ลูกโดนแกล้ง ปัญหาของเด็กในรั้วโรงเรียน ที่พ่อแม่คาดไม่ถึงว่าจะร้ายแรงจนถึงขั้น “ฆ่าให้ตาย” หรือ “ทำลายชีวิตตัวเอง” หมอจิตวิทยาแนะ ตัดไฟแต่ต้นลม หมั่นสังเกตสัญญาณจากลูก ฝึกทักษะสังคม สอนวิธีเอาตัวรอด ช่วยให้ลูกสร้างเกราะป้องกันให้รอดจากเรื่องบูลลี่ (Bully) ได้สำเร็จ
จาก 2 เหตุการณ์น่าสลดใจของเด็กชายชั้นมัธยมใช้ปืนบุกยิงเพื่อนร่วมชั้นในโรงเรียนจนเสียชีวิต เพราะคับแค้นใจที่โดนกลั่นแกล้งและล้อเลียนเป็นประจำ และอีกหนึ่งเหตุการณ์เกิดขึ้นกับเด็กหญิงชั้นประถม พยายามผูกคอตัวเองในห้องน้ำของโรงเรียน เนื่องจากเคยถูกเพื่อนรุมแกล้ง และล้อเลียน ทำร้ายจิตใจอย่างรุนแรง แม้จะไม่เสียชีวิตแต่ต้องกลายเป็นเจ้าหญิงนิทรา ใครจะคิดว่าเรื่องเล่นสนุกของเด็ก จะส่งผลร้ายแรงถึงชีวิต
ลูกโดนแกล้ง พ่อแม่ช่วยอย่างไรดี ให้ปลอดภัย ไม่ถูกแกล้งซ้ำ
เพราะหลายบ้านรู้สึกว่าเวลา ลูกโดนแกล้ง หรือล้อเลียนเป็นแค่เรื่องเล่นสนุกๆของเด็ก ผู้ใหญ่ไม่ควรเข้าไปยุ่ง และประเมินจากประสบการณ์ส่วนตัวของพ่อแม่เองว่าในวัยเด็กก็เคยผ่านประสบการณ์แบบนี้มา “ใครๆก็โดนแกล้ง เดี๋ยวก็ผ่านไป” ทราบหรือไม่ว่า ความเข้าใจเช่นนี้ทำให้คุณพ่อคุณแม่มองข้ามปัญหาที่ลูกต้องเจอ และเข้าไปช่วยเหลือช้าเกินไป
6 อย่างที่ ลูกโดนแกล้ง พบบ่อยในโรงเรียน
กรมสุขภาพจิตระบุว่า การแกล้งกันในโรงเรียน “ไม่ใช่เรื่องเล็ก” เป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงที่ส่งกระทบต่อร่างกายและจิตใจในระยะยาว รูปแบบการแกล้งที่มักพบบ่อยในโรงเรียนมีดังนี้
- ใช้กำลังทำร้ายร่างกาย
มักพบบ่อยและสังเกตได้ง่ายที่สุด เด็กที่โดนแกล้งมักตัวเล็ก ผอม หรือมีท่าทางอ่อนแอกว่าอีกฝ่าย ซึ่งจะใช้กำลังควบคุม ข่มขู่ด้วยการต่อยตี ตบ หรือผลักกัน
- ใช้คำพูดทำร้ายจิตใจ
ถึงจะไม่มีบาดแผลให้เห็น แต่คำล้อเลียนจุดอ่อน หรือปมด้อยสร้างแผลลึกในจิตใจ ที่สำคัญคือ พ่อแม่และคุณครูจะสังเกตเห็นได้ยาก ส่วนใหญ่มักโดนกระทำจากกลุ่มเพื่อน หรือรุ่นพี่พูดต่อกันแบบปากต่อปาก เรื่องที่โดนล้อเลียนมีทั้ง รูปร่างหน้าตา สีผิว เพศ ฐานะครอบครัว สถาบันการศึกษา และความสามารถ ซึ่งล้วนเป็นเรื่องทำร้ายจิตใจทั้งสิ้น
- ใช้อำนาจแยกไม่ให้เข้าพวก
มักเกิดบ่อยในกลุ่มวัยรุ่นตอนต้น (ประถมปลาย-มัธยมต้น) โดยจะกีดกันไม่ให้เข้ากลุ่ม ปล่อยข่าวลือเสียหาย ทำให้เด็กที่ถูกแกล้งไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนและสังคมในโรงเรียน เรื่องนี้มีผลกระทบต่อจิตใจของวัยรุ่นมาก และนำไปสู่การตอบโต้ที่รุนแรงได้
4.ใช้โซเชียลทำลายชีวิต
เกิดขึ้นได้ง่ายและต่อเนื่อง เพราะหลบลี้จากการเผชิญหน้าได้ ขณะที่หาก ลูกโดนแกล้ง ด้วยวิธีนี้อาจได้รับผลที่โหดร้ายและไม่สิ้นสุดง่ายๆ เพราะการโพสต์ลงโซเชียล เช่น รูปภาพ หรือข้อควายเสียหาย จะถูกกระจายในวงกว้างอย่างรวดเร็ว และยากจะกำจัดให้หมดได้
นอกจากนี้พบว่า เด็กๆ รุ่นใหม่ที่ถูกแวดล้อมด้วยสื่อความรุนแรงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเกมส์ ภาพยนตร์ และโซเชียลที่เข้าถึงได้ง่าย ส่งผลให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว แรงมาแรงกลับ มองความรุนแรงเป็นเรื่องปกติ สนุกกับการได้แกล้งเพื่อน และขาดความเอื้ออาทร แม้แต่กับคนใกล้ชิด ทั้งหมดนี้จึงยิ่งกระตุ้นให้เวลาที่ ลูกโดนแกล้ง รุนแรงขึ้น
อ่าน ช่วยลูกโดนแกล้งแบบไหนไม่ให้โดนแกล้งซ้ำอีก หน้า 2
แพทย์หญิงโสรยา ชัชวาลานนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการตอบโต้เมื่อโดนกลั่นแกล้งว่า “ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งเล็กน้อยหรือรุนแรงล้วนส่งผลต่อจิตใจของเด็ก เนื่องจากสภาพจิตใจพื้นฐานของเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนสามารถรับมือและจัดการกับการกลั่นแกล้งได้ดี ก็จะเป็นเรื่องเล็ก แต่ถ้าเด็กมีความอ่อนไหวทางอารมณ์ บวกกับปัจจัยอื่นๆ เช่น พฤติกรรมรุนแรงที่ลอกเลียนแบบจากเกมส์ สิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เด็กตัดสินใจหุนหันพลันแล่น หรือขาดทักษะการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง ทำให้พวกเขาเลือกใช้วิธีที่ผิด
เด็กผู้ชายมีแนวโน้มตอบโต้ด้วยความรุนแรง เช่น ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ขณะที่เด็กผู้หญิงจะใช้วิธีหลบเอาตัวออกจากปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย จริงๆ แล้วเวลาเด็กตัดสินใจ “ฆ่าตัวตาย” เป็นการส่งสัญญาณของความช่วยเหลือ (Call for cure) ให้พ่อแม่ หรือคนรอบตัวรู้ว่า “หนูทนไม่ไหวแล้ว” แต่ผู้ใหญ่กลับไม่รับรู้หรือตอบสนอง”
สิ่งสำคัญคือ “พ่อแม่ต้องไม่ยอมรับการกลั่นแกล้งใดๆ ทั้งสิ้น” ไม่ควรปล่อยให้ลูกโดนแกล้งและต้องรีบจัดการทันที อย่าตัดสินใจด้วยประสบการณ์ของตัวเองเพียงฝ่ายเดียวว่า “ถูกแกล้งแค่นี้เองไม่เห็นเป็นไร” เพราะถ้าทำแบบนี้เด็กจะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจถึงความยากลำบากที่ต้องเจอ ไม่สบายใจ และเลือกจะแก้ปัญหาด้วยตัวเอง หากพ่อแม่สังเกตเห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเมื่อ ลูกโดนแกล้ง ได้เร็ว ก็จะเข้าไปช่วยเด็กได้ทันท่วงที
จับสัญญาณนี้ไว ช่วยลูกโดนแกล้งทันเวลา
- พฤติกรรมเปลี่ยนไป เช่น ซึมลง เก็บตัว บางคนอาจเรียนแย่ลง เพราะโดนแกล้งจนไม่มีสมาธิ วิตกกังวล หรือซึมเศร้า พบแล้วควรรีบแก้ไขทันที
- ไม่อยากไปโรงเรียน เด็กส่วนใหญ่มักไม่บอกสาเหตุจริงๆ แต่จะอ้างว่า ปวดหัว ปวดท้อง พ่อแม่จะต้องหาต้นเหตุจริงๆ ให้เจอ แต่ไม่ควรใช้วิธีต่อว่า คาดคั้น หรือจี้ถาม แต่ให้บอกกับลูกอย่างเข้าใจว่า “ถ้ามีปัญหาอะไร พ่อแม่อยู่ตรงนี้เสมอ มาเล่าได้ตลอด” เพื่อให้เด็กเห็นว่าพ่อแม่อยู่ข้างเดียวกับตัวเอง
- ร่างกายมีบาดแผล หรือรอยฟกช้ำ อย่าเพิ่งตกใจ โวยวายเมื่อเห็นรอยแผลบนตัวลูก แต่ช่วยรักษาแผลและปลอบโยนให้ลูกสบายใจก่อน จึงนั่งคุยกันถึงที่มาของแผลนั้น
- ลูกไม่มีเพื่อน ปกติเด็กมักเล่าเรื่องเพื่อน หรือเหตุการณ์ในโรงเรียนให้ฟัง ถ้าไม่มีลองถามดูว่ามีเพื่อนสนิทกี่คน ชื่ออะไรบ้าง หากเขาปฏิเสธ ส่ายหน้า และเงียบขรึม ให้รู้เลยว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นแน่นอน
อย่างไรก็ตาม เด็กหลายคนโดยเฉพาะวัยประถมปลาย หรือมัธยมต้นไม่อยากบอกพ่อแม่ว่า “โดนแกล้ง” เพราะกลัวว่าจะไปบอกครูที่โรงเรียนเพื่อให้ทำโทษเด็กจอมเกเร แล้วสุดท้ายเด็กเหล่านั้นก็ย้อนกลับมาแกล้งอยู่ดีเพื่อแก้แค้น จึงเชื่อว่าการบอกพ่อแม่ช่วยแก้ปัญหาไม่ได้ และอาจทำให้หนักกว่าเดิม
ที่เด็กๆ คิดแบบนั้นก็ไม่ผิด การเข้าไปกล่าวโทษด้วยท่าทีเกรี้ยวกราดของพ่อแม่อาจไม่ใช่วิธีแรกที่ควรทำในการแก้ปัญหา ลูกโดนแกล้ง สำหรับเด็กประถมที่ดูแลตัวเองได้ ควรถามลูกก่อนว่าเขามีวิธีรับมืออย่างไร เช่น ไม่เผชิญหน้ากับเด็กชอบแกล้ง แต่จะต้องไม่ทำให้กระทบกับการใช้ชีวิตในโรงเรียน ถ้าหลบไม่ได้ก็ควรเงียบ หรือไม่ตอบโต้ เพื่อไม่ทำให้อีกฝ่าย “ถูกเร้าให้โมโหมากขึ้น” หรืออาจมีเพื่อนสนิทไปด้วยกัน แต่ถ้าดูแล้วว่าวิธีนั้นไม่ถูกต้อง หรือไม่ได้ผล แล้วค่อยบอกวิธีรับมือที่ดีให้ลูกทำตาม พร้อมกับบอกไปว่า ถ้ายังโดนแกล้งอีกและอยากให้ช่วย กลับมาบอกพ่อแม่ได้ทันที วิธีนี้พ่อแม่จะไม่ใช่คนลงไปแก้ปัญหา แต่สอนวิธีให้ลูกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
คุณหมอเสริมว่า “พ่อแม่ปกป้องลูกตลอดเวลาไม่ได้ ทางที่ดีที่สุดคือ ต้องฝึกให้ลูกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งสามารถฝึกได้ตั้งแต่วัยก่อนอนุบาล เริ่มต้นจากตัวพ่อแม่เอง ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก ไม่ใช้ความรุนแรงแก้ปัญหา เพื่อไม่ให้นำไปใช้นอกบ้าน เพราะเด็กที่บ้านใช้ความรุนแรงมักโตขึ้นมาแล้วกลายเป็น “เด็กชอบแกล้งเพื่อน” สร้างสายสัมพันธ์พ่อแม่ลูกให้เหนียวแน่น สร้างเกราะไม่ให้ลูกทำเรื่องแย่ๆ สอนให้รู้จักการขอบคุณ ขอโทษผู้อื่น สำคัญที่สุดคือ เปิดโอกาสให้ลูกฝึกทักษะสังคมแบบง่ายๆ อย่างพาลูกไปสนามเด็กเล่น ให้เขาฝึกแก้ปัญหา เช่นโดนแซงคิว หรือโดนผลักอก ต้องทำอย่างไร”
อย่างไรก็ตาม ปัญหากลั่นแกล้งจะแก้ไขได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งโรงเรียนและครอบครัว ด้วยการปฏิเสธการกลั่นแกล้งทุกรูปแบบ กำหนดกฎเกณฑ์และบทลงโทษที่เหมาะสมกับวัย พร้อมกับสร้างทักษะการแก้ปัญหาที่เหมาะสมให้กับเด็กๆไปพร้อมกัน
อ่านบทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
จิตแพทย์เด็กเผย! วิธีรับมือเมื่อ ลูกโดนเพื่อนแกล้ง (Bullying)
5 วิธีสังเกต ลูกโดนแกล้งที่โรงเรียน หรือไม่
แพทย์เผย! เด็กไทย ชอบแกล้งเพื่อน ติดอันดับ 2 ของโลก!
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่