การเล่นของลูกวัย 3 – 6 ปี ไม่ใช่แค่สร้างความสนุกให้เขาเท่านั้น แต่ยังดีต่อพัฒนาการทางด้านร่างกายของเขาอีกด้วย สถานที่เล่นของลูกก็สำคัญ พ่อแม่ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เราสามารถจัดพื้นที่เล่นให้ลูกได้ มีที่ไหนบ้างมาดูกันค่ะ
การเล่นของลูก นอกจากเรื่องจะเล่นอะไรกันดี ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ พื้นที่เล่นของเด็ก ซึ่งไม่ได้จำกัดแค่ที่สนามเด็กเล่น คุณพ่อคุณแม่สามารถจัดสรรพื้นที่ในบ้าน หรือประยุกต์พื้นที่ในชุมชนให้เป็นพื้นที่เล่นของเด็กได้ หัวใจสำคัญคือต้องคำนึงความแตกต่างทางเพศ บุคลิกภาพ ความสามารถทางกาย และความต้องการพิเศษของเด็กค่ะ เรามีคำแนะนำเรื่องการจัดพื้นที่ในบ้านและในชุมชนมาแบ่งปันกัน
จัดพื้นที่เล่นแบบนี้ลูกก็เล่นสนุกได้นะ
- ในบ้าน ไม่ใช่ทุกบ้านจะมีขนาดใหญ่โต แต่ถ้าจัดสรรพื้นที่ดีๆ ก็สามารถเพิ่มมุมเล่นให้เด็กๆได้ขยับแข้งขยับขาได้ ลองเลือกการเล่นที่ใช้อุปกรณ์น้อยๆ แต่เน้นได้ออกแรง เช่น มุมกระโดดเชือก หรือตีลังกา เป็นต้น
- ชุมชน หากบ้านที่คุณอยู่เป็นหมู่บ้านลองหารือกับสมาชิกในชุมชนเพื่อจัดสรรพื้นที่กิจกรรมร่วมกันหนึ่งวันในทุกสัปดาห์ เช่น กิจกรรมบ่ายวันอาทิตย์ ปิดถนนเส้นเล็กในชุมชน ให้เด็กได้วิ่งไล่จับ หรือเล่นการละเล่นไทยอื่นๆ เช่น มอญซ่อนผ้า ซึ่งนอกจากจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ในชุมชนแล้ว ยังทำให้เด็กๆ ได้มาพบปะออกกำลังกายกัน ลดพฤติกรรมการติดจออีกด้วย
- พื้นที่ว่างใต้ทางด่วน สำหรับในกรุงเทพฯ บริเวณที่มีทางด่วน ชุมชนสามารถจัดการพื้นที่ให้สะอาดและปลอดภัย เพื่อกระตุ้นให้เด็กออกมาเล่นกิจกรรมที่หลากหลายในเวลาว่างได้
- ธรรมชาติรอบตัว บ้านไหนที่อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติ อาจจะเป็นสวนหลังบ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ผ่านการเล่นกับธรรมชาติรอบตัว เช่น การห้อยโหนหรือปีนป่ายต้นไม้ จะช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะทั้งร่างกาย สังคม และสมอง
Active Play คือการเล่นสนุกได้เหงื่อแบบฟรีฟอร์ม
เด็กอายุ 5-7 ปี
- เล่นเดี่ยว = ปีนป่าย ว่ายน้ำ
- เล่นคู่ = ขว้างรับลูกบอล ส่งบอลไปมา
เด็กอายุ 8-14 ปี
- เล่นคู่ = กระโดดเชือก แบดมินตัน เทนนิส
- เล่นกลุ่ม = ขี่จักรยานเที่ยวเป็นกลุ่มในชุมชน ชักเย่อ เซปักตะกร้อ
การออกมาเล่นสำหรับเด็กในแต่ละช่วงวัย
- เด็กอายุ 3-5 ปี เคลื่อนไหวให้เป็นขยับให้สนุก
- เด็กอายุ 6-8 ปี รู้จักการควบคุมกล้ามเนื้อมัดใหญ่และอุปกรณ์สร้างทักษะการเคลื่อนไหวที่ยากๆ
- เด็กอายุ 9-12 ปี รู้จักความเป็นทีมรู้จักน้ำใจนักกีฬา
กิจกรรมเล่น ไม่จำเป็นต้องจำเจก็ได้นะ
- การละเล่นแบบไทยๆ เช่น ขี่ม้าส่งเมือง ชักเย่อ หรือเซปักตะกร้อ ช่วยเติมพลังให้สมอง พัฒนาทักษะสังคมและร่างกาย
- ศิลปะการต่อสู้ มวยไทย เทควันโด ยูโด ก็เป็น Active Play อีกอย่างที่ช่วยพัฒนาสมอง
- เด็กบางคนอาจชอบเล่นกับอุปกรณ์มีล้อ เช่น สเกตบอร์ด หรือโรลเลอร์เบลด นั่นก็จัดเป็นการเล่นแบบแอ็กทีฟ
- หรือถ้าไม่มีอุปกรณ์ แต่อยู่ใกล้ธรรมชาติ การปีนป่ายหรือห้อยโหน ก็ดูคึกคักและสนุกสนานดี
ข้อดีของการเล่นที่คุณอาจไม่รู้
- ลดภาวะเสี่ยงต่อโรคอ้วน
- ลดโอกาสเสี่ยงการติดยาเสพติดหรือเซ็กซ์ไม่ปลอดภัยและท้องในวัยเรียน
- ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลง
- ลดโอกาสในการเกิดโรคหัวใจเส้นเลือดสมองตีบมะเร็งและเบาหวาน
เรื่อง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ภาพประกอบ : shutterstock