” โรคภูมิแพ้ “ มีกี่ประเภท แล้วอาการแบบไหนที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าลูกของคุณกำลังเป็นอยู่!
นายแพทย์ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดเผยว่า จากสถิติของสมาคมโรคภูมิแพ้และอิมมูโนวิทยาแห่งประเทศไทยพบว่า เด็กไทยเป็นโรคภูมิแพ้สูงมากถึงร้อยละ 38 และพบในผู้ใหญ่ประมาณร้อยละ 20 และในปัจจุบันมีผู้ป่วยเป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึง 3 – 4 เท่าเมื่อเทียบกับ 10 ปีที่ผ่านมา
โรคภูมิแพ้ถูกจัดให้อยู่ในโรคที่พบบ่อยมากที่สุด ในประเทศไทย เรียกได้ว่าประชากรเกือบครึ่งหนึ่งของประเทศจะมีปัญหาเกี่ยวกับโรคนี้
สาเหตุหลัก ๆ นั้นได้แก่
-
กรรมพันธุ์
-
การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมจากสังคมชนบทเป็นสังคมเมือง
-
คนขาดการออกกำลังกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอ จึงติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
-
เด็กดื่มนมแม่ลดน้อยลง
-
การสูบบุหรี่
-
สัตว์เลี้ยง
-
การตกแต่งบ้านด้วยการปูพรม เป็นต้น
โรคภูมิแพ้ คืออะไร?
คือโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย ไวต่อโปรตีน หรือสารก่อภูมิแพ้จากสิ่งแวดล้อม ซึ่งปกติแล้ว สารเหล่านี้จะไม่มีผลอันตราย ต่อผู้ที่มีภูมิคุ้มกันปกติ ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้จะไวต่อ ฝุ่น เชื้อราในอากาศ ขนสัตว์ เกสรดอกไม้ หรือแม้แต่อาหารที่ทานเป็นประจำ
โรคภูมิแพ้มีกี่ประเภท คลิก!
เครดิต: สสส.
คุณพ่อคุณแม่ทราบกันหรือไม่คะว่า โรคภูมิแพ้ที่ว่านี้มีกี่ประเภท แล้วลูกของมีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่ วันนี้ Amarin Baby & Kids เตรียมคำตอบมาให้ทุกท่านแล้วละค่ะ … โรคนี้สามารถแบ่งออกได้ตามอวัยวะของโรค อันได้แก่
โรคภูมิแพ้ในระบบทางเดินหายใจ หรือเรียกอีกอย่างว่า โรคแพ้อากาศ
ภูมิแพ้ประเภทนี้จะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับจมูกค่ะ เพราะจมูกเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของระบบทางเดินหายใจ เพื่อใช้ในการกรองฝุ่น หรือสิ่งแปลกปลอม และใช้ปรับอุณหภูมิของร่างกาย ก่อนที่จะผ่านลงไปสู่ยังหลอดลม ซึ่งภายในจมูกนั้นจะมีโพรงจมูกค่ะ และเมื่อเยื่อบุโพรงจมูกสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดโรคเป็นระยะเวลานาน ก็จะทำให้เกิดการอักเสบ
ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ประเภทนี้ จะมีการตอบสนองไวต่อกลิ่นหรืออากาศที่หายใจเข้าไปสูงและไวกว่าคนปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกสรดอกไม้ ฝุ่น ไรฝุ่น ขนสัตว์และควันต่าง ๆ เป็นต้น
อาการของโรคที่พบคือ
- น้ำมูกไหล (น้ำมูกสีใส)
- จามบ่อย คันในจมูก
- มีเสมหะลงคอ
- คันตา
- บางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย
อาการเหล่านี้จะเริ่มเป็นรุนแรงมากขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว โดยช่วงเวลาที่ทำให้เกิดโรคได้ง่ายก็คือ ช่วงเช้าและกลางคืน จะเป็นอยู่ประมาณ 2 – 3 ชั่วโมงจึงจะดีขึ้น หากเป็นระยะเวลานานก็อาจจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนนั่นก็คือ โรคไซนัส และนอนกรน เป็นต้น
ดูแลรักษาได้ด้วยการ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และดูแลห้องนอนไม่ให้สกปรก หมั่นซักและนำเครื่องนอนออกตากแดด เพื่อฆ่าตัวไรฝุ่น พยายามหลีกเลี่ยงการใช้หมอนหรือที่นอนที่ทำจากนุ่ม ไม่ใช้พรม และงดการสูบบุหรี่ในบ้าน และในเด็กทารกนั้น แนะนำให้ทานนมแม่อย่างน้อย 6 เดือน เพื่อเป็นการเสริมภูมิต้านทาน
หากจำเป็นจะต้องรับประทานยาก็ให้ใช้ยาต้านฮีสตามีน หรือยาแก้แพ้รับประทาน ยาลดจมูกบวม แก้คัดจมูก หมั่นล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ และสำหรับใครที่มีอาการหอบหืด ก็ให้ใช้ยาพ่นจมูกเป็นประจำ
คลิกอ่านภูมิแพ้ประเภทที่สอง
ภูมิแพ้ผิวหนัง ลมพิษ ผิวหนังอักเสบ
จัดเป็นโรคหนึ่งที่ยังไม่ทราบสาเหตุได้อย่างแน่ชัด และมีแนวโน้มว่า เกิดจากพันธุกรรมมากที่สุด ซึ่งผิวหนังของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีความไวต่อสภาพแวดล้อมรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นสภาพอากาศที่ร้อน เย็น แห้ง ชื้น และมักจะเป็นมากขึ้นในช่วงฤดูหนาว เพราะความชื้นค่อนข้างต่ำ หรือบางทีแค่ความเครียด หรือความวิตกกังวลมากเกินไป ก็สามารถไปกระตุ้นโรคดังกล่าวได้เช่นกัน
อาการของโรคคือ มีอาการคัน เกิดตุ่มนูน หรือผื่นแดง ถ้าผื่นนี้เป็นมานาน ก็จะเข้าสู่ระยะเรื้อรัง และจะพบว่าเป็นแผ่นหนาแข็ง มีขุย ทำให้ผิวหนังเป็นรอยแผลเป็น และมักจะเป็นบริเวณหน้า คอ ข้อพับ ข้อศอก มือและเท้า บางรายอาจมีตุ่มหรือผื่นหนองร่วมด้วย พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
การดูแลรักษานั้น ทำได้ด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้โรคกำเริบมากขึ้น ไม่ปรับอุณหภูมิในห้องแอร์ให้ต่ำเกินไป หลีกเลี่ยงการอาบน้ำเย็นหรือร้อนจัด เน้นอาบน้ำด้วยอุณหภูมิปกติ และใช้สบู่อ่อน ๆ เน้นฟอกบริเวณข้อพับ ขาหนีบ ลำคอ และรักแร้ อีกทั้งควรหลีกเลี่ยงอาหารที่จะทำให้เกิดโรค จำพวกนมวัว ขนมปัง และอาหารทะเล เป็นต้น
ในรายที่ต้องรับประทานยา ให้รับประทานยาในกลุ่มฮีสตามีนหรือยาแก้แพ้ เพื่อเป็นการลดอาการด้วยการให้ยารับประทานวันละ 2 – 3 ครั้งติดต่อกันเว้น 5 – 7 วันหรือใช้ยาทากลุ่ม เสตรียรอยด์ ที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบของผื่นผิวหนัง แต่ยาดังกล่าวจะต้องอยู่ในการดูแลจากแพทย์เท่านั้น
คลิกอ่านภูมิแพ้ประเภทที่สาม
ภูมิแพ้ที่เกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร
เป็นโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากปฏิกิริยาการแพ้อาหารที่พบได้บ่อย ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายนั้นทำงานผิดปกติ เมื่อทานอาหารที่แพ้เข้าไป ก็จะก่อให้เกิดอาการของโรคที่พบได้บ่อย ๆ นั้น แบ่งออกเป็น
-
แบบเฉียบพลัน จะเกิดขึ้นทันทีที่รับประทานอาหารในกลุ่มเสี่ยง
-
แบบแฝง ไม่ค่อยแสดงอาการแพ้ แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อรับประทานอาหารกลุ่มนั้นสะสมมากขึ้นเรื่อง ๆ ยกตัวอย่างเช่น นม ไข่ ถั่ว เป็นต้น เมื่อร่างกายรับไม่ไหว ก็จะแสดงอาหารออกมา โดยกลุ่มแฝงนี้ ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเรื้อรังอีกหลายชนิดอีกด้วยนะคะ ยกตัวอย่างเช่น หวัดเรื้อรัง หูน้ำหนวกเรื้อรัง ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ข้ออักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ หรือบางกรณีก็อาจจะมีความผิดปกติทางอารมณ์ร่วมด้วย เช่น ภาวะซึมเศร้า สมาธิสั้น เป็นต้น
อาการของโรค อาจจะเกิดขึ้นทันที หรืออาจจะนาน 2 ชั่วโมงภายหลังจากรับประทานอาหารกลุ่มเสี่ยงเข้าไป ถึงแม้ว่าจะรับประทานเพียงเล็กน้อย ก็ส่งผลให้เกิดอาการได้คือ ผิวหนังอักเสบ ลมพิษแบบเฉียบพลัน บวมบริเวณริมฝีปาก หน้า ลิ้น คอ และส่วนอื่น ๆ ของร่างกายเช่น คัดจมูก หายใจหอบ เจ็บหน้าอก ปวดท้อง ท้องร่วง คลื่นไส้อาเจียน บางรายที่แพ้ถึงขั้นรุนแรงถึงขั้นหมดสติหรือเสียชีวิตได้เลยละค่ะ
การดูแลรักษานั้น ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงกลุ่มอาหารที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง รับประทานยาแก้แพ้ Cetirizine โดยในผู้ที่เป็นภูมิแพ้อาหาร แบบแฝง ควรงดอาหารชนิดนั้นเป็นเวลา 3 – 6 เดือน เพื่อให้ร่างกายได้กำจัดออกไปได้หมดก่อน และควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจสอบอาหารที่ตัวเองแพ้ ในบางรายที่แพ้มากก็อาจจะต้องได้รับยาฉีดชนิด Epinephrine
คลิกอ่านภูมิแพ้ประเภทสุดท้ายได้ที่หน้าถัดไป
ภูมิแพ้ที่เกิดจากหลายระบบร่วมกัน
โรคภูมิแพ้ประเภทสุดท้ายนั้น เกิดได้ในคนที่เป็นโรคภูมิแพ้หลายระบบ หรือหลายชนิดตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไปในคนคนเดียว บางคนอาจเป็นโรคภูมิแพ้อากาศ คัดจมูก จามบ่อย มีน้ำมูก แต่ก็มีอาการ ปวดท้อง ท้องเสีย อาเจียน ซึ่งเป็นอาการของภูมิแพ้อาหารร่วมด้วยซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ ทั้งจากกรรมพันธุ์ และสิ่งแวดล้อม ในปัจจุบันมีแนวโน้มของผู้ที่ภูมิแพ้ ในหลายระบบ เพิ่มมากขึ้น เพราะสภาพแวดล้อม และการใช้ชีวิตของคนเมือง ที่แย่ลงเรื่อย ๆ ทำให้ตอนนี้คนหนึ่งคน สามารถเป็นภูมิแพ้ ได้แทบจะทุกระบบแล้วนั่นเองละค่ะ
อาการของโรค ที่พบบ่อยนั้นได้แก่
- พบว่าเป็นที่ตา: เรียกว่า เยื่อบุตาอักเสบ จะมีอาการเคืองตา แสบตา หรือคันที่หัวตา น้ำตาไหล และหนังตาบวม
- พบว่าเป็นที่จมูก: เรียกว่า เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบ หรือโรคภูมิแพ้อากาศ จะมีอาการ คัดจมูก น้ำมูกไหลมีสีใส จามบ่อย คันจมูก มีเสมหะไหลลงคอ และคันเพดานปากหรือคอ
- พบว่าเป็นที่ผิวหนัง: เรียกว่า โรคผิวหนังอักเสบ จะมีอาการคัน มีผดผื่นขึ้นตามตัว ผื่นมักแห้ง แดง มีสะเก็ดบาง ๆ ในเด็กเล็ก มักเป็นที่แก้ม ก้น หัวเข่า และข้อศอก ในผู้ใหญ่มักเป็นที่ข้อพับของแขนและขา นอกจากนั้นผิวหนัง อาจเกิดการอักเสบ จากการสัมผัสกับสารบางชนิดที่แพ้ได้ เช่น ผงซักฟอก เครื่องสำอางค์ จะเป็นตุ่มนูนคัน หรือใหญ่เป็นปื้นนูนแดง และคันมากที่เรียกว่า “ลมพิษ” ซึ่งมักจะเกิดจากการแพ้อาหาร โดยเฉพาะอาหารทะเล แพ้แมลงกัดต่อย และการแพ้ยา
- พบว่าเป็นที่ระบบทางเดินอาหาร: เรียกว่า โรคแพ้อาหาร จะมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ปากบวม ปวดท้อง ท้องอืด ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาหารที่พบว่าเป็นสาเหตุให้เกิดอาการ ได้แก่ นมวัว ไข่ ถั่ว อาหารทะเล ผักและผลไม้บางชนิด ผงชูรส สารกันบูด สารแต่งกลิ่นและสี
การดูแลรักษานั้น ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงอาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ หมั่นออกกำลังกาย หมั่นทำความสะอาดเครื่องนอนและสิ่งของภายในบ้านเป็นประจำ งดเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่มีขนทุกชนิด เป็นต้น
คุณแม่ลองหมั่นสังเกตดูนะคะว่า ลูกน้อยมีอาการตามที่ได้อธิบายไปแล้วบ้างหรือไม่ หากไม่แน่ใจ แนะนำให้คุณแม่พาน้องไปรับการรักษาด้วยการตรวจเช็กสารที่ก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ก่อน คราวนี้แหละค่ะ เราจะได้รู้เสียทีว่า ลูกของเราเป็นโรคภูมิแพ้อะไรบ้างหรือไม่ จะได้รู้และป้องกันได้อย่างทันท่วงที
เครดิต: Honestdocs
อ่านเรื่องราวที่น่าสนใจเพิ่มเติม:
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่