โรคดื้อ ต่อต้าน โรคที่เด็ก 3 ขวบขึ้นไปมักเป็น มาทำความรู้จักกับโรค และวิธีการสังเกตได้ที่นี่!
ลูกดื้อ ขี้เหวี่ยง ขี้โวยวาย ขี้หงุดหงิด ชอบท้าทายกันหรือเปล่าคะ ถ้าใช่ละก็ ขอเชิญคุณพ่อคุณแม่ทางนี้เลยค่ะ เพราะวันนี้ทีมงาน Amarin Baby and Kids มีบทความดี ๆ มีประโยชน์เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่น่ารักของลูกมาฝากกันค่ะ
โดยบทความที่ว่านี้จะขอนำเสนอเนื้อหาจากแพทย์ 2 ท่าน โดยทานแรกคือ นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต และแพทย์หญิงกุสุมาวดี คำเกลี้ยง ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็ก จังหวัดขอนแก่น โดยทั้งสองท่าน ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องนี้ พร้อมสาเหตุและวิธีการสังเกตลูกเอาไว้ดังนี้ค่ะ
โรคดื้อ คืออะไร?
โรคดื้อและต่อต้าน (Oppositional Defiant Disorder) สามารถเรียกอีกอย่างได้ว่า (ODD) เป็นความผิดปกติที่พบได้ในเด็ก ซึ่งคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต จัดทำโดยสมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกาได้ให้นิยามว่า “เป็นรูปแบบพฤติกรรมต่อเนื่องของการไม่เชื่อฟังที่แสดงออกด้วยอารมณ์โกรธเป็นหลัก รวมไปถึงการทำตนเป็นปรปักษ์และดื้อด้านต่อผู้ใหญ่เป็นประจำในระดับที่มากเกินกว่าเด็กปกติทั่วไป เด็กที่มีความผิดปกติดังกล่าวดูภายนอกแล้วจะเป็นเด็กที่ดื้อมากและโกรธง่าย”
สาเหตุของเกิดโรค
สาเหตุที่แท้จริงของการเกิดนั้นยังไม่ทราบแน่ชัดค่ะ แต่เชื่อว่ามี 3 ปัจจัยที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่
- ปัจจัยทางร่างกาย จากการศึกษาพบว่า ความบกพร่องหรืออาการบาดเจ็บบริเวณสมองบางส่วนอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางพฤติกรรมที่รุนแรงได้ โรคดื้อและต่อต้านนั้นมีความเชื่อมโยงกับความผิดปกติของปริมาณสารเคมีในสมองหรือสารสื่อประสาทบางชนิด หากสารเคมีเหล่านี้อยู่ในปริมาณที่ไม่สมดุลหรือไม่ทำงานตามปกติ การสื่อสารต่าง ๆ อาจไม่สามารถเข้าถึงสมองได้อย่างถูกต้องก่อให้เกิดอาการป่วยทางจิต เช่น โรคสมาธิสั้น ความผิดปกติในการเรียนรู้ โรคซึมเศร้า หรือโรควิตกกังวลซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติทางพฤติกรรมอื่น ๆ ตามมาเป็นต้น
- ปัจจัยทางพันธุกรรม เด็กและวันรุ่นหลายคนที่เป็นโรคดื้อและต่อต้านมีสมาชิกในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคทางจิต ไม่ว่าจะเป็น โรคความผิดปกติทางอารมณ์ โรควิตกกังวล และความผิดปกติทางบุคลิกภาพ นี่แสดงให้เห็นว่าโรคดื้อและต่อต้านอาจสามารถส่งผ่านทางพันธุกรรมได้
- ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม ปัจจัยเกี่ยวกับความครัวที่มีความสัมพันธ์ภายในครอบครัวไม่ดี ประวัติอาการเจ็บป่วยทางจิตภายในครอบครัว หรือการใช้สารเสพติด รวมไปถึงการตั้งกฎระเบียบที่ไม่สม่ำเสมอของพ่อแม่ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดปกติทางพฤติกรรม
แพทย์หญิงกุสุมาวดี คำเกลี้ยง กล่าวว่า จากผลวิเคราะห์เด็กที่เข้ารับบริการพบว่า เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมเช่น โรคดื้อ เข้ารับการรักษาเพียงร้อยละ 2 ของผู้ป่วยนอกทั้งหมดที่มีเฉลี่ยวันละ30-40 คน สำหรับพฤติกรรมดื้อตามวัยนั้น พบได้ในเด็กปกติช่วงอายุ 2-3 ปี เมื่ออายุมากขึ้นอาการดื้อจะหายไป แต่ในโรคดื้อนี้จะมีการแสดงออกรุนแรงมากขึ้นอารมณ์ไม่ดีต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป ลักษณะอาการเด่น ๆ ของเด็กที่เป็นโรคมี 8 อาการดังนี้
1. แสดงอารมณ์ฉุนเฉียวตลอดเวลา
2. เถียงหรือชวนผู้ใหญ่ทะเลาะ
3. ท้าทายและฝ่าฝืนคำสั่งและกฎเกณฑ์บ่อย ๆ
4. ตั้งใจทำให้คนอื่นรำคาญ
5. โทษหรือโยนความผิดให้คนอื่นบ่อย ๆ
6. หงุดหงิดและอารมณ์เสียง่าย
7. โกรธและไม่พอใจบ่อย ๆ
8. เจ้าคิดเจ้าแค้นอาฆาตพยาบาท
หากคุณพ่อคุณแม่พบว่า ลูกมีอาการดังที่กล่าวมา อย่าเพิกเฉยค่ะ แนะนำให้พาลูกไปพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการบำบัดพฤติกรรม โดยใช้วิธีดังต่อไปนี้ การทำจิตบำบัด ฝึกให้เด็กควบคุมตัวเอง ฝึกให้มีการแสดงออกที่เหมาะสมกับผู้ใหญ่ ควบคู่กับการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ครอบครัวหรือที่เรียกว่าครอบครัวบำบัด เพื่อลดความขัดแย้ง เพิ่มการสื่อสารที่เหมาะสมในครอบครัว ฝึกพ่อแม่ให้ปรับพฤติกรรมเด็กอย่างเหมาะสมถูกต้อง รวมทั้งร่วมมือกับครูที่โรงเรียน ในการดูแลและช่วยปรับลดพฤติกรรมที่ไม่ดีระหว่างที่เด็กอยู่ในโรงเรียนด้วย
นอกจากนี้ยังพบว่า เมื่อไม่นานมานี้ นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ได้พูดถึงเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ได้มีผลสำรวจของกรมสุขภาพจิตในกลุ่มเด็กที่มีอายุระหว่าง 13 – 17 ปี พบว่า เด็กป่วยเป็นโรคดื้อต่อต้านร้อยละ 2 หรือประมาณ 80,000 คนทั่วประเทศ ทั้งนี้ แพทย์หญิงกุสุมาวดี ยังได้กล่าวอีกว่า “การลงโทษที่ไม่ควรใช้กับเด็กที่มีพฤติกรรมดื้อต่อต้าน คือการลงโทษด้วยการทุบตีอย่างรุนแรงหรือด่าว่าด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย รุนแรง เนื่องจากเป็นการเพิ่มความก้าวร้าวให้เด็ก ทำให้เด็กมีพฤติกรรมต่อต้านเพิ่มมากขึ้น และหากเด็กเหล่านี้ไม่ได้รับการรักษา เมื่อโตขึ้นเด็กจะมีพฤติกรรมใช้ความรุนแรงมากขึ้น ก้าวร้าว เกเร เสี่ยงต่อการเสพและติดสารเสพติดได้ง่าย ”
ขอบคุณที่มา: Spring News และ Taamkru
อ่านต่อเรื่องอื่นที่น่าสนใจ:
- พ่อแม่ควรอ่าน! หากไม่อยากให้ ลูกเป็นโรคสมาธิสั้น
- หมอเตือน! ลูกซน อย่านิ่งนอนใจ โรคสมาธิสั้น อาจถามหา!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่