AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

โรคไซนัสอักเสบ เพราะอากาศชื้น ต้องระวัง

ไซนัส คือ โพรงอากาศในจมูกที่มีรูระบาย ถ้าไซนัสเกิดการอุดตัน ทำให้เกิด โรคไซนัสอักเสบ สาเหตุมาจาก ไข้หวัด ภูมิแพ้ เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ เนื้องอกในโพรงจมูก ริดสีดวงในโพรงจมูก เมื่อของเหลวในไซนัสไม่สามารถระบายออกไปได้ ก็ทำให้สะสมจนเกิดเชื้อแบคทีเรียและทำให้เป็นโรคนี้

โรคไซนัสอักเสบถือเป็นโรคฮิตติดอันดับของไทย เพราะคนเป็นโรคนี้กันมาก ประมาณ 33.33% และเป็นได้ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก และผู้ใหญ่ จึงต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะเด็กเล็กๆ ซึ่งเด็กบางคนมีอาการของโรคไซนัสรุนแรง และลุกลามไปที่บริเวณดวงตาได้

อ.พญ.นวรัตน์ อภิรักษ์กิตติกุล ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลว่า อาการของผู้เป็นโรคไซนัสอักเสบ คือ ปวดบริเวณโพรงจมูก คัดจมูก มีน้ำมูกไหล หรือเปลี่ยนเป็นสีเขียว มีกลิ่นเหม็น และมีอาการไอ

คนเป็นโรคไซนัสอักเสบง่ายแค่ไหน?

การเป็นโรคไซนัสอักเสบนั้น ไม่ได้เป็นได้โดยง่าย เพราะเนื้อเยื่อของไซนัสนั้นเคลื่อนไหวตลอดเวลา เมื่อมีสิ่งที่ทำให้เกิดการอักเสบ หรือมีเชื้อโรค จะถูกขับผ่านทางจมูกลงคอ อาการที่เป็น คือ มีอาการเจ็บปวดบริเวณเหนือคิ้ว ระหว่างลูกตา แก้ม และพบว่ามีน้ำมูกคล้ายหนองออกมา

มีอาการคัดจมูกมาก ปวดตุบๆ ตามจังหวะการเต้นของหัวใจ บางคนอาจปวดกระบอกตา และท้ายทอย ขึ้นอยู่กับบริเวณที่อักเสบของไซนัส เช่น ถ้าอักเสบที่ไซนัสส่วนกลางจะปวดท้ายทอย ถ้าอักเสบที่แก้มจะปวดศีรษะ หรือขมับ และถ้าก้มศีรษะจะปวดมากขึ้น เพราะทำให้เลือดคั่งมาก ทำให้รูที่เปิดของไซนัสอุดตันมากขึ้น บางคนมีอาการคลื่นไส้อาเจียน

สำหรับคนที่เป็นเรื้อรังจะมีอาการเป็นครั้งคราว ความเจ็บปวดจะน้อยว่าแบบเฉียบพลัน อาจมีน้ำมูกตกลงท่อหายใจสู่ปอดได้

วิธีสังเกตว่าคุณพ่อ คุณแม่ และลูกน้อยเป็นไซนัสหรือไม่ ให้ลองสังเกตดูว่าหลังจากเป็นหวัดแล้ว 7 วัน มีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา มีเสมหะมาก แสดงว่าอาจเป็นไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

ภาพเด็กที่เป็นโรคไซนัสอักเสบ แล้วลุกลามขึ้นดวงตา

ความเย็นก็อาจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบ ทำให้ร่างกายมีความต้านทานโรคลดลง เมื่อเป็นโรคไซนัสอักเสบจึงควรหลีกเลี่ยงสถานที่เย็นๆ และของเย็นจัด

โรคไซนัสอักเสบถ้าปล่อยไว้ โดยไม่รักษาอาจทำให้ลุกลามไปที่ตา ทำให้ตาบวมอักเสบ ทะลุเข้าสู่สมอง ทำให้ปอดอักเสบ และกระจายเชื้อไปทั่วร่างกาย จนทำให้เสียชีวิตได้

อ่านต่อ “การรักษาโรคไซนัสอักเสบ” คลิกหน้า 2

การรักษาโรคไซนัสอักเสบ

เมื่อคุณพ่อ คุณแม่ หรือลูกน้อยเป็นโรคไซนัสอักเสบ ให้สังเกตอาการ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ ถ้าดูแลตัวเองและลูกน้อยแล้ว 5 วัน ยังไม่ดีขึ้น หรือแย่ลง ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา อย่าซื้อยามารับประทานเอง โดยแพทย์จะทำการรักษาดังนี้

1.ตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร ถ้าติดเชื้อไข้หวัด ให้รักษาเชื้อไข้หวัดให้หาย

2.พยายามระบายของเหลวที่มีเชื้อแบคทีเรียในไซนัส โดยให้รูเปิดของโพรงไซนัสกว้างขึ้น

3.ใช้ยาลดบวม เพื่อลดอาการบวมบริเวณรูเปิดของโพรงไซนัส

4.ล้างน้ำเกลือ ช่วยชำระสารคัดหลั่งได้ และช่วยให้เยื่อพัดโบกในโพรงจมูกระบายของเหลวในโพรงไซนัสได้ดี

5.ใช้ยาฆ่าเชื้อ ถ้าเกิดติดเชื้อแบคทีเรียร่วมด้วย

6.ใช้สเตียรอยด์พ่น เพื่อลดการอักเสบบริเวณรูเปิดของโพรงไซนัส

7.ใช้ยาละลายเสมหะ เพื่อให้สารคัดหลั่งเหลว และระบายออกจากโพรงไซนัสได้ดีขึ้น

การรักษาให้หายขาดนั้น ขึ้นอยู่กับสาเหตุ ถ้าติดเชื้อภูมิแพ้ หรือกรดไหลย้อน ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าเกิดจากมะเร็ง ริดสีดวงอาจรักษาค่อนข้างยาก หรือไม่หายขาด ส่วนการผ่าตัด จะทำต่อเมื่อแพทย์ให้ยารักษาแล้วไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร

การดูแลตัวเองเมื่อป่วยเป็นโรคไซนัสอักเสบ

พอ. นพ. กรีฑา  ม่วงทอง กอง โสต ศอ นาสิกกรรม รพ. พระมงกุฎเกล้า ได้ให้คำแนะนำเอาไว้ ดังนี้

1.เมื่อสงสัยว่าตัวเอง หรือลูกน้อยป่วยเป็นโรคไซนัสอักเสบ ให้ไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา รับประทานยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

2.หยุดพักงาน หรือให้ลูกน้อยหยุดเรียน และนอบหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

3.ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ อย่างน้อยวันละ 7-8 แก้ว

4.ถ้ามีประวัติภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ซากแมลงสาบ เชื้อราในอากาศ อากาศเสีย ควันบุหรี่ ท่อรถยนต์ อาการเย็น ให้หลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้จะทำให้อาการดีขึ้น และลดการปวดไซนัส

5.พยายามนอนศีรษะสูง ตั้งศีรษะตรงเสมอ ช่วยระบายหนองที่ค้างออกจากไซนัส ตามแรงโน้มถ่วงโลก

6.หลีกเลี่ยงการก้มศีรษะ เพราะจะทำให้ปวดไซนัสมากขึ้น

7.ไม่ควรสั่งน้ำมูกรุนแรง เพราะจะทำให้ปวด ให้ใช้มืออุดจมูกอีกข้าง แล้วสั่งเบาๆ จนหายใจโล่งจึงหยุดสั่ง

8.ถ้ามีอาการปวด ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นปะคบบริเวณไซนัส ประมาณ 3-4 นาที สลับกับผ้าชุบน้ำเย็น 30 วินาที ทำแบบนี้ 3 รอบ ประมาณ 2-6 ครั้งต่อวัน

9.สูดดมไอน้ำร้อน ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ลดอาการเหนียวข้นของน้ำมูก ลดการคัดจมูก แต่ระมัดระวังอย่าให้น้ำร้อนลวก อาจผสมสารระเหย เช่น Eucalyptus oil  , Vic Vaporub และ Mentol ช่วยลดอาการปวดไซนัสได้

10.ถ้าคัดจมูกมากจนต้องอ้าปากหายใจ ให้ใช้ยาหยอดจมูก เพื่อบรรเทาอาการ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ติดต่อกันเกิน 7-10 วัน เพราะจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี และอ่านฉลากยาก่อนใช้งาน หรือปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

11.การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือเป็นวิธีที่ง่าย และได้ผลที่สุด นอกเหนือจากการรับประทานยา ช่วยบรรเทาไซนัสอักเสบ ทำให้จมูกชุ่มชื้น ล้างสิ่งต่างๆ ออกไป สามารถซื้อน้ำยาตามร้านยาทั่วไป สอบถามวิธีใช้จากเภสัชกร

12.หลีกเลี่ยงการเดินทางโดยเครื่องบิน เพราะจะทำให้มีอาการปวดไซนัสมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงความกดอากาศ แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ให้ทานยา หรือพ่นยาลดบวมก่อนขึ้นเครื่องประมาณครึ่งชั่วโมง เพื่อลดการอุดตัน

 

การป้องกันโรคไซนัสอักเสบ

การป้องกัน ทำได้โดยเมื่อรู้ตัวว่าเป็นหวัดให้รีบรักษาตัว ถ้าเป็นโรคภูมิแพ้ร่วมด้วย ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ และดูแลที่อยู่อาศัยให้ถูกสุขลักษณะ

1.ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อป้องกันไข้หวัด ที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคไซนัสอักเสบ

2.หลีกเลี่ยง ไม่ใกล้ชิดผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัด จะช่วยลดโอกาสในการเป็นโรคไซนัสอักเสบได้

3.เมื่อเป็นไข้หวัด ควรรีบรักษาให้หายจากหวัดโดยเร็ว

4ถ้ามีประวัติเป็นหวัดเรื้อรัง เนื่องจากภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงที่ที่ทำให้แพ้ เช่น ฝุ่น นุ่น เชื้อรา และขนสัตว์ต่างๆ

5.หลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เยื่อจมูกระคายเคือง เช่น ควันบุหรี่ ควันรถยนต์ ควันจากการประกอบอาหาร

6.ถ้ามีแกนกั้นจมูกคด มีอาการคัดจมูกเรื้อรัง หรือริดสีดวง ควรรีบผ่าตัดแก้ไข เพื่อป้องกันโรคไซนัสอักเสบ

 


เครดิต: Rama Channel, กองโสต ศอ นาสิกกรรม รพ. พระมงกุฎเกล้า, หมอชาวบ้าน

รวม 20 อาการต้องสงสัย ลูกไม่สบาย แบบนี้..! กำลังป่วยเป็นโรคอะไร?