AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

สอนลูกมีความฉลาดทางอารมณ์ ด้วยการสร้าง 7 นิสัยเพิ่มสุขนี้!

การสร้าง ความฉลาดทางอารมณ์ ของลูก หรือ EQ ไม่ใช่เรื่องไม่ยาก เพียงแต่คุณพ่อคุณแม่ใส่ใจต่อพัฒนาการของลูกในแต่ละช่วง และทำความเข้าใจกับธรรมชาติของลูกในแต่ละช่วงวัยเท่านั้น

อีคิว (EQ) กับ ไอคิว (IQ) เหมือนกันตรงที่เป็นความฉลาด แต่ความฉลาดทางสมองหรือไอคิวนั้นปรับเปลี่ยนได้ยาก ต่างจากอีคิวหรือความฉลาดทางอารมณ์ ที่เราสามารถปรับปรุงแก้ไขได้

EQ = Emotional Quotient คือความฉลาดทางอารมณ์ สามารถแยกแยะควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี

IQ = Intelligence Quotient คือเชาว์ปัญญา

ซึ่งสำหรับคุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่แล้ว ย่อมยากให้ลูกมี IQ ดีๆ แต่การเลี้ยงลูกที่ดีต้องฝึกให้มี EQ ที่ดีควบคู่กันไปด้วย เพราะนอกจากลูกน้อยจะต้องมีความฉลาดในการเอาตัวรอดแล้ว ก็จำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นให้ได้อีกด้วย เพื่อให้ประสบความสำเร็จในชีวิต

โดย ความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ คือ ความสามารถทางอารมณ์ในการที่จะช่วยให้ลูกน้อยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสร้างสรรค์และมีความสุข ซึ่งการรู้จักความฉลาดทางอารมณ์ของตนเองเพื่อการพัฒนาและการใช้ศักยภาพตนเองในการดำเนินชีวิตครอบครัว การทำงานและการอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตนั่นเอง

องค์ประกอบของ EQ ความฉลาดทางอารมณ์

องค์ประกอบพื้นฐานของความฉลาดทางอารมณ์ มีดังนี้

อ่านต่อ >> 7 นิสัยดี สร้าง ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ของลูกให้สูงลิ่ว” คลิกหน้า 2

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

คุณลักษณะของเด็กที่มี EQ ดี

Daniel Goleman ได้จำแนกความฉลาดทางอารมณ์ ออกเป็น 2 ทักษะใหญ่ๆ ดังนี้

  1. ทักษะการจัดการตนเอง (Self-Management Skills) ได้แก่ ความสามารถในการรู้จักตนเองทั้งจุดเด่นและจุดด้อย ความสามารถในการพิจารณาไตร่ตรองอย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจ ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ ความมุ่งมั่นที่จะดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม ซื่อสัตย์สุจริต มีความขยันขันแข็ง มุ่งมั่นในการทำงาน การคิดเชิงบวก (Positive Thinking) และไม่ท้อถอยเมื่อพบกับปัญหาหรืออุปสรรค
  2. ทักษะการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น (Relationship Skills) ได้แก่ ความสามารถในการเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา มีทักษะการเข้าสังคม รู้จักระมัดระวังคำพูด รู้ว่าสิ่งใดควรทำสิ่งใดไม่ควรทำ รู้กาลเทศะ การสร้างความน่าเชื่อถือและไว้วางใจ ความสามารถในการโน้มน้าว ชักจูงให้ผู้อื่นคล้อยตามความคิดเห็นหรือร่วมมือด้วย

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาการประเมินความฉลาดทางอารมณ์เด็ก ซึ่งจะช่วยให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ได้ทราบถึงจุดดีจุดเด่นของลักษณะความฉลาดทางอารมณ์ที่ควรส่งเสริมและจุดอ่อนที่ควรพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถใช้ในการติดตามเพื่อดูพัฒนาการทางอารมณ์ว่ามีความก้าวหน้ามากน้อยเพียงใดเมื่ออายุเพิ่มขึ้น โดยการประเมินความฉลาดทางอารมณ์เด็กจากคุณลักษณะ 3 ด้าน คือ ดี เก่ง และสุข ดังนี้

♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥

7 นิสัยดี สร้าง ความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ของลูกให้สูงลิ่ว

1. EQ ดี เริ่มที่พ่อแม่

เพราะพ่อแม่คือคนที่อยู่ใกล้ชิดลูก คือตัวอย่างที่ดีที่สุดของลูก ถ้าพ่อแม่เอาแต่เกรี้ยวกราด โมโห เหวี่ยงใส่ลูกบ่อยๆ ลูกก็จะซึมซับอารมณ์ที่ว่านี้ไปจากพ่อแม่ เขาจะโตขึ้นกลายเป็นเด็กที่มีอารมณ์รุนแรง เกรี้ยวกราดง่าย แต่ถ้าคุณแม่อยากให้เขาเป็นเด็ก EQ ดี ยิ้มแย้มมีความสุข ก็ต้องเริ่มต้นจากพ่อแม่ที่อารมณ์ดี พูดคุยกับลูกด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ใจเย็นกับลูก แล้วลูกจะเป็นเด็กอารมณ์ดีไปด้วย

2. ช่วยเฟ้นหาความสามารถพิเศษในตัวลูก แล้วคอยให้กำลังใจ

แน่นอนว่าลูกๆ อาจยังไม่รู้ว่าตัวเองมีความสามารถพิเศษด้านไหน คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยดูแลและสังเกตอย่างใกล้ชิด ถ้าเห็นว่าลูกชอบวาดรูป แม้จะยังไม่สวยหรือดูไม่ค่อยออกว่าวาดเป็นรูปอะไร แค่ลูกจับดินสอหรือระบายสีเป็นประจำ ขอให้คุณพ่อคุณแม่ลองสนับสนุนหรือช่วยไกด์ให้ลูกค่อยๆ วาดเป็นรูปเป็นร่าง แล้วอย่าลืมให้กำลังใจด้วยการปรบมือ ยิ้มแย้ม หรือชมลูกบ่อยๆ เขาก็จะเป็นเด็กที่มี EQ ดีในอนาคตได้

อ่านต่อ >> นิสัยช่วยสร้างความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) ของลูกให้สูงลิ่ว” คลิกหน้า 3

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

 

 

3. ให้ลูกสวดมนต์ และทำสมาธิ

วิธีนี้นอกจากจะทำให้แกเป็นเด็กที่มีสมาธิขึ้นแล้ว ยังรู้จักควบคุมอารมณ์ตัวเองได้มากขึ้น ยิ่งฝึกตั้งแต่เด็กรับรองว่าจะเป็นเด็กที่ใจเย็น มีสติอยู่กับตัว

♥ Must read : สวดมนต์ ก่อนนอน ช่วย ฝึกสมาธิเด็ก

4. ลูกต้องหัดแสดงความคิดเห็นและรับฟังเป็น

อาจจะหาเวลาพูดคุย ให้ลูกๆ ถาม-ตอบโอกาสสมมุติต่างๆ เช่น ถ้าเวลามีเพื่อนมาดึงของเล่นในมือหนูไป หนูจะทำอย่างไร หรือทำไมหนูถึงไม่ชอบ…. แล้วปล่อยให้เด็กๆ พูดสิ่งที่อยู่ในใจออกมาคุณพ่อคุณแม่ก็ต้องพูดคุยถึงเหตุผลและให้ลูกรับฟัง แรกๆ อาจจะยังทำไม่ได้ แต่ทำซ้ำไปเรื่อยๆ ลูกจะค่อยๆ ปรับอารมณ์ตัวเองให้ดีขึ้นได้

5. พูดคุยและรับฟัง เมื่อลูกเกรี้ยวกราด

เพราะทุกอย่างเริ่มต้นด้วยความรัก การที่ลูกกำลังโมโห พ่อแม่อย่าเพิ่งดุลูกอย่างเดียวเพราะถึงลูกจะทะเลาะกับพี่น้องหรือเพื่อน แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องใช้สติกับลูกด้วย แล้วเข้าไปพูดคุยและรับฟังความรู้สึกของลูก แสดงให้เขาเห็นว่านี่คือความโกรธ ทำไมเขาถึงโกรธ บอกเล่าถึงเหตุผลถ้าสิ่งที่เขาทำไม่ถูกต้อง และให้วิธีทางในการตอบโต้ที่ดีกว่า

♥ Must read : บันได 6 ขั้น ช่วยพ่อแม่ ปราบลูกเกรี้ยวกราด

6. ใช้กีฬาเข้าช่วย

เพราะการเล่นกีฬาย่อมมีแพ้และชนะสลับกันไป เมื่อเขาชนะก็ต้องสอนเขาว่าอย่าคาดหวังมากเกินไป เพราะวันหนึ่งเขาอาจจะเป็นฝ่ายแพ้บ้างก็ได้ และเมื่อเขาแพ้ก็ต้องสอนให้เขามีกำลังใจที่จะลุกขึ้นมาสู้ เพื่อวันหนึ่งจะกลับมาเป็นผู้ชนะบ้าง และกีฬายังเป็นตัวช่วยให้ลูกๆ จัดการอารมณ์ตัวเองในแต่ละช่วงวัยได้ดี และยังฝึกให้เขาอยู่ในกฎกติกา มีระเบียบวินัยด้วย

7. ความรักจากพ่อแม่สำคัญที่สุด

เด็ก ๆ บางคนแสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดเพราะจริงๆ แล้วเขารู้สึกว่าอยากได้ความรักจากพ่อแม่ อยากให้พ่อแม่สนใจ เลยทำตัวเรียกร้องความสนใจ หากคุณพ่อคุณแม่หมั่นแสดงความรัก ทำให้เขารู้สึกว่าพ่อแม่รักเขาเสมอ และเขาสำคัญกับพ่อแม่ ด้วยการยิ้ม โอบกอด อารมณ์เกรี้ยวกราดของเขาจะค่อยๆ ลดลงได้เอง

อย่างไรก็ดี ความฉลาดทางอารมณ์ เป็นความสามารถส่วนหนึ่งของคนเราที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ ความเข้าใจ อารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง และนำเอาพลังแห่งอารมณ์และความรู้สึกนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพทำให้เกิดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลด้วย

ซึ่งสำหรับเด็กที่มีความฉลาดทางอารมณ์จะเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดี มีความสุขสามารถเผชิญกับความคับข้องใจแก้ไขปัญหาต่างๆได้อย่างราบรื่นควบคุมตนเองได้ สามารถที่จะรอคอยและตอบสนองความต้องการได้ มีสัมพันธภาพที่ดีกับบุคคลรอบข้าง เป็นผู้นำและสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นลูกน้อยก็ควรได้รับการพัฒนาทั้ง IQ และ EQ ไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เป็นผู้ที่เก่ง ดี และมีความสุข ประสบความสำเร็จทั้งด้านการเรียน การทำงาน และประสบความสำเร็จในชีวิตได้อย่างราบรื่น

อ่านต่อ “บทความดี ๆ น่าสนใจ” คลิก!


ขอบคุณข้อมูลจาก : taamkru.com , www.paolohospital.com