โรคอุจจาระร่วงในเด็ก คืออะไร? ทำไมถึงอันตรายต่อชีวิตลูก ทำความเข้าใจไปพร้อม ๆ กัน กับเรื่องจริงที่แม่อยากแชร์!
คุณแม่ท่านนี้ได้โพสต์เรื่องราวของลูกผ่านเว็บไซต์ดังอย่าง Pantip ว่า ลูกเริ่มมีอาการเป็นไข้รุมเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา แล้วก็ถ่ายบ่อยมาก พาเขาไปหาหมอ หมอก็ตรวจอาการกลับบ้านมาได้ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ไข้ และยาแก้ท้องเสียมากิน วันต่อมาอาการไม่ดีขึ้นกลับดูยิ่งแย่ลง อึตอนนี้เป็นมูกและมีเลือดปน ไข้ก็ไม่ยอมลดแต่เพิ่มขึ้นเลยพาเข้าไปหาหมออีกทีวันศุกร์ หมอเห็นอาการไม่ดี แบบนี้ค่อนข้างอันตรายเพราะลูกวัดไข้มาได้ 39.2 องศา อาการคือ ไข้ขึ้นสูง ท้องเสียรุนแรง ถ่ายมากกว่าวันละ 6 รอบนอกจากนั้นลักษณะอึเป็นมูกและเลือดปน ข้าวไม่ค่อยยอมกิน หมอเดาว่าคงเกิดอาการติดเชื้อจึงต้องแอดมิดเข้าโรงพยาบาลนอนไปได้วันแรกหมอก็เข้ามาดูอาการเขามีอาการซึมลงไป ยังอึบ่อย ต้องเจาะให้น้ำเกลือน่าสงสารลูกมาก
แต่หมอก็ยังตรวจไม่พบเชื้อเดาว่าเชื้อคงกระจายตัว นอนอยู่โรงพยาบาลสองวันอาการยังไม่โอเค หมอว่ายัง 50-50 เพราะส่วนหนึ่งลูกไม่ค่อยยอมกินยาด้วยทางที่ดีคือให้ยาทางสายน้ำเกลือวันต่อมาในที่สุดก็พบเชื้อจนได้เป็นเชื้ออุจจาระร่วงชนิด salmonella group B
วันที่สามร่าเริงขึ้นมากและยอมกินข้าว คราวนี้กินเยอะมาก ปกติไม่ยอมกินข้าวเละ ๆ พวกข้าวต้มพวกโจ๊ก แต่คราวนี้กินเยอะกินดีมากและระหว่างวันก็ร้องจะอั้ม ๆ ไม่ก็ปัง ๆ (ชอบกินขนมปัง) อันนี้ถือว่าดีเลย ไข้ตอนนี้ไม่มีแล้ว หมอให้กลับบ้านได้ในวันที่3 ก็เก็บข้าวของกลับบ้านเลย อยากกลับบ้านจะแย่ แต่กลับบ้านมาปุ๊บน้ำมูกดันไหล เหมือนจะหวัดต่อ หมอให้ยามากินเหมือนเดิมโดยยาฆ่าเชื้อต้องกินติดต่อกันอีก 1 อาทิตย์ นัดอีกทีก็วันศุกร์หน้า หมดค่ารักษาค่ายาคราวนี้ปาดเหงื่อเลยละคะ
ดังนั้นป้องกันไว้ดีกว่านะคะเอามาแชร์ประสบการณ์กันคะ ไม่เป็นจะดีกว่ามาก ๆ ลูกน่าสงสาร ยิ่งตอนแบ่งอึนี่ทรมานหน้าแดงร้องไห้จ้าเลย เจ็บจริง ๆ ท่าทาง และยังต้องเสียค่าดูแลค่ารักษาอีก
เชื้อโรคนี้มาจากเนื้อสัตว์เป็นส่วนใหญ่แต่ก็มีสาเหตุจากผักได้ด้วย นมที่ชงแล้ววางทิ้งไว้ อาหารที่วางทิ้งไว้ ก็เป็นเหตุให้เกิดเชื้อพวกนี้ได้ ทางที่ดีพยายามรักษาความสะอาด ลูกอายุ 1ขวบ5เดือน กำลังเป็นช่วงหยิบจับมั่วเลย ต้องคอยเช็ดมือ อาหารต้องทำให้ร้อนสุกใหม่ๆน่าจะช่วยได้มาก
ทำความรู้จักกับโรคเพิ่มเติมได้ที่หน้าถัดไป
เครดิต: Pantip
โรคอุจจาระร่วง หมายถึงอะไร?
โรคอุจจาระร่วง หมายถึง ภาวะที่มีการถ่ายอุจจาระผิดปกติ ซึ่งอุจจาระที่ถ่ายออกมานั้นมีลักษณะเหลวจำนวน 3 ครั้งติดต่อกัน หรือมากกว่า หรือการถ่ายเป็นน้ำที่มากกว่า 1 ครั้ง ใน 1 วัน หรือถ่ายเป็นมูก หรือมีเลือดปน อย่างน้อย 1 ครั้ง
สาเหตุของ โรคอุจจาระร่วงในเด็ก เกิดจาก การได้รับเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตซัว ปรสิต และหนอนพยาธิ ที่ติดมากับอาหารหรือเครื่องดื่มที่ไม่สะอาด รวมถึงการไม่ล้างมือก่อนการปรุงอาหาร และภาชนะที่ใส่อาหารหรือเครื่องดื่มนั้นสกปรกหรือมีเชื้อโรคปะปนอยู่ เป็นต้น
สามารถติดต่อกับผู้อื่นได้หรือไม่?
โรคอุจจาระร่วง นั้นสามารถติดต่อได้ค่ะ โดยการสัมผัสอุจจาระ อาเจียน อาหารหรือเครื่องดื่มของผู้ป่วย และมีพาหะที่นำไปนั่นก็คือ “แมลง” โรคดังกล่าวนี้ จะแบ่งระยะการฟักตัวได้จากเชื้อโรคที่ได้รับดังนี้
- เชื้อแบคทีเรีย มีระยะฟักตัวประมาณ 2 – 7 วัน
- เชื้อไวรัส มีระยะฟักตัวค่อนข้างสั้นหากเทียบกับเชื้อแบคทีเรีย ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 – 2 วัน
- เชื้อปรสิต มีระยะฟักตัวนานที่สุด โดยใช้ระยะเวลานานเป็นสัปดาห์หรือบางครั้งอาจนานกว่านั้น
ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?
หากพบว่าลูกเป็น โรคอุจจาระร่วงในเด็ก แนะนำให้ปฏิบัติตัวด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ค่ะ
- รับประทานหรือดื่มของเหลวให้มากกว่าปกติ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันร่างกายขาดน้ำ
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อเป็นการป้องการการขาดสารอาหาร ยกตัวอย่างเช่น
- เด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่นั้น ควรดื่มนมแม่ให้มากขึ้นกว่าปกติ
- เด็กที่ดื่มนมผสม ให้ผสมนมตามปกติและให้ดื่มครึ่งหนึ่งแล้วสลับกับการดื่มสารละลายน้ำตาลเกลือแร่
- เด็กที่มีอายุ 6 เดือนขึ้นไป ให้รับประทานอาหารเหลวที่ย่อยง่าย เช่น ข้าวต้ม น้ำข้าวต้ม โจ๊ะ ปลาต้อม หรือเนื้อสัตว์ที่ต้มเปื่อยแล้ว เป็นต้น
- สำหรับผู้ใหญ่ ควรรับประทานอาหารที่อ่อนและย่อยง่าย ในช่วงนี้ให้ลดอาหารที่มีรสจัดและสุก ๆ ดิบ ไปก่อน
เมื่อไหร่ควรไปพบแพทย์?
หากพบว่าลูกหรือสมาชิกในบ้านที่กำลังป่วยเป็นโรคนี้ มีอาการดังต่อไปนี้ แนะนำให้รีบพาไปพบแพทย์โดยทันทีค่ะ
- ถ่ายเป็นน้ำไม่หยุด และออกมาทีครั้งละมาก ๆ
- อาเจียนบ่อย
- รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำไม่ได้
- เริ่มมีไข้ ตัวร้อน
- รู้สึกกระหายน้ำมากกว่าปกติ
- ผู้ป่วยอ่อนเพลีย หน้าตาอิดโรย
- ถ่ายอุจจาระออกมามีมูกเลือดปน
ป้องกัน โรคอุจจาระร่วงในเด็ก อย่างไร?
- ในการเลือกอาหารนั้น จะต้องมั่นใจว่าได้ผ่านกระบวนการผลิตที่ปลอดภัยแล้ว ยกตัวอย่างเช่น การเลือกนมนั้น ควรเลือกนมที่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ และในการเลือกผักผลไม้ ก็ควรล้างผักผลไม้ด้วยน้ำที่สะอาดในปริมาณมาก ๆ ก่อนการรับประทานทุกครั้ง
- ไม่ทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารที่มีแมลงวันตอม หากจำเป็นจะต้องเก็บอาหารที่เหลือจากการรับประทาน ก็ควรที่จะเก็บเอาไว้ในตู้เย็นให้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม และควรอุ่นให้เดือดก่อนรับประทานในครั้งต่อไปทุกครั้ง
- สำหรับเด็กแรกเกิดนั้น ควรส่งเสริมให้มีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ได้มีการทดลองวิจัยจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO พบว่า เด็กที่ไม่ได้กินนมแม่นั้นมีอัตราเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคดังกล่าวมากกว่าเด็กที่กินนมแม่มากถึง 63 เปอร์เซ็น สาเหตุเพราะนมแม่มีส่วนช่วยในการป้องกันการติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเด็กแรกช่วง 6 เดือนแรกที่ระบบภูมิคุ้มกันของลูกยังไม่สมบูรณ์ทำให้ต้องพึ่งพากลไกการป้องกันเชื้อโรคจากสารภูมิคุ้มกันของมารดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากโคลอสตุ้ม (Colostrum)
- ล้างมือให้สะอาดทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากการเข้าห้องน้ำ และสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเล็ก เพราะเด็ก ๆ มักชอบที่จะหยิบจับอะไรเข้าปาก ดังนั้นต้องหมั่นทำความสะอาดมือลูก และเริ่มปลูกฝังให้ลูกล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่ทุกครั้ง
- เก็บอาหารและภาชนะให้ดี ควรจัดเก็บภาชนะและอาหารให้ห่างไกลจากแมลง หนูและสัตว์ต่าง ๆ
- ใช้น้ำที่สะอาดในการปรุงอาหาร และควรระวังเป็นพิเศษสำหรับการเตรียมน้ำให้เด็กหรือทารกดื่ม
- เพื่อไม่ให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงวัน คุณพ่อคุณแม่ควรที่จะกำจัดอุจจาระเด็กด้วยการทิ้งหรือปิดให้มิดชิด
- ถ่ายอุจจาระในส้วมที่ถูกสุขลักษณะ
โรคนี้ส่วนใหญ่หากเป็นแล้วก็จะสามารถหายได้เอง แต่ควรที่จะป้องกันและรักษาร่างกายไม่ให้เกิดภาวะการขาดน้ำ และรับประทานอาหารที่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็ก ๆ เพราะหากร่างกายขาดน้ำมากเกินไป อาจส่งผลให้ร่างกายของลูกเกิดอาการช็อคได้!
เครดิต: สสส. หมอชาวบ้าน และ Thai Breastfeeding
อ่านเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจเพิ่มเติม
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่