บ้านไหนมีปัญหา “ลูกชอบร้องกรี๊ดเวลาไม่ได้ดั่งใจ” ต้องอ่าน! Amarin Baby & Kidsมีประสบการณ์ดีๆ กับ วิธีจัดการลูกดื้อ จากคุณแม่ท่านหนึ่งในพันทิป ซึ่งคุณแม่จะมี วิธีจัดการ ลูกดื้อมาก อย่างไร ตามมาดูกันค่ะ
ปัญหา ลูกดื้อมาก เกิดขึ้นได้กับทุกบ้าน โดยเฉพาะกับเด็กวัย 2 – 5 ขวบ ซึ่งถือเป็นวัยเตาะแตะที่จอมป่วนในช่วงนั้นเลยทีเดียว เพราะโดยทั่วไปธรรมชาติของเด็กวัยนี้ยังพูดสื่อสารได้ไม่ดีนัก เด็กจะชอบสำรวจสิ่งแวดล้อม ชอบทำตามหรือเลียนแบบผู้ใหญ่ แม้จะห้ามอย่างไรก็ไม่ฟัง จนดูเหมือนดื้อต่อต้าน นอกจากนี้ยังคิดว่าของทุกอย่างเป็นของตัวเอง หวงของเล่น ไม่รู้จักแบ่งปันสิ่งของ และอารมณ์ก็แปรปรวนง่าย ถ้าไม่ได้อะไรดั่งใจก็อาจจะร้องอาละวาดได้
ซึ่งทำเอาคุณพ่อคุณแม่หลายบ้านแก้ไม่ตก บ้างก็หาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต บ้างถามคุณพ่อคุณแม่ข้างบ้าน ญาติพี่น้องที่มีลูก รวมไปถึงบางบ้านไปปรึกษาคุณหมอ เช่นเดียวกับคุณแม่ท่านนี้ที่จนปัญญากับปัญหา… ลูกดื้อมาก ลูกดื้อไม่เชื่อฟัง ลูกเอาแต่ใจ ชอบร้องกรี๊ดเวลาไม่ได้ดั่งใจ ถึงขั้นไปคลินิกพัฒนาการเด็ก เพื่อหา วิธีจัดการลูกดื้อ
แม่แชร์ประสบการณ์ วิธีจัดการลูกดื้อ
จากคลินิกพัฒนาการเด็ก ได้ผลเกินคาด!
ซึ่งคุณแม่ก็ประสบความสำเร็จในการปรึกษาครั้งนี้ และได้มาตั้งกระทู้ในพันทิป เพื่อแชร์ประสบการณ์ให้คุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นๆ ได้อ่าน โดยคุณมาใช้ชื่อว่า Shirogane พร้อมตั้งกระทู้ โดยเล่าถึงปัญหา ลูกดื้อมาก เป็นข้อๆ พร้อมบอก วิธีจัดการลูกดื้อ หลังจากไปปรึกษาคลินิกพัฒนาการเด็ก
โดยคุณแม่ได้ตั้งกระทู้ในพันทิป ชื่อหัวข้อว่า แชร์ประสบการณ์ปรึกษาปัญหาการเลี้ยงลูกจากคลินิคพัฒนาการเด็ก (เชื่อว่าแม่-พ่อหลายคนอยากหาทางออกแบบเรา)
จากนั้นก็เริ่มเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ที่ตนเองกำลังพบเจอกับอาการ ลูกดื้อมาก ซึ่งอยากจะให้คุณแม่ลองอ่านดูทุกบรรทัด แล้วจะรู้ว่าไม่ใช่แค่ลูกบ้านเราที่ดื้อแบบนี้ แต่บ้านอื่นๆ ก็เป็น ซึ่งวิธีจัดการลูกดื้อ ไม่อยาก ลองตามไปดูพร้อมๆกัน ดังนี้ค่ะ….
สวัสดีค่ะ เรามาแชร์ประสบการณ์ตามหัวข้อที่บอกเลย และเราเชื่อว่าคุณพ่อและคุณแม่หลายๆคนเจอปัญหาเหมือนเรา รับมือไม่ได้เหมือนเรา และ ต้องการหาทางออกเหมือนเรา…
เรามีลูกชายอายุประมาณ 3.6 ปี ปัญหาที่เราเจอเหมือนคุณพ่อและคุณแม่ทุกๆคนก็คือ วัย terrible two ที่ผ่านมาเราพยายามรับมือด้วยวิธีการต่างๆกันไปเช่น Time Out หรืออะไรหลายๆอย่างปรับไปตามสถานการณ์ ช่วงแรก ๆ ก็ยังรับมือได้จนกระทั่งมีบางครั้งที่แม่ฟิวส์ขาด หรือบางครั้งคุณพ่อรู้สึกว่าวิธีที่ลองๆมาหลายวิธีลูกเริ่มไม่ฟังและจบด้วยการดี จากตีเบาๆจนกระทั่งตีแรงด้วยความคิดที่ว่าตีครั้งเดียวให้จำ ผลที่เกิดขึ้นคือ ลูกยังคงทำพฤติกรรมเดิม เราและคุณพ่อรู้สึกแย่ เริ่มรู้สึกโทษตัวเองว่าเป็นเพราะเราเลี้ยงลูกไม่ดี เรารับมือกับลูกไม่ได้ เครียดจนถึงกับร้องไห้เพราะรู้สึกแย่มากๆ พฤติกรรมที่ลูกเราเป็นคร่าวๆ เช่น
1. ร้องกรี๊ดเวลาที่ไม่ได้ดั่งใจ เวลาโดนดุ เวลาโดนทำโทษ จากที่เคย Time Out แล้วยอมกลายเป็นเริ่มต่อต้าน
2. ไม่ยอมกินข้าว ปัญหาคลาสสิคที่หลายๆคนอาจจะเจอ
3. ไม่ยอมเก็บของเล่นให้เรียบร้อยหลังเลิกเล่น พอถึงเวลาเลิกเล่นจะโวยวาย บอกว่าเก็บหมดแล้ว หรืออะไรอีกหลายๆอย่าง
4. ตีแม่กลับเวลาที่โดนดุหรือไม่พอใจ
5. เวลาอาบน้ำจะร้องกรี๊ด ต้องบังคับ
ฯลฯ
เราเริ่มหาข้อมูลเพื่อขอตัวช่วยในการแก้ปัญหา เริ่มจากหาคุณหมอด้านพัฒนาการสำหรับเด็กเราหาข้อมูลหลายที่สุดท้ายเลือก 2 ที่คือ คุณหมอด้านพัฒนาการเด็กโรงพยาบาลพญาไท 3 และ คุณหมอด้านพัฒนาการเด็กโรงพยาบาลธนบุรี 2 ทั้ง 2 ที่ยังไม่ตอบโจทย์ในสิ่งที่เราอยากได้ (โจทย์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ใครที่เคยไปหาทั้ง 2 ที่แล้วโอเคและตอบโจทย์ไม่ดราม่านะคะ) ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่เราไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ…เพราะลูกเราไม่ได้มีปัญหาด้านพัฒนาการ
คุณหมอทั้ง 2 ที่อาจจะเหมาะสำหรับเด็กที่มีปัญหาด้านพัฒนาการ แต่ลูกเราไม่ใช่หรือเราอาจจะพบคุณหมอไม่ถูกทางที่ต่อมาที่เราลองเข้าไปปรึกษา คือ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล วิธีการที่เรานัดเข้าไปคือ เข้าไปในเว็บไซต์ ดาวโหลดแบบฟอร์มออกมากรอก แล้วสแกนส่งอีเมลกลับไปประมาณ 1 สัปดาห์จะมีเจ้าหน้าที่โทรมานัดคิว ซึ่งคิวอาจจะได้ในอีก 1 เดือนถัดไปเพราะคิวยาวมากก่อนที่จะไปเรายังลังเลอยู่ว่าจะไปดีไม๊ กลัวเสียเวลาแต่สุดท้ายก็คิดว่าลองดูที่นี่อาจจะตอบโจทย์ ตอนเราไปถึงได้พบกับครูฝึกก่อน (ไม่แน่ใจว่าเรียกถูกไม๊) เป็นเหมือนนักจิตวิทยาเด็ก
โดยครูฝึกจะคุยปัญหากับพ่อและแม่ระหว่างที่คุยจะมีครูพี่เลี้ยงมาชวนเด็กเล่น เล่นในหลายๆรูปแบบ ให้จินตนาการมีห้องให้นั่งเล่นเพื่อสังเกตพฤติกรรมระหว่างนั้นครูฝึกจะคุยซักถาม และบอกวิธีแก้ปัญหาและผลที่ได้รับเป็นอย่างที่เราคิดจริงๆคือ ลูกเราไม่ได้พัฒนาการผิดปกติ ที่เป็นปัญหา คือ เราและคุณพ่อรับมือกับเค้าไม่ถูกเราจะเล่าเป็นข้อๆเพื่อช่วยคุณพ่อและคุณแม่ในการแก้ปัญหาหากเจอปัญหาแบบเรานะคะ
1. ลูกเราชอบถามซ้ำๆ
บางครั้งถามคำถามเดิมเป็น 10 รอบไม่ถึง 3 วินาทีจะถามซ้ำ เราเคยเดินทางไปต่างจังหวัดลูกเราถามตั้งแต่ออกจากประตูบ้านว่า “แม่ครับเราจะไปไหน” เราก็ตอบว่า”กำลังจะไปทะเลครับ” วนซ้ำๆแบบนี้คิดว่าเกิน 20 ครั้งจนเราโมโหและบอกูกว่าให้หยุดถามเพราะเราเข้าใจว่าลูกเบื่อเดินทางเลยถามซ้ำไปเรื่อยๆ เมื่อเราเล่าให้ครูฝึกฟัง ครูฝึกบอกว่าให้ลองเปลี่ยนคำตอบเพราะจริงๆแล้วลูกอาจจะอยากถามคำถามอื่นแต่ถามไม่เป็นด้วยวัยเพียง 3 ขวบ 6 เดือนเค้าอาจสื่อสารได้ไม่เก่ง เราลองกลับมาทำตามก็เป็นจริงตามที่ครูฝึกตั้งข้อสังเกตค่ะ เรากำลังจะเดินทางไปเซ็นทรัลฯ
ลูกถามว่า “เราจะไปไหนครับ”
เรา “ไปเซ็นทรัลครับ”
ลูก “เราจะไปไหนครับ”
เรา “ไปซื้อของครับ”
ลูก “เราจะไปไหนอีกครับ”
เรา “ไปเซ็นทรับนะครับ เสร็จแล้วจะพาลูกไปเล่นบ้านบอลต่อ โอเคไม๊”
ลูก “โอเค๊ (เสียงสูง)
จบคำถามในเวลาไม่ถึง 2 นาที
2. ลูกตีเราเวลาไม่พอใจ หรือเวลาโดนดุ
ปัญหาคลาสสิกเชื่อว่าเกือบทุกคนเคยเจอ ครูฝึกบอกว่าเป็นเพราะลูกยังไม่รู้จักวิธีควบคุมตัวเอง ยังไม่รู้วิธีระบายความโกรธและเค้าอาจเลียนแบบพ่อกับแม่เพราะบางครั้งเวลาปรี๊ดมากๆเราก็เคยตีลูกเหมือนกัน เหมือนเราบอกลูกว่าห้ามสูบบุหรี่ และเราสูบให้ลูกเห็น ลูกก็จะไม่เข้าใจว่าทำไมถึงห้ามในเมื่อพ่อกับแม่ยังทำ
วิธีที่จะรับมือเค้า คือ บอกเค้าด้วยเสียงที่นิ่งและมั่นคงว่า ลูกตีแม่หรือตีคนอื่นไม่ได้ และที่สำคัญต้องบอกเค้าให้เค้ารู้ตรงๆเลยว่า ลูกกำลังโกรธอยู่ครับ เราลองแล้วได้ผลค่ะ วิธีการนี้เพจและหนังสือเรื่องการเลี้ยงลูกแนะนำอยู่เหมือนกัน แต่มันไม่ได้ดีขึ้นในครั้งแรกนะคะต้องให้เวลาเค้าและใช้เวลาและแต่ว่าเด็กแต่ละคนพร้อมเมื่อไหร่ที่จะเข้าใจ บางคนต้องทำแบบนี้ซ้ำๆหลายครั้ง แต่ในเด็กบางคน 2-3 ครั้งก็ดีขึ้นแล้ว หน้าที่ของคุณพ่อและคุณแม่คือ อดทน เข้าใจและให้อภัยค่ะ
3. พฤติกรรมที่เราและคุณพ่อเถียงกันบ่อยครั้ง คือ เรื่องการสวัสดีเวลาเจอผู้ใหญ่ คุณครูและเวลาเจอญาติๆ
ทุกๆครั้งที่ต้องเจอญาติพี่น้องเหมือนเริ่มนับ 1 ทำความรู้จักกันใหม่ ลูกเราจะหลบด้านหลัง ไม่ยอมสวัสดีอาจจะยอมสวัสดีในบางครั้งที่อารมณ์ดี หรือมีข้อต่อรองจูงใจ แต่การที่จะพูดคุยหรือเล่นด้วยไม่มีทางเป็นไปได้เลย ลูกจะซุกตัวอยู่กับเราถ้าบรรดาญาติๆหรือใครที่พยายามจะเข้ามาเล่นด้วยเพราะเข้าใจว่าครั้งที่แล้วใช้เวลาด้วยกัน เล่นกันจนสนิทสนมแล้วไง คิดผิดเลยค่ะ ลูกเราจะไม่ยอมเข้าใกล้เลยเราทั้งปลอบ ทั้งขู่ ทั้งทำเฉยๆสารพัด
ปัญหานี้ทำให้เรากับคุณพ่อน้องเถียงกันเพราะว่าคุณพ่ออยากให้น้องเป็นเด็กที่มีสัมมาคารวะ ไปลามาไหว้เหมือนที่ถูกปลูกฝังกันมาตามวัฒนธรรมไทย หลังจากพบครูฝึก ได้รับคำแนะนำสรุปง่ายๆได้ว่า ไม่ต้องไปเร่งเค้า อย่าบังคับ
ที่สำคัญเราต้องบอกลูกว่า พฤติกรรมที่ลูกเป็นอยู่ตอนนี้คือ “ลูกกำลังเขินนะครับ แม่อยู่ด้วยให้แม่ช่วยไม๊ หายเขินแล้วค่อยเล่นกับพี่ๆหรือน้าๆนะครับ”
ลูกเราไม่ได้หายในทันที ยังคงมีพฤติกรรมประมาณนี้อยู่ แต่ใช้เวลาสั้นลง จนตอนนี้ไม่ต้องบังคับแล้วค่ะบอกลูกก่อนเจอคนรู้จักว่าให้สวัสดีนะครับ หลังจากที่ลูกสวัสดีแล้วจะปล่อยให้ลูกมีระยะเวลาในการเรียนรู้ที่จะหายเขินค่ะ
พฤติกรรมนี้ คุณพ่อและคุณแม่สำคัญเหมือนข้อที่ 2 เราต้องช่วยอยู่ข้างๆลูก ให้ลูกรู้ว่าตอนนี้ลูกกำลังเขินอาย ไม่ต้องตีแม่ เกาะแม่หรือหลบหลังแม่ แต่แม่จะอยู่ข้างๆรอจนกว่าลูกจะหายเขินนะครับ
4. ไม่ยอมกินข้าว
เมื่อถึงเวลากิน ก่อนหน้านี้เราไม่ใช่คุณแม่สายโหด เวลาลูกไม่กินเราจะเรียก เรียก และเรียกจนเราเองเบื่อมากเมื่อถึงเวลาทานข้าว ก่อนถึงเวลาทานอาหารลูกมักจะขอกินยาคูลท์ ขนม เยลลี่และเราก็ตามใจให้เค้ากิน ถึงเวลากินข้าวเลยไม่หิว เคยได้อ่านมาบ้างว่าปล่อยหิวไปเลย ลูกไม่ตายเพราะอดข้าวแค่ 1 มื้อ พอไปเจอครูฝึกเล่าปัญหา ครูฝึกแนะนำคล้ายๆที่อ่านมาค่ะ วิธีแก้ปัญหาคือ
เรียกทานข้าว ไม่เกิน 3 ครั้ง (3 ครั้งถือว่าเยอะแล้ว) โดยให้ทานพร้อมมื้ออาหารที่คุณพ่อคุณแม่ทานปกตินะคะ ไม่ต้องแยกให้ทานเอง หรือนั่งป้อนต่างหาก เรียกครบ 3 ครั้ง หรือรอจนพ่อและแม่อิ่มให้เก็บจานเลย โดยบอกด้วยเสียงนิ่งๆไม่มีอารมณ์เจอปนว่า แม่เก็บจานข้าวนะครับ หลังจากนั้นงดอาหารทานเล่น ยาคูลท์ เยลลี่ นม ให้ทานได้แต่น้ำเปล่าเท่านั้น ถ้าลูกร้องขอทานข้าว คุณพ่อและคุณแม่อย่าลืมสอนว่า หมดเวลาทานข้าวแล้วถ้าหิวให้รอมือต่อไป ทำแบบนี้ประมาณ 3 – 4 ครั้ง คุณแม่และคุณพ่อจะไม่ต้องเหนื่อยเรียกลูกมากินข้าวค่ะ ใจแข็งซักนิดแต่จะไม่ทำให้เราไม่เหนื่อย ไม่เบื่อ ลูกก็ไม่เบื่อเวลาเราจ้ำจี้จ้ำไช และถ้าเราต้องเหนื่อย ไม่ต้องเบื่อกับเรื่องเหล่านี้เราจะได้มีแรงสู้รบกับเรื่องอื่นๆของลูกที่จะเข้ามาทดสอบคุณพ่อและคุณแม่ในเรื่องต่อๆไปค่ะ
วิธีนี้เราได้ผลประมาณครั้งที่ 2 เป็นจริงอย่างที่ทฤษฎีคุณหมอด้านจิตวิทยาบอกนะคะว่าเด็กๆไม่ปล่อยให้ตัวเองหิวจนตายหรอก เค้าจะปรับตัวได้เร็วมากโดยเฉพาะเรื่องกิน ^___^
5. ไม่เก็บของเล่น เรื่องนี้มหากาพย์มาก….
หาวิธีหลายๆวิธีแต่ไม่ค่อยได้ผลทั้งเอาของเล่นไปทิ้ง,งดเล่นของเล่นไปเป็นวัน โดน Time Out, ตี ฯ แต่ไม่ได้ผลเลย ลูกจะเก็บไปประมาณ 1-2 ชินแล้วหันมาบอกว่าหมดแล้ว เราก็ไม่ยอมทะเลาะกันทุกวันก่อนเข้านอน
หลังพบครูฝึก : เราไม่ต้องเข้มงวดขนาดต้องเก็บของเล่นให้หมดด้วยตัวของลูกเอง 100% แต่ช่วยกันเก็บคนละครึ่ง เก็บกันคนละชิ้น ลูกชิ้นนึงแม่ชิ้นนึงสลับกันจนกว่าจะเก็บหมด ด้วยวิธีไหนก็ได้ให้เค้าได้ลงมือเก็บด้วยตัวเอง เค้าจะค่อยๆเรียนรู้และโตขึ้นสุดท้ายเค้าจะเก็บหมดได้ด้วยตัวเค้าเอง
เรื่องนี้แม่ลองแล้วค่ะ ความตึงเครียดลดลงเยอะ แต่ก็ยังมีอิดออก บ่นว่าเก็บหมดแล้ว เก็บหมดแล้วแต่ก็ไม่รู้สึกแย่เท่าตอนที่แม่ตึงมากบังคับให้เก็บให้หมด ครูฝึกแนะนำว่าเรื่องบางเรื่องไม่ต้องตึงจนเกินไป ผ่อนบ้างแม่ก็จะไม่เครียดลูกก็จะไม่เบื่อด้วย
คุณพ่อคุณแม่ท่านอื่นมีวิธียังไงแชร์กันได้นะคะเรื่องเก็บของเล่น
♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦
ขั้นอารมณ์นิดนึงนะคะเดี๋ยวเราเล่าเป็นเคสๆ ต่อว่า เราไปปรึกษาหมอเคสอื่นๆ แล้วได้วิธีในการรับมือยังไง
วิธีการเลี้ยงของแม่ที่ผ่านมายอมรับว่าไม่เข้มงวดมากจนเป็นเหตุให้ทะเลาะกับคุณพ่อของน้องค่ะ คุณพ่อของน้องพุดเสมอว่าเราไม่เข้มงวดกับลูกปล่อยในเรื่องที่ไม่ควรปล่อยทำให้เวลาออกไปนอกบ้านลูกไม่รู้จักว่าจะต้องทำตัวยังไง เราเคยมีทริปไปเที่ยวต่างประเทศชัดเจนเลยค่ะว่าลูกไม่ค่อยฟังเราเรียกได้ว่าปากเปียกปากแฉะเลยทีเดียวกว่าจะสั่งให้ทำอะไรได้ สุดท้ายเรากับแฟนเลยทะเลาะกันเรื่องวิธีการเลี้ยงลูก สำหรับเราคุณพ่อดุน้องแรงเกินไปและตีแรงเกินไป คือตีหนักมาก ในมุมของคุณพ่อเค้าคิดว่าครั้งเดียวลูกจะได้จำ คือที่ตีไม่ใช่ว่าเพราะไม่รัก แต่เพราะรักเลยใช้วิธีนี้ สุดท้ายเราก็เสียใจ เจ็บเพราะเห็นลูกเจ็บ เครียดเพราะลูกไม่ฟังเรา ทะเลาะกับแฟนเพราะกลายเป็นทัศนะคติในการเลี้ยงไม่ตรงกัน ตรงนี้สำคัญมากเพราะมันคือจุดเริ่มต้นความขัดแย้ง ลูกเริ่มไม่ไว้ใจคุณพ่อความสัมพันธ์พ่อกับลูกถดถอยซึ่งเรื่องนี้เราเครียดมาก ถ้าไม่ได้ตัดสินใจไปพบคุณหมอเราอาจมีปัญหามากกว่านี้ ลูกอาจกลายเป็นเด็กมีปัญหาเพราะโดนใช้ความรุนแรง และเพราะเราและคุณพ่อน้องรักลูกมากเราอยากให้สิ่งที่ดีที่สุดกับลูก เราคิดว่าคุ้มค่ามากที่ได้ปรึกษาคุณหมอ(ครูฝึก)
การเลี้ยงดูอีกอย่างของเราที่ถือว่าเป็นข้อดีทำให้เราแก้ปัญหาตามคำแนะนำของครูฝึกคือเราไม่ได้เลี้ยงลูกด้วยเทคโนโลยีค่ะ เราไม่ให้ลูกดูแทปเล็ตด้วยตัวเอง ไม่ใช่ไม่ให้ดูเลยในบางเวลาเราก็ต้องพึ่งเจ้าสิ่งนี้ แต่เราจำกัดเวลาในการดูไม่เกิน 30 นาทีต่อครั้ง โทรทัศน์เราเลือกสิ่งที่จะให้ลูกดูและพยายามนั่งดูไปพร้อมกับลูกค่ะ
มีหลายๆเรื่องที่ทำให้ลูกเรามีพัฒนาการบางอย่างที่ช้ากว่าปกติ หรือสามารถพัฒนาได้มากกว่านี้แต่เราดูแลเค้าผิดเลยต้องกลับมาปรับปรุงวิธีการดูแลเค้าซึ่งเราจะเล่าในข้อต่อไปนะคะ
♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦♦
6. พฤติกรรมการขู่เหมือนไดโนเสาร์
(น้องเคยดูการ์ตูนแอนนิเมชั่นเรื่อง Good Dinosaur เลยเลียนแบบ) เวลาที่พาลูกไปเล่นบ้านบอล หรือเวลาที่ลูกเจอเพื่อนที่เรียนเตรียมอนุบาลด้วยกันลูกจะใช้วิธีการขู่แบบทำเสียงอ่าส์์แบบได้โนเสาร์คำรามค่ะ ทำทุกครั้งที่อยากเล่นกับใครพฤติกรรมนี้จริงๆไม่มีพิษมีภัยอะไรเพียงแต่เป็นวิธีการเข้าสังคมที่ผิดวิธีและสาเหตุที่ซ่อนอยู่ข้างใน
พอรู้เหตุผลแม่ต้องรีบปรับวิธีการเลี้ยงน้องในทันทีเคสนี้แม่ใช้วิธีอธิบาย แสดงให้เห็นว่าวิธีการชวนคนอื่นเล่นทำยังไง หรือวิธีการดุแต่ไม่ค่อยจะได้ผล ตอนไปพบครูฝึกและปรึกษาเรื่องพฤติกรรมนี้ รวมไปถึงเล่าเรื่องการไม่ยอมเก็บของเล่น นำมาซึ่งวิธีที่คุณพ่อกับคุณแม่คิดว่าน่าจะโอเคคือจำกัดการนำของเล่นออกมาเล่น โดยที่แม่เข้าใจเองว่า เค้าจะได้มีสมาธิในการเล่นของเล่นทีละอย่าง ซึ่งจริงๆแล้วเป็นวิธีที่ผิดค่ะ แม่ทำตัวหนาๆที่หนังสือเพื่ออยากให้คุณพ่อหรือคุณแม่ที่เคยทำแบบนี้เลิกวิธีการนี้
เพราะครูฝึกแนะนำว่า “การที่เราจำกัดของเล่นเค้า ทำให้ลูกมีจินตนาการได้น้อยลง สมองของลูกยังเชื่อมต่อเรื่องราวได้ไม่ดีถ้าเค้าได้เล่นของเล่นหลายๆชิ้นจะทำให้ลูกจินตนาการและสมมุติตัวละคนในจินตนาการได้เอง สุดท้ายลูกจะนำมาเชื่อมต่อจนกลายเป็นปรับมาใช้ในการเข้าสังคม หรือการชวนเพื่อนเล่นของเล่นได้เองโดยอัตโนมัติค่ะ” ทิ้งเรื่องความคิดที่ว่าอยากสอนให้เค้าเล่นของเล่นทีละอย่างหรือคิดว่าการให้เล่นของเล่นทีละอย่างจะทำให้เค้ามีสมาธิขึ้นไปได้เลย
ลูกของแม่เล่นสมมุติบทบาทไม่เป็น ไดโนเสาร์ตัวใหญ่สมมุติว่าเป็นคุณพ่อ ไดโนเสาร์อีกตัวสมมุติว่าเป็นคุณแม่น้องจินตนาการไม่ถูกค่ะ รวมไปถึงการจินตนาการว่าของเล่นที่สูงๆเป็นภูเขาเราต้องเอาไดโนเสาร์ข้ามผ่านไปน้องเล่นแบบนี้ไม่เป็น ทำให้การอธิบาย การเชื่อมโยงความคิดและการเข้าสังคมของน้องยังพัฒนาไปได้ไม่เต็มที่
เราโชคดีที่มาปรึกษาครูฝึก ทำให้ปรับได้ทันหลังจากกลับมาลองทำดูพฤติกรรมขู่เวลาอยากชวนเพื่อนเล่นน้อยลงจนปัจจุบันแทบไม่ทำแบบนั้นแล้วค่ะ
อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์ที่คุณแม่ได้แบ่งปัน กับ วิธีจัดการลูกดื้อ จากคลินิกพัฒนาการเด็กที่ไปปรึกษามานั้น อาจแก้ไขได้กับเด็กเฉพาะคน ซึ่งคุณแม่สามารถนำมาเพื่อปรับใช้กับลูกน้อยของตัวเองได้ หรือหากคุณแม่มีคำแนะนำเกี่ยวกับ วิธีจัดการลูกดื้อ ก็สามารถแสดงความคิดเห็นได้ที่ใต้โพสต์นี้ หน้าเฟซบุ๊กได้เลยนะคะ
อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!
- ลูกดื้อ ชอบเอาชนะ ต้องดูคลิป! นักจิตวิทยาชื่อดังแนะวิธีแก้ไขใช้ได้กับทุกบ้าน
- นักจิตวิทยาระดับโลกแนะ 3 วิธีรับมือ ลูกดื้อ
- นักจิตวิทยาแนะ! แก้ปัญหาลูกดื้อ ด้วยวิธีเชิงบวกแสนง่าย (มีคลิป)
- 10 วิธีรับมือ ลูกดื้อ ตามแบบฉบับคุณแม่ยุคใหม่!
ขอบคุณข้อมูลจาก : สมาชิกผู้ใช้เว็บไซต์พันทิป ชื่อ Shirogane >> https://pantip.com/topic/37462068?