ลูกมีปัญหาที่โรงเรียน …เมื่อถึงวัยและเวลาที่ลูกต้องไปโรงเรียน บางบ้านอาจเกิดปัญหา ลูกน้อยไม่ยอมไปโรงเรียน เด็กบางคนร้องไห้ตั้งแต่ที่บ้านจนถึงโรงเรียน เด็กบางคนถึงกับลงไปชักดิ้นชักงอหน้าโรงเรียน กว่าจะกล่อมกว่าจะโอ๋กันได้ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง เด็กบางคนเมื่อได้ไปเรียนแล้วคุ้นเคยกับเพื่อนที่โรงเรียนก็จะเลิกร้องไห้ไม่ยอมไปโรงเรียนอีก แต่เด็กบางคนทำอย่างไรก็ยังไม่อยากไปโรงเรียน
ลูกมีปัญหาที่โรงเรียน
หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นสัญญาณเตือนเหล่านี้ คงต้องถึงเวลาจับเข่าคุยกับลูกหรือปรึกษาคุณครูของหนู ๆ แล้วละค่ะ จะมีสัญญาณอะไรบ้าง ที่อาจบ่งบอกว่าลูกมีปัญหาที่โรงเรียน ไปดูกันค่ะ
- ป่วยการเมือง ปวดหัวปวดท้องได้ทุกเช้า แต่พอลาหยุดปุ๊บก็หายปั๊บ
- พฤติกรรมผิดปกติ เช่น ชอบกัดเล็บ ทึ้งผม ฉี่รดที่นอน หรือกลับมาดูดนิ้วเหมือนตอนเตาะแตะ
- เงียบขรึม เลิกพูดถึงโรงเรียน หรือกระสับกระส่ายเมื่อใครชวนคุยเรื่องโรงเรียน เรื่องครู หรือเรื่องเพื่อนๆ
- เบื่อหน่าย ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่อยากทำการบ้าน หรือไม่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้
- หวาดกลัว เผลอบ่นว่า “ไม่อยากไปโรงเรียนเลย” หรือ “พรุ่งนี้วันจันทร์อีกแล้วเหรอ” ในเย็นวันอาทิตย์ หรือร้องไห้โยเยในตอนเช้าวันจันทร์ โดยเฉพาะถ้ามีช่วงหยุดยาวติดต่อกันนานๆ
Must read : ควรรู้! 20 เรื่องสำคัญ ที่พ่อแม่ต้องบอกครู และคุณครูอยากบอกกับพ่อแม่
Must read : ชาวเน็ตยกนิ้วให้! สุดยอดคุณพ่อ ฝึกลูกน้อยที่ไม่อยากไปโรงเรียน จนกลับใจเลิกงอแงได้
ทั้งนี้ทั้งนั้นในฐานะที่พ่อแม่เป็นเสมือนคุณครูคนแรก และเป็นคนสำคัญที่สุดในชีวิตลูก หากคุณพ่อคุณแม่ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับทางโรงเรียนของลูก ย่อมทำให้ลูกประสบความสำเร็จ และมีความรู้สึกที่ดีต่อการไปโรงเรียน จากการศึกษาพบว่าถ้าผู้ปกครองทุ่มเทให้เวลากับลูกทั้งทางบ้านและโรงเรียนลูกมักจะเป็นผุ้ประสบความสำเร็จในการเรียนและมีชีวิตที่ดีในอนาคต การลงทุนกับลูกเป็นการลงทุนที่สูงค่าและผลที่ได้รับไม่สามารถประเมินได้ เราจึงมี 20 วิธี ที่ทำให้ลูกประสบความสำเร็จที่โรงเรียน มาแนะนำ ดังนี้
-
การมีส่วนร่วมกับโรงเรียน
1. พบครูประจำชั้นของลูกตั้งแต่ต้นปีการศึกษา เพื่อให้คุณครูทราบว่าเราใส่ใจ และต้องการช่วยลูกอย่างเป็นเหมือนทีมเดียวกัน มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ไลน์ของโรงเรียนและคุณครูที่สามารถติดต่อได้เสมอเมื่อมีปัญหา คุณพ่อคุณแม่สามารถทราบพัฒนาการของลูกโดยการพูดคุยกับคุณครู และเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างบ้านกับโรงเรียนที่ดีทางหนึ่ง
2. รู้จักบุคลากรในโรงเรียนของลูก เพื่อที่จะทราบว่าต้องติดต่อใครในกรณีมีปัญหา รู้จักผู้บริหาร คุณครูฝ่ายวิชาการ ฝ่ายกิจการนักเรียน ฝ่ายบริหารและเครือข่ายผู้ปกครองต่าง ๆ ที่สามารถทำงานเป็นทีมที่จะช่วยลูกได้
3. เข้าร่วมประชุมที่ทางโรงเรียนจัดขึ้นเสมอ โดยปกติแล้วโรงเรียนจะจัดการประชุมกับผู้ปกครองปีละประมาณ 2 ครั้งต่อปี ดังนั้น ต้องจัดเวลาในการเข้าร่วมเพื่อประโยชน์ของตัวเองและของลูกของเรา
อ่านต่อ >> “วิธีช่วยลูกประสบความสำเร็จที่โรงเรียน” คลิกหน้า 2
-
การช่วยเหลือทางด้านวิชาการ
4. รู้ถึงผลการเรียนของลูก โดยใช้วิธีสอบถามจากคุณครูว่าลูกมีผลการเรียนเป็นยังไงในชั้นเรียน มีสมาธิในการเรียนหรือไม่ ในฐานะที่เราเป็นผู้ปกครองควรสอบถามถึงพัฒนาการของลูก เพื่อให้ทราบความเป็นไป เพื่อจะช่วยเหลือได้ถูกต้องทั้งที่บ้านและโรงเรียน ก่อนที่จะสายเกินไป
5. ช่วยเหลือทบทวนบทเรียนให้ลูกเป็นพิเศษ หากลูกมีปัญหาในการเรียนควรถามคุณครูตรงๆว่าลูกต้องการความช่วยเหลือ เพื่อที่จะตามทันเพื่อนในวิชาต่างๆ
6. ต้องแน่ใจว่าลูกทำการบ้านเสร็จทุกวัน สร้างทัศนคติที่ดีให้ลูกเห็นความสำคัญของการศึกษา และการบ้านเป็นส่วนหนึ่ง ช่วยเรื่องการทบทวนและพัฒนาความเข้าใจในวิชาต่าง ๆ จัดสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการทำการบ้าน กำจัดสิ่งรบกวน เช่น ปิดทีวีหรือโทรศัพท์มือถือในระหว่างที่ทำการบ้านเพื่อช่วยให้ลูกมีสมาธิ และทำการบ้านได้เสร็จได้เร็วขึ้น หากเราไม่สามารถจะช่วยสอนลูกในการทำการบ้านได้อาจจะต้องถามผู้รู้และให้มาช่วยสอนลูก จัดหาอุปกรณ์สำหรับการทำงานหรือโครงงานต่าง ๆ ที่โรงเรียนกำหนด ให้กำลังใจลูกแต่อย่าทำการบ้านให้ลูกเพราะลูกจะไม่เรียนรู้อะไรเลย
7. ในกรณีจำเป็นให้หาคุณครูสอนพิเศษช่วยลูกในการทำการบ้านหรือในวิชาที่ลูกไม่เข้าใจโดยการติดต่อกับทางโรงเรียนหรือจัดครูสอนพิเศษเป็นกลุ่มหลังเลิกเรียน ปรึกษากับผู้ปกครองท่านอื่นเพื่อการจัดกลุ่มย่อยเพื่อช่วยลูกที่มีปัญหาเหมือนกัน
8. ช่วยลูกในการเตรียมสอบ การสอบเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยข้อสอบมาตรฐานจะช่วยวัดพัฒนาการของลูก และเก็บสะสมในการเรียนในระดับสูงต่อไป ดังนั้นผู้ปกครองควรใส่ใจ เตรียมตัวและจัดตารางเวลาในการเรียนที่สมดุลให้แก่ลูก
-
เข้าร่วมกิจกรรมที่โรงเรียนจัดขึ้น
9. ศึกษาข้อมูลที่ทางโรงเรียนส่งมาให้ เพื่อที่จะเตรียมลูกสำหรับโปรแกรมพิเศษต่าง ๆ ที่โรงเรียนจัด เช่นโปรแกรมดนตรี หรือกิจกรรมหลังโรงเรียนเลิก การแข่งขันกีฬาหรือโปรแกรมการเรียนพิเศษ โดยติดตามตารางโปรแกรมของโรงเรียนตลอดทั้งปี
10. อาสาสมัครช่วยเหลือเป็นผู้ปกครองอาสาที่โรงเรียน เช่นการทำอาหารในเทศกาลต่าง ๆ ตั้งกลุ่มผู้ปกครองเพื่อที่จะทราบความเป็นไปของทางสมาคมผู้ปกครอง เพื่อการจะจัดกิจกรรมที่ดีและมีคุณค่าให้กับลูก
11. ถามคำถาม ถ้าเรารู้สึกว่าการเรียนของลูกหรือพฤติกรรมของลูกมีปัญหาให้ปรึกษากับคุณครูหรือคุณครูใหญ่ เพื่อที่จะช่วยหาทางแก้ปัญหาด้วยกัน เช่น เมื่อลูกมีปัญหาเรื่องของการเรียนวิทยาศาสตร์ หรือเรื่องที่ลูกถูกรังแกที่โรงเรียน เพื่อหาทางแก้ปัญหาที่ถูกวิธี
12. เรียนรู้ถึงสิทธิของการเป็นผู้ปกครองและใช้สิทธินั้นอย่างเต็มที่ เช่นหากอาสาสมัครเป็นผู้ปกครองอาสาเราได้สิทธิประโยชน์อะไรบ้าง และใช้สิทธิเหล่านั้นอย่างเต็มที่
13. หากลูกเริ่มมีปัญหาที่โรงเรียน ควรแจ้งให้ทางโรงเรียนทราบในทันที อย่าเก็บปัญหาไว้ แต่ติดต่อกับคุณครูโดยตรงหรือผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง เพื่อที่จะแก้ปัญหานั้นอย่างเป็นขั้นตอนและทันท่วงที
-
การช่วยเหลือลูกที่บ้าน
14. สร้างทัศนคติทางบวกให้กับลูก ทำตารางประจำวันกับลูกและดำเนินตามตารางที่กำหนด สร้างทัศนคติที่ดีของลูกกับโรงเรียน เพื่อที่ลูกจะมีความเชื่อมั่นและรักโรงเรียน
15. จัดเวลาในการดูทีวี การเล่นวิดีโอเกม หรือการใช้อินเตอร์เน็ตอย่างเหมาะสม เพราะการใช้สื่อเทคโนโลยีต่างๆมากเกินไปกว่าการใช้เวลาร่วมกัน จะส่งผลเสียต่อการเรียนของลูกโดยตรง
16. สนับสนุนและให้ความสำคัญเรื่องการอ่านแก่ลูก เพื่อสร้างลูกให้เป็นนักอ่านที่ดี สามารถอ่านได้ด้วยตัวเองโดยลำพัง การอ่านเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดเพราะช่วยลูกให้ประสบความสำเร็จในการเรียน และจะทำให้ลูกติดตัวไปจนเป็นนิสัย
17. พูดคุยกับลูก ถามลูกถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนเพื่อจะทำให้เราเข้าใจว่าลูกกำลังเผชิญกับปัญหาอะไรและสามารถช่วยเหลือลูกได้ สิ่งที่สำคัญคือการฟังลูกและพูดคุยกับลูกเพราะนั่นเป็นการกระตุ้นการพัฒนาการทางด้านภาษาด้วยในเวลาเดียวกัน
18. เสริมแรงให้ลูกใช้ห้องสมุด ห้องสมุดเป็นสถานที่ในการเรียนรู้และเป็นที่พบปะกับผู้คนที่สนใจทางด้านของการเรียน แนะนำให้ลูกรู้จักคุณครูบรรณารักษ์ และให้ลูกสนุกกับการอ่าน
19. สอนเรื่องความรับผิดชอบทั้งการทำงานบ้านเล็กๆน้อยๆและการเรียนที่โรงเรียน เช่น การจัดกระเป๋าไปโรงเรียนด้วยตนเอง รวมถึงการทำงานบ้านและการรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง เพื่อลูกจะเรียนรู้จากการพึ่งพาตัวเองและมีความรับผิดชอบในอนาคตได้
20. สอนโดยให้ลงมือกระทำ เช่น การแก้ปัญหา การทดลอง การสำรวจสิ่งต่างๆรอบตัว แบ่งเวลาเล่นกีฬากับเพื่อน เล่นเครื่องดนตรีหรือการไปพิพิธภัณฑ์ ไปร้านหนังสือ จะทำให้ลูกช่างสังเกต แก้ปัญหาเป็น รู้จักการลงมือปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นนักฝันเลื่อนลอย
การลงทุนกับลูกโดยการให้เวลาและทำกิจกรรมร่วมกัน ถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่าอย่างใหญ่หลวงที่สามารถจะช่วยให้ลูกมีอนาคตที่ดีและเราจะไม่ต้องมาเสียใจในภายหลัง เป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัวเสมอค่ะ
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!
- หยุดเด็กตื่นมาดูมือถือกลางดึก ภัยเงียบส่งผลอ่อนเพลียที่โรงเรียน
- อยากเห็นลูกไม่กลัวคน เรื่องนี้ก็สอนได้
- พ่อแม่ต้องไม่ละเลย! เมื่อลูกเลือกคบเพื่อน
- 4 วิธีเตรียมพร้อม!! ช่วยพ่อแม่รับมือการไปโรงเรียนของลูกน้อย
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสาร Amarin Baby & Kids
ขอบคุณข้อมูลจาก : www.manager.co.th