ลูกอาเจียน เกิดจากสาเหตุใดได้บ้าง?
1. ในทารกแรกเกิดและเด็กเล็กนั้น สาเหตุสำคัญที่ทำให้พบได้บ่อย ได้แก่
- เด็กกลืนขี้เทาหรือเลือดแม่ อาการนี้มักเกิดขึ้นภายใน 48 ชั่วโมงหลังคลอด เนื่องจากขี้เทาหรือเลือดของแม่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร แต่ลูก ๆ จะอาเจียนไม่มากอีกทั้งสาเหตุดังกล่าวก็ไม่มีความผิดปกติอื่นใด และมักจะหายได้เอง
- ทารกได้รับบาดเจ็บระหว่างคลอด มักเกิดกับทารกที่คลอดยาก ภายหลังจากคลอดก็จะมีอาการอาเจียน ซึม ชัก กระหม่อมโป่งตึง เป็นต้น
- กระเพาะหรือลำไส้อุดกั้น อันเกิดจากกระเพาะส่วนปลายตีบแต่กำเนิด ลำไส้กลืนกันเอง โดยเด็กจะมีอาการอาเจียนรุนแรง และปวดท้องรุนแรงร่วมด้วย
- โรคติดเชื้อ เมื่อใดก็ตามที่ลูกได้รับการติดเชื้อ แน่นอนว่าลูกก็จะมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ซึ่งโรคติดเชื้อที่ร้ายแรงนั้น ได้แก่ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปอดอักเสบ โลหิตเป็นพิษ ส่วนสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง เช่น ไข้หวัด ทอนซิลอักเสบ หลอดลมอักเสบ ไอกรน บิด ท้องเดิน กระเพาะปัสสาวะอักเสบ เป็นต้น
- โรคเชื้อราในช่องปาก มักตรวจพบว่าเด็กที่เป็นโรคนี้จะมีฝ้าขาวที่ลิ้น อาเจียนเล็กน้อย แต่ก็ไม่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ แค่ใช้เจนเชียนไวโอเลตป้ายลิ้นวันละ 2-3 ครั้งเพื่อรักษาเท่านี้อาการก็บรรเทาขึ้นแล้ว
- เด็กเล็กสำรอกนม มักเกิดจากที่ลูกดื่มนมมากเกินไป หรือกลืนอากาศเข้าไประหว่างดูดนมทำให้มีลมจุกแน่นในกระเพาะอาหาร ส่งผลให้ลูกสำรอกคราบนมปนน้ำออกมาด้วย อาการนี้ไม่มีอะไรน่ากลัว เพียงแต่แนะนำว่าคุณแม่ไม่ควรให้น้องดื่มนมจนอิ่มมากเกินไป และหลังจากที่ดื่มนมเสร็จแล้วให้คุณแม่อุ้มน้องพาดบ่าสักครู่เพื่อเรอเอาลมในกระเพาะออกมา
- โรคกรดไหลย้อน หากลูกอาเจียนและไอตอนกลางคืนบ่อย รวมถึงมีอาการเบื่ออาหารหรือน้ำหนักตัวไม่เพิ่มขึ้น แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกไปหาหมอทันที เพราะลูกอาจจะเป็นโรคกรดไหลย้อนได้