคงต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกด้วย
  6. ใช้เวลากับลูกให้มากเท่าที่จะทำได้ สิ่งที่ลูกได้จากการเล่นของเล่นราคาแพงๆ เทียบไม่ได้เลยกับการที่เจ้าตัวน้อยได้ใช้เวลาอย่างมีคุณค่ากับคุณพ่อคุณแม่ เพราะไม่เพียงสร้างความมั่นคงทางอารมณ์ให้ลูกเท่านั้น แต่ยังเป็นการสอนให้ลูกรู้จักคุณค่าที่แท้จริงของความสุข เหนือสิ่งอื่นใดการเป็นตัวอย่างที่ดีของคุณจะไม่ส่งผลสำเร็จอะไรเลย หากคุณไม่มีเวลาอยู่ให้เจ้าตัวน้อยได้เรียนรู้สิ่งที่คุณทำมากพอ
  7. อยู่กับความแตกต่างอย่างเข้าใจ ในโลกที่แสนหลากหลายใบนี้ มีความแตกต่างมากมาย ที่เจ้าตัวน้อยจะต้องพบเจอ สอนให้ลูกเข้าใจว่าสิ่งที่ต่างจากเรา ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก ตราบเท่าที่ทุกคนยังเคารพสิทธิถึงกันและกัน ก็จะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข
  8. ระมัดระวังคำพูด เมื่อลูกทำผิดแทนที่จะบ่นหรือตำหนิด้วยน้ำเสียงรุนแรง พูดคำหยาบ ควรอธิบายด้วยน้ำเสียงปกติว่าลูกทำผิดเพราะอะไร และจะผลที่ตามมาจากการกระทำนั้นคืออะไร ไม่ควรใช้อารมณ์กับลูก คุณควรทำให้ลูกรู้ว่าสิ่งที่คุณกำลังสอนอยู่นี้ ทำไปเพราะความหวังดี ไม่ใช่เพราะคุณไม่ชอบในตัวลูก แต่เป็นสิ่งที่เจ้าตัวน้อยทำต่างหากที่คุณเห็นว่าต้องแก้ไข

อ่านต่อ >> เทคนิคเลี้ยงลูกให้น่ารักและเป็นที่รักของผู้อื่น ข้อที่ 9 – 27 คลิกหน้า 2

  1. กล่าวคำชมเมื่อลูกทำสิ่งที่ดี คุณพ่อคุณแม่หลายท่านตำหนิลูกทุกครั้งที่เขาทำผิดพลาด แต่ไม่กลับค่อยชมเมื่อลูกทำดี เจ้าตัวน้อยจึงอาจหมดกำลังใจ และรู้สึกว่าคุณไม่รักเขา ดังนั้นอย่าลืมชมลูกบ้างเมื่อเขาทำสิ่งที่ดี เพื่อให้เจ้าตัวน้อยมีกำลังใจที่จะเป็นเด็กดีของคุณพ่อคุณแม่ต่อไป
  2. รับผิดชอบต่อสังคม เจ้าตัวน้อยวัย 3 ปีอาจเด็กเกินไปที่จะเรียนรู้เรื่องนี้ แต่ไม่เด็กเกินไปที่จะได้เห็นตัวอย่างที่ดี คุณพ่อคุณแม่อาจเริ่มง่ายๆ จากการทิ้งขยะให้ถูกที่ หากไปนอกบ้านและไม่มีถังขยะอยู่ใกล้ๆ ก็เก็บเศษขยะนั้นไว้ก่อนจนกว่าจะเจอถังขยะ เมื่อไปจ่ายตลาดก็อาจนำตะกร้าไปใส่ แทนที่จะใช้ถุงพลาสติก เมื่อมีโอกาส อย่ารีรอที่จะอธิบายให้ลูกทำว่าสิ่งที่คุณทำมีผลดีต่อสังคมอย่างไร และหากไม่ทำจะเป็นอย่างไร
  3. รักษาคำพูด เมื่อใดก็ตามที่คุณบอกอะไรบางอย่างกับลูก อย่าผิดสัญญา และควรรักษาคำพูดกับเจ้าตัวน้อยเสมอ สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกได้เรียนรู้ว่า การทำตามคำพูดนั้นเป็นสิ่งสำคัญเพียงใด เมื่อใดก็ตามที่คุณไม่สามารถทำดังที่เคยบอกลูกไว้ได้ ควรอธิบายให้เจ้าตัวน้อยเข้าใจเหตุผลทุกครั้ง
  4. หาโอกาสให้ลูกได้ช่วยเหลือผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ภายในบ้าน เช่น เมื่อคุณยายทำของหล่นลงที่พื้น ลองบอกให้เจ้าตัวน้อยช่วยเก็บ มีน้ำใจ หรือเมื่อน้ำในจานของเจ้าตูบหมด คุณอาจบอกให้ลูกน้อยช่วยเติม อธิบายให้ลูกฟังว่าการช่วยเหลือของลูก ส่งผลต่อคนอื่นๆ อย่างไร พร้อมทั้งชื่นชมเมื่อลูกทำสำเร็จ สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้จะปลูกฝังให้เจ้าตัวน้อยเติมโตขึ้นไปด้วยน้ำใจเต็มเปี่ยม
  5. เก่ง กล้า แต่อย่ากร้าว ให้เจ้าตัวน้อยได้เป็นตัวของตัวเอง ส่งเสริม พฤติกรรมลูกในแง่บวกเพื่อให้ลูกกล้าที่จะแสดงออกอย่างเหมาะสม แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้การแสดงออกนั้นเกินขอบเขต จนกลายเป็นการก้าวร้าว ใครๆ ก็ชื่นชมเด็กเก่ง แต่คนส่วนใหญ่มักไม่นิยมเด็กที่ก้าวร้าว
  6. อย่าลืมความเป็นไทย วัฒนธรรมแบบไทย ที่มีความอ่อนน้อม ถ่อมตน เคารพผู้อาวุโส ยังคงเป็นสิ่งที่น่ารักแม้เราจะอยู่ในโลกยุคดิจิตอล ขณะที่คุณสอนให้ลูกเก่ง อย่าลืม การเลี้ยงลูก ด้วยการสอดแทรกวัฒนธรรมไทยเหล่านี้ให้กับเจ้าตัวน้อยด้วย เพราะมีเพียงวัฒนธรรมไทยเท่านั้น ที่จะทำให้เจ้าตัวน้อยของคุณเก่งและกล้า อย่างไม่ก้าวร้าว
  7. รักการเรียนรู้ การเรียนรู้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น คุณสามารถปลูกฝังนิสัยรักการเรียนรู้ให้เจ้าตัวน้อยก่อนวัยเรียนได้ ด้วยการอ่านหนังสือให้ลูกฟัง หมั่นตั้งคำถามต่างๆ ให้เจ้าตัวน้อยได้คิดวิเคราะห์ เมื่อลูกตอบอย่าตัดสินว่าผิดหรือถูก ให้ทวนคำตอบของลูก แล้วอธิบายเพิ่มเติม การเป็นคนรักการเรียนรู้ จะทำให้ลูกปรับตัวอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้อย่างเหมาะสม และไม่หลงเชื่ออะไรง่ายๆ ในยุคที่ข้อมูลข่าวสารมากมายเช่นนี้
  8. สติ สำคัญกว่าสตางค์ แม้ว่าเราจะใช้เงินซื้อทุกอย่างที่ทำให้เรามีความสุขได้ แต่สติจะทำให้เรารักษาทุกอย่าง และรู้จักรักษาสมดุลระหว่างความต้องการ และ ความจำเป็นได้ ดังนั้น แทนที่จะสอนลูก ให้เรียนเก่งๆ เพื่อให้มีเงินเยอะๆ ลองเปลี่ยนเป็น ให้ลูกเรียนเก่งๆ เพื่อให้ลูกเกิดปัญญา และมีสติมองเห็นว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้ชีวิตมีความสุขได้ตลอดไปจะดีกว่า
  9. มีความรับผิดชอบภายในบ้าน เริ่มง่ายๆ จากการให้ลูกรู้จักเก็บของเล่น ดูแลรักษาข้าวของของตนเองให้เป็นที่เป็นทาง ฝึกให้ลูกทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นเวลา เพื่อทำให้เจ้าตัวน้อยรู้เรียนรู้เรื่องระเบียบวินัย หากหนูน้อยเผลอทำข้าวของหกเลอะเทอะ ให้เจ้าตัวน้อยมีส่วนร่วมในการเก็บและทำความสะอาด เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่าสิ่งที่เขาทำส่งผลอย่างไร และเขาต้องรับผิดชอบอย่างไร

อ่านต่อ >> เทคนิคเลี้ยงลูกให้น่ารักและเป็นที่รักของผู้อื่น ข้อที่ 18-27 คลิกหน้า 3

  1. อย่าใช้อารมณ์กับลูก ไม่มีใครชอบถูกตวาดหรือขึ้นเสียง ไม่เว้นแม้แต่เจ้าตัวน้อย การที่คุณใส่อารมณ์กับลูก นอกจากเจ้าตัวน้อยจะไม่ได้เรียนรู้สิ่งที่ถูกต้องแล้ว ลูกก็ยังอาจจะเชื่อว่าการใส่อารมณ์และขึ้นเสียงใส่กันเป็นสิ่งที่ควรทำ หากเจ้าตัวดีแผดเสียงใส่คุณ แทนที่คุณจะแผดเสียงแข่งกับลูก คุณควรแสดงให้ลูกเห็นว่า การกระทำที่ถูกต้องคืออะไร คุกเข่าลง จับไหล่ของลูก และพูดขณะที่สบตากับเจ้าตัวน้อย เพื่อให้ลูกสงบลง หากไม่สำเร็จ คุณอาจปล่อยให้เจ้าตัวดีแผดเสียงไปตามลำพัง ให้ลูกได้เรียนรู้ว่าวิธีนี้ใช้ไม่ได้ผลกับคุณ
  2. ฝึกให้ลูกเป็นผู้ฟัง ด้วยการฟังลูก การสอนเจ้าตัวน้อยหลายๆ เรื่องไม่อาจสำเร็จได้หากลูกไม่ได้เห็นตัวอย่างที่ดี เรื่องการฟังก็เช่นเดียวกัน หากคุณต้องการฝึกให้ลูกเป็นผู้ฟังที่ดี ก็ควรเริ่มจากการที่คุณพ่อคุณแม่สนใจฟังสิ่งที่เจ้าตัวน้อยกำลังสื่อสารด้วย การฟัง ต่างจากการได้ยิน เพราะการตั้งใจฟังจะทำให้คุณรับรู้อารมณ์และความรู้สึกของผู้พูดด้วย ส่วนการได้ยินนั้นเป็นเพียงแค่การที่คลื่นเสียงกระทบหูแล้วผ่านเลยไป นอกจากนี้การที่คุณฟังยังเป็นการแสดงถึงการให้เกียรติซึ่งกันและกันด้วย
  3. เอาใจเขาใส่ใจเรา เมื่อเจ้าตัวน้อยทำผิด ลองยกตัวอย่างให้ลูกเห็นว่า หากมีใครทำอย่างนั้นกับลูกบ้าง ลูกจะรู้สึกอย่างไร ชี้ให้ลูกได้ฝึกคิดว่าการกระทำของตนส่งผลต่อคนอื่นอย่างไรบ้าง จะทำให้เจ้าตัวน้อยมีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีความเห็นอกเห็นใจต่อเพื่อนร่วมโลก ซึ่งผู้ที่มีลักษณะนิสัยเช่นนี้ย่อมเป็นบุคคลที่ใครๆ ก็รัก
  4. ชัดเจนในสิ่งที่เชื่อ การให้ลูกได้รู้ว่าคุณพ่อคุณแม่มีความเชื่อแบบไหน และอะไรที่สำคัญกับชีวิตของคุณ จะทำให้ลูกค่อยๆ เรียนรู้มาตรฐานการใช้ชีวิตของคุณ และหนูน้อยก็จะค่อยๆ พัฒนาความเชื่อและความเป็นตัวของตัวเองได้เมื่อเขาโตขึ้น ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องพร้อมที่จะยอมรับความเชื่อและตัวตนของลูกในแนวทางที่ถูกต้องด้วย
  5. ทบทวนบทบาทพ่อแม่ หน้าที่พ่อแม่เป็นหน้าที่ระยะยาว และบ่อยครั้งก็อาจทำให้คุณลืมที่จะทบทวนบทบาทของตัวเอง ไม่ว่าจะเพราะความเหนื่อยล้าหรือความเคยชิน ดังนั้น คุณควรหมั่นตรวจสอบตัวเองว่าคุณเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ แน่นอนว่าในโลกนี้ไม่มีใครเพอร์เฟค คุณอาจผิดพลาดในบางครั้ง อย่ากดดันตัวเองเกินไป ขณะเดียวกันก็ต้องรู้ว่าเป้าหมายของ การเลี้ยงลูก ของคุณคือการทำให้เจ้าตัวน้อยเติบโตเป็นคนดีของสังคม เมื่อพบว่าปัจจัยมากมายในชีวิตทำให้คุณเดินห่างจากเป้าหมายไปบ้าง หลังจากทบทวนดูแล้วก็อย่ารีรอที่จะกลับมาเดินบนหนทางที่ถูกต้องอีกครั้ง
  6. พาไปพบปะญาติพี่น้อง นอกจากพ่อแม่แล้ว ควรพาลูกไปพบปะสมาคมกับคนอื่นบ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กในวัยเดียวกันหรือต่างวัย หรือแม้กระทั่งผู้ใหญ่ก็ตาม เนื่องจากเด็กจะค่อยๆ เรียนรู้ที่จะเลือกหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจ หรือเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น และโต้ตอบมีปฏิสัมพันธ์ได้อย่างเหมาะสม
  7. พาเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ถ้าลูกเก็บตัวจนไม่มีเพื่อนสนิทเลย คุณพ่อคุณแม่คงต้องยื่นมือเข้าช่วยเหลือ ด้วยการหมั่นพาลูกไปร่วมกิจกรรมกับเด็กอื่นบ้าง อาจจะเป็นลูกของเพื่อน หรือลูกของพี่ป้าน้าอา หรือเชิญชวนเพื่อนร่วมชั้นมางานวันเกิดของลูก กิจกรรมเหล่านี้ จะช่วยให้ลูกค่อยๆ ทำความรู้จักและทำความคุ้นเคยจนเป็นเพื่อนกับคนอื่นได้ แต่สำหรับเด็กที่ชอบเข้าสังคม บางคนอาจมีนิสัยชอบโอ้อวดอยู่ลึกๆ คุณพ่อคุณแม่อาจหากิจกรรมให้ลูกได้แสดงบทบาทร่วมกับคนอื่น ทำงานเป็นทีมกับเด็กอื่น หรือมีกิจกรรมที่ต้องมีการช่วยเหลือร่วมมือกัน แบ่งหรือผลัดบทบาทกันทำ ซึ่งจะฝึกทักษะทางสังคมของลูกไปในทางสร้างสรรค์มากขึ้น
  8. ให้กำลังใจ เด็กชอบเก็บตัวบางคนอาจมีที่มาจากการเป็นเด็กที่ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง รู้สึกไม่มั่นคง ขี้อาย ขี้กลัว และขี้กังวล เวลาพบเพื่อนใหม่จะรู้สึกขลาดๆ กล้าๆ กลัวๆ ไม่มั่นใจว่า เพื่อนใหม่จะชอบตัวเองหรือไม่ การปลีกตัวไปอยู่คนเดียว จึงเป็นเรื่องที่ปลอดภัยที่สุดในความคิดของเขา ทางที่ดี คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นให้กำลังใจลูกรักอยู่เสมอๆ ไม่ว่าเรื่องเล็กน้อยเพียงใด แต่ในขณะเดียวกัน ไม่ควรผลักดันลูกให้ออกไปสู่สังคมมากเกินไป แต่ควรให้ลูกค่อยๆ ออกไปสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นด้วยตัวของเขาเองดีกว่า อีกอย่างการให้กำลังใจลูก จะช่วยให้เขาเติบโตเป็นเด็กที่คอยมอบกำลังใจดีๆ ให้แก่ผู้อื่นต่อไปด้วย
  9. ให้โอกาสเด็กได้ระบาย เด็กที่ขี้อายมากๆ บางครั้งอาจจะชอบเก็บตัวมากเสียจนไม่มีเพื่อนที่สนิทพอที่จะระบายทุกข์สุขอยู่ในโรงเรียนเลยสักคน การเปิดโอกาสให้เด็กได้ระบายความรู้สึกนึกคิดออกมา โดยคุณพ่อคุณแม่คอยถามไถ่ลูกถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในแต่ละวัน จะช่วยฝึกฝนให้เด็กได้พูด ได้ระบายในสิ่งที่เขาอยากระบาย และเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้แก่เด็กด้วยว่า สิ่งที่เขาคิดเขาพูดไม่ได้ไร้สาระ แต่ยังมีคนที่เข้าใจและยินดีรับฟังเขาเสมอ และเมื่อเขาโตขึ้น เวลาเพื่อนของเขามีปัญหา เขาก็จะเป็นผู้รับฟังที่ดีเหมือนกัน
  10. คนดีสำคัญกว่าทุกสิ่ง คุณพ่อคุณแม่ต้องการให้ลูกเป็นคนเก่ง แต่ในความเก่งนั้นต้องมีความดีเคียงคู่กันไปด้วย เพราะเก่งเพียงอย่างเดียว อาจไม่มากพอที่จะทำให้ลูกอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขได้ คนที่มีทั้งความเก่งและความดี จะสามารถใช้ความเก่งของตนไปในทางที่เหมาะสม ไม่เบียดเบียนผู้อื่น อย่างไรก็ตาม หากเจ้าตัวน้อยของคุณ ไม่เก่งดั่งที่ใจคุณต้องการ ก็อย่าเพิ่งท้อใจ เพราะเหนือสิ่งอื่นใด ความดีเท่านั้น ที่จะทำให้เจ้าตัวน้อยอยู่รอดปลอดภัยในสังคมที่มีสิ่งเร้ารอบกายเช่นในปัจจุบัน

ดังนั้น พ่อแม่คือบุคคลสำคัญในการเลี้ยงลูกให้น่ารัก และเป็นที่รักของผู้อื่น หากพ่อแม่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูกตั้งแต่แรกเริ่ม พร้อมคอยอบรมสั่งสอน ฝึกให้ลูกปฏิบัติดีเช่นนี้เสมอ ลูกก็จะเติบโตเป็นคนที่เป็นมิตรกับผู้คน และสามารถมีสัมพันธภาพที่ราบรื่นกับคนอื่นได้ดีตามไปด้วย


ขอบคุณที่มา : www.parents.com