คุณพ่อ คุณแม่หลายๆ คนคงเคยตะโกนใส่ลูก ตอนปลุกให้ตื่นตอนเช้า ตอนรอเวลากินข้าวให้เสร็จ ตอนออกจากบ้านไปโรงเรียน ตอนกลับบ้าน และตอนที่กำลังทำการบ้าน เหตุการณ์ธรรมดาที่มักจะเกิดขึ้น หยุดตะโกนใส่ลูก ไม่จำเป็นต้องตะโกน หรือทำอะไรที่รุนแรง
เหตุการณ์ที่คุณพ่อ คุณแม่กำลังสอนลูกทำการบ้านตอนเย็นหลังเลิกเรียน ลูกทำไม่ได้ ทำผิดซ้ำซาก ทำให้พ่อแม่เกิดอารมณ์หงุดหงิด ไม่พอใจที่ลูกทำผิด เพราะเคยสอนไปแล้วหลายรอบ แต่ทำไมถึงยังผิดอีก ถึงแม้จะพยายามใจเย็นแล้ว แต่สุดท้ายคุณพ่อ คุณแม่ก็โกรธ และต้องตะโกนออกมา
“โอ๊ย แม่ไม่ไหวแล้วนะ ทำไมสอนกี่รอบก็ลืม เบื่อจะแย่ ไม่ต้องเรียนมันแล้ว”
เมื่อคุณพ่อ คุณแม่ตะโกนเสร็จแล้ว เหตุการณ์ต่อไปก็มักจะเป็นแบบนี้
- เด็กบางคนก็จะตะโกนกลับ และกลายเป็นการตะโกนใส่กัน สุดท้ายก็อาจจะมีการลงไม้ลงมือ คุณพ่อคุณแม่ตีลูก แล้วลูกน้อยก็ร้องไห้
- เด็กบางคนเม้มปาก ขมวดคิ้ว กดดินสอหนักๆ จนบางครั้งกระดาษขาด คุณพ่อ คุณแม่ยิ่งโกรธ แล้วลูกก็จะตะโกนออกมาว่า “ไม่ทำแล้วโว้ย” เดินกระแทกเท้าออกไป
- เด็กบางคนจะตั้งใจมากขึ้น แต่เมื่อดูสีหน้าลูกแล้ว หน้าตาลูกจะบูดบึ้ง หรือบางคนอาจจะร้องไห้ออกมาด้วยความเสียใจ
ผลกระทบของการตะโกนส่วนใหญ่ ไม่มีใครชอบ ไม่ว่าจะเป็นคุณพ่อ คุณแม่เองที่ตะโกนใส่ลูก ก็จะยิ่งหงุดหงิดมากขึ้น ไม่ชอบที่เห็นตัวเองตะโกนแบบนั้น ใช่ว่าตะโกนแล้วจะสบายใจ
ลูกน้อย ก็ไม่ชอบให้พ่อแม่ตะโกนใส่ ลองคิดดู ว่าถ้าเป็นตัวคุณพ่อ คุณแม่เอง ถูกคนตะโกนใส่ก็คงไม่ชอบ เด็กก็ไม่ต่างกัน พ่อแม่เกือบทั้งหมด ไม่มีใครชอบตะโกนใส่ลูก
อ่านต่อ “เทคนิคไม่ตะโกนใส่ลูก” คลิกหน้า 2
เทคนิคไม่ตะโกนใส่ลูก
- ต้องมีความตั้งใจ และบอกตัวเองว่า “วันนี้ฉันจะไม่ตะโกน”
- ต้องมีการเตรียมตัว มองดูอารมณ์ของตัวเองในขณะนั้น ก่อนที่จะเข้าไปหาลูก ถ้ามีความเครียดเรื่องที่ทำงาน หรือเรื่องไม่เป็นเรื่องที่ทำให้เราโมโห อย่าเพิ่งเข้าไปหาลูก เพราะเราจะหงุดหงิดใส่ลูก
- ต้องมีการผ่อนคลายตัวเอง ให้พักผ่อน เช่น อาบน้ำ ล้างหน้า ดื่มน้ำเย็นๆ
- ตอนที่อยู่กับลูก คิดไว้เสมอว่า ถ้าเราไม่ชอบอะไร อย่าทำอย่างนั้นกับลูก เช่น ตะโกน ประชด เปรียบเทียบ ว่าแรงๆ เช่น “ทำไมสอนไม่จำ ลูกใครเนี่ย” “ทำไมเพื่อนยังทำได้มากกว่าอีก เรียนเหมือนๆ กัน” “สมองมีไหม”
- เตรียมใจเอาไว้ เพราะอาจจะมีเหตุการณ์ทำให้เราโมโห ถ้าเตรียมใจ จะทำให้เราหงุดหงิดน้อยลง
- ถ้ารู้สึกว่าความโกรธกำลังมา ให้เตือนตัวเองว่า จะหาวิธีกำจัดความโกรธยังไงให้ได้ผล เช่น หายใจเข้าออกลึกๆ แล้วค่อยสอนการบ้านลูกใหม่
- ลูกจะเรียนรู้จากการกระทำของเรา เราต้องยอมรับก่อนว่าอารมณ์โกรธเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่สิ่งสำคัญกว่าคือการจัดการอารมณ์ เพราะฉะนั้น ถ้าเราตะโกน เขาก็จะตะโกนบ้าง ถ้าอยากให้ลูกพูดดีๆ เราก็ต้องพูดดีๆ กับลูก เป็นตัวอย่างที่สำคัญ ให้ลูกรู้ว่าโกรธได้ หงุดหงิดได้ แต่ไม่จำเป็นหรือทำอะไรรุนแรง
อ่านเพิ่มเติม คลิก!!
คำพูดและการกระทำที่ไม่ควรใช้กับลูก
คำพูดยอดแย่ ที่พ่อแม่มักใช้ตีตรา และทำร้ายจิตใจลูก
ลูกไม่อยากคุยกับพ่อแม่ กับ 8 เหตุผลของเด็กยุคใหม่
วิธีพูดให้ลูกทำตาม และไม่ต่อต้าน 30 วิธี
เครดิต: เข็นเด็กขึ้นภูเขา