AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

7 โรคเด็ก ช่วงเปิดเทอม ที่ต้องระวัง

โรคฮิตในเด็กช่วงเปิดเทอม

ถึงเวลาเปิดเทอมแล้ว คุณพ่อคุณแม่และโดยเฉพาะคุณหนูๆ คงพร้อมไปโรงเรียนกันแล้วสิ่งสำคัญอีกอย่างนอกเหนือจากความพร้อมในการไปโรงเรียนก็คือการดูแลสุขภาพร่างกายของลูกรักให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บกันด้วยนะคะ ได้หาโรคติดต่อที่เด็กๆ วัยอนุบาลเป็นบ่อยที่สุด มาฝากคุณพ่อคุณแม่ เพื่อจะได้ระมัดระวังดูแลลูกรักของคุณ โรคเด็ก ช่วงเปิดเทอม จะมีอาการและวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

7 โรคเด็ก ช่วงเปิดเทอม ที่ต้องระวัง

1.โรค มือ เท้า ปาก

โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม เอ็นเทอโรไวรัส พบมากกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปีหรือเด็กอนุบาล ซึ่งจะมาพร้อมกับหน้าฝนด้วย โดยให้สังเกตอาการดังนี้ มีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย และหลังจากนั้น 2-3 วัน เด็กจะมีอาการเจ็บปาก กินข้าวไม่ได้ มีตุ่มใสสีแดงขึ้นบริเวณปากก่อนและตามด้วยมือ เท้า และ ลำตัว โรคนี้ไม่รุนแรงมาก

รักษาโรคได้ตามอาการ ไม่จำเป็นต้องให้ยารักษาจำเพาะ เพียงแต่ให้การดูแลตามอาการ และเฝ้าติดตามอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด ให้ยาลดไข้ พาราเซตามอล เป็นครั้งคราวเวลา มีไข้สูงห้ามให้ aspirin ให้เด็กดื่มน้ำมากๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ โดยสังเกตดูว่ามีปัสสาวะออกมากและใส จึงนับว่าได้น้ำพอเพียง ในช่วงที่มีอาการเจ็บแผลในปาก ให้เด็กกินอาหารเหลวหรือของน้ำๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แกงจืด นม น้ำเต้าหู้ น้ำหวาน โดยใช้ช้อนป้อนหรือใช้กระบอกฉีดยา ค่อยๆ หยอดเข้าปาก ไม่ควรให้เด็ก (โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ) ดูดนมหรือน้ำจากขวด เพื่อบรรเทาอาการเจ็บในปาก อาจใช้วิธีให้เด็กอมน้ำแข็งก้อนเล็กๆ ดื่มน้ำหรือนมเย็นๆ กินไอศกรีมบ้วนปากด้วยน้ำเกลืออุ่นๆ (ผสมเกลือป่นครึ่งช้อนชาในน้ำอุ่น ๑ แก้วต้องมั่นใจว่าเด็กบ้วนคอได) วันละหลายๆ ครั้ง

อาการจะหายเป็นปกติภายใน 7-10 วันค่ะ ยกเว้นเด็กที่ติดเชื้อรุนแรงที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะทำให้ตุ่มใสๆนี้เป็นหนอง อาการจะรุนแรง จนทำให้ปอดบวม สมองอักเสบ เยื้อสมองอักเสบ ถึงขึ้นเสียชีวิตได้ โรคนี้ติดกันง่ายมาก เพียงแค่สัมผัสสิ่งของต่างๆร่วมกันหรือ ไอใส่กัน ก็สามารถติดกันได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตหากมีอาการผิดปกติดังกล่าวต้องรีบพาลูกไปหาหมอทันที

2.โรคไข้หวัดใหญ่

ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เด็กๆจะติดกันได้ง่ายในที่ๆมีคนเยอะๆ แออัดๆ อย่างเช่นบริเวณโรงอาหารของโรงเรียน โดยจะติดกันผ่านลมหายใจ การไอ จาม ละอองน้ำมูก น้ำลาย อาการคือ ไข้สูงเฉียบพลัน หนาวสั่น ปวดหัว เมื่อยตัว อ่อนเพลียมาก คัดจมูก เจ็บคอ

รักษาตามอาการ หากมีไข้ให้ใช้ผ้าชุมน้ำเช็ดตัว หากไข้ไม่ลงให้รับประทานยาพาราเซตามอล และยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ ยาลดน้ำมูก ตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร ถ้าไม่มีอาการแทรกซ้อนจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ อาการแทรกซ้อนคือ โรคปอดอักเสบ ต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

3.โรคไข้หวัด

จะมีอาการไม่รุนแรงเท่าไข้หวัดใหญ่ ซึ่งจะเป็นบ่อยในช่วงหน้าฝน และหน้าหนาว เชื้อไข้หวัดจะมีหลายสายพันธุ์ เวลาเป็นแล้วหายร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อโรคที่เคยเป็น แต่ก็อาจจะกลับมาเป็นได้อีก อาการคือ คัดจมูก มีน้ำมูกใสๆ จาม คอแห้ง เจ็บคอ เป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดหัว ไอ้แห้ง ไอมีเสมหะ โรคแทรกซ้อนที่มากับไข้หวัดคือ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ คุณพ่อคุณแม่ควรระวังเด็กอาจชักเพราะไข้ขึ้นสูง การรักษาไข้หวัดอยู่ที่การพักผ่อน ดื่มน้ำเยอะๆ กินอาหารที่มีประโยชน์ (ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานโรค) และให้ยารักษาไปตามอาการเท่านั้น

อ่านต่อ >>โรคติดต่อดที่ต้องระวังในเด็กช่วงเปิดเทอม” คลิกหน้า 2

4.โรคท้องร่วง

โรคนี้จะเกิดจากไวรัส เช่น ไวรัสโรต้า เด็กๆเป็นกันง่ายมาก เพราะเชื้อโรคจะเข้าจากทางปาก จะพบบ่อยมากในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ขวบ คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการลูกได้ดังนี้ ถ่ายเป็นน้ำ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดหัว มีไข้ บางรายมีน้ำมูกหรือไอรวมด้วย แต่บางรายมีอาการรุนแรงร่างกายเสียน้ำมากจนมีอาการขาดน้ำ ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้หลายวันอาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ การรักษาโรคท้องร่วงท้องเสีย หลักการรักษาคือป้องกันการขาดน้ำโดยการได้รับ ORS วิธีการเตรียม น้ำต้มสุก 1 ขวด เทลงในแก้ว เติมผงเกลือแร่ ORS ลงไปคนจนละลาย แล้วเทน้ำที่ละลายเกลือแร่ลงในขวด ดื่มตามฉลากข้างซองกำหนด ยาที่ทำให้หยุดถ่ายไม่แนะนำเนื่องจากทำให้หายช้า

โรคที่พบบ่อยในเด็กช่วงปิดเทอม

5.โรคหูและคออักเสบ

เกิดจากการเป็นหวัดเรื้อรังจนทำให้ท่อที่เชื่อมต่อระหว่างหูส่วนกลาง และคออักเสบ โดยจะมีอาการเจ็บคอ ปวดหู มีไข้ มีแผลในปาก และมีกลิ่นปาก จึงควรหมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นหวัด และเกิดโรคหูและคออักเสบตามมาได้นั่นเองค่ะ

6.โรคตาแดง

เกิดจากการที่มือไปสัมผัสกับเชื้อโรคแล้วมาขยี้ตา ทำให้ดวงตาติดเชื้อ โดยจะมีขี้ตามาก น้ำตาไหล เจ็บหรือแสบตา มีตุ่มขึ้นบริเวณดวงตา และอาจมีเลือดออกใต้เยื่อบุตา ทำให้ตาดูแดงจัด นอกจากนี้มักมีอาการไข้หวัดมาก่อน เช่น เจ็บคอ มีไข้ วิธีป้องกันที่ง่ายและดีที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่ควรสอนลูกไม่ให้ขยี้ตา และหมั่นล้างมือบ่อยๆเพียงเท่านี้ก็สามารถป้องกันโรคตาแดงได้แล้วล่ะค่ะ

7.โรคเหา

อีกหนึ่งโรคยอดฮิตของเหล่าเด็กน้อย และมักติดมาจากเพื่อนร่วมชั้นเรียนทางการสัมผัสและความใกล้ชิด โดยจะมีอาการคันตามศีรษะอาจมีตุ่มนูนแดงเล็กๆเป็นสะเก็ดแห้งๆหรือเกิดหนองขึ้นได้เกิดจากการระคายเคืองจากน้ำลายของเหาเมื่อเหากัดนั่นเอง และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ลูกรักเป็นโรคเหา ควรหมั่นทำความสะอาดร่างกายและสิ่งของเครื่องใช้อยู่เสมอ และไม่ใช่สิ่งของร่วมกันเป็นดีที่สุดค่ะ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

เชื้อโรคมีอยู่ทุกที่ไม่ใช่เฉพาะที่โรงเรียนนะคะ เพียงแต่เด็กเล็กวัยอนุบาลนั้นสามารถเป็นโรคต่างๆเหล่านี้ได้บ่อยครั้ง เพราะเด็กยังมีภูมิคุ้มกันโรคไม่เพียงพอ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ลูกป่วยง่ายหรือบ่อยจนเกินไป เพราะถ้าลูกป่วยบ่อยๆจะส่งผลเสียทางด้านจิตใจ ร่างกาย และ การเรียนรู้ของลูกได้ค่ะ

ได้ข้อมูลที่ชัดเจนแบบนี้ ความกังวลคลายลงไปเยอะเลยใช่ไหมคะ เพราะใช่ว่าเราจะต้องยอมจำนนกับโรคเหล่านี้เสียเมื่อไหร่ ซึ่งคาถาง่ายๆ มีอยู่ว่า ถ้าเพียงแค่เรารู้จักป้องกัน ไม่เอาแต่โทษว่าเป็น “โรคโรงเรียนทำ” แต่ร่วมกันสร้างสภาวะแวดล้อมภายในโรงเรียนให้ปลอดภัย และสะอาดอยู่เสมอ รวมถึงการเตรียมพร้อมลูกให้กินอาหารที่ดีมีประโยชน์ นอนเต็มอิ่ม และออกกำลังกายเป็นประจำ เรื่องสู้โรคภัยไหนๆ ก็ไม่น่าเป็นห่วงหรอกค่ะ

อ่านต่อ >> วิธีดูแลเด็กวัยเรียนให้มีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจ” คลิกหน้า 3

ทั้งนี้ทั้งนั้นการดูแลสุขภาพ และสุขอนามัยที่ดีในเด็กเล็กช่วงอนุบาลจนถึงวัยประถม ยังมีอีกหลายเรื่องที่พ่อแม่ต้องใส่ใจอีกหลายอย่าง เช่นการนอนหลับพักผ่อนของเด็กก็เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเปิดเทอมแล้วการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอจะช่วยทำให้เด็กพร้อมเรียนในตอนเช้า ซึ่งเด็กแต่ละวัยจะใช้การเวลานอนต่างกัน

ความสำคัญของการดูแลสุขภาพแต่ละช่วงวัย

โดยวัยเตาะแตะ (1-2 ปี) ควรนอน 11-14 ชม.

วัยก่อนเข้าเรียน (3-5 ปี) ควรนอน 10-13 ชม.

วัยเข้าโรงเรียน (6-13 ปี) ควรนอน 9-11 ชม.

และวัยรุ่น (14-17 ปี) ควรนอน 8-10 ชม.

ทั้งนี้ควรให้เด็กเข้านอนและตื่นเป็นเวลาทุกวัน ห้องนอนควรมืด เงียบ มีอุณหภูมิเย็นสบาย ก่อนเข้านอนควรเลี่ยงอาหารมื้อหนัก น้ำอัดลม ช็อคโกแลต และไม่เล่นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

แต่ก็ยังอีกหนึ่งปัญหาที่ผู้ปกครองต้องเผชิญกับเด็กคือ ลูกไม่อยากไปโรงเรียน มักพบในเด็กชั้นอนุบาล กลัวต้องแยกจากพ่อแม่ วิตกกังวลสูง จะมีอาการที่แสดงออก เช่น มีไข้ต่ำๆ คลื่นไส้อาเจียน วิงเวียนศีรษะ ผู้ปกครองต้องเข้าใจว่าเด็กไม่ได้แกล้งทำ ดังนั้นจึงต้องจัดการดังนี้

1.ต้องมั่นใจในการแก้ปัญหา อย่าลังเล จะช่วยให้ลูกเข้มแข็ง

2.เปลี่ยนประเด็นการคุย อย่าย้ำเตือนเรื่องไปโรงเรียน

3.เวลาส่งเด็กไปโรงเรียน อย่าใช้เวลาในการแยกจากนาน ควรรีบส่งเด็กให้กับครูแล้วรีบออกมา

4.หากไม่สามารถจัดการได้ควรพบจิตแพทย์เพื่อเข้าโปรแกรมการบำบัด

และนอกเหนือจากโรคอื่นๆดังที่กล่าวมานั้น ยังมีอีกปัญหาที่พบได้คือ การแกล้งกันในโรงเรียน อาจด้วยคำพูด ล้อเลียน ดูถูก ข่มขู่ ตบตี ชกต่อย ไม่ให้เข้ากลุ่ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจเด็กอย่างมาก ทำให้เกิดความเครียด หวาดกลัว ขาดความมั่นใจ ไม่อยากไปโรงเรียน

ซึ่งครูจะต้องดูแลจัดการกลุ่มเด็กที่ชอบแกล้ง และให้ความช่วยเหลือกลุ่มเด็กที่ถูกแกล้ง เพื่อทางออกให้เด็ก เช่น มีบัดดี้ ส่งเสริมให้เด็กทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อฝึกทักษะการอยู่ร่วมในสังคม ที่สำคัญพ่อแม่ไม่ควรห่วงหากเด็กร่วมกิจกรรมแล้วจะไม่สนใจเรียน เพราะสิ่งนี้จะฝึกฝนให้เด็กเสริมสร้างพัฒนาการและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคต

อ่านต่อบทความน่าสนใจอื่นๆ คลิก

ระวัง 7 โรคนี้ ลูกเป็นแล้ว สามารถเป็นซ้ำได้!

โรคมะเร็งในเด็ก ภัยร้ายที่ไม่ควรมองข้าม


ขอบคุณข้อมูลจาก : I-Direct Insurance Broker Co.,Ltd. และ pr.moph.go.th

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids