พอน้องแก้มเข้าวัย 5 ขวบ คุณพ่อคุณแม่ก็เริ่มสังเกตเห็นว่า หนูน้อยช่างต่อรองมากขึ้นทุกวัน “โรงเรียนน้องแก้มห้ามเอาของเล่นไปโรงเรียนค่ะ แต่น้องแก้มติด ‘แบมบี้’ ตุ๊กตาวัวแขนยาวตัวใหม่อย่างมาก วันหนึ่งเขาก็เลยเอาตุ๊กตามาพาดคอแล้วบอกว่า ‘วันนี้แบมบี้เป็นผ้าพันคอของหนู’ พอถูกดุ เขาก็ร้องไห้แบบเอาเป็นเอาตาย บอกว่าวันนี้แบมบี้ไม่ใช่ของเล่นแต่เป็นเครื่องแต่งกายต่างหาก” คุณแม่หมิวเล่า
นี่คือเรื่องปกติของเด็กวัยเรียน เพราะสมองของพวกเขาพัฒนาระบบความคิดแบบมีเหตุมีผลมากขึ้นกว่าตอนเล็กๆ บ็อบ แลนเซอร์ผู้เขียน “Parenting With Love…Without Anger or Stress” กล่าวว่า การพัฒนานี้ทำให้เด็กๆ มองเห็นทางออกของปัญหา (เวลาที่ไม่ได้อย่างใจ) มากขึ้น พวกเขาจึงเลิกทำสิ่งต่างๆ ตามที่ผู้ใหญ่สั่งและเริ่มหาแนวทางของตัวเอง
มีเรื่องให้เหนื่อยใจเพิ่มขึ้นอีกแล้ว แต่อย่าเพิ่งท้อ ลองทำตามคำแนะนำเหล่านี้ดูก่อนนะคะ
1. ยอมรับความเห็น
บอกลูกว่า “หนูพูดถูกอาหารที่ทำจากนมทำให้กระดูกแข็งแรงจริงๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหนูจะกินไอศกรีมก่อนกินข้าวได้นะ” อย่างน้อยลูกก็รู้ว่าพ่อแม่รับฟังความเห็นของพวกเขา แม้ว่าคำตอบของคุณจะยังเป็น “ไม่” อยู่ก็เถอะ
2. ให้โอกาสคิด
อธิบายเหตุผลและข้อดีข้อเสียของสิ่งที่คุณบอกให้ลูกทำ และให้พวกเขาได้มีส่วนในการตัดสิน (ประโยคว่า “หนูต้องทำเพราะแม่บอกให้ทำ!” ไม่ใช่คำอธิบายที่ดี) กรณีของน้องแก้ม แทนที่จะห้าม คุณแม่หมิวกลับบอกหนูน้อยว่า “ถ้าหนูเอาแบมบี้ไปโรงเรียน แบมบี้อาจจะหายไปก็ได้นะ เราเก็บแบมบี้ไว้ที่บ้านดีกว่าไหมจ๊ะ”
3. ปล่อยให้ลูกต่อรองได้ (บ้าง)
การต่อรองถือเป็นการฝึกทักษะการแก้ปัญหาที่ดี ดังนั้นหากว่าคำอุทธรณ์ของลูกไม่ได้เป็นสิ่งที่อันตรายหรือขัดกับกติกาหลักของบ้าน ก็ลองปล่อยไปตามความต้องการของเขาบ้างเป็นบางครั้ง
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง