AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

5 วิธีเลี้ยงลูกที่ทำให้ลูกเสียคนโดยไม่รู้ตัว

ในเรื่องของการเลี้ยง และอบรมสั่งสอนลูก เพื่อไม่ให้ลูกเป็น เด็กเสียคน อันดับแรกพ่อแม่ต้องยอมรับก่อนว่า พฤติกรรมลูกทุกอย่างนั้น เกิดจากการเรียนรู้จากสภาพแวดล้อมรอบตัวเขาตั้งแต่เกิด เช่นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ละคร เพลง เกมส์ คำพูดกริยาท่าทางของบุคคลรอบข้าง แม้แต่สัตว์เลี้ยง ฯลฯ ดังนั้นการสร้างสภาพแวดล้อมให้ลูกสำคัญมาก ๆ

สิ่งสำคัญ! พ่อแม่ควรหลีกเลี่ยงการลงโทษด้วยการตี เพราะในความรู้สึกของเด็ก การตี คือ การที่พ่อแม่สื่อให้เขารู้ว่า “ความรุนแรงเป็นวิธีการจัดการสิ่งต่าง ๆ” ลูกอาจจะหยุดพฤติกรรมทันทีก็จริง แต่หยุดเพราะไม่อยากถูกตี ไม่ใช่การควบคุมตนเองจริง ๆ และส่วนใหญ่เมื่อถึงจุดที่พ่อแม่ต้องตี ก็มักตีด้วยอารมณ์ ทำให้ลูกมีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กก้าวร้าว อารมณ์ร้าย กลายเป็นเด็กเสียคน และโตขึ้นเขาก็จะระบายอารมณ์ด้วยการทำร้ายผู้อื่นเช่นกัน

ยอมรับและเข้าใจ

พ่อแม่ต้องยอมรับและเข้าใจก่อนว่านี่เป็นกระบวนการพัฒนาที่เกิดกับเด็กทุกคน ไม่ใช่ว่าเขาแกล้งไม่เชื่อฟัง จริง ๆ แล้วการที่เด็กเริ่มเป็นตัวของตัวเองแสดงว่าเขากำลังเรียนรู้ที่จะพึ่งคนอื่นน้อยลงนั้นเอง

รู้ทัน 5 วิธีเลี้ยงลูกที่ทำให้เป็น เด็กเสียคน โดยไม่รู้ตัว

1. ตีลูกด้วยความโกรธ คือ แบบอย่างของการใช้ความรุนแรง

ในบ้านที่พ่อแม่ ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ได้ ไม่ว่าจะเกิดจากลูกขัดคำสั่งไม่เชื่อฟัง หรือทำข้าวของเสียหาย พ่อแม่มักจะตวาด (แสดงความก้าวร้าวด้วยวาจา) ควบคู่ไปกับการตี และเหตุผลส่วนใหญ่ของผู้ตีลูกก็มักจะมีข้ออ้างให้ตัวเองว่า ตีเพราะอยากให้ลูกเข็ดไม่ทำอีก การตีหรือตวาดลูกมักจะหยุดหรือชะงักพฤติกรรมนั้นได้อย่างทันใจ ทำให้พ่อแม่ติดใจ เอามาเป็นอาวุธไว้จัดการกับลูก

การตี” ทำให้ลูกเรียนรู้ว่า เมื่อใครทำให้เราไม่พอใจ เราก็ทำให้คนนั้นเจ็บตัวได้

“การตวาด” บอกว่าเมื่อเราโกรธใคร ให้ตะโกนใส่ ไม่พยายามที่จะพูดกันดี ๆ

ถ้าจำเป็นต้องตีลูก

ต้องไม่รุนแรงเกินไป   พ่อแม่บางคนตีรัวเลยทีเดียว  ต้องบอกเหตุผลที่ชัดเจน ไม่ใช้อารมณ์ เด็กเลย 1 ขวบไม่ควรถูกตี แต่ควรสอนด้วยเหตุผล และทุกครั้งควรบอกลูกด้วยว่า พ่อแม่รักลูกมากเสมอ แต่พฤติกรรมลูกนั้นพ่อแม่รับไม่ได้ ต้องปรับแบบนี้ ๆ ก็บอกลูก และพ่อแม่ต้องทำสิ่งดี ๆ เป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นบ่อย ๆ แล้วจะได้ไม่ต้องตีลูกเลย

เมื่อลูกทำให้ไม่พอใจ สิ่งที่ควรทำคือ

พ่อแม่ต้องเป็นแบบอย่างในการควบคุมอารมณ์ อดทน อดกลั้น และแก้ปัญหาด้วยความสงบ ใช้การพูดคุยด้วยเหตุผล และใช้การประนีประนอม

อ่านต่อ >> รู้ทันพร้อมรับมือ 5 วิธีเลี้ยงลูกทำให้ลูกเสียคน โดยไม่รู้ตัว” คลิกหน้า 2

2. ตามใจลูกและปล่อยให้ลูกตวาดหรือตีพ่อแม่ เมื่อไม่ได้ดั่งใจ

หลายคนอาจเคยได้ยินเสียงบ่นจากพ่อแม่คนอื่นๆ ว่า เด็กสมัยนี้เอาแต่ใจกันเสียจริงๆ ซึ่งพฤติกรรมการเอาแต่ใจของเด็กๆ ก็มาจากหลายสาเหตุด้วยกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสมัยนี้มีลูกกันน้อย ลูกจึงเปรียบเสมือนหัวแก้หัวแหวนของพ่อแม่ จึงเอาอกเอาใจกันเต็มที่  การตามใจลูกจึงเป็นเหตุให้ลูกมีความก้าวร้าวรุนแรง ไม่รับฟังเหตุผล และติดพฤติกรรมอาละวาด โวยวาย ทำร้ายคนอื่น พ่อแม่ที่ตามใจลูกมักยอมให้ลูกทุบตีอาละวาด

หยุดพฤติกรรมของลูก

พ่อแม่ไม่ควรละเลยที่จะปรับพฤติกรรมเหล่านี้เสียตั่งแต่ยังเล็ก เมื่อลูกจะตีเราให้จับมือลูกให้มั่น มองตาลูกและพูดอย่างหนักแน่นว่าลูกไม่มีสิทธิ์ตีใครทั้งนั้น ถ้าลูกมีท่าทีสงบฟังและทำตามก็ปล่อยมือลูก หากปล่อยมือแล้วยังจะตีอีกก็จับมืออีก ทำอย่างนี้บ่อย ๆ ลูกก็จะเรียนรู้ว่าพ่อแม่ไม่ยอมให้ลูกทำร้ายใครอีกต่อไป และอย่าลืมเมื่อลูกหยุดตีแล้วให้ชมลูกว่า “ดีแล้วนะลูก ต่อไปนี้ลูกไม่ตีใครแล้วนะ” จากนั้นค่อยให้เหตุผลว่าทำไมเรื่องนี้พ่อแม่จึงตามใจลูกไม่ได้

3. เลี้ยงลูกให้เกิดความเครียดและกดดัน

สำหรับเด็กที่ต้องเผชิญกับการเลี้ยงดูที่สร้างความเครียด ความกดดันอยู่เสมอ จะสะสมอารมณ์ขุ่นมัวไว้ในใจ ทำให้ขี้โมโหหงุดหงิดง่าย เมื่อมีสิ่งที่ไม่พอใจมากระทบแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เด็กทำร้ายเพื่ออย่างรุนแรงเกินกว่าเหตุ

สาเหตุที่สร้างความเครียดและความกดดันให้กับเด็กนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการเลี้ยงดูที่พ่อแม่ให้ความสำคัญกับการแข่งขันและเข้มงวดจนเกิน ทั้งในเรื่องการเรียนและการกีฬา ลูกจะแพ้ใครไม่ได้ ความคาดหวังของพ่อแม่กลับกลายเป็นสร้างความกดดันให้กับลูก พ่อแม่เหล่านี้มักเผลอเอาลูกไปเปรียบเทียบกับคนอื่น หรือพี่น้องที่เรียนเก่งอยู่เป็นประจำ ไม่ก็ดุว่าหรือพูดประชดประชันเมื่อเห็นลูกทำคะแนนไม่ได้ดั่งใจ

แทนที่จะให้กำลังใจหรือหาแนวทางแก้ปัญหาให้กับลูก สิ่งที่พ่อแม่กดดันลูกนั้นนอกจากจะทำให้ลูกรู้สึกเครียดและหงุดหงิดแล้ว ยังสร้างนิสัย ”แพ้ไม่เป็น” ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นความก้าวร้าวในใจลูก ทำให้โตขึ้นเป็นคนที่หาความสุขไม่ได้

อ่านต่อ >> รู้ทันพร้อมรับมือ 5 วิธีเลี้ยงลูกทำให้ลูกเสียคน โดยไม่รู้ตัว” คลิกหน้า 3

4. สนับสนุนลูกด้วยของเล่นและเกมต่อสู้

สำหรับลูกผู้ชายนั้น พ่อแม่อดไม่ได้ที่จะของเล่นประเภทดาบ ปืน อาวุธที่แปลงร่างได้หลายรูปแบบ รวมไปถึงเกมที่มุ่งการต่อสู้ การซื้อให้บ้างก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นปัญหา แต่ถ้าลูกใช้เวลากับของเล่นประเภทนี้ตลอดเวลา น่าจะหยุดคิดหน่อยว่าลูกจะฝึกซ้อมการเล่นกับความรุนแรงมากไปหรือไม่ เพราะจะมีผลทำให้เมื่อไม่พอใจลูกจะแสดงพฤติกรรมรุนแรงออกมาโดยอัตโนมัติ

เทคนิคการจัดของเล่นให้ลูก

ถ้าจัดหาของเล่นให้ลูกอย่างหลากหลายจะทำให้เด็กไม่รักษาของและสมาธิสั้น ไม่พอใจอันนี้ก็ขว้างเอาอันโน้นแทน ควรมีของเล่นทีละอย่างให้ลูกได้เรียนรู้ทีละชิ้นจนเข้าใจและรักสิ่งนั้น แรก ๆ ลูกอาจไม่คุ้นเคยและไม่สนุก แต่หากพ่อแม่ชวนมาเล่นด้วยกัน จนลูกค้นพบความสนุกกับการเล่นของเล่นชนิดอื่น

5. ปล่อยให้ลูกดูหนังหรือละคร ที่แสดงออกถึงการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหนัง และละครจำนวนมากมีความรุนแรงทั้งคำพูดและการลงไม้ลงมือ พ่อแม่ควรที่จะให้ลูกได้อยู่กับหนังและละครประเภทนี้ให้น้อยที่สุด กรณีหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องหาโอกาสพูดคุย ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็นต่อพฤติกรรมที่รุนแรงที่ลูกได้รับรู้อยู่เสมอ

การจะไม่ให้ลูกกลายเป็น เด็กเสียคน สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องคอยสอนอยู่ข้างๆ และให้ความรักกับลูกตลอดเวลา เพราะครอบครัวคือ จุดเริ่มต้นในการหล่อหลอมพฤติกรรมและความรู้สึกนึกคิดของคนเรา ซึ่งบุคคลที่มีบทบาทในการเลี้ยงดู กล่อมเกลา อบรม สั่งสอน และหล่อหลอมลักษณะนิสัยและพฤติกรรมของเด็กมากที่สุด ก็คือ พ่อแม่และผู้เลี้ยงดูเด็กนั่นเอง ดังนั้น พ่อแม่จึงจำต้องมีความระมัดระวังที่จะไม่ทำสิ่งผิดพลาด ซึ่งจะก่อให้เด็กๆ มีปัญหาทางพฤติกรรมที่จะส่งผลร้ายต่อไปในอนาคตนะคะ

อ่านต่อบทความน่าสนใจ
เด็กยุคใหม่! เลี้ยงอย่างไรให้สร้างสรรค์? พร้อมธรรมะดีๆ “อย่าเป็นพ่อแม่รังแกฉัน ด้วยการทำร้ายคนที่ตนรัก” จากพระอาจารย์ชาญชัย อธิปญฺโญ
The Power of Praise ชมลูกอย่างไรไม่ให้เสียคน
อย่าใช้อารมณ์กับลูก ถ้าไม่อยากพลั้งมือทำร้ายลูกโดยไม่ตั้งใจ

ขอบคุณข้อมูลจาก http://www.hit-za.com/987

Save