แพทย์ระบุ ” สร้างวินัยเด็กอนุบาล อายุ 3 ขวบนั้นสำคัญกว่าการฝึกอ่าน-ออก-เขียน “ เหตุเพราะกล้ามเนื้อมัดเล็กยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ควรปล่อยขีดเขียนอิสระ ไม่ต้องกังวลอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
แพทย์หญิงกาญจนา คูณรังษีสมบูรณ์ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ จ.เชียงใหม่ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การปรับอายุเด็กเล็กให้เข้าเรียนอนุบาลโดยเริ่มที่ 3 ขวบนั้น ต้องถามว่า หลักสูตรในการเรียนการสอนคืออะไร เพราะปัจจุบันการเรียนการสอนระดับชั้นอนุบาลของสถานศึกษาแต่ละแห่งก็มีความแตกต่างกัน การนำเด็ก 3 ขวบเข้ารับการศึกษานั้น สิ่งที่สอนควรเป็นเรื่องของการฝึกระเบียบวินัยให้รู้จักช่วยเหลือตัวเองพร้อมกับการฝึกเข้าสังคม เพราะการฝึกพื้นฐานเหล่านี้ตั้งแต่เด็กจะช่วยปลูกฝังพวกเขาให้เป็นผู้ใหญ่ที่ดีและมีคุณภาพในวันข้างหน้า
แพทย์หญิงกาญจนายังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า การบังคับให้ลูกเรียนเขียนอ่านตั้งแต่อายุยังน้อยโดยกังวลว่าลูกจะอ่านออกเขียนไม่ได้นั้นเป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวลมากเท่ากับการไม่ฝึกสร้างวินัยให้เด็กได้รู้จักช่วยเหลือตัวเอง รวมทั้งเป็นการปิดกั้นจินตนาการของพวกเขาอีกด้วย ไม่ต้องกังวลว่าลูกจะอ่านหรือเขียนไม่ได้ เพราะตามอายุแล้วให้เด็กเริ่มเรียนเขียนอ่านตอนมีอายุ 5 ขวบ
และสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการฝึกให้ลูกเป็นเด็กสองภาษานั้น ก็สามารถทำได้โดยยึดหลักการคล้ายกัน นั่นก็คือ การพยายามใช้ภาษาที่สองกับลูกในชีวิตประจำวัน เด็กจะได้รู้สึกถึงความแปลกใหม่ของภาษาอีกทั้งยังได้เรียนรู้ไปพร้อม ๆ กันได้อีกด้วย
“เด็กวัย 3 ขวบ ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก การให้ฝึกขีดเขียนอย่างอิสระ ก็จะช่วยฝึกการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็กให้ดีขึ้น แต่การบังคับให้เขาเขียนตามเส้นปะเลย ด้วยความที่กล้ามเนื้อมัดเล็กของเขายังทำงานได้ไม่เต็มที่ ก็จะเป็นการฝืนธรรมชาติของเด็กเกินไป และวัยนี้ควรให้เขาได้เล่นอย่างอิสระเพื่อฝึกพัฒนาการต่าง ๆ จะเป็นผลดีกับลูกมากกว่าการจับมานั่งฝึกเขียนอ่าน ซึ่งอาจทำให้ขาดพัฒนาการด้านอื่น ๆ” แพทย์หญิงกาญจนา กล่าว
คลิกอ่าน 3 ดี ที่จะมาช่วยสร้างวินัยให้เด็กได้ที่หน้าถัดไป
เครดิต: Manager Online
3 ดี สร้างวินัยเด็กอนุบาล ได้แก่
-
ฝึกให้ลูกมีวินัยที่ดี
การฝึกให้ลูกรู้จักกับระเบียบวินัยนั้น สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ลูกมีอายุน้อย ๆ โดยคุณแม่สามารถเริ่มได้จากกิจวัตรประจำวัน ยกตัวอย่างเช่น ตื่นมาต้องทำอะไร ล้างหน้า แปรงฟัน อาบน้ำ เปลี่ยนเสื้อผ้าและทานข้าว เป็นต้น แต่คำว่า ‘วินัย’ ไม่ได้หมายถึงแต่เพียงกิจวัตรประจำวันเท่านั้น ยังหมายรวมถึงกิริยามารยาทได้อีกด้วย การที่พ่อแม่แสดงพฤติกรรมใด ๆ ออกมาให้ลูกเห็นไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี และรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม การกระทำนั้นถือเป็นต้นแบบที่จะทำให้ลูกซึมซับบุคลิกภาพภายนอกของต้นแบบอย่างคุณพ่อคุณแม่โดยที่คุณเองก็ไม่รู้ตัว จะมาเริ่มรู้ตัวอีกทีก็ต่อเมื่อได้เห็นลูกแสดงพฤติกรรมนั้นแล้ว ยกตัวอย่างเช่น การที่ลูกเห็นคุณพ่อคุณแม่ใช้เท้าปิด-เปิดพัดลม เป็นต้น
ตัวอย่างวิธีการฝึกลูกให้มีวินัย
- เริ่มต้นจากมื้ออาหาร คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนให้ลูกรู้จักหน้าที่ของตัวเองด้วยการนำภาชนะไปเก็บไว้ยังที่ ๆ ได้จัดเตรียมไว้ภายหลังจากรับประทานอาหารเสร็จทุกครั้ง
- ถึงเวลานิทาน ก่อนเข้านอนทุกครั้ง คุณพ่อคุณแม่ควรสละเวลาให้กับลูกด้วยการเล่านิทานวันละ 1 – 2 เล่ม เป็นประจำทุกวัน นอกจากลูกจะรับรู้ด้วยตัวเองแล้วว่า เขาจะได้ฟังนิทานก่อนนอนทุกครั้งแล้วนั้น ยังเป็นการฝึกให้ลูกมีนิสัยรักการอ่านได้อีกด้วย
- รักความสะอาด ก่อนที่ลูกจะรับประทานอาหาร หรือภายหลังจากไปหยิบจับอะไรมา คุณแม่ควรที่จะแนะนำให้ลูกล้างมือให้สะอาดก่อนทุกครั้ง วิธีนี้นอกจากจะทำให้ลูกเป็นเด็กรักความสะอาดแล้ว ยังทำให้ลูกห่างไกลจากเชื้อโรคได้อีกด้วย เป็นต้น
คลิก! อ่าน 3 ดีข้อที่ 2 ได้ที่หน้าถัดไป
2. สอนให้ลูกรู้จักเข้าสังคม
วิธีฝึกลูกให้เป็นเด็กอัธยาศัยดี มนุษยสัมพันธ์เป็นเลิศ สามารถสอนได้ตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ เพราะเด็ก ๆ ที่มีความเป็นมิตรสูงมักจะอยู่ร่วมกับคนในสัมคมได้อย่างเป็นสุข ดังนั้นพัฒนาการทางด้านอารมณ์ของลูกน้อยจึงถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจเป็นพิเศษ วิธีการฝึกให้ลูกรู้จักเข้าสังคมกับผู้อื่นนั้นไม่ยากเลยละค่ะ ยกตัวอย่างเช่น
- คุณพ่อคุณแม่อาจจะลองชวนเพื่อนของลูกมาบ้าน เด็ก ๆ จะฝึกทักษะการเข้าสังคมได้อย่างเต็มที่มากขึ้นเมื่ออยู่ที่บ้าน เพราะการได้อยู่ในที่ของตัวเองแถมแวดล้อมไปด้วยคนในครอบครัวจะช่วยให้พวกเขารู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น ดังนั้นวันหยุดสุดสัปดาห์หรือในช่วงปิดเทอมที่คุณพ่อคุณแม่ว่างและมีเวลา ลองอาสาไปรับเพื่อน ๆ ของลูกมานั่งเล่นที่บ้านดูนะคะ
- ในกรณีที่ลูกแสดงความมีน้ำใจกับเพื่อนในห้องเรียน คนในครอบครัว หรือแม้แต่สัตว์เลี้ยงในบ้านก็ตาม คุณพ่อคุณแม่ควรให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ กับลูกสักหนึ่งชิ้น เพื่อตอบแทนความดีที่เขาได้ทำ ลูก ๆ จะได้รู้สึกมีขวัญและกำลังใจที่จะทำความดีแบบนี้ต่อไป นอกจากนี้พวกเขายังได้เรียนรู้ถึงการมีน้ำใจที่พวกเขามีให้กับคนอื่นนั้นถูกต้องแล้ว
- สอนให้ลูกรู้จักความต่างกับคนรอบข้าง เพราะเด็กแต่ละคนมีนิสัยที่แตกต่างกัน ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ก็ควรสอนและอธิบายให้ลูกได้เข้าใจถึงความแตกต่างนี้ เพื่อที่เขาจะได้เข้าใจต่อเพื่อนฝูงและคนรอบข้าง ทีนี้เมื่อเขาเข้าใจแล้ว การที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่ยากอีกต่อไป
- อย่าบังคับลูกหากลูกไม่พร้อม ขนาดตัวเราเองเป็นผู้ใหญ่ยังอยากที่จะมีเวลาส่วนตัวบ้างเลย เด็ก ๆ เองก็เช่นกันค่ะ หากคุณพ่อคุณแม่ดูแล้วว่า อารมณ์ลูก ณ ตอนนั้นไม่อยากที่จะสุงสิงกับใคร หรือดูแล้วพวกเขาน่าจะอยากอยู่คนเดียวมากกว่าละก็ อย่าไปบังคับลูกเด็ดขาดเลยนะคะ เพราะลูกอาจจะยิ่งต่อต้านมากขึ้น
คลิกอ่าน 3 ดีข้อสุดท้ายได้ที่หน้าถัดไป
เครดิต: กระปุกดอทคอม
3. ฝึกให้ลูกรู้จักรอคอย
เพราะโลกของเราในปัจจุบันนี้พัฒนาขึ้นมาก ไม่ว่าจะทำอะไรก็ดูสะดวกสบายมากขึ้น หลาย ๆ สิ่งสามารถหามาได้อย่างง่ายดาย ผิดกับสมัยก่อน และนี่เองคือสาเหตุที่ทำให้เด็กในยุคปัจจุบันไม่รู้จักกับการรอคอย
ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้เด็กยุคใหม่ไม่ค่อยมีระเบียบวินัย เพราะรอคอยอะไรไม่เป็นหรือรอไม่ได้นาน อีกทั้งยังส่งผลให้เด็กขาดความอดทน โดยยึดตัวเองเป็นใหญ่ เคยชินกับการที่ร้องขออะไรก็ได้มาง่าย ๆ เวลาที่คุณพ่อคุณแม่หรือครูสั่งให้ทำอะไร ก็มักจะทำไม่ค่อยได้ เพราะไม่มีความอดทนมากพอ ซึ่งวิธีการที่จะช่วยให้ลูกรู้จักกับการรอคอยนั้น สามารถทำได้โดย
- ไม่ควรตอบสนองทันทีที่ลูกต้องการ แม้ว่าสิ่งนั้นคุณพ่อคุณแม่พร้อมที่จะให้หรือทำให้แล้วก็ตาม ควรฝึกให้เขารู้จักการรอคอย ทำครั้งแรก ๆ ลูกอาจจะมีงอแงอยู่บ้าง จึงจำเป็นต้องค่อย ๆ ปลูกฝังไปเรื่อย ๆ ไม่นานลูกก็จะซึมซับและรู้ได้เองว่า หากเขาอยากได้อะไรหรืออยากให้ใครทำอะไรให้นั้น พวกเขาจะต้องรู้จักรอคอยให้เป็น
- หากิจกรรมอะไรทำร่วมกันในระหว่างที่รอ หากคุณลูกกำลังรออะไรอยู่และดูเหมือนว่าจะต้องใช้เวลาพอสมควร คุณพ่อคุณแม่สามารถเบี่ยงเบนการรอคอยนั้นด้วยการหากิจกรรมมาเล่นกับลูก ไม่ว่าจะเป็นการต่อเลโก้ ออกกำลังกาย ร้องเพลงหรือเต้นรำ
- ทุกครั้งที่ลูกรอคอยได้สำเร็จโดยไม่งอแง ไม่สำคัญว่าการรอคอยนั้นจะต้องใช้เวลานานมากน้อยเพียงใด คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะมอบรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้พวกเขา เพื่อเป็นกำลังใจและสนับสนุนให้ลูกทำแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ เป็นต้น
เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับ 3 ดี ที่จะมาช่วยสร้างวินัยให้กับลูก ๆ ลองนำไปปรับใช้กันดูนะคะ ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องอย่าใจร้อนนะคะ เด็กอย่างไรก็คือเด็ก พวกเขาสามารถเป็นคนดีได้ไม่ยากหากพวกเราทุกคนเข้าใจ
เครดิต: Trueplookpanya
คลิกอ่านเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ
- เลี้ยงลูกแบบญี่ปุ่น อย่างไร? ให้พึ่งพาตัวเองได้ มีวินัย ไม่งอแง
- 10 วิธี รับมือลูกดื้อ ตามแบบฉบับคุณแม่ยุคใหม่!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่