ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน บ้างหรือไม่? จะรู้ได้อย่างไรหากลูกไม่เล่าให้ฟัง … พบวิธีสังเกตลูกได้ที่นี่ค่ะ
เมื่อไรก็ตามที่ลูกน้อยของเราถึงเวลาที่จะต้องเข้าเรียน สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนกังวลเป็นที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ปัญหาลูกโดนแกล้ง โดนรังแก ไม่ว่าจะจากเพื่อนร่วมชั้น เพื่อนรุ่นพี่ พี่เลี้ยง หรือแม้แต่คุณครู เรื่องละเอียดอ่อนแบบนี้หากเกิดขึ้นกับลูก ก็สามารถทำให้ลูกเกิดอคติ และไม่อยากมาที่โรงเรียนได้
แต่คนเป็นพ่อเป็นแม่อย่างเรา จะไปรู้ได้อย่างไรกันว่า ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน หรือไม่ ในเมื่อเราก็ไม่ได้ไปนั่งเฝ้าดูลูกตลอดเวลา ของแบบนี้ถ้าจะไปถามคุณครู ๆ บางท่านก็อาจจะไม่บอกความจริง เพราะไม่อยากให้มีปัญหา หรือจะต้องรอให้เห็นบาดแผลตามเนื้อตัวของลูกก่อนถึงจะรู้ได้ … คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเป็นกังวลไปค่ะ เพราะวันนี้ทีมงาน Amarin Baby and Kids ได้เตรียม 5 วิธีสังเกต ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน หรือไม่ มาฝากกัน อยากจะรู้ว่ามีวิธีอะไรบ้างนั้น ไปดูพร้อม ๆ กันเลยค่ะ
จะรู้ได้อย่างไรว่า ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน หรือไม่?
คุณพ่อคุณส่วนใหญ่อาจจะคิดว่า การที่จะรู้ได้ว่า ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน หรือไม่นั้นเป็นเรื่องยาก หากถามว่ายากหรือไม่ก็คงตอบได้ว่าไม่ยากและไม่ง่ายค่ะ แต่สิ่งที่ทีมงานจะนำมาฝากในวันนี้ก็ถือเป็นตัวช่วยที่จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ทราบได้ไม่ยากเช่นกัน
- พฤติกรรมลูกเปลี่ยนไป – คนเป็นพ่อเป็นแม่ย่อมรู้ดีว่าลูกของเราเป็นอย่างไร และเมื่อไรก็ตามที่ลูกของเรานั้นมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป มีหรือที่เราจะไม่รู้เลย ดังนั้น การเฝ้าสังเกตพฤติกรรมลูกเป็นประจำนั้นเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรทำอย่าได้ขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อลูกเริ่มเข้าโรงเรียนแล้ว เด็กส่วนใหญ่เวลากลับจากโรงเรียนก็มักจะตื่นเต้นแล้วก็พร้อมที่จะเล่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นภายในโรงเรียนให้คุณพ่อคุณแม่ฟังกันอยู่แล้วว่า เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนของเขาทำอะไรบ้าง คุณครูให้ทำอะไร กลางวันวันนี้มีอะไรทาน เป็นต้น ซึ่งถ้าหากลูกมีพฤติกรรมเหล่านี้อยู่แล้วละก็ ไม่ใช่เรื่องยากเลยค่ะที่เราจะสังเกต เพราะเมื่อไรก็ตามที่ลูกกลับบ้านมาแล้วจู่ ๆ ลูกเงียบซีม ไม่พูดไม่จา เงียบ เก็บตัว นั่นแหละค่ะ คือสัญญาณบอกให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทราบแล้วละว่า ลูกของเรามีปัญหาที่โรงเรียนแน่นอน ซึ่งปัญหาจะเป็นอะไรนั้นเราก็คงต้องค่อย ๆ หาคำตอบกันดู
- มีบาดแผลให้เห็น – ตาของคนเป็นพ่อเป็นแม่นั้นไวราวกับเหยี่ยว เมื่อเกิดอะไรขึ้นกับลูกของเราเพียงนิดเดียว ก็รู้แล้วว่ามีบางสิ่งบางอย่างผิดปกติเกิดขึ้นกับร่างกายของลูก ซึ่งถ้าหากคุณพ่อคุณแม่เห็นบาดแผลบนร่างกายลูกละก็ อย่าเพิ่งดุ หรือตะคอกลูกนะคะ ให้ถามลูกดี ๆ ว่า “เจ็บไหม ไปโดนอะไรมาลูก ไหนเล่าให้คุณพ่อคุณแม่ฟังสิจ้ะ” ลูกก็จะค่อย ๆ รู้สึกผ่อนคลายและพร้อมที่จะเล่าให้คุณแม่ฟัง ซึ่งดีกว่าเราไปตะคอกใส่ลูก คราวนี้ละค่ะอย่าหวังว่าจะได้ทราบความจริงเลย เพราะลูกคงไม่กล้าบอกแน่นอนว่าไปเจออะไรมา ทำไมน่ะเหรอคะ เพราะเขากลัวว่าคุณจะไปเอาเรื่องเพื่อน ๆ ของเขาที่โรงเรียนนั่นเอง
- ลูกไม่มีเพื่อน – ทุกครั้งที่ลูกไปโรงเรียน คำถามยอดนิยมที่มักจะถามกันก็คือ มีเพื่อนหรือยังจ้ะ มีกี่คน แล้วชื่อะไรบ้าง ถูกไหมละคะ แต่ถ้าหากลูกมีเพื่อนแล้วลูกก็จะรู้สึกตื่นเต้น และก็พร้อมจะบอกว่าเพื่อนของเขานั้นมีใครบ้าง ชื่ออะไร ผู้หญิงหรือผู้ชาย แล้วเพื่อนแต่ละคนชอบเล่นกับเขาอย่างไร เรียกได้ว่าอะไรที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเพื่อนนั้นเขาจะรู้สึกตื่นเต้นและก็กระตือรือร้นที่จะเล่าให้ฟัง แต่ในทางกลับกันหลังจากที่คุณพ่อคุณแม่ถามแล้วแต่ ลูกมีพฤติกรรม เงียบขรึม ส่ายหน้า หรือไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้ละก็ ให้คุณพ่อคุณแม่สังเกตเขาให้ดีว่า สาเหตุที่ลูกไม่มีเพื่อนเลยนั้นเป็นเพราะอะไร จะเป็นเพราะลูกไม่ยอมปรับตัวเข้าหากับคนอื่น หรือว่าเป็นเพราะลูกพยายามแล้วแต่โดนเพื่อนหัวเราะเยาะหรือแกล้งจนไม่อยากพูดคุยกับใครกันแน่ ตรงนี้คุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะต้องค่อย ๆ ใช้เวลา หรือจะถามคุณครูด้วยก็ได้นะคะ ให้คุณครูช่วยสังเกตจะหากทราบสาเหตุแล้วจะได้ช่วยเหลือกัน
- ลูกบ่น ไม่อยากไปโรงเรียน – วิธีนี้ง่ายต่อการสังเกตมาก ๆ เลยละค่ะ เพราะเมื่อไรก็ตามที่ลูกเอ่ยคำนี้ขึ้นมา แสดงว่าในใจหรือความคิดน้อย ๆ ของเขาจะต้องมีบางสิ่งบางอย่างอยู่แน่นอน ซึ่งปัญหาในใจนั้นจะเป็นเพราะอะไร จะเป็นเพราะการที่ลูกโดนคุณครูตำหนิ ดุ หรือเป็นเพราะโดนเพื่อนล้อละก็ ลูกก็จะค่อย ๆ เริ่มเล่าให้ฟังค่ะ เมื่อทราบแล้วคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องใจเย็น ๆ นะคะ อย่าไปตำหนิลูก เพราะจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกอคติมากไปกว่าเดิม สู้เอาเวลาที่ตำหนิลูกนั้น มาหาวิธีแก้ไขและแนะนำลูกน่าจะดีกว่า
- คุณครูเล่าให้ฟัง – คุณครูส่วนใหญ่จะมีสมุดจดการบ้านหรือเบอร์มือถือของคุณพ่อคุณแม่กันอยู่แล้ว และคุณครูนี่ละค่ะจะเป็นคนแรก ๆ ที่ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียน และก็ไม่อยากที่จะมีปัญหาใด ๆ กับผู้ปกครอง ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่คุณครูทราบเรื่อง คุณครูก็จะรีบบอกคุณพ่อคุณแม่ทันที แต่ถ้าหากคุณครูพิจารณาแล้วว่า เป็นบาดแผลหรือเหตุการณ์ที่เกิดจากเด็กเล่นกันละก็ คุณครูก็อาจจะเล่าหรือไม่เล่าก็ขึ้นอยู่กับคุณครูท่านนั้นค่ะ แต่หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกมีบางสิ่งบางอย่างที่แปลกไป การพูดคุยกับคุณครูเพื่อถามไถ่สิ่งต่าง ๆ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่สมควรทำด้วยเช่นกัน มิเช่นนั้นก็อาจจะเกิดความรู้สึกคาใจกันใช่ไหมละคะ
แล้วถ้าหาก ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน จริง … จะมีวิธีการป้องกันเหตุการณ์ดังกล่าวได้อย่างไรบ้างนั้น ไปค้นหาคำตอบได้ที่หน้าถัดไปเลยค่ะ
วิธีป้องกันและแก้ปัญหา
สำหรับวิธีการป้องกันและแก้ปัญหา ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน นั้น สามารถทำได้โดยวิธีการดังต่อไปนี้ค่ะ
- เปิดใจคุยกับลูกเรื่องโรงเรียน – ถามลูกไปเลยค่ะว่า โรงเรียนที่ลูกไปนั้นเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นคุณครู เพื่อน ๆ หรือแม้แต่โรงเรียน ลองดูว่าลูกมีอะไรที่ไม่ชอบบ้าง หากลูกบอกว่า ลูกไม่ชอบโรงเรียนเพราะลูกกลัว และอายเนื่องจากเพื่อน ๆ ชอบหัวเราะเยาะหรือว่า ชอบโดนเพื่อน ๆ แกล้ง ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีค่ะ เราจะแก้ปัญหานี้ได้ทัน
- ทำความรู้จักกับเพื่อนของลูก – เด็กส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับเพื่อนมาก พอมีอะไรก็มักจะเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง ดังนั้น การเข้าหาเพื่อน ๆ ของลูกนี่ละค่ะ ถือเป็นวิธีการป้องกันที่ถูกวิธีหนึ่ง นอกจากจะได้รู้จักนิสัยใจคอของเพื่อนลูกแล้ว ยังสามารถฝากฝังเพื่อน ๆ ของลูกให้ช่วยดูลูกได้ด้วยนะคะ และถ้าหากเกิดปัญหาอะไรขึ้นละก็ เพื่อน ๆ ของลูกนี่ละค่ะ ที่จะคอยช่วยเล่าให้เราฟังนั่นเอง
- ฝึกให้ลูกมั่นใจในตัวเอง – เชื่อไหมคะว่า หนึ่งในปัจจัยที่เป็นแรงจูงใจให้คนอื่นชอบเข้ามาแกล้งลูกเรานั้นเกิดจาก การที่ลูกของเราขาดความมั่นใจ ดังนั้น การฝึกให้ลูกได้รู้จักกล้าพูด กล้าลองแก้ปัญหาด้วยตัวเองบ้างนั้นถือเป็นสิ่งที่ดีค่ะ ที่สำคัญอย่าลืมบอกสอนให้ลูกมีอะไรแล้วเล่าให้เราฟังด้วยนะคะ ลูกจะได้กล้าเปิดเผยเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้เราฟังได้
- ให้รู้จักขอความช่วยเหลือ – เด็กส่วนใหญ่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว ก็มักที่จะเลือกแก้ปัญหาด้วยการเก็บตัวเงียบ ทำอะไรไม่ถูก แล้วก็มักจะปล่อยให้ตัวเองต้องเป็นผู้โดนกระทำเสมอ ยกตัวอย่างเช่น หากใครทำอะไรลูกแล้วลูกไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรละก็ ขอให้ลูกตะโกนร้องออกไปดัง ๆ หรือวิ่งไปขอความช่วยเหลือจากคุณครู หรือผู้ใหญ่ที่อยู่ในบริเวณนั้นทันที
- สอนให้ลูกรู้จักตอบโต้ – คำว่าตอบโต้ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงว่าลูกจะต้องกลายเป็นเด็กที่ก้าวร้าว ไปชกต่อยตีกับเขานะคะ แต่เป็นการแนะนำให้ลูกมีปากมีเสียงมากขึ้น พูดตอบโต้และห้ามคนที่ชอบมาแกล้งลูกมากกว่า
- เชื่อใจลูก – ความเชื่อใจและมั่นใจในตัวลูกนั้น ถือเป็นวิธีการป้องกันได้ดีที่สุดวิธีหนึ่งค่ะ เพราะลูกจะกล้าเปิดเผยความรู้สึก ความคิด และเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเขาโดยไม่รู้สึกกลัวหรือกังวลใจเลย
- หลีกเลี่ยง – แนะนำลูกว่า คนไหนที่ทำตัวไม่น่ากับเรา ชอบแกล้ง หรือว่าชอบตีเราละก็ อย่าไปยุ่ง หรือไปคุยกับเขาจะดีที่สุด เลี่ยงได้ก็เลี่ยง ปัญหาต่าง ๆ ก็จะได้ไม่เกิด ลูกก็จะได้ไม่เจ็บตัวด้วย เป็นต้น
- ฝึกให้ลูกรู้จักกล้าตัดสินใจ – คุณพ่อคุณแม่อาจจะแนะนำลูกไปแล้วว่าควรทำอย่างไรบ้าง แค่คนที่จะนำไปปฏิบัติก็คือลูก ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่เห็นกับตาว่าลูกโดนเพื่อนแกล้งหรือทำร้ายละก็ อยู่เฉย ๆ ก่อนแล้วรอดูค่ะว่า ลูกของเรานั้นจะมีวิธีการแก้ปัญหา หรือตัดสินใจอะไรบ้าง ซึ่งหากคุณพ่อคุณแม่เห็นแล้วว่า ลูกแก้ปัญหาไม่ถูกต้อง เราก็จะได้สอนและแนะนำลูกได้ว่า สิ่งที่ลูกควรทำนั้นที่แท้จริงแล้วคืออะไร เป็นต้น
ไม่ว่าจะเป็นข้อสังเกต วิธีการป้องกัน หรือแก้ปัญหานั้นจะเป็นอย่างไร คนที่จะรู้ เข้าใจ และเลือกไปปรับใช้ให้กับลูกได้ดีที่สุดก็คือ คุณพ่อคุณแม่ ดังนั้น ลองเลือกและนำไปประยุกต์ใช้กันดูนะคะ
อ้างอิงเนื้อหา: ถามครู
บทความอื่น ๆ ที่น่าสนใจ:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่