AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

6 พฤติกรรม ลูกวัยก่อนเรียน กับปัญหาที่พ่อแม่มือใหม่เตรียมรับมือ!

ลูกวัยก่อนเรียน

ลูกวัยก่อนเรียน หรือเด็กวัย 3-6 ปี ในช่วงวัยอนุบาล ถือว่าเป็นวัยที่สำคัญหนึ่งของชีวิต เพราะในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่จะเห็นพัฒนาการหลายด้านที่ก้าวหน้าขึ้น รวมถึงปัญหาพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นด้วย

เด็กในวัยนี้เป็นช่วงที่เริ่มมีพัฒนาการหลายด้านก้าวหน้าขึ้น ทั้งด้านความคิด ภาษา การ สื่อสาร ด้านกล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหว และการช่วยเหลือตนเอง เริ่มที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ มีความเป็นอิสระ และแสดงเป็นตัวของตัวเอง ที่แสดงออกมาในรูปของการเอาแต่ใจได้เช่นกัน อีกทั้งยังเป็นวัยที่เริ่มก้าวสู่การเข้าสังคม ได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และได้เปิดประสบการณ์ภายนอกบ้านมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีพฤติกรรมใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ตามช่วงวัย เป็นสิ่งที่พ่อแม่มือใหม่ควรรู้และเตรียมพร้อมที่จะรับมือต่อไปกันคะ

6 พฤติกรรม ลูกวัยก่อนเรียน กับปัญหาที่พ่อแม่มือใหม่เตรียมรับมือ!

1.ตื่นงอแงกลางดึก

ลูกในวัยนี้ยังคงเป็นเด็กเล็กที่อาจจะตื่นขึ้นมางอแงกลางดึก ฝันร้าย กลัว และไม่อยากเข้านอนอีก เนื่องจากในตอนกลางวันใช้เวลาเล่น และใช้พลังในการเล่นมากเกินไป ทำให้ตกค้างอยู่ที่จิตสำนึกแล้วเกิดฝันร้าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กวัยนี้จะเริ่มต่อต้านการนอนกลางวัน เพราะเจ้าตัวเล็กเริ่มกลายเป็นนักสำรวจที่ชอบดูสิ่งรอบตัว สนุกกับการเล่นราวกับไม่รู้จักเหนื่อย การนอนกลางวันจึงไม่ใช่เรื่องสนุกในสายตาของเด็ก ๆ บางคนไม่ยอมนอนเลย บางคนนอนบ้างบางวัน แต่เด็กบางคนก็ยังนอนกลางวันได้ทุกวัน ทั้งนี้แล้วแต่พฤติกรรมการนอนของเด็กแต่ละคน

ดังนั้นในช่วงเวลากลางวันพ่อแม่ควรแบ่งเวลาเล่น และจัดสรรให้นอนกลางวัน หรือในช่วงที่ลูกไปโรงเรียนอนุบาลก็จะมีเวลานอนกลางวันเพื่อให้เด็กได้พักผ่อนหลังจากที่ทำกิจกรรมจนเหนื่อย ซึ่งรวมแล้วแต่ละวันลูกควรนอนให้ได้ราว 11 – 12 ชั่วโมง คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างวินัยการนอนให้เป็นกิจวัตรประจำวัน หากลูกตื่นกลางดึกก็ควรสร้างบรรยากาศการนอนขึ้นใหม่ ฟังลูกเล่าเรื่อง และปลอบโยนพูดคุยเพื่อให้ลูกสงบ และเข้านอนหลับอย่างเต็มอิ่มจนถึงตอนเช้า การนอนอย่างเพียงพอจะทำให้ลูกมีอารมณ์ดีขึ้น สร้าง Growth Hormone เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโต มีสุขภาพที่ดีสมวัย

2.ชอบดูดนิ้ว

ลูกชอบดูดนิ้วมือ

ลูกชอบดูดนิ้วมือเป็นการสร้างความพอใจหรือระบายความเครียด การดูดนิ้วในเด็กอายุ 1 ปี เป็นพฤติกรรมที่ปกติ และนิสัยดูดนิ้วมือสามารถเลิกได้เองในช่วงอายุ 2-4 ปี แต่หากสังเกตว่าลูกยังมีพฤติกรรมชอบดูดนิ้วจริงจังช่วงอายุ 4-5ปี และยังคงดูดอยู่อย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดความผิดปกติที่มีผลต่อฟันแท้รุนแรงขึ้น มีการจัดเรียงผิดปกติ เช่น อาจเกิดการซ้อนทับกัน ฟันยื่นไปข้างหน้า ฟันยื่นเข้าลึก ฟันห่างกัน เป็นต้น หากสังเกตว่าลูกชอบดูดนิ้ว ควรรีบแก้สถานการณ์นั้นทันที

รศ.ทพญ.ประภาศรี ริรัตนพงษ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้คำแนะนำการปรับพฤติกรรมนิสียดูดนิ้วเด็กไว้ว่า “หากลูกดูดนิ้วในช่วงที่เหงาหรือกังวล คุณพ่อคุณแม่ควรแสดงความรักโดยการโอบกอด ให้ความมั่นใจ และเบี่ยงเบนความสนใจลูกไปจากการดูดนิ้วโดยหากิจกรรมที่ต้องใช้มือหรือปากให้ลูกทำ หากลูกดูดนิ้วก่อนนอนอาจเป็นเพราะลูกพยายามกล่อมตัวเองให้หลับ คุณพ่อคุณควรหานิทานมาอ่าน ร้องเพลง โอบกอดกล่อมลูกเข้านอน” การแก้ไขปัญหารดูดนิ้วของเด็กวัยก่อนเรียน พ่อแม่มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้เจ้าตัวเล็กลดการดูดนิ้วลงได้

3.ฉี่รดที่นอน

ลูกชอบฉี่รดที่นอน

การปัสสาวะรดที่นอนสำหรับเด็กช่วงอายุ 3-4 ปีถือเป็นเรื่องธรรมดา เด็กบางคนอาจฉี่รดที่นอนทุกคืนจนอายุ 4-5 ปี ถึง และก็จะสามารถหยุดไปเองได้ในที่สุด ซึ่งตามปกติเด็กที่มีอายุมากกว่า 4 ปีจะสามารถควบคุมการขับถ่ายได้แล้ว แต่ถ้ายังพบว่าลูกยังฉี่รดที่นอนอยู่ สาเหตุอาจเกิดได้จากปัญหาทางจิตใจ เจ้าตัวเล็กอาจจะเกิดความกลัว วิตกกังวล เครียดจากเรื่องคับข้องใจต่าง ๆ เช่น การเริ่มเข้าโรงเรียน การถูกพลัดพรากจากแม่ การมีน้องใหม่ หรือการนอนหลับไม่สนิท เป็นต้น หรือเกิดจากปัญหาทางร่างกายที่เกิดจากความไม่สมดุลของปัสสาวะ (การหลั่งฮอร์โมน ADH ไม่เพียงพอ) ขณะนอนหลับกับขนาดของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กลางคืนฉี่รดออกมา แต่วิธีช่วยลูกไม่ให้ฉี่ดรดที่นอนแก้ได้ไม่ยากค่ะ (อ่านต่อ วิธีแก้ปัญหาลูกฉี่รดที่่นอนเป็นประจำ)

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ 6 พฤติกรรมพบบ่อยในเด็กวัย 3-6 ปี คลิกหน้า 2

วิธีแก้ปัญหาลูกฉี่รดที่่นอน

อาการฉี่รดที่นอนนั้นจะค่อยๆ หายไปเมื่อลูกอายุมากขึ้น มีเด็กน้อยคนมากที่ยังปัสสาวะรดที่นอน แต่ถ้าลูกอายุเกิน 5 ปีแต่ยังปัสสาวะรดที่นอนอยู่ถือว่าเป็นปัญหา ควรพาลูกไปปรึกษาคุณหมอดูนะคะ

4.พูดติดอ่าง

ปัญหาลูกพูดติดอ่าง อาจเกิดขึ้นได้กับเด็กช่วงวัยก่อนเรียน ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติของเด็กในวัยนี้ เป็นเพราะลูกเริ่มมีพัฒนาการทางความคิดอ่านเพิ่มขึ้น ในขณะที่การใช้ภาษาหรือการออกเสียงกำลังอยู่ในช่วงพัฒนา หรืออาจเกิดจากการเปลี่ยนสังคมในบ้านที่คุ้นเคยมาพบเจอสังคมใหม่ ๆ ยังปรับตัวไม่ได้ เกิดอารมณ์ความเครียด เด็กบางคนพูดติดอ่างมากขึ้นเมื่อรู้สึกตื่นเต้น พยายามพูดเร็ว ความคิดล้ำหน้าไปก่อนคำพูด ดังนั้น การที่ลูกพูดติดอ่างในช่วงนี้คุณพ่อคุณแม่อย่าเพิ่งกังวล และไปกดดันหรือกระตุ้นลูก เพราะจะทำให้ลูกเครียดและยิ่งทำให้พูดติดอ่างมากขึ้น

แนวทางการแก้ไข คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมทักษะทางภาษาให้ลูกมากขึ้น ใช้เวลาพูดคุยทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การอ่านหนังสือ เล่านิทานให้ฟังอย่างสม่ำเสมอ เป็นแบบอย่างที่ดีในการพูดด้วยการพูดช้า ๆ สั้น ๆ ชัดถ้อยชัดคำ แสดงความรัก เอาใจใส่และเข้าใจ เป็นผู้รับฟังที่ดี รอให้ลูกพูดจบ ไม่พูดแทรก ช่วยทำให้ลูกเกิดความมั่นใจในการฝึกพูด ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยทำให้ลูกค่อย ๆ ซึมซับคำศัพท์ พัฒนาการทางภาษาได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป ก็จะช่วยให้การพูดติดอ่างของลูกก็ลดลงในที่สุด และพฤติกรรมการพูดติดอ่างของในเด็กวัยนี้ก็จะเป็นแบบชั่วคราวและหายเองได้ใน 6 เดือน และพูดได้เหมือนปกติทั่วไปค่ะ

บทความแนะนำ : รีบแก้!.. ลูกพูดไม่ชัด เพราะมีปัญหาในการออกเสียง

5.พูดคำหยาบ

ลูกพูดคำหยาบ

ปัญหาการพูดคำหยาบของเด็กวัยนี้ส่วนใหญ่เกิดจากพัฒนาการที่ชอบจดจำและเลียนแบบคนใกล้ชิดและสิ่งที่พบเห็น การเข้าสังคมในกลุ่มเพื่อนจากโรงเรียน จากการดูทีวี แม้เด็กจะไม่เข้าใจความหมาย แต่เมื่อได้ฟังบ่อย ๆ เข้า มองเห็นผู้ใหญ่สื่อสารด้วยคำหยาบเป็นเรื่องปกติ ก็จะมาลองพูดจนนำคำหยาบหรือคำอุทานที่ไม่เหมาะสมมาใช้เป็นนิสัย ซึ่งส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของตัวเด็กได้ ควรรีบแก้ไขและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการพูดถ้อยคำที่ไม่เพราะโดยด่วน

การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดควรเริ่มแก้ไขจากพ่อแม่หรือคนในครอบครัวด้วยการใช้คำพูดที่สุภาพต่อหน้าและลับหลัง ลงท้ายด้วยคำว่า ค่ะ/ ครับ ทำเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกได้เห็น อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงความหมายและตั้งกฎกติกาขึ้นมาเพื่อไม่ให้พูดจาไม่เพราะหรือพูดคำหยาบอีก รวมถึงหลีกเลี่ยงการให้ลูกในวัยเล็กดูทีวี ละคร หรือคลิปที่ไม่เหมาะสมในโซเชียลมีเดีย ซึ่งการปรับพฤติกรรมในช่วงเด็กวัยอนุบาลและวัยประถมเป็นวัยที่แก้ปัญหาการพูดคำหยาบได้ง่ายที่สุด สอนให้ลูกรู้ว่าการพูดจาดี ประพฤติตัวดีย่อมเป็นที่รักของทุกคน เมื่อมีตัวอย่างที่ดีใกล้ตัว พฤติกรรมการพูดไม่สุภาพก็ไม่เกิดขึ้นค่ะ

6.เล่นอวัยวะเพศ

การเล่นอวัยวะเพศในเด็กเล็กทั้งเด็กหญิงและเด็กชายเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นได้ อันดับแรกที่พ่อแม่พบเห็นคือไม่ควรตกใจหรือกลัวว่าลูกจะเล่นติดเป็นนิสัย หรือกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีปัญหาทางเพศนะคะ เพราะการเล่นอวัยเพศสำหรับเด็กวัยนี้คือ การสำรวจเพื่อเรียนรู้อวัยวะต่างๆ ของร่างกาย อยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติและพัฒนาการของเด็ก หรือสาเหตุที่เกิดจากอาการระคายเคืองที่ผิวหนังบริเวณนั้นทำความสะอาดไม่เพียงหรือหรือเกิดจากพยาธิเส้นด้ายทำให้รู้สึกคัน และเมื่อเกาแก้อาการคันไปแล้วก็เกิดความรู้สึกพอใจจนเกิดทำซ้ำบ่อย ๆ การทำความสะอาดอวัยวะเพศที่อาจเป็นการกระตุ้นทำให้เด็กรู้สึกพอใจโดยไม่รู้สึกตัว หรืออาจเกิดจากความเหงา ภาวะความเครียดทางอารมณ์จากการถูกดุด่า เพื่อนรังแก ถูกขัดใจ ฯลฯ ทำให้เด็กไม่สามารถปรับตัวจึงหาอะไรทำกับร่างกายตัวเองด้วยการ ดูดนิ้ว ดึงผม และจับอวัยวะเพศเล่นก็ได้ รวมถึงพฤติกรรมที่ลูกพบเห็นและเกิดการเลียนแบบจากผู้ใหญ่ได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม การเล่นอวัยวะเพศในวัยเด็กเล็กไม่ได้เป็นปัญหาที่รุนแรงและสามารถปรับพฤติกรรมแก้ไขได้ ด้วยการสอนให้ลูกรู้ว่าอวัยวะเพศเป็นของส่วนบุคล ไม่ควรจับเล่นในที่สาธารณะ การทำความสะอาดอวัยวะเพศเพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคือง ควรเบี่ยงเบนความสนใจลูกไปทำกิจกรรมอย่างอื่น ให้เวลากับลูก แสดงความรัก ความเอาใจใส่ รวมถึงการเป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ควรให้เด็กเห็นภาพหรือจากสื่อที่ทำให้เด็กลอกเลียนแบบพฤติกรรมไม่เหมาะสม เมื่อลูกมีกิจกรรมอย่างอื่นที่น่าสนใจและสนุกกว่าก็จะลืมความพึงพอใจในส่วนนั้นไปและจะไม่มีพฤติกรรมจับเล่นอวัยวะเพศของตัวเองไปในที่สุดค่ะ

บทความแนะนำ : ตั้งรับแบบไหน เมื่อลูกเริ่มสนใจ “สำรวจร่างกาย”

จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมของลูกวัยนี้เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตและพัฒนาการตามธรรมชาติของเด็ก บางครั้งอาจพบว่าลูกมีการแสดงพฤติกรรมบางอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งก็เป็นปัญหาที่เข้าใจง่าย และแก้ไขได้หากได้รับการดูแลที่ดีจากคุณพ่อคุณแม่และคนในครอบครัว โดยยอมรับ หาสาเหตุ และพร้อมที่จะช่วยกันปรับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของลูก และสร้างบุคลลิกนิสัยให้ลูกเติบไปเป็นไปในทิศทางที่ดีได้ต่อไปค่ะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : resource.thaihealth.or.thwww.trueplookpanya.comwww.bangkokhealth.com

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ :

3 เคล็ดลับดูแล เด็กวัยก่อนเรียน ให้พร้อมก่อนเข้าเรียน

รู้ทัน! พฤติกรรม พัฒนาการลูก วัยก่อนเรียน ที่พ่อแม่ต้องรับมือ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

Summary
Review Date
Reviewed Item
ลูกวัยก่อนเรียน
Author Rating
5