AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

หมอเตือน!! ดูทีวีทำร้ายลูกร้ายแรง สร้างพฤติกรรมผิดปกติ

หมอเตือน!! ดูทีวีทำร้ายลูกร้ายแรง สร้างพฤติกรรมผิดปกติ

คุณอาจคิดว่าแค่ให้ ลูกดูทีวี ดูแทบเล็ต ฯลฯ คงไม่น่าจะส่งผลเสียเท่าไหร่ เพราะเป็นความบันเทิงใกล้ตัวที่ทั้งเด็กเล็กและผู้ใหญ่ชื่นชอบมากๆ  ยิ่งเด็กเล็กด้วยแล้ว แค่เปิดทีวีให้ดู เท่านี้ก็นิ่งเงียบไม่งอแงแล้ว แต่ความเพลิดเพลินแบบนี้แหละ ที่อาจส่งผลร้ายแรง สร้างพฤติกรรมที่ผิดปกติให้กับลูกได้มากทีเดียวค่ะ

เพจคุณหมอสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดูทีวีของเด็กๆ ที่รวมถึงแผ่นดีวีดี ยูทูบ ไอแพด ไอโฟน ซัมซุงกาแลคซี่ คอมพิวเตอร์ ด้วย ว่า มี 10 ข้อพึงระวังในการให้เด็กดูทีวีไว้ดังนี้ค่ะ

“ลูกชายวัย 4 ขวบชอบดูหนังจากซีดีวันละหลายๆชั่วโมง บางครั้งก็เลียนแบบท่าต่อสู้จากในหนังหรือเอาไปเล่นกับเพื่อนๆจนร้องไห้ เคยอ่านพบว่าเด็กที่ดูทีวีนานๆจะมีพัฒนาการช้า ชอบเลียนแบบและกลายเป็นเด็กก้าวร้าวในที่สุด จะแก้ปัญหาอย่างไรดี เคยใช้วิธีชวนทำกิจกรรมอื่นหรือชวนไปเที่ยวแล้ว แต่ไม่ได้ผล”

สมาคมกุมารแพทย์และจิตแพทย์เด็กแนะนำว่า เด็กแรกเกิดถึง 2 ขวบ ไม่ควรดูทีวี วัย 2-4 ขวบไม่ควรดูเกินวันละครึ่งชม. เด็กวัย 4 ขวบขึ้นไปไม่ควรดูทีวีนานเกินวันละ 1 ชม. และต้องนั่งอยู่ข้างๆลูก คอยสอนว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี ถ้าไม่ได้คอยนั่งสอนอยู่ข้างๆ ควรปิดทีวีค่ะ เพราะจะทำให้มีปัญหาต่อไปนี้

ผลของการให้ ลูกดูทีวี

1.  ขาดทักษะทางด้านอื่นๆ หรือพัฒนาการช้า ไม่มีเวลาเหลือพอที่จะทำกิจกรรมอื่นซึ่งมีประโยชน์มากกว่า เช่น การเล่นสมมติ การวาดรูประบายสี การสื่อสารพูดคุยกับผู้อื่น ทำให้พูดช้า ความสามารถด้านการอ่านหนังสือไม่ดี ทำให้ผลการเรียนไม่ดี

2.  ขาดทักษะในการหาทางออก เมื่อมีปัญหาคับข้องใจ จะใช้วิธีดูทีวีเพื่อฆ่าเวลาหรือลืมปัญหาที่เกิดขึ้น ชั่วคราวก็ยังดี

3.  ขาดทักษะด้านการเคลื่อนไหว ไม่ได้ออกไปวิ่งเล่น ขี่จักรยาน ไม่ได้ออกกำลังกาย ทำให้เป็นคนงุ่มง่าม อ่อนแอติดโรคง่าย

4.  โรคอ้วน เพราะการนั่งอยู่หน้าจอทีวีมีการใช้พลังงานน้อยมาก ทานขนมขบเคี้ยวขณะดูทีวี อยากทานขนมหรืออยากได้ของเล่นที่อยู่ในโฆษณา ทำให้มีปัญหาไม่กินข้าว เพราะอิ่มขนมที่ไม่มีประโยชน์

5.  เลียนแบบและซึมซับสิ่งที่เห็นจากทีวี ทำให้เกิดพฤติกรรมไม่ดีตามมา เช่น ความก้าวร้าว บางครั้งเลียนแบบฮีโร่ซึ่งมีความสามารถพิเศษเช่นเหาะได้ ทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต ดังนั้นผู้ปกครองต้องคอยอธิบาย อย่าให้นั่งดูอยู่คนเดียว

อ่านต่อ ข้อ 6 – 10 คลิกหน้า 2

ผลของการให้ลูกดูทีวีมากเกินไป

6.  หากดูรายการที่น่ากลัวก็อาจเก็บไปฝันร้ายได้

7.  บางคนใช้ทีวีเลี้ยงลูก เปิดรายการเด็กให้ดูตลอดทั้งวันเพราะคิดว่าไม่มีพิษภัย ถึงตอนนี้เราเลือกโปรแกรมให้ลูกได้ แต่เมื่อเขาใช้รีโมทเป็น ก็จะเลือกเปิดดูรายการเอง

8.  มีค่านิยมที่ผิด เช่น ต้องหน้าตาดี หุ่นผอมบางแบบนางแบบจึงจะสวย ไม่ให้ความสำคัญกับคุณค่าทางจิตใจ เนื่องจากทีวีไม่สามารถนำเสนอความเป็นจริงได้ทั้งหมด

9.  มีปัญหาพฤติกรรมผิดปกติ คล้ายเด็กไฮเปอร์สมาธิสั้น คล้ายเด็กออทิสติก หมอเคยพบเด็กอายุ 3 ขวบมาด้วยเรื่องไม่พูด ไม่สบตา ชอบเล่นคนเดียว คุณแม่ไม่แน่ใจว่าลูกเป็นออทิสติกหรือไม่ แต่พอพบจิตแพทย์เด็ก คุณหมอยังไม่ฟันธงว่าเป็นอะไร แต่บอกให้ที่บ้านปิดทีวี เพราะเด็กดูทีวีตั้งแต่ตื่นจนเข้านอนเลย ผู้ใหญ่ก็ต้องยอมอดดูไปด้วย (ผลพลอยได้คือผู้ใหญ่ก็รู้สึกได้รับการปลดปล่อยพันธนาการจากทีวีด้วย ทำให้มีเวลาทำอย่างอื่นเพิ่มขึ้น เช่นไปเดินเล่น หรือปิ๊กนิคกัน) ผลคือลูกสบตาและพูดคุยกับคนอื่นมากขึ้นภายใน 2 วัน

10.การให้ลูกเลิกดูทีวี แม่ต้องใจแข็ง ลูกโวยวายก็อย่าตามใจ ถ้าร้องไห้หนวกหู ก็หาอะไรอุดหูไว้ อาจบอกว่าทีวีเสียหรือสัญญาณล่ม หรือเครื่องเล่นแผ่นซีดีพัง แล้วหากิจกรรมอื่นให้ลูกทำ อย่าให้เขาว่าง เพราะจะคิดถึงทีวีมากขึ้น เวลาผ่านไป 2-3 อาทิตย์ ค่อยเปิดทีวีได้ แต่อธิบายว่า ต่อไปนี้ไม่มีการดูเกินวันละ 1 ชม.และเลือกโปรแกรมที่ดีเท่านั้น ไม่ให้ดูประเภทต่อสู้ ถึงเวลานี้เขาก็เริ่มชินกับการไม่มีทีวีและรู้จักใช้เวลาในการทำกิจกรรมอื่น ที่สร้างสรรค์มากขึ้น บอกลูกถึงข้อเสียของการดูทีวี พูดไปเถอะค่ะ ไม่เข้าใจตอนนี้ก็ไม่เป็นไร ที่สำคัญคือ พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ควรดูทีวีเยอะเช่นกัน

สำหรับใครที่ให้ ลูกดูทีวี ที่เป็นสื่อการสอนอยู่ แล้วพบว่าลูกเรียนรู้ได้เยอะ ก็ต้องระวังนะคะ เพราะการเรียนรู้ผ่านทีวี ไอแพด ไอโฟน เป็นการเร้าที่ค่อนข้างมาก จึงทำให้เด็กสนใจจดจ่อได้นาน ถ้าเมื่อไรที่ลูกจะต้องเรียนรู้ผ่านสื่อที่ไม่เร้าแรงเท่าทีวี เช่น การอ่านหนังสือนิทาน หนังสือเรียน หนังสือสารานุกรมสำหรับเด็ก หรือ เวลาครูสอนในห้องเรียน จะไม่เร้าใจ ก็จะรู้สึกเบื่อ ไม่อยากเรียน ไม่มีสมาธิจดจ่อกับกิจกรรมที่ต้องใช้สมาธิ กลายเป็นเด็กเรียนหนังสือไม่เก่งได้ค่ะ

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!


เครดิต :  เพจคุณหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ

ขอบคุณภาพประกอบ : www.huffingtonpost.com