ลูกอาเจียน ! อาการที่ดูธรรมดา แต่แอบแฝงไปด้วยโรคที่คุณคาดไม่ถึง!
“อาเจียน” อาการหนึ่งที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย และพบบ่อยมากในเด็กที่ป่วย ซึ่งนอกจากอาการดังกล่าวแล้ว เด็ก ๆ ก็มักจะมีอาการอื่นร่วมด้วย อันได้แก่ ปวดท้อง ถ่ายเหลว และมีไข้ แต่หากไม่มีอะไรต้องห่วงค่ะ เพราะเด็ก ๆ จะมีอาการดีขึ้นเองภายใน 24 – 48 ชั่วโมง
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ลูกน้อยของเราอาเจียน และเพราะอะไรถึงบอกว่าอาการดังกล่าวอาจเต็มไปด้วยโรคที่คุณพ่อคุณแม่คาดไม่ถึง วันนี้ทีมงาน Amarin Baby and Kids ก็ได้ทำการรวบรวมข้อมูลนี้มาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุกคนกันด้วยนะคะ พร้อมแล้วไปอ่านบทความนี้กันเลยค่ะ
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้เด็กอาเจียน คลิกหาคำตอบกันได้ที่นี่ค่ะ
ลูกอาเจียน เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง?
1. ในทารกแรกเกิดและเด็กเล็กนั้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้พบได้บ่อย ได้แก่
- เด็กกลืนขี้เทาหรือเลือดแม่ อาการนี้มักเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงหลังคลอด เนื่องจากขี้เทาหรือเลือดของแม่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร แต่ลูก ๆ จะอาเจียนไม่มากอีกทั้งสาเหตุดังกล่าวก็ไม่มีความผิดปกติอื่นใด และมักจะหายได้เอง
- ทารกได้รับบาดเจ็บระหว่างคลอด มักเกิดกับทารกที่คลอดยาก ภายหลังจากคลอดก็จะมีอาการอาเจียน ซึม ชัก กระหม่อมโป่งตึง เป็นต้น
- กระเพาะหรือลำไส้อุดกั้น อันเกิดจากกระเพาะส่วนปลายตีบแต่กำเนิด ลำไส้กลืนกันเอง โดยเด็กจะมีอาการอาเจียนรุนแรง และปวดท้องรุนแรงร่วมด้วย
- โรคติดเชื้อ เมื่อใดก็ตามที่ลูกได้รับการติดเชื้อ แน่นอนว่าลูกก็จะมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ซึ่งโรคติดเชื้อที่ร้ายแรงนั้น ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ โลหิตเป็นพิษ ส่วนสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง เช่น ไข้หวัด ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอกรน บิด ท้องเดิน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น
- โรคเชื้อราในช่องปาก มักตรวจพบว่าเด็กที่เป็นโรคนี้จะมีฝ้าขาวที่ลิ้น อาเจียนเล็กน้อย แต่ก็ไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ แค่ใช้เจนเชียนไวโอเลตป้ายลิ้นวันละ 2-3 ครั้งเพื่อรักษาเท่านี้อาการก็บรรเทาขึ้นแล้ว
- เด็กเล็กสำรอกนม มักเกิดจากที่ลูกดื่มนมมากเกินไป หรือกลืนอากาศเข้าไประหว่างดูดนมทำให้มีลมจุกแน่นในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้ลูกสำรอกคราบนมปนน้ำออกมาด้วย อาการนี้ไม่มีอะไรน่ากลัว เพียงแต่แนะนำว่าคุณแม่ไม่ควรให้น้องดื่มนมจนอิ่มมากเกินไป และหลังจากที่ดื่มนมเสร็จแล้วให้คุณแม่อุ้มน้องพาดบ่าสักครู่เพื่อเรอเอาลมในกระเพาะออกมา
- โรคกรดไหลย้อน หากลูกอาเจียนและไอตอนกลางคืนบ่อย รวมถึงมีอาการเบื่ออาหารหรือน้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกไปหาหมอทันที เพราะลูกอาจจะเป็นโรคกรดไหลย้อนได้
คลิกอ่านโรคที่แอบแฝงมากับอาการดังกล่าว ได้ที่หน้าถัดไปค่ะ
2. ในเด็กโต มีสาเหตุดังต่อไปนี้
- ลำไส้อักเสบ เวลาที่ลูกอาเจียน จะมีอาการปวดท้อง ท้องเดินร่วมด้วย ซึ่งอาการดังกล่าวนั้นเกิดจากการติดเชื้อของลำไส้
- การหมุนตัวผิดปกติของลำไส้ เป็นภาวะที่พบได้น้อยแต่รุนแรง มักเป็นมาตั้งแต่กำเนิด เด็กที่เป็นมักจะอาเจียนและปวดท้องรุนแรง ซึ่งการอาเจียนนั้นจะเอาน้ำดีสีเขียวขม ๆ ปนออกมาด้วย อาจมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา
- ไส้ติ่งอักเสบ หรือเยื่อบุช่องท้องอักเสบ เด็กที่มีอาการดังกล่าวจะอาเจียนและมีไข้ร่วมด้วย ซึ่งอาการปวดนั้นจะปวดรุนแรง กดเจ็บบริเวณหน้าท้อง หากพบว่าลูกมีอาการดังกล่าวอย่ารอช้านะคะ รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
- โรคพยาธิไส้เดือน เด็กที่เป็นโรคนี้จะมีอาการปวดท้องและอาเจียนไม่รุนแรงมาก และมักจะเป็นหลังจากรับประทานอาหารแล้ว อาการดังกล่าวจะหายไปเองในเวลาสั้น ๆ มักมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ อาจอาเจียนและถ่ายเป็นตัวไส้เดือนออกมาด้วยก็ได้ในบางครั้ง
- ความเครียดทางจิตใจ อาจมีอาการอาเจียนได้ในเด็กที่มีความเครียดทางจิตใจ เช่น เด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียน อาการนี้จะเป็น ๆ หาย ๆ แต่ก็จะไม่รุนแรงมาก
รักษาและป้องกันอย่างไร คลิก!
วิธีการรักษา
- สำหรับในทารกแรกเกิดและเด็กเล็กนั้น หากพบว่าลูกมีอาการอาเจียนและปวดท้องรุนแรง แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่นำตัวลูกส่งโรงพยาบาลทันทีนะคะ เพราะหากช้าละก็ ลูกอาจมีภาวะขาดน้ำ ซึม คอแข็ง หอบหรือชักได้ค่ะ ที่สำคัญในระหว่างทางที่ไปโรงพยาบาลนั้น แนะนำให้ลูกคอยจิบน้ำเกลือไปด้วย แต่ถ้าหากลูกอาการไม่รุนแรงมาก คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถให้ลูกดื่มน้ำหวาน สารละลายน้ำตาลเกลือแร่ หรือน้ำกลูโคสก็ได้ ให้ทานทีละน้อย ๆ แต่บ่อย และหากว่าลูกอาการไม่ดีขึ้นภายใน 24 ชั่วโมงให้นำพาตัวส่งโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจรักษาให้ละเอียดอีกครี่งนึง
- สำหรับเด็กโต เช่นเดียวกับเด็กเล็กค่ะ หากมีอาการรุนแรงไม่ควรรอช้า รีบพาพบแพทย์ทันที และให้ลดอาหารแข็งที่ย่อยยาก ให้ทานน้ำข้าวต้ม อาหารเหลว น้ำหวานหรือสารละลายน้ำตาลเกลือแร่แทน
วิธีการดูแลลูกหลาน
- หากเด็กมีอาการทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดี เล่นได้ กินอาหารได้ สามารถดูแลเองด้วยการเฝ้าสังเกตอาการอยู่ที่บ้าน
- อาหารเป็นสิ่งสำคัญ ควรเน้นอาหารอ่อนและย่อยง่าย เช่นข้าวต้ม โจ๊ก เน้นอาหารจำพวกแป้ง ลดปริมาณของอาหารในแต่ละมื้อ และเพิ่มจำนวนมื้อแทน และควรให้ลูกทานทีละน้อย ๆ แต่บ่อยครั้ง
- ดื่มหรือจิบน้ำและน้ำเกลือแร่ ทีละน้อยแต่บ่อยครั้ง ส่วนนมดื่มได้ตามปกติ แต่ควรลดปริมาณในแต่ละมื้อ โดยไปเพิ่มจำนวนมื้อแทน
- ยาแก้อาเจียนอาจช่วยให้อาเจียนน้อยลงและระยะเวลาในการอาเจียนห่างออก แนะนำให้ใช้ยาดรอมเพอริโดนหรือโมทีเลียม ในขนาด 1 ช้อนชา (5 ซีซี) ต่อน้ำหนักตัว 20 กิโลกรัม หรือครึ่งเม็ดสำหรับน้ำหนักตัว 25-40 กิโลกรัม และ 1 เม็ดสำหรับน้ำหนักตัว 40 กิโลกรัมขึ้นไปให้ยาก่อนอาหารประมาณครึ่งชั่วโมงวันละ 2-4 ครั้ง
สำหรับการป้องกันนั้น วิธีล้างมือให้สะอาดไม่หยิบของหรือสิ่งสกปรกเข้าปาก ก็สามารถช่วยได้ในระดับนึงแล้วละค่ะ ที่สำคัญที่สุด สังเกตอาการของลูกให้ดี หากพบว่าลูกมีอาการรุนแรง อย่ารอช้าเด็ดขาด! ให้รีบนำตัวลูกส่งโรงพยาบาลทันที
เครดิต: ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย Health Care Thai และ Nation TV
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่