หาก “ลูกชอบดราม่า” ทุกวัน คุณพ่อคุณแม่คงปวดหัวกันไปเป็นแถบ ยิ่งถ้าลูกไม่ไปดราม่ากับคนอื่น แต่ดราม่ากับแม่คนเดียว! มันเกิดอะไรขึ้น หรือแม่เป็นสาเหตุ??
“ไม่รู้ลูกเป็นไรค่ะ ชอบดราม่ามากเลย” คุณแม่ตอบเมื่อหมอถามว่าพา “ภูมิ” ลูกชายวัยอนุบาลมาหาหมอด้วยเรื่องอะไร
“ดราม่า” ของคุณแม่หมายถึงลูกมีอารมณ์อ่อนไหว ร้องไห้ง่ายทุกเรื่อง เวลาร้องไห้ก็คร่ำครวญ พร่ำเพ้อ เวิ่นเว้อ นอกจากนี้ยังมีอาการหงุดหงิดง่าย เวลาไม่ได้ดั่งใจก็โมโหโกรธา โวยวายกระทืบเท้า โมโหได้สักพักก็วนเวียนกลับมาร้องไห้อีก
“ยังกับดูละครหลังข่าวรายวันเลยค่ะ” คุณแม่อธิบายเพิ่มเมื่อถามถึงความถี่ว่าภูมิมีอาการบ่อยแค่ไหน
“แล้วเค้ามีอาการนี้ตอนไปโรงเรียนมั้ยครับ?” หมอถามต่อ
“ไม่มีเลยค่ะ อยู่โรงเรียนเป็นเด็กเรียบร้อย ครูบอกว่าอารมณ์ดี ไม่โกรธไม่โมโหใคร เพื่อนๆ ก็ชอบเล่นด้วย”
พอถามไปถามมาเลยได้ทราบว่านอกจากภูมิจะไม่มีอาการที่โรงเรียนแล้ว ที่บ้านก็ยังออกอาการเฉพาะกับแม่คนเดียว กับคุณพ่อหรือปู่ย่าก็หาได้แสดงอาการใดๆ ไม่
ภูมิเป็นเด็กเลี้ยงยากมาแต่อ้อนแต่ออก กินยาก นอนยาก ตอนเป็นทารกคุณแม่เล่าว่ากลางคืนต้องคอยอุ้มไว้ เพราะถ้าวางเมื่อไรจะร้องไห้ทันที บุคลิกแบบนี้อาจเป็นเหตุให้โตมาแล้วเป็นคนเจ้าอารมณ์ได้เหมือนกัน แต่คำถามสำคัญคือทำไมถึงได้เป็นเฉพาะกับคุณแม่คนเดียว
อ่านต่อ “ทำไมลูกชอบดราม่า? แม่มีส่วนทำให้ลูกดราม่าหรือนี่?” คลิกหน้า 2
ในการทำความเข้าใจปัญหาหมอเลยต้องข้ามมาประเมินคุณแม่ด้วย คุณแม่ไม่ได้ทำงานเต็มเวลา แค่มีส่วนช่วยธุรกิจครอบครัวบ้างเล็กน้อย แต่ส่วนใหญ่จะมีหน้าที่ดูแลภูมิ เมื่อถามถึงว่าคุณแม่คิดว่าตัวเองเป็นคนบุคลิกยังไง แม่มองตัวเองว่าเป็นคนเจ้าอารมณ์ กังวลง่าย จิตใจอ่อนไหว เวลามีเรื่องอะไรมากระทบใจมักจะร้องไห้ได้ง่ายๆ เสมอ
พอถามต่อว่าแล้วบุคลิกแบบนี้ของคุณแม่มีผลต่อการเลี้ยงลูกบ้างไหม คุณแม่ตอบว่าพยายามจัดการลูกตามตำราที่อ่านมาว่าถ้าลูกงอแงไม่มีเหตุผลก็ให้เพิกเฉยเสีย แต่ทำไม่ค่อยจะสำเร็จ ที่ไม่สำเร็จเพราะเห็นลูกร้องไห้แล้วรู้สึกสงสาร น้ำตาพาลจะไหลออกมาดื้อๆ
นอกจากนี้การที่ภูมิเป็นลูกคนแรกคุณแม่เลยห่วงกังวลมากเป็นพิเศษ ตอนเป็นเด็กเล็กก็อุ้มตลอด พอถึงวัยเริ่มไปโรงเรียนเวลาแม่พาไปส่ง ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะแยกจากได้ ส่วนหนึ่งคุณแม่ยอมรับว่ามาจากตัวเองที่ใจคอไม่ดีเหมือนกันเวลาเห็นลูกหายลับตาที่หน้าโรงเรียน บางวันถึงขนาดไปยืนเกาะขอบรั้วน้ำตาไหล
เคสนี้เลยได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าอาการดราม่าของภูมิส่วนหนึ่งนั้น มาจากการตอบสนองของคุณแม่นี่เองที่ห่วงกังวลมากไป ทำให้เวลารับมือกับอาการของลูกเลยทำตามหลักการได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง คือถึงแม้คุณแม่จะรู้อยู่แล้วว่าเวลาลูกออกฤทธิ์ควรต้องเพิกเฉยจนกว่าลูกจะสงบแล้วจึงจะไปให้ความสนใจ แต่ก็ไม่หนักแน่นพอจะอดทนให้จบเกมนี้ได้ งานนี้หมอเลยต้องมารักษาคุณแม่แทนว่าทำอย่างไรถึงจะเข้มแข็งอดทนไหว
“ลูกเขาดราม่ามา คุณก็อย่าดราม่ากลับไปสิครับ ประเทศเรามันดราม่าเยอะไปแล้ว” เป็นคำสรุปส่งท้ายสำหรับวันนั้น คุณแม่ยิ้ม แล้วบอกว่าเธอชอบประโยคสุดท้ายมากที่สุด
บทความโดย : ผศ.นพ.ณัทธร พิทยรัตน์เสถียร จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาพ : Shutterstock