AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

แพทย์เตือนอาหารเสริมไม่ใช่ยารักษา แก้ลูกสมาธิสั้น กินแล้วไม่หาย

อาหารเสริม แก้ลูกสมาธิสั้น ดีจริงหรือ

เมื่อโรคสมาธิสั้นคุกคามเด็กยุคใหม่ พ่อแม่หลายบ้านที่ลูกมีปัญหานี้เลือกใช้อาหารเสริมมาเป็นตัวช่วย แก้ลูกสมาธิสั้น ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมักโพสต์ขายในกลุ่มแม่ๆ โดยระบุสรรพคุณว่า ช่วยพัฒนาสมอง ระบบประสาท และทำให้เด็กมีสมาธิจดจ่อนานขึ้น  พร้อมกับโพสต์ภาพของเด็กที่กินแล้วอาการดีขึ้น เพิ่มความน่าเชื่อถือ

กินอาหารเสริม แก้ลูกสมาธิสั้นได้จริงหรือ

จิตแพทย์เตือนพ่อแม่คิดก่อนซื้ออาหารเสริมเพิ่มสมาธิ หวังรักษาโรคสมาธิสั้น อาจไม่ได้ผลอย่างที่คิด

 

หมอมินบานเย็น เจ้าของเพจเข็นเด็กขึ้นภูเขา ได้โพสต์เตือนพ่อแม่ไว้ในหัวข้อ ข้อชวนคิด: ก่อนที่พ่อแม่อาหารเสริมที่ช่วยเพิ่มสมาธิให้ลูกรับประทาน พร้อมกับยกเคสตัวอย่างของเด็กที่กินอาหารเสริมชนิดนี้ว่า

หมอคิดว่าเป็นหน้าที่ของตัวเองอีกเช่นกันที่ต้องเขียนเรื่องนี้

ที่ผ่านมามีพ่อแม่หลายคนที่ซื้ออาหารเสริมที่บอกว่าช่วยเรื่องสมาธิให้ลูกๆ รับประทานเพราะคิดว่าเป็นสิ่งที่ดี

ขอเล่าเรื่องของคนไข้คนหนึ่งที่เคยมาหาหมอ สมมติว่าชื่อ อาร์ต ก็แล้วกัน

อาร์ต เด็กชายอายุ 8 ขวบ อุปนิสัยร่าเริงแจ่มใส เป็นที่รักของเพื่อน เหตุเกิดเมื่ออาร์ตขึ้นชั้น ป.3 ครูประจำชั้นบอกว่าอาร์ตไม่ค่อยตั้งใจเรียน ชอบคุยในห้อง เหม่อบ่อยๆ และจดงานไม่ทัน ครูก็บอกแม่ว่าอาร์ตเรียนตามเพื่อนไม่ทัน น่าจะไปลองตรวจเรื่องสมาธิ

แม่ของอาร์ตรักและเป็นห่วงลูกชาย แต่ไม่อยากให้ไปหาหมอ กลัวว่าจะดูไม่ดีและกลัวหมอจะให้ทานยา เลยไปปรึกษาเพื่อน เพื่อนบอกว่าให้ไปลองซื้ออาหารเสริมชนิดหนึ่งที่ขายในเฟซบุ๊กมาทานดูมีสรรพคุณช่วยเรื่องสมาธิสั้น

หลังจากทานไปเหมือนว่าจะดูตั้งใจเรียนขึ้นนิดหน่อย ทานไปหลายเดือน แต่ครูก็ยังคงบอกว่าอาร์ตยังเรียนตามเพื่อนไม่ทัน

 

MUST READ : แชร์ประสบการณ์ พาลูกตรวจเช็ก “โรคสมาธิสั้น” พร้อมวิธีแก้

 

แม่ตัดสินใจพาอาร์ตไปหาจิตแพทย์เด็ก หลังจากซักประวัติและประเมินอาการ พบว่าอาร์ตไม่ได้เป็นสมาธิสั้น แต่มีความเครียดจากการเรียนที่มากเกินไป และดูสมาร์ทโฟนมากเกินไป พักผ่อนไม่เพียงพอ ทำให้มีอาการคล้ายสมาธิสั้น ตรงนี้หมอบอกว่าต้องแก้ไขที่การเลี้ยงดู จัดการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตที่พ่อแม่ตายใจให้ดูโทรศัพท์มากเกินไป รวมถึงทำความเข้าใจให้กำลังใจเด็กในเรื่องการเรียนมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องทานยา

 

เมื่อลูกมีอาการคล้ายสมาธิสั้น ควรพาลูกไปตรวจเช็กจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน

 

สำหรับอาร์ตถ้าแม่ไม่พามาตรวจแต่ให้ทานแต่อาหารเสริมไปเรื่อยๆ ก็ยิ่งไม่ดีขึ้น โชคดีที่แม่เปลี่ยนใจพาอาร์ตมาตรวจในที่สุด

พ่อแม่บางคนบอกว่าก็ไม่อยากให้ทานยา เลยขอลองอาหารเสริมก่อนเผื่อจะช่วยได้ แต่จริงๆ อาจเป็นการทำอันตรายลูกๆ โดยไม่รู้ตัว

อย่างน้อยๆ ก็ควรไปพบจิตแพทย์เด็ก หรือกุมารแพทย์พัฒนาการเด็ก เพื่อหาสาเหตุของปัญหาการเรียนหรือไม่มีสมาธิในเด็กก่อน

เพราะการที่เด็กมีปัญหาการเรียน ใช่ว่าเกิดจากโรคสมาธิสั้นอย่างเดียว อาจเป็นจากสาเหตุอื่นๆ เช่น แอลดีหรือภาวะอื่นๆ ที่ต้องการการดูแลรักษาที่เฉพาะเจาะจง บางครั้งเด็กที่ไม่ตั้งใจเรียนอาจเกิดจากปัญหา เช่นความเครียดจากโรงเรียน การเรียนวิชาการที่หนักเกินไป หรือการที่สมาธิไม่ดี อาจเป็นเพราะการดูสื่อพวกทีวี โทรศัพท์ แท็บเล็ตมากเกินไป หรือการเลี้ยงดูที่ตามใจ การขาดแรงจูงใจ ฯลฯ

เมื่อสาเหตุมันมากมายแบบนี้ ดังนั้นการที่อยู่ดีๆ ไปซื้ออาหารเสริมให้ลูกหลานรับประทาน อาจทำให้การวินิจฉัยที่ถูกต้องล่าช้า และเป็นผลเสียกับเด็ก

และถึงแม้เด็กจะเป็นสมาธิสั้น หรือปัญหาการเรียนรู้ ก็ไม่ได้งานวิจัยที่มีหลักฐานเพียงพอว่าอาหารเสริมจะรักษาภาวะดังกล่าวได้ด้วย

#หมอมินบานเย็น

 

ก่อนที่คุณพ่อคุณแม่จะซื้ออาหารเสริมให้ลูกกินเพื่อ แก้สมาธิสั้น เรื่องที่ต้องพิสูจน์เป็นอย่างแรกคือ ลูกน้อยเป็นโรคสมาธิสั้น จริงหรือไม่ เนื่องจากพฤติกรรมของเด็กเล็ก เช่นซุกซน อยู่ไม่สุข ไม่ฟังคำสั่ง หรือไม่ตั้งใจเรียน ไม่ได้แปลว่าเด็กจะเป็นโรคสมาธิสั้นเสมอไป

 

อ่านต่อ อยากรู้ลูกเป็นสมาธิสั้นจริงไหม คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

ลูกสมาธิสั้นจริงไหม รู้ได้อย่างไร

การตัดสินว่าเด็กหนึ่งคนจะมีสมาธิสั้นหรือเปล่า และควร แก้สมาธิสั้น อย่างไร ไม่ใช่การสังเกตจากความผิดปกติบางอย่างเท่านั้น คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบจิตแพทย์หรือกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อสังเกตพฤติกรรมต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน ก่อนวินิจฉัยโรค เพราะลูกอาจซุกซน อยู่ไม่นิ่ง หรือดื้นรั้นตามพัฒนาการปกติของเด็กเล็กก็เป็นได้

ต้องสังเกตพฤติกรรมอย่างน้อย 6 เดือน เพื่อดูว่าเกิดจากโรคสมาธิสั้น หรือปัจจัยอื่นๆ

 

โรคสมาธิสั้น เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของสารเคมีในสมอง ซึ่งกระทบต่ออารมณ์และพฤติกรรม ส่งผลต่อการเข้าสังคมและการเรียนของเด็กวัยตั้งแต่ 1 – 7 ขวบ อาการของโรคสมาธิสั้นหลักๆ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก เด็กบางคนอาจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีอาการหลายอย่างพร้อมกันได้

1.ลูกซุกซน อยู่ไม่นิ่ง เด็กเล็กจะวิ่งตลอดเวลาและมีพลังงานเหลือเฟือ ส่วนเด็กโตอาจไม่แสดงอาการซุกซนชัดเจน แต่เวลาต้องนั่งนิ่งเป็นเวลานานๆ จะรู้สึกกระวนกระวายใจ มักเขย่าขา ขยับตัวตลอดเวลา หรือพูดเก่ง พูดไม่หยุด

2.ลูกใจร้อน รอคอยไม่เป็น เด็กบางคนไม่ปฏิเสธถ้าบอกให้รอ แต่จะรู้สึกอึดอัด หรือแสดงอาการรำคาญอย่างชัดเจน ลองสังเกตว่าลูกสามารถเข้าแถวรอคิวได้ไหม เขาชอบแซงแถว พูดสอดในวงสนทนา หรือเคยชกต่อยกับเพื่อนหรือไม่ กรณีทะเลาะวิวาท เด็กมีสมาธิสั้นมักตอบว่าตัวเองไม่ได้ และให้เหตุผลว่า “คิดไม่ทัน มือไปก่อน”

การได้ทุกอย่างตามใจ เมื่อต้องอดทนทำในสิ่งที่ไม่ชอบ เด็กจะมีอาการเกรี้ยวกราดออกมา

 

3.ลูกจดจ่อกับอะไรได้ไม่นาน ไม่มีสมาธิ ซึ่งต้องดูจากเวลาที่เขาทำสิ่งที่ไม่ชอบ เช่น การบ้าน หรืองานบ้าน เพราะการนั่งนิ่งระหว่างเล่นสมาร์ทโฟน หรือดูโทรทัศน์ ไม่นับว่ามีสมาธิดี พ่อแม่ต้องดูว่าลูกถูกดึงดูดความสนใจได้ง่ายแค่ไหน จำสิ่งที่แม่พูดไม่ได้ จับใจความได้ไม่หมด หรือขี้ลืมมาก หยิบของไปวางที่ไหนก็จำไม่ได้หรือทำของหายประจำ เป็นต้น

หากมีอาการบ่งชี้ข้างต้นให้ลองพาลูกไปตรวจประเมินจากจิตแพทย์เด็กโดยตรง เพราะจริงๆ แล้ว เด็กทั่วไปจะเป็นโรคสมาธิสั้นเพียง 5 % เท่านั้น ส่วนใหญ่จะเป็นอาการของสมาธิสั้นเทียม ซึ่งเกิดจากการเลี้ยงดูแบบตามใจมากเกินไป หรือปล่อยให้ลูกมีแท็บเล็ตเป็นพี่เลี้ยง

 

อ่านต่อ ต้นเหตุสร้างลูกสมาธิสั้นเทียม คลิกหน้า 3

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

สาเหตุของสมาธิสั้นเทียมคืออะไร

ไฮเปอร์เทียม เป็นอาการผิดปกติที่มีลักษณะคล้ายกับโรคสมาธิสั้น ซึ่งไม่ได้เกิดจากความผิดปกติของสมองเท่านั้น แต่เกิดจากพฤติกรรมการเลี้ยงลูกผิดๆ ปัจจุบันเด็กเล็กวัย 1 – 3 ขวบเป็นไฮเปอร์เทียมมากขึ้น เพราะพ่อแม่ปล่อยให้อุปกรณ์ไอทีเป็นพี่เลี้ยงเด็ก ความเร็วของภาพที่เปลี่ยนเร็วทุกๆ 3 วินาที ทำให้สมองทำงานผิดปกติ กรณีที่เด็กเป็นโรคสมาธิสั้นอยู่แล้ว การเลี้ยงลูกที่ไม่เหมาะสมยิ่งซ้ำเติมให้พฤติกรรมแย่ลงไปอีก

 

MUST READ : ไม่อยากให้ลูกเป็น “โรคสมาธิสั้น ADHD” หยุดหยิบยื่นสิ่งเหล่านี้

 

สิ่งที่ทำให้เด็กยุคใหม่เป็นโรค ไฮเปอร์เทียม ที่พ่อแม่ควรระวังได้แก่

1.เลี้ยงลูกตามใจ ไม่เคยสอนให้รอคอย อยากได้อะไรก็ต้องได้ทันที และได้ตลอดเวลา เมื่อต้องนั่งเรียนนานๆ จึงรู้สึกไม่อยากรอ ทำให้ดูคล้ายขาดสมาธิ

2.ลูกนอนน้อย โดยเฉพาะลูกที่เข้าเรียนแล้ว กว่าจะทำการบ้าน อ่านหนังสือเสร็จ ยังไม่นับรวมเวลาดูแท็บเล็ต เล่นเกม เหลือเวลานอนหลับพักผ่อนแค่นิดเดียว ยิ่งเด็กที่โรงเรียนอยู่ไกลบ้าน ต้องตื่นเช้า จึงมีเวลานอนเพียงไม่กี่ชั่วโมง เวลานั่งเรียนจึงง่วงนอน ขาดสมาธิ และหงุดหงิดตลอดเวลา

3.ลูกดูสื่อจากหน้าจอมากเกินไป โดยเฉพาะช่วงก่อนนอน เพราะแสงสีฟ้าจากหน้าจอไปรบกวนการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนิน ซึ่งทำให้ร่างกายเข้าสู่ภาวะสงบ รู้สึกง่วงนอน เด็กจึงตื่นตัว และหลับยาก จึงมีผลต่อการเรียนในช่วงกลางวัน

4.ลูกมีปัญหาทางอารมณ์ เช่น เป็นโรคซึมเศร้า หรือรู้สึกวิตกกังวลอย่างหนัก แต่เด็กจะแสดงออกผ่านพฤติกรรมแทน เช่น ซนผิดปกติ หรืออยู่ไม่นิ่ง

5.ลูกมีภาวะเครียดจากการเปลี่ยนแปลงในชีวิต เด็กชอบความมั่นคงและชัดเจน เมื่อเกิดเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงกะทันหันในชีวิต เด็กจะปรับตัวได้ยาก จึงมีพฤติกรรมแสดงออกคล้ายโรคสมาธิสั้น

 

ความเครียดจากครอบครัว ทำให้เด็กเป็นไฮเปอร์เทียม

 

ทำไมต้องให้กินยา แก้ลูกสมาธิสั้น

คุณพ่อคุณแม่หลายคนไม่พาลูกไปหาหมอ เพราะกลัวว่าลูกจะต้องกินยาต่อเนื่อง แล้วจะส่งผลเสียต่อร่างกาย จึงเลือกจะรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น กินอาหารเสริม หรือนั่งสมาธิ ความจริงแล้ว หากไม่รีบ แก้ลูกสมาธิสั้น แต่เนิ่น จะส่งผลร้ายกับลูกมากกว่าที่คิด เมื่อมีพฤติกรรมผิดปกติ จนทำให้ลูกจะรู้สึกขาดความมั่นใจ ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะถูกตำหนิจากคุณครูหรือเพื่อนบ่อยๆ จะยิ่งแย่หนักหากมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย

 

ตัวอย่าง อาหารเสริม ที่ระบุว่าช่วยให้สมาธิสั้นดีขึ้น

 

การซื้ออาหารเสริมให้ลูกลองกินก่อน ยิ่งทำให้เด็กได้รับการรักษาช้า ก็เท่ากับเป็นการเพิ่มความรุนแรงของอาการสมาธิสั้นให้มากขึ้น เพราะสมาธิสั้นยังไม่ใช่โรคติดเชื้อ แม้ทางการแพทย์จะยังระบุสาเหตุแน่ชัดไม่ได้ แต่ส่วนใหญ่พบว่าเด็กสมาธิสั้นมีปริมาณสารเคมีในสมองน้อยกว่าปกติ หากหมอวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคนี้จริง การกินยาเพื่อ แก้ลูกสมาธิสั้น ก็เป็นเรื่องจำเป็น ยาที่ใช้สำหรับรักษามีชื่อว่า Methylphenidate  (ชื่อทางการค้า Ritalin, Concerta Atomoxetine หรือ Strattera) ซึ่งมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายน้อยมาก คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวล

ส่วนต้องกินยาต่อเนื่องนานแค่ไหนนั้น ไม่อาจระบุเวลาแน่นอนได้ แต่เมื่อเด็กกินยาต่อเนื่องและมีอาการดีขึ้น หมออาจให้ทดลองหยุดยาได้ ซึ่งคงเป็นช่วงที่เด็กได้พักผ่อนเต็มที่ และไม่เครียดกับการเรียน เช่น ช่วงปิดเทอม เป็นต้น

ข้อมูลเหล่านี้น่าจะช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจโรคสมาธิสั้น และวิธี แก้ลูกสมาธิสั้น ได้มากขึ้น เพราะจริงๆแล้ว โรคสมาธิสั้นไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และสามารถรักษาให้หายได้ ขณะเดียวกันการเลี้ยงดูลูกอย่างถูกต้องและเข้าใจ ส่งเสริมให้ลูกได้เล่นสมวัย และอยู่ใกล้ชิด ช่วยป้องกันให้ลูกห่างไกลจากอาการสมาธิสั้นได้

 

บทความอื่นที่น่าสนใจ

หมอเตือน! ลูกซน อย่านิ่งนอนใจ โรคสมาธิสั้น อาจถามหา!

ลูกไฮเปอร์ กับสมาธิสั้น แตกต่างกันอย่างไร?

เทคนิคดูแลเรื่องเรียน เมื่อลูกน้อย สมาธิสั้น


ขอบคุณข้อมูลจากเพจ  เข็นเด็กขึ้นภูเขา

เครดิตภาพจากเว็บไซต์ https://mgronline.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids