AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

13 เทคนิคสร้างสมาธิให้ลูก พร้อมเรียนรู้ได้ดี

สมาธิ เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ ช่วยให้ลูกรับข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาสมองได้ดี สมาธิ คือ การจดจ่อกับสิ่งที่จะทำอย่างแน่วแน่ เพื่อพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ … เด็กบางคน เก่ง ฉลาด พูดจาฉะฉาน ความจำดี ดูนิ่ง และมีความตั้งใจทำอะไรได้นาน แต่เด็กบางคนมีพฤติกรรมต่างกันสิ้นเชิง นั่นเพราะว่าขาดสมาธิ ซึ่งสมาธิเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้ และจดจำของเด็ก

ผลงานวิจัยหลายชิ้นยืนยันว่า สมาธิความสัมพันธ์กับสมอง เพราะเวลาเด็กนิ่ง เป็นเวลานานระยะหนึ่ง สมองส่วนซีรีบรัม จะเกิดการทำงานของคลื่นสมองแอลฟ่าได้ดี ทำให้เด็กเกิดสมาธิ การจำ การเรียนรู้ และการเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้ง่าย

สาเหตุที่เด็กไม่มีสมาธิ

  1. ขาดความสนใจในสิ่งที่กำลังทำ
  2. หมกมุ่นในเรื่องอื่น ๆ มากเกินไป เช่น เล่นเกม ดูการ์ตูน ฯลฯ
  3. สนใจหลายเรื่องในเวลาเดียวกัน
  4. มีความวิตกกังวลและความเครียดรบกวนจนละเลยที่จะรับรู้ หรือสนใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
  5. ภาวะความบกพร่องของร่างกาย และความเจ็บป่วยบางโรค เช่น โรคสมาธิสั้น ฯลฯ
  6. ภาวะความไม่พร้อมอื่น ๆ เช่น ความหิว ความอ่อนเพลีย การขาดแรงจูงใจในการเรียนรู้
  7. สิ่งแวดล้อมไม่สงบ มีสิ่งเร้ามากเกินไป หรือมีเสียงดังรบกวนสมาธิ

เตรียมความพร้อมฝึกสมาธิให้ลูก

คุณพ่อคุณแม่ต้องมีเวลา ซึ่งถือเป็นพื้นฐานความผูกพันของเจ้าตัวเล็กกับคุณพ่อคุณแม่ เพราะว่าลูกก็ต้องการที่จะอยู่ใกล้ชิดและทำอะไรร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ ซึ่งลูกก็จะเชื่อฟังและปฏิบัติตามสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สอน พร้อมสอนทุกสถานการณ์ เด็กชอบเรียนรู้ด้วยการเล่นและการเลียนแบบ โดยเฉพาะการเลียนแบบคุณพ่อคุณแม่ เนื่องจากลูกๆ มักจะเห็นพ่อแม่เป็นฮีโร่เสมอ ดังนั้น ไม่ว่าลูกจะทำอะไรเราสามารถฝึกและสอนเขาได้ค่ะ และคอยช่วยลูกจัดการอารมณ์ เนื่องจากเด็กวัยนี้อาจจะมีอารมณ์รุนแรงเอาแต่ใจตัวเอง อยากรู้อยากเห็น เพราะเป็นพัฒนาการตามวัยของเขา

ฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรจัดสิ่งแวดล้อมให้เขาได้เล่นอย่างปลอดภัย ซึ่งลูกจะรู้สึกสนุกสนาน และเรียนรู้ได้อย่างมีสมาธิ แต่เราก็ต้องสอนให้เขารู้จักจัดการอารมณ์ตัวเองด้วยนะคะ เพราะเมื่อลูกรู้จักการอารมณ์ตัวเองได้ ก็จะเกิดสมาธิและความสงบ เช่น การร้องเพลง การกอดลูก การให้นมลูก

พ่อแม่จะทำอย่างไรได้บ้าง เพื่อช่วยให้ลูกมีสมาธิในการเรียน 

ถ้าเมื่อใดที่ขาดสมาธิลูกก็จะกลายเป็นเด็กขี้ลืม ไม่อดทน ซนเกินเหตุ ไม่รู้จักสังเกตไม่รอบคอบ ไม่ตั้งใจฟัง ไม่มีมารยาท แถมยังล้มเหลวได้ง่าย ไร้วินัย และไม่มีเพื่อน สำหรับการเสริมสร้างสมาธิให้กับเด็กในเบื้องต้น เราสามารถปลูกฝังการมีสมาธิได้ตั้งแต่เด็กยังเล็ก ผ่านการทำกิจกรรมที่เด็กชอบและถนัด  เด็กๆ จะผูกพันกับกิจกรรมที่ตนเป็นคนคิดและออกแบบ ให้ลูกได้เรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการรับประทานอาหาร อาบน้ำ-ทาแป้ง หยิบของ หรือการติดกระดุมเสื้อผ้า

แล้วลองสังเกตดูว่าลูกๆ ทำกิจกรรมอะไรแล้วสนุกและทำได้ต่อเนื่องค่อนข้างนาน แล้วค่อย ๆ เพิ่มระดับความยากของกิจกรรม เช่น การทำงานบ้าน เพื่อเป็นการกระตุ้นพัฒนาการในเรื่องการตัดสินใจ และช่วยให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนเอง จากนั้นจึงเตรียมฝึกสมาธิลูก ๆ ด้วยกิจกรรรมต่าง ๆ ดังนี้

อ่านต่อ >> “กิจกรรมสร้างสมาธิให้ลูกเพื่อการเรียนรู้ที่ดี” คลิกหน้า 2

1.อ่านหนังสือน่ารู้ & นิทานแสนสนุก

เพราะในขณะที่เด็กกำลังอ่านหนังสือ หรือนิทาน จะเป็นการฝึกการออกเสียงพูด สะกดคำ ทำให้เด็กจดจ่ออยู่กับตัวหนังสือหรือตัวละคร รวมถึงการช่วยสร้างจินตนาการตามเรื่องราวที่ได้อ่านอีกด้วย แต่สำหรับเด็กเล็กที่ยังอ่านหนังสือไม่ได้ หรืออ่านหนังสือยังไม่คล่อง คุณพ่อคุณแม่อาจเป็นคนเล่านิทานให้ฟัง เพื่อช่วยฝึกการฟัง และออกเสียงก็ได้เช่นกันค่ะ

2.เคลื่อนไหว-ฟังเพลง-เล่นดนตรีดีต่อสมาธิ

เพื่อเป็นการช่วยให้จิตใจของลูกสงบ ลดความตึงเครียดก่อนเข้าเรียนและหลังเลิกเรียน อาจเปิดเพลงที่ทำนองเบา ๆ สบาย ๆ เช่น เพลงคลาสสิก เพลงบรรเลง จะช่วยเสริมสร้างความจำและการเรียนรู้ของเด็กให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมถึงการเคลื่อนไหวก็เป็นสมาธิไม่ได้ การร้องรำทำเพลงและทำท่าประกอบไปด้วย สามารถดึงดูดความสนใจของลูกได้อย่างดีทีเดียว นอกจากจะได้ฝึกประสาทสัมผัสแล้ว ลูกยังได้เรียนรู้เนื้อเพลง ทำนอง จังหวะและเรื่องของปฏิสัมพันธ์ด้วยค่ะ

3.หามุมสงบส่วนตัวให้ลูก

เพราะสาเหตุส่วนหนึ่งที่เด็กสมาธิสั้น อันเนื่องมาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวซึ่งมีเสียงอึกทึกคึกโครมอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงควรจัดหามุมนั่งเล่น หรือพื้นที่ที่ค่อนข้างเงียบสงบให้ลูกน้อยได้นั่งอ่านหนังสือ ทำการบ้าน หรือทบทวนบทเรียนโดยเฉพาะ

4.เรียนรู้ศิลปะ

เพราะศิลปะคือหนึ่งในกิจกรรมที่ช่วยทำให้เกิดสมาธิ และการฝึกทักษะการใช้มือและสายตาทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นการวาดภาพ ปั้นดินน้ำมัน หรือการพับกระดาษ และงานฝีมือต่าง ๆ เพื่อให้ลูกได้ใช้ศิลปะในการฝึกสมาธิ สร้างความเพลิดเพลินไปกับจินตนาการของตัวเอง ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่สามารถสร้างงานศิลปะไปพร้อม ๆ กับลูกได้อีกด้วย

อ่านต่อ >> “กิจกรรมสร้างสมาธิให้ลูกเพื่อการเรียนรู้ที่ดี” คลิกหน้า 3

5.เล่นของเล่น หรือเกมที่ต้องใช้สมาธิ

สิ่งสำคัญคือการเลือกของเล่นที่ช่วยฝึกสมาธิให้เด็กมีความตั้งใจจดจ่อและมีพัฒนาการด้านสมอง เช่น เกมจับคู่ ต่อจิ๊กซอว์ เลโก้ บล็อกไม้ หมากฮอส โดยการฝึกให้ลูกเล่นของเล่นทีละอย่างจะช่วยให้ลูกมีสมาธิกับการเล่นได้นานขึ้น

6.ธรรมชาติสร้างสมาธิ

ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ ใบไม้ ดอกไม้ที่อยู่ในสวนหลังบ้าน หรือแม้กระทั่งตามสวนสาธารณะ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถเสริมสร้างการเรียนรู้ให้ลูกได้ตลอดเวลา อาจเริ่มต้นจากเรียนรู้ขั้นตอนการปลูกต้นไม้ รดน้ำ ใส่ปุ๋ย จวบจนกระทั่งรอจนถึงวันที่ต้นไม้ผลิดอกออกผล เป็นการฝึกสมาธิในการเฝ้าสังเกต และการติดตามการเจริญเติบโตของต้นไม้ในแต่ละวัน

7.ฝึกสมาธิผ่านกิจวัตรประจำวัน

เด็กวัยนี้มีความเป็นตัวของตัวเองสูง พ่อแม่ทำอะไรให้เป็นต้องขัดใจเสียหมด และมักอยากทำอะไรๆ ด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นข้อดีของพัฒนาการตามวัยที่ลูกจะได้ฝึกสมาธิจากการทำกิจวัตรนั้น เช่น การติดกระดุมเสื้อ การตักข้าวทาน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจจะแนะนำขณะที่ลูกกำลังปฏิบัติว่า ต้องติดกระดุมอย่างไรให้ตรง หรือทำอย่างไรดีถึงจะตักข้าวแล้วไม่หก เป็นต้น

8.สวดมนต์และท่องอาขยาน

บางบ้านที่มีคุณย่าคุณยายช่วยเลี้ยงมักจะซึมซับเรื่องของบทอาขยานหรือการสวดมนต์ โดยเฉพาะหากคุณพ่อคุณแม่ชวนลูกไหว้พระก่อนนอน ซึ่งนอกจากจะได้ความสงบนิ่งแล้ว เจ้าตัวเล็กยังจะได้ซึมซับศีลธรรมจรรยามารยาทอีกด้วย

9.บรรยากาศในบ้านและการจัดบ้าน

ข้อนี้ค่อนข้างสำคัญทีเดียวค่ะ เพราะเด็กเล็กๆต่ำกว่าสองถึงสามขวบ ชีวิตของเขาทั้งหมดอยู่ที่บ้าน เพราะฉะนั้นบ้านสำคัญมาก ถ้าในบ้านมีเสียงดังอึกทึกครึกโครมตลอดเวลา ก็จะทำให้เด็กขาดสมาธิได้ การวางของจัดของในบ้านก็สำคัญ บ้านที่รก ของเล่นมากมายเกะกะวางเกลื่อนไปหมด เด็กก็ไม่รู้ว่าจะเล่นอะไรดี เลยขาดสมาธิที่จะจดจ่อกับสิ่งตรงหน้า เพราะเห็นของเล่นวางล่ออยู่เต็มไปหมด เก็บบ้านให้เป็นระเบียบและมีชั้นวางของเล่นให้เรียบร้อย นอกจากจะช่วยให้บ้านสะอาดดูดี ยังช่วยสร้างสมาธิเด็ก และสร้างนิสัยความมีระเบียบให้เป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กทางอ้อมตามทฤษฎีกระจกเงาด้วยค่ะ

อ่านต่อ >> “กิจกรรมสร้างสมาธิให้ลูกเพื่อการเรียนรู้ที่ดี” คลิกหน้า 4

10.ออกกำลังกาย ยาสร้างสมาธิที่ดีที่สุด

เพราะหลังจากที่เด็กได้ออกกำลังกายมา จะรู้สึกสบาย นิ่งขึ้น รวมถึงการฝึกโยคะให้กับเด็ก ก็จะช่วยเสริมพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และสังคม ช่วยฝึกเรื่องสมาธิ ความนิ่ง เพราะโยคะเป็นกิจกรรมที่ต้องมีการควบคุมและจัดระเบียบร่างกาย จากนั้นร่างกายจะปล่อยสารต่างๆและฮอโมนต่างๆที่เป็นประโยชน์กับตัวเราออกมา ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้เรามีสมาธิมากขึ้น และถ้าคุณพ่อคุณแม่จะสอนอะไรเขาตอนนั้นลูกก็จะสามารถรับรู้ได้มากขึ้น จากสมาธิที่เพิ่มขึ้นนั่นเองค่ะ

11.นอนหลับพักผ่อน

คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกนอนอย่างน้อยวันละ7 ชั่วโมง และไม่ควรให้ลูกนอนเกินวันละ 9 ชั่วโมง เพราะการนอนมากทำให้ความตื่นตัวน้อยลงและทำให้ลูกเกิดความซึมเซา ซึ่งมีผลทำให้ประสิทธิภาพของความจำลดน้อยลง นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรให้ลูกนอนน้อยกว่า7ชั่วโมงต่อวัน เพราะจะทำให้เด็กขาดสมาธิซึ่งทำให้ความสามารถในการจดจำลดน้อยถอยลงไปด้วยเช่นกัน

12.เปิดทีวีเลี้ยงลูก บั่นทอนสมาธิมากที่สุด

ข้อนี้อาจจะตรงกับหลายๆบ้าน ทีวีมีประโยชน์ค่ะ ถ้าเป็นรายการดีๆและเด็กโตพอที่จะเรียนรู้จากทีวีรายการต่างๆเหล่านั้นได้ แต่ถ้าเปิดทีวีให้ผู้ใหญ่ดู แล้วเด็กก็อยู่ด้วยตลอด เสียงจากทีวีจะรบกวนโสตประสาทเด็กได้ เด็กๆมักจะหูไวค่ะ ถึงเค้าจะฟังไม่รู้เรื่องแต่เค้าก็ฟัง และยิ่งถ้าลูกมองทีวีไปด้วย ยิ่งบั่นทอนสมาธิมากขึ้น เพราะทีวีรายการต่างๆ หน้าจอเคลื่อนไหวเร็ว มีภาพและเสียงที่ดังดึงดูดเด็ก เด็กจะนั่งจ้องนิ่งตลอด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเด็กมีสมาธิ การเจอหน้าจอแบบนี้จะทำให้เด็กนิ่งทุกคน แต่มันเป็นการบั่นทอนสมาธิ เพราะพอหลุดจากหน้าจอแล้ว เขาจะสร้างสมาธิเองได้ยากขึ้น  อย่างไรก็ตามถ้าเด็กโตหน่อย สัก 2-3 ขวบ เราอาจจะเลือกสิ่งที่จะให้ลูกดูได้ เช่น DVD สอนภาษาที่มีประโยชน์ หรือเล่น app ในแท็บเล็ตต่างๆ และที่สำคัญต้องควบคุมเรื่องเวลาในการเล่นด้วย เพราะถ้าดูมากไปจะเสียสายตา ไม่ควรดูเกินวันละครึ่งชม.

13.เดินห้างบ่อยๆ บั่นทอนสมาธิ

ห้างสรรพสินค้ามีทั้งแสง สี เสียง ของที่วางไว้ล่อตาล่อใจเด็กๆมากมาย ถ้าลูกเรามีลักษณะที่ไม่ค่อยมีสมาธิ ควรเลี่ยงสถานที่ประเภทนี้ค่ะ สังเกตว่าถ้าพาลูกเดินห้าง เค้าจะตื่นตัว วิ่งไปทั่ว วิ่งไม่หยุด แสดงว่าเค้าถูกกระตุ้นจากสิ่งเร้าพวกนี้และมีอาการไม่มีสมาธิแล้ว ทางที่ดีควรเลี่ยงหรือไปให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น  ถ้าอยากพาลูกเที่ยวก็เน้นไปแนวธรรมชาติ ภูเขา ทะเล สวนสัตว์ แนวๆนี้น่าจะดีกว่าค่ะ

เห็นไหมคะว่าการฝึกสมาธิให้ลูกวัยซน ไม่ใช่เรื่องยากเย็นจนไม่สามารถทำได้ ลองเลือกวิธีที่เหมาะกับลูกน้อยและบริบทของครอบครัว เพื่อให้ลูกมีสมาธิดี ซึ่งจะส่งผลต่อการเรียนรู้ที่ดีของลูกกันนะคะ


ขอบคุณข้อมูลจาก : www.trueplookpanya.com