AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

หมอแนะแม่! ลูกกินยาฆ่าเชื้อ เป็นประจำอันตรายหรือไม่

เครดิต: CBS

ไขข้อข้องใจแม่ ลูกกินยาฆ่าเชื้อ ทุกวันจะเป็นอันตรายต่อร่างกายลูกหรือไม่?

 

 

คงไม่มีใครไม่รู้จักยาฆ่าเชื้อกันใช่ไหมคะ ทราบหรือไม่คะว่าลูกกินยาฆ่าเชื้อเป็นประจำทุกวัน จะส่งผลอะไรกับสุขภาพลูกหรือไม่  ทำอย่างไรลูกจะได้ไม่ต้องกินยาฆ่าเชื้อ ที่สำคัญจำเป็นไหมที่ลูกเป็นหวัดแล้วต้องกินยาฆ่าเชื้อทุกครั้ง อยากรู้ไปติดตามพร้อม ๆ กันค่ะ

คำถามของคุณแม่: ลูกชายอายุ 2.7 ขวบค่ะ ตั้งแต่ 17 ตุลาคมมานี่ เค้าต้องกินยาฆ่าเชื้อแทบจะเรียกได้ว่าต่อเนื่องเลยค่ะ เพราะพี่ชายพี่สาวไปโรงเรียน ไม่สบายเอากลับมาติดน้อง ส่วนน้องก็ภูมิน้อยติดทุกครั้งไม่มีพลาด กินครบตามที่หมอบอก เว้นไปไม่นานก็เป็นใหม่อีก หมอก็ให้ยาฆ่าเชื้อใหม่อีก เรียกได้ว่าภายในหนึ่งเดือนลูกชายทานติดต่อกันเป็นเวลาจะสามสัปดาห์แล้วค่ะ แอบกังวลว่า ถ้าลูกทานต่อไปเรื่อย ๆ แบบนี้จะมีผลข้างเคียงอะไรหรือไม่คะ

ศ. พญ. อรุณี เจตศรีสุภาพ (แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกุมารเวชศาสตร์และโลหิตวิทยา) ได้เข้ามาให้คำตอบกับคุณแม่ท่านนี้ว่า

ยาทุกอย่างควรจะให้เมื่อมีข้อบ่งชี้ที่สมควร แพทย์จะพิจารณาข้อดีข้อเสียก่อนให้ ถ้าจำเป็นต้องให้ยานานแพทย์อาจต้องดูการทำงานของตับและไตตามความจำเป็น ในกรณีนี้คุณแม่ไม่ได้บอกอาการของลูก แต่คาดว่าโรคยอดฮิตในเด็กวัยนี้น่าจะเป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน โดยปกติมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ที่พบบ่อยคือหวัดธรรมดา ซึ่งการให้ยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อไม่ได้ช่วย เว้นแต่แพทย์ดูอาการหรือตรวจดูแล้วพบว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือสงสัยว่าจะติดเชื้อแบคทีเรีย จึงให้ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น

อ่านต่อคำแนะนำของคุณหมอได้ที่หน้าถัดไปค่ะ >>

 

 

สำหรับลูกของคุณแม่ แพทย์คงชั่งน้ำหนักแล้วว่าการให้ยาปฏิชีวนะจะปลอดภัยกับเด็กมากกว่าไม่ให้ และเมื่อให้ยาดังกล่าวก็ต้องให้จนครบเวลาที่ต้องรักษาในโรคและภาวะต่าง ๆ เช่นคออักเสบจากเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส ซึ่งจะมีคอแดงมาก หรือต่อมทอนซิลโตมากอักเสบ ต้องให้ยาปฎิชีวนะนานถึง 10 วัน ซึ่งหากให้ไม่ครบอาจมีปัญหาตามมา หลังจากกินยาไป 2-3 วันอาการดีขึ้น ผู้ป่วยผู้ปกครองมักชอบหยุดยาเอง อาจทำให้เกิดการอักเสบที่หัวใจที่เรียกไข้รูมาติก หรือมีกรวยไตอักเสบตามมา

 

การติดเชื้อไวรัสมักจะดีขึ้นในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หากไม่ดีขึ้นในเวลาดังกล่าวหรือมีอาการอื่นเช่นไข้สูง ไอมากขึ้น หายใจเร็ว ทานอะไรไม่ค่อยได้ คลื่นไส้อาเจียน อย่ารอช้าต้องรีบไปพบแพทย์ทันที

ไม่อยากให้ ลูกกินยาฆ่าเชื้อ บ่อย ๆ คุณแม่ต้องปฏิบัติตามวิธีนี้

สิ่งหนึ่งที่คุณแม่ต้องทำเลยก็คือ การป้องกันไม่ให้ลูกป่วยบ่อยด้วยการแยกเด็กที่ไม่สบายกับเด็กที่สบายดีก่อน หากแยกไม่ได้แนะนำให้เด็กที่ป่วยใส่ผ้าปิดปากไว้ สอนลูกไม่ให้ไอหรือจามรดกัน และสอนให้ลูกล้างมือบ่อย ๆ ให้ติดเป็นนิสัยค่ะ

ลูกแค่เป็นหวัดต้องทานยาฆ่าเชื้อหรือไม่ คลิก>>


เครดิต: หาหมอ

 

เครดิต: Parents Magazine

ลูกแค่เป็นหวัดต้องทานยาฆ่าเชื้อหรือไม่

เพราะโรคหวัดเป็นโรคที่พบบ่อย และส่วนมากก็เป็นมากกว่า 1 ครั้ง แถมเด็กบางคนเป็นปีละหลายครั้งเสียด้วย โดยเฉพาะเด็กเล็ก และเด็กที่อยู่ที่ daycare คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักพาลูกไปพบแพทย์เมื่อลูกมีอาการของหวัด หลังจากคุณหมอตรวจร่างกายแล้ว และบอกคุณพ่อ คุณแม่ว่าลูกเป็นหวัด บางท่านจะถามคุณหมอว่า ลูกต้องรับประทานยาฆ่าเชื้อ (หรือมักเรียกกันว่ายาแก้อักเสบ) หรือไม่

โรคหวัดเป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ในเด็กอาจมีไข้ ไอ น้ำมูกไหล เด็กบางคนอาจมีอาการทางระบบทางเดินอาหาร เช่นอาเจียนหรือถ่ายเหลวร่วมด้วย ส่วนใหญ่อาการมักจะค่อย ๆ ดีขึ้นเอง สาเหตุของโรคหวัดส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้ฆ่าเชื้อไวรัสโดยเฉพาะ การรักษาโรคหวัดจึงเป็นแบบประคับประคองให้ร่างกายค่อย ๆ กำจัดเชื้อหวัดไปได้เอง เด็กบางคนอาจใช้เวลาไม่นาน บางคนอาจใช้เวลานานเป็นสัปดาห์ ดังนั้นการรักษาไข้หวัด จึงมุ่งเน้นการรักษาตามอาการ เป็นต้น

การได้รับยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็นมีผลเสียหรือไม่ ตัวยาจะไปฆ่าเชื้อเหล่านี้ซึ่งอาจทำให้ร่างกายมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคได้ง่ายขึ้น มีงานวิจัยใหม่ ๆ แสดงให้เห็นว่าการได้รับยาปฏิชีวนะบ่อย ๆ อาจสัมพันธ์กับการเกิดโรคภูมิแพ้บางชนิด โรคหอบหืด เป็นต้น นักวิจัยบางคนยังเชื่อว่าถ้าเด็กเล็กได้รับยาปฏิชีวนะตั้งแต่อายุยังน้อย อาจสัมพันธ์กับการเกิดโรคอ้วนในระยะเวลาต่อมา  นอกจากนี้การได้รับยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นบ่อย ๆ จะทำให้เกิดการคัดเลือกเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาเกิดขึ้น เวลาเชื้อเหล่านี้ทำให้เกิดโรคจะทำให้การรักษาโรคติดเชื้อยากมากยิ่งขึ้น

ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่คะ หากแพทย์ไม่ได้สั่งยาฆ่าเชื้อให้ทานละก็ อย่าไปซื้อยาให้ลูกทานเองนะคะ แนะนำให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยโรค และสั่งยาให้จะดีกว่าค่ะ

เครดิต: คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:

 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids