การ เลือกของเล่นให้เหมาะสมกับวัย ของลูกน้อย เป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ซึ่งพ่อแม่ส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่จะเลือกของเล่นที่ไม่เหมาะกับวัย หรือของเล่นที่ยากเกินไปสำหรับเด็กที่เพิ่งเริ่มหัดเล่น ซึ่งพบว่าของเล่นที่ยากเกินความสามารถของเด็กจะทำให้ความตื่นเต้นในของเล่นใหม่ลดลงไปอีกด้วย
ของเล่นปกติช่วยเสริมพัฒนาการให้เด็กปกติเท่านั้นจริงหรือ!?!?
แม้ของเล่นปกติจะถูกออกแบบมาสำหรับการเล่นของเด็กปกติ แต่เราจะใช้ของเล่นเพื่อพัฒนาเด็กได้อย่างเหมาะสมหรือไม่ พ่อแม่ต้องเป็นคนทำเอง กับเด็กพิเศษก็เช่นกัน คุณพ่อคุณแม่สามารถประยุกต์ใช้ของเล่นสำหรับเด็กปกติเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการให้ลูกได้ อยู่ที่การนำลูกเล่นของพ่อแม่ให้สอดคล้องกับกลุ่มอาการของลูกด้วย เช่น เด็กออทิสติกคือเด็กที่มีบกพร่องเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ฉะนั้นเขาจะมีปฏิสัมพันธ์ดีขึ้นได้พ่อแม่ก็ต้องมาเล่นกับลูกด้วย แล้วสอนให้ลูกรู้ว่าเขาจะต้องปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอย่างไร ต่อให้เอาของเล่นอย่างดีมาให้เขามากมายแค่ไหน แต่หากวางไว้ให้เขาเล่นคนเดียว เขาก็จะพัฒนาได้ไม่ดี เด็กสมาธิสั้นก็เช่นกัน อาการของเขาคือควบคุมตัวเองไม่ได้และทำงานไม่สำเร็จ ถ้าพ่อแม่ไม่มานั่งควบคุมและเล่นไปกับเขา แล้วใครจะมาควบคุมเขาได้ เพราะฉะนั้นลูกจะทำงานสำเร็จไหมโจทย์ก็อยู่ที่พ่อแม่ ของเล่นไม่สามารถช่วยควบคุมกำกับลูกสมาธิสั้นให้จดจ่อจนงานสำเร็จได้แน่
Good to know.. การเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กทั้งที่เป็นเด็กพิเศษและเด็กปกติ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์อย่างของเล่น แต่ขึ้นอยู่กับกระบวนการซึ่งพ่อแม่ต้องเป็นคนสร้างเสริมให้ลูกเอง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
การ เลือกของเล่นให้เหมาะสมกับวัย
ของเล่นอัตโนมัติทำลายสมองลูกจริงหรือ!?!?
A : ไม่จริงค่ะ ของเล่นจะส่งเสริมพัฒนาการลูกหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับพ่อแม่ว่าอ่านโจทย์ออกไหม ของเล่นสมัยนี้บางอย่างกดปุ่มก็เคลื่อนไหวเองได้ เหมือนของใช้ในบ้านอย่างเครื่องดูดฝุ่นไฟฟ้าที่เป็นโรบอททำงานอัตโนมัติ ซึ่งแค่กดปุ่มมันก็วิ่งดูดฝุ่นได้เอง วิ่งไปชนกำแพงก็ถอยได้เอง หรือวิ่งไปขอบทางก็ไม่ตกลงไป หากคุณพ่อคุณแม่ลองชวนลูกสังเกตลักษณะการวิ่งการทำงานของอุปกรณ์อัตโนมัติเหล่านี้ เช่น “ลองดูสิจ๊ะ มันต้องวิ่งไปตรงไหนนะมันถึงจะถอย” มันมีอะไรให้สังเกตและคิดต่อยอดได้มากมาย อาจชวนลูกสังเกตและคิดว่าทำไมมันถึงทำแบบนั้นได้ หรือชวนลูกจินตนาการว่าเราจะสร้างของใช้อะไรบ้างให้ทำงานอัตโนมัติได้แบบนี้ การตั้งคำถามจะทำให้เกิดโจทย์ท้าทายและการสร้างจินตนาการใหม่ๆ เด็กก็จะได้คิดต่อยอด เหมือนที่เดี๋ยวนี้มีคนคิดประดิษฐ์รถยนต์ที่ใช้ระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติขึ้นมาแล้ว นี่ก็เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดจากการคิดต่อยอดเช่นกัน
แล้วของเล่นหรือของใช้อัตโนมัติก็เป็นไปตามยุคสมัย ในอนาคตอาจหาซื้อของเล่นไขลานไม่ได้แล้ว ม้าก้านกล้วยเดี๋ยวนี้ก็แทบไม่เห็นแล้ว เพราะในเมืองก็ไม่มีต้นกล้วยให้ตัดแล้ว ก็จะมีของเล่นสมัยใหม่ที่เป็นระบบอัตโนมัติขึ้นมาแทนที่มากขึ้น ขึ้นอยู่กับว่าพ่อแม่จะใช้โอกาสตรงนั้นสอนลูกได้อย่างไร โทรศัพท์มือถือก็เป็นระบบอัตโนมัติ คุณพ่อคุณแม่ก็ใช้สอนลูกได้ แต่เราต้องใช้อย่างเหมาะสม ไม่ปล่อยให้ลูกเล่นจนติดหรือเล่นจนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน อยากให้ลูกฉลาด พ่อแม่ต้องฉลาดก่อน หากอยากให้ลูกคิดเป็น แต่ตัวเองไม่คิดเลย ลูกก็ไม่รู้จะเรียนรู้จากใคร พ่อแม่จึงต้องคิดเป็น ต้องสร้างสรรค์ ต้องต่อยอดได้ แล้วลูกจะเรียนรู้จากวิธีคิดของพ่อแม่
อ่านต่อ >> “วิธีเลือกของเล่นให้เหมาะกับลูกแต่ละวัย” คลิกหน้า 2
ของเล่นไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลือกอย่างไรให้เหมาะกับลูก
การเลือกของเล่นให้เหมาะสมกับวัยมีความสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการของลูกอย่างมาก แต่ของเล่นแบบไหนล่ะที่จะเหมาะกับช่วงวัยของลูกน้อย คุณหมอมีตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ให้คุณพ่อคุณแม่ใช้ประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อของเล่นมาแนะนำกันค่ะ
♣ ลูกวัยเบบี๋ 0-1 ปี
เด็กช่วงขวบปีแรกยังช่วยตัวเองไม่ได้จึงต้องพึ่งพาคุณพ่อคุณแม่อยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเด็กจะยังไม่ได้เล่นของเล่นด้วยตัวเอง แต่ของเล่นจะถูกนำเสนอผ่านคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่จึงควรรู้วิธีการนำเสนอเพื่อให้เขาเล่นได้เหมาะสมตามวัย นอกจากนี้ลูกวัยเบบี๋ที่เอื้อมมือคว้าหรือหยิบจับข้าวของได้ยังชอบเขย่า อม หรือปาข้าวของ ซึ่งเป็นไปตามพัฒนาการของเขา ของเล่นที่คุณพ่อคุณแม่เลือกซื้อหรือจัดหาให้จึงควรเลือกโดยคำนึงถึงความปลอดภัยให้มากที่สุด ต้องใส่ปากอมได้ไม่อันตราย ชิ้นใหญ่เกินกว่าจะกลืนได้ ไม่มีคม และไม่แตกหักง่าย เป็นต้น ซึ่งของเล่นของเบบี๋ที่เราแนะนำมีดังนี้
- โมไบล์ : สายตาและกล้ามเนื้อตาของเด็กยังไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ แต่คุณพ่อคุณแม่ส่งเสริมพัฒนาการได้ด้วยการแขวนโมไบล์ให้ห่างจากเด็กไม่เกิน 12 นิ้ว เนื่องจากระยะ 8-12 นิ้วเป็นระยะที่เด็กแรกเกิดมองเห็น ลูกน้อยจะได้มองตามเพื่อฝึกกล้ามเนื้อตา
- ของเล่นเขย่าให้เกิดเสียง : หากเบบี๋ได้ยินเสียงของเล่นแล้วได้หันมองหาหรือมองตาม ก็จะได้ฝึกเรื่องของการฟัง และการเคลื่อนไหวไปในทิศทางของเสียง
- ตุ๊กตาผ้า : เมื่อเบบี๋โตพอจะเอื้อมมือหยิบจับข้าวของได้แล้ว คุณพ่อคุณแม่สามารถเลือกหาตุ๊กตาสีสันสดใสให้เขาเล่นได้ เบบี๋จะได้ฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือและประสาทสัมผัสจากการจับ เคาะ เขย่า อม และปา และหากเขาปาของเล่นแล้วรู้จักคลานหา ก็จะได้ฝึกกล้ามเนื้อแขนขา และยังได้พัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์วางแผนจากการเก็บของอีกด้วย
อ่านต่อ >> “วิธีเลือกของเล่นให้เหมาะกับลูก วัยเตาะแตะ 1-3 ปี” คลิกหน้า 3
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
♠ วัยเตาะแตะ
เด็ก 1-3 ขวบเริ่มเล่นได้หลากหลายมากขึ้น เพราะเขาช่วยเหลือตัวเองได้มากกว่าตอนยังเป็นเบบี๋ จึงพูดคุย หยิบจับ เดินเหิน และเล่นได้หลายรูปแบบมากขึ้น ของเล่นจึงมีให้เลือกหลากหลายกว่าเดิม พ่อแม่จึงควรพิจารณาก่อนซื้อว่าอยากส่งเสริมลูกเรื่องอะไร ของเล่นชิ้นไหนจึงจะส่งเสริมพัฒนาการทักษะต่างๆ ที่เขายังขาดหรือพัฒนาการด้านที่เราอยากเน้นให้เป็นพิเศษ
- ของเล่นลากจูง : เริ่มตั้งแต่ลูกน้อยอายุประมาณ 9-10 เดือน เขาจะเริ่มเรียนรู้เรื่องของเหตุและผลอย่างง่ายๆ เช่น เอามือดันหรือไถแล้วของเล่นมันกลิ้งไป ดึงเข้ามาแล้วของเล่นก็เข้ามาหาตัว พ่อแม่จึงควรเลือกของเล่นที่มีลักษณะนี้เพื่อเสริมสร้างสติปัญญาของเขา นอกจากนี้เมื่อลูกเริ่มเดินได้รถลากจูงยังช่วยฝึกเรื่องของการเดินและการทรงตัวได้ดีอีกด้วย
- ชุดเครื่องครัวของเล่น : ลูกวัยนี้เริ่มหยิบจับช้อนส้อมได้แล้ว แต่อาจยังไม่มั่นคงแข็งแรงคุณพ่อคุณแม่ควรฝึกกล้ามเนื้อมือของเด็กด้วยของเล่นประเภทเครื่องครัวพลาสติกหรือเครื่องครัวไม้ที่แตกหักยาก
- หนังสือนิทาน : เป็นของเล่นคลาสสิกที่เหมาะสำหรับทุกวัย เพราะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านภาษา และยังเป็นสื่อในการเรียนรู้เรื่องต่างๆ ได้เป็นอย่างดี อาทิ รูปทรง รูปร่าง สี จำนวน การดำเนินชีวิตประจำวัน กระทั่งการปรับตัวเข้ากับสังคมก็สามารถเรียนรู้เบื้องต้นได้จากหนังสือนิทาน
- ลูกบอล : หากให้เด็กเล่นโยนลูกบอลลงตะกร้า จะได้ฝึกความสัมพันธ์ระหว่างการใช้มือกับสายตา นอกจากนี้ยังได้พัฒนาการกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย แต่หากโยนเล่นกับเพื่อนหรือคุณพ่อคุณแม่ จะได้เสริมสร้างทักษะทางสังคมเพิ่มเข้ามา เพราะต้องเกิดการแบ่งกันหรือผลัดกันเล่น
- สีเทียนแท่งใหญ่ : การขีดเขี่ยเล่นๆ ของเด็กวัยนี้ช่วยฝึกการทำงานประสานกันของมือและสายตา เสริมสร้างจินตนาการ และยังช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กให้แข็งแรงอีกด้วย
อ่านต่อ >> “วิธีเลือกของเล่นให้เหมาะกับลูก วัยอนุบาล 3-6 ปี” คลิกหน้า 4
♥ หนูน้อยวัยอนุบาล
เด็กช่วงอายุ 3-5 ขวบเริ่มเข้าสู่วัยของการทำความรู้จักกับสังคม ของเล่นจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กเข้าสังคมได้ จึงควรปรับเปลี่ยนจากของเล่นที่เล่นคนเดียว กลายเป็นของเล่นที่มีโอกาสต้องแชร์กับคนอื่นมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้ชีวิตในโรงเรียน และเพื่อให้เด็กเข้ากับสังคมได้ง่ายขึ้น
- กระบะทรายและพลั่วของเล่น : กระเล่นกระบะทรายเป็นกิจกรรมการเล่นกลางแจ้ง ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้ประสาทสัมผัสของดินทรายที่มีความหยาบ เสริมสร้างความคิดและจินตนาการจากการขุด ปั้น หรือก่อกองทรายตามที่เขาต้องการ และยิ่งคุณพ่อคุณแม่พาไปเล่นที่ทะเลหรือกระบะทรายในสวนสาธารณะ เขาจะได้มีโอกาสพบปะและเล่นกับเพื่อนคนอื่นๆ ด้วย
- กล่องใส่ของ : การชวนลูกเล่นรื้อหาสิ่งของในกล่อง แข่งกันเก็บของใส่กล่อง หรือแยกสิ่งของใส่กล่องตามสีหรือตามหมวดหมู่แบบต่างๆ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างการทำงานประสานกันระหว่างมือและสายตาแล้ว ยังฝึกทักษะการสังเกต การจัดเก็บสิ่งของ ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และทักษะการคิดวิเคราะห์วางแผนเพื่อเก็บของให้ลูกได้อีกด้วย
- จักรยานสามล้อ : เมื่อลูกน้อยเริ่มฝึกขี่จักรยานโดยเริ่มจากจักรยานสามล้อ ลูกน้อยจะได้พัฒนากล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกาย ได้ฝึกการดูทิศทางและกะระยะทาง และเมื่อลูกน้อยมีความแข็งแรงและเชื่อมั่นพอจะฝึกจักรยานสองล้อ เขาจะได้ฝึกการทรงตัวเพิ่มขึ้นอีก และยังได้ออกกำลังกายอย่างสนุกสนานอีกด้วย
- ของเล่นประกอบบทบาทสมมุติ : การเล่นบทบาทสมมุติ เช่น ครูนักเรียน พ่อแม่ คุณหมอกับคนไข้ คนซื้อกับคนขาย ฯลฯ นอกจากจะช่วยให้เด็กได้ใช้ความคิดและจินตนาการแล้ว ยังช่วยเสริมทักษะด้านสังคม เพราะเด็กต้องเล่นกับผู้อื่น ต่างคนต่างสวมบทบาทอาชีพหรือตัวละครและมีปฏิสัมพันธ์พูดคุยหรือทำกิจกรรมร่วมกัน ทำให้เด็กได้เรียนรู้การปรับตัว การพูดคุย และการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม
- ตัวต่อประเภทต่าง : ตัวต่อสามารถเล่นกับเพื่อนก็ได้เล่นคนเดียวก็ได้ หากเล่นคนเดียวเด็กจะได้ฝึกความคิด เสริมสร้างจินตนาการ และความคิดเชื่อมโยงจากการใช้ตัวต่อประกอบกันให้กลายเป็นสิ่งอื่น หากเล่นกับเพื่อนเขาจะได้ฝึกการแบ่งปันชิ้นตัวต่อซึ่งกันและกัน หากได้ต่อร่วมกันก็จะได้ฝึกการวางแผนเพื่อให้พวกเขาต่อตัวต่อเป็นเรื่องราวหรือเล่นไปในทิศทางเดียวกัน
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
เลิกอ้าง “พ่อแม่ไม่มีเวลา” แล้วเริ่มสะสมเวลาเพื่อลูก
ทุกครอบครัวก็ต้องทำงานเหมือนกันหมด เวลาจะมีหรือไม่จึงขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของพ่อแม่ เวลาเล็กๆ น้อยๆ บางทีพ่อแม่ก็คิดไม่ถึงว่าจะสามารถใช้สอนลูกได้ หมอเคยเห็นพ่อแม่ลูกเป็นครอบครัวนั่งไปในรถคันเดียวกัน พ่อก็จะขับรถเงียบๆ แม่นั่งเล่นโทรศัพท์ นั่นแหละคือเวลาน้อยนิดที่พ่อแม่ส่วนใหญ่บอกว่าไม่มี เราไปดูตามร้านอาหารที่มีพ่อแม่ลูกนั่งกินข้าว ทุกคนก็นั่งเล่นโทรศัพท์มือถือเหมือนกันหมด อันที่จริงเวลาเพียงน้อยนิดก็ทำให้มีประโยชน์มากขึ้นได้ถ้าพ่อแม่ใส่ใจยิ่งเราเอาไปใช้กับโทรศัพท์มือถือน้อยเท่าไร เราก็จะมีเวลากับตัวเองมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าพ่อแม่ทบทวนให้ดี มันจะมีเศษเสี้ยวของเวลาที่รวมเข้ามาเป็นเวลาที่มีประโยชน์กับลูกได้มากขึ้น เช่น เวลาที่เรานั่งรถไปด้วยกันทำไมเราถึงไม่พูดคุยกับลูก สอนเรื่องดีๆ ให้กับลูก เราฝึกให้ลูกรู้จักคิดคณิตศาสตร์หรือสอนภาษาอังกฤษให้กับลูกบนรถได้ แต่ทุกวันนี้เราเอาลูกไปเข้าโรงเรียน เอาลูกไปให้คนอื่นสอน เคยมีคุณแม่บ้านหนึ่งสังเกตรู้ว่าลูกสายตาสั้น เพราะได้พูดคุยและสอนลูกบนรถ แม่ถามเลขทะเบียนรถคันข้างหน้า แต่ลูกบอกว่ามองไม่เห็นทั้งที่แต่ก่อนเคยมองเห็น แม่ถึงรู้ว่าสายตาลูกมีความผิดปกติและพาลูกไปหาคุณหมอได้ทันท่วงที คุณแม่ท่านนี้รู้ความผิดปกติของลูกได้เพราะมีปฏิสัมพันธ์กับลูก ถ้าต่างคนต่างนั่งไปแม่ก็คงไม่มีทางสังเกตรู้
อย่างที่คุณหมอย้ำมาโดยตลอดว่า ของเล่นไม่สำคัญเท่ากระบวนการเล่นที่คุณพ่อคุณแม่ใช้เล่นกับลูก เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ลองสังเกตดูตามร้านของเล่นทั่วไป ของเล่นบางชิ้นก็ไม่ได้บอกเราว่าของเล่นนั้นใช้เล่นกับลูกอย่างไรได้บ้าง บ่อยครั้งที่คำอธิบายบนกล่องจะเขียนไว้เพียงว่า “ของเล่นสำหรับเล่น” ซึ่งก็แน่ละ…ของเล่นมันต้องมีไว้เล่น มันไม่ได้มีไว้กิน เด็กเองเขาก็คิดไม่ได้หรอกว่าต้องเล่นอย่างไรของเล่นจึงจะมีประโยชน์ จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องเล่นไปด้วยกันกับลูก เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว สอนให้ลูกรู้จักปรับตัวเข้าสังคม และเพื่อให้เขาได้เล่นของเล่นผ่านกระบวนการสร้างสรรค์ที่คิดค้นโดยพ่อแม่ ซึ่งจะเสริมสร้างพัฒนาการของลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!
- เผยรายชื่อ 10 ของเล่นอันตราย ประจำปี 2016
- วิธีเล่นสนุกสร้างเสียงหัวเราะ เสริมพัฒนาการให้กับลูกน้อยวัย 0-1 ปี
- “เล่นสมมติ” ดีต่อลูกเล็กครบทั้งกาย ใจ สมอง แถมสนุกไม่ธรรมดา!
เรื่อง All about Toys จาก ผศ. นพ. พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช