ในยุคที่ลูกจะต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงรอบด้านที่รวดเร็ว ทั้งสังคมใกล้ตัว การแข่งขัน การเรียน ฯลฯ การส่งเสริมลูกให้มีเพียงไอคิวดีอีคิวได้ติดตัวคงไม่เพียงพอ เพราะอีกหนึ่ง Q ที่เด็กควรมี นั่นคือ AQ (Adversity Quotient)
มีหลายคนดังที่เป็นตัวอย่างในเรื่องความพยายาม อดทน และแก้ปัญหาครั้งแล้วครั้งเล่า ฟันฝ่าอุปสรรคจนประสบความสำเร็จ หนึ่งในนั่นคือ ทอมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) ผู้ซึ่งประดิษฐ์อุปกรณ์ที่สำคัญต่าง ๆ มากมาย และผ่านการทดลองต่าง ๆ ฟันฝ่า แก้ไข แก้ปัญหามากมายด้วยตัวเองกว่า 20 ปี ที่มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลว และถ้าหากเขาถอดใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ล้มเหลวก็คงไม่ได้เป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงเป็นตำนานจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งความสามารถในการแก้ไขปัญหา เป็นความฉลาดด้านหนึ่งของมนุษย์ นี่อาจเป็นลักษณะของคนที่มี AQ หรือ ความฉลาดในการแก้ปัญหา นั่นเอง
เช็กลิสต์ 4 ข้อที่บอกว่า ลูกมี AQ (Adversity Quotient)
ฉลาดในการแก้ปัญหา เอาชนะอุปสรรค รู้จักเอาตัวรอด
AQ (Adversity Quotient) เป็นทฤษฎีที่ Dr. Paul G. Stoltz คิดค้นขึ้น หมายถึง ความฉลาดในการแก้ปัญหา หลักการของทฤษฎีนี้คือ การเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ ด้วยการทำให้สำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างไม่ท้อแท้หรือหยุดยั้งกลางทาง แม้จะเหนื่อยยากแค่ไหนก็จะไม่ล้มเลิกจนกว่าจะพบกับความสำเร็จ มีความพยายามควบคุมสถานการณ์ และสามารถแก้ไขปัญหา แก้ไขสถานการณ์ได้ด้วยตัวเอง ซึ่ง Q ตัวนี้จึงเป็นคามฉลาดอีกด้านที่คุณพ่อคุณแม่ควรเสริมสร้างให้ลูกมีติดตัว
Adversity Quotient เกิดจากปัจจัยหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการเลี้ยงดูและสอนให้ลูกได้รู้จักกับความอดทนตั้งแต่เล็ก ๆ เพื่อที่จะพยายามแก้ปัญหา ฝ่าฟันกับอุปสรรคให้ผ่านพ้นไปได้ เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความสำเร็จ ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-Esteeming) ซึ่งถ้าสามารถฝ่าฟันปัญหาต่าง ๆ ไปได้ ก็สามารถเอาตัวเองรอดจากปัญหาอุปสรรค และจะพบกับความสำเร็จ และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขได้
เด็กที่มี AQ หรือความฉลาดในการแก้ปัญหา มีลักษณะดังนี้
1.เป็นเด็กที่เข้าใจปัญหา
มองว่าปัญหาเป็นสิ่งที่แก้ไขและต้องผ่านไปให้ได้ เด็กที่มีลักษณะนี้จะมีบุคลิกที่มั่นใจในตัวเองและมีจิตใจที่เข้มแข็ง เพราะเมื่อพบเจออุปสรรคก็จะพยายามหาทางแก้ไข แม้ครั้งแรกยังแก้ไม่ได้แต่ก็จะไม่ท้อถอย และจะพยายามจนกว่าจะแก้ปัญหานั้นลงได้ และเมื่อแก้ปัญหาได้แล้วก็จะนำสิ่งที่เป็นปัญหามาทบทวนวิธีการแก้ปัญหาของตนต่อไป เพื่อปรับปรุงสิ่งที่ยังมีข้อบกพร่องอยู่เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรือแก้ไขได้รวดเร็วขึ้น
2.เป็นเด็กมองโลกในแง่ดี
เด็กที่ได้รับการปลูกฝังหรือฝึกฝนให้เรียนรู้จักการพยายามแก้ไขปัญหา มักเชื่อว่าปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขได้ โดยไม่ได้มองว่าปัญหานั้นเกี่ยวข้องกับดวงไม่ดี เป็นความโชคร้าย แต่มองว่าปัญหาคือบททดสอบหนึ่ง ซึ่งก็พร้อมที่จะยอมรับและหาทางออกของปัญหา และเมื่อแก้ไขปัญหาได้ก็จะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในตัวเองอย่างมากด้วย
3.เป็นเด็กที่ใจเย็น ยิ้มเก่ง สามารถแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม
เด็กที่มี AQ ดีเกิดจากมี EQ หรือความฉลาดทางอารมณ์ที่ดีด้วย เพราะคนที่สามารถจัดการกับอารมณ์และควบคุมความคิดของตนเองได้จะเรียนรู้ว่า การทำสิ่งใดด้วยอารมณ์จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้สำเร็จได้ง่าย ดังนั้นส่วนใหญ่เด็กที่มี AQ จึงมักจะเป็นคนที่ควบคุมอารมณ์ได้ดี ใจเย็น มีความละเอียดลออในการคิด ความสัมพันธ์ของ Q ทั้งสองที่มีในตัวเด็กจะส่งผลทำให้เป็นเด็กที่มีความสุข ทั้งการแก้ไขปัญหา และสามารถทำงานเป็นทีมร่วมกับคนอื่นได้ดีอีกด้วย
อ่านต่อ เทคนิคเสริม AQ ให้ลูกมีความฉลาดในการแก้ปัญหา คลิกหน้า 2
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
4.เป็นเด็กที่รู้จักคิดและวิเคราะห์
เด็กที่ฉลาดในแก้ไขปัญหาส่วนหนึ่งมาจากการมี TQ หรือมีความฉลาดในการคิดแก้ปัญหาต่างๆ ในทุกสถานการณ์โดยวิเคราะห์และไตร่ตรองด้วยเช่นกัน เนื่องจากการแก้ไขปัญหาต้องใช้กระบวนการคิดเพื่อหาแนวทางหรือวิธีที่จะใช้แก้ไขปัญหา วิเคราะห์ถึงความน่าจะเป็น คิดอย่างมีวิจารณญาณ รวมถึงรู้จักปรับเปลี่ยนกระบวนการเพื่อหาวิธีที่เหมาะสมและดี เมื่อผสมผสานความคิดต่าง ๆ ออกมาได้ดีก็จะสามารถฝ่าฟันอุปสรรค แก้ไขปัญหาที่จากสิ่งที่คิดขึ้นได้ และจะนำไปสู่ความสำเร็จ
5.เป็นเด็กช่างสังเกตและมีความจำดี
นอกจากการแก้ไขปัญหาโดยวิธีกระบวนการคิด การเป็นเด็กช่างสังเกตของลูกจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวหรือ ประสบการณ์ จะนำมาซึ่งการเรียนรู้และนำสิ่งที่ได้พบเจอนำมาใช้ในการแก้ปัญหาได้ เด็กที่มี AQ ติดตัวจึงมักจะคอยสังเกตและจดจำสิ่งต่าง ๆ ได้ดี และสามารถนำมาใช้แก้ไขกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม
เทคนิคสร้างลูกให้ฉลาดแก้ปัญหา มีAQ ดี รู้จักเอาตัวรอด
คุณพ่อคุณแม่สามารถส่งเสริมพัฒนาความฉลาดด้าน AQ ให้กับเจ้าเล็กได้ด้วยกิจกรรมง่าย ๆ ใกล้ตัว อาทิเช่น
#เกมจับคู่
เกมจับคู่เป็นการฝึกการแก้ไขปัญหาอย่างง่าย ๆ และยังฝึกทักษะความฉลาดด้านอื่นได้ด้วย อุปกรณ์และวิธีการเล่นง่าย ๆ เพียงแค่เตรียมบัตรภาพที่มีรูปต่าง ๆ ที่เข้าคู่กันได้ เช่น รูปนักเรียนกับโรงเรียน รูปปลากับทะเล รูปรถกับถนน หรือจะเป็นตัวเลขกับรูปที่มีจำนวนเลขเหมือนกัน หรือภาพคู่ที่เหมือนกัน ฯลฯ มาวางสลับที่กัน เพื่อให้ลูกนำภาพที่เห็นมาจับคู่กัน นอกจากลูกจะได้แก้ปัญหาโดยการนำรูปวางให้ถูกคู่แล้ว ยังได้ฝึกการดิควิเคราะห์ ความจำและการสังเกตอีกด้วย
#เกมเรียงลำดับเหตุการณ์
ใช้บัตรภาพที่มีรูปเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น กิจวัตรประจำวัน เป็นภาพตื่นนอน แปรงฟัน รถโรงเรียน เรียนหนังสือ กินข้าว อาบน้ำ และเข้านอน วางสลับเพื่อให้ลูกลำดับเรื่องราวก่อนหลัง ลูกก็จะได้รู้จักวิธีการคิดแก้ไขว่าลำดับเหตุการณ์ใดถูกต้องที่สุด
#เกมค้นหาตัวเลข/ อักษร ที่หายไป
นำบัตรภาพตัวเลข 1-100 หรือตัวอักษร A-Z / ก-ฮ วางกระจายไว้บนพื้น แล้วให้ลูกหาตัวเลขหรือตัวอักษรมาเรียงกันให้ครบตามเวลาที่กำหนด คุณพ่อคุณแม่สามารถกำหนดกติกาให้เหมาะสมตามวัยของเจ้าตัวเล็กนะคะ สามารถเพิ่มอุปสรรคไปนอกจากนี้ได้ก็คือ นำภาพที่ไม่เข้าพวกมาวางปะปนกันไป เพื่อเพิ่มความยากง่ายของเกมได้ตามความเหมาะสม เกมนี้สามารถฝึกในเรื่องการแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดีที่เดียว เพราะเด็กจะต้องใช้คามพยายามในการหาตัวเลขหรือตัวอักษรให้ครบและให้ทันเวลา ฝึกเรื่องการควบคุมอารมณ์เมื่อเวลาใกล้จะหมด ฝีกสมาธิให้นิ่ง ถ้าลูกรู้จักควบคุมอารมณ์ได้ ไม่ร้อนรนเพื่อใช้ความพยายามในการหาต่อได้จนถึงเวลาสุดท้าย ก็อาจจะเอาชนะเกมนี้ได้อย่างไม่ยากเลยค่ะ
#เกม Jigsaw/ Puzzle
การเล่นจิ๊กซอว์จะช่วยพัฒนาทักษะการจับคู่และการเรียงลำดับ จะช่วยให้เด็ก ๆ ได้ลองใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์ เสริมทักษะในการแก้ไขปัญหาด่วยสติปัญญา ให้ลูกได้ฝึกคิด มีสมาธิ โดยไม่นำอารมณ์หรือความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ และเป็นเกมที่ช่วยฝึกความจำได้ดี เมื่อต่อภาพจิ๊กซอว์ตามโจทย์ด้วยตัวเองสำเร็จก็จะทำให้ลูกมีความมั่นใจในตัวเอง
จะเห็นได้ว่า วิธีการฝึกฝนและส่งเสริมการสร้าง AQ ให้ลูกรู้จักแก้ไขปัญหานั้นอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ควรสอนลูกให้เข้าใจด้วยว่า ปัญหาและอุปสรรคบางอย่างอาจไม่ได้แก้ไขง่ายหรืออาจต้องมีระยะเวลา ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะกลายเป็นคนล้มเหลวและอย่าเพิ่งสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ที่สำคัญ “กำลังใจ” จากพ่อแม่คือส่วนสำคัญที่สุดในวันที่ลูกผิดพลาด อย่าว่ากล่าวซ้ำเติม หรือบังคับกดดัน เพราะอาจจะกลายเป็นด้านลบสำหรับลูก และปิดโอกาสการพัฒนาการเรียนรู้ที่จะใช้ความฉลาดในการแก้ไขปัญหาของลูก
ทั้งนี้มีงานวิจัยพบว่าคนที่มี AQ สูง จะมีสุขภาพแข็งแรงไม่ค่อยเจ็บป่วย ไม่เหยาะแหยะ หากเจ็บป่วยจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าคนที่มี AQ ต่ำ ซึ่งเกิดรู้สึกท้อแท้ตลอดเวลา หากอยู่ในภาวะแบบนี้มากก็อาจถึงขั้นเป็นโรคซึมเศร้าได้ ดังนั้นการส่งเสริมพัฒนาการทางด้าน AQ ให้กับตัวเด็ก ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยสำหรับร่างกายและจิตใจเลยนะคะ เพราะนั่นหมายถึงการที่ลูกจะสามารถประสบความสำเร็จได้มากกว่าและใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้ด้วยตนเองอีกทางหนึ่งด้วยนั่นเอง.
ขอบคุณข้ออ้างอิงมูลจาก : ดร.แพง ชินพงศ์ www.kruupdate.com
อ่านต่อบทความที่น่าสนใจอื่นๆ :
สร้างลูกให้มี SQ (Social Quotient) ไม่ก้าวร้าว ไม่เอาเปรียบ ส่งผลต่อความสำเร็จในชีวิตอย่างมีความสุข
6 เทคนิคดี ๆ สร้าง MQ (Moral Quotient) ให้รู้ผิดชอบชั่วดี โตมาให้เป็นเด็กดีในสังคม
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่