ช่วงวัย 4 ขวบที่ลูกเริ่มเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น แต่ยังไม่สามารถแยกความผิดถูกได้ เวลาบอกลูกให้ทำก็ไม่ยอมทำ เวลาบอกห้ามก็อาละวาดใส่ ลูก 4 ขวบ เอาแต่ใจ ต้องการคนสนใจ มีการแสดงอารมณ์ที่หลากหลาย เวลาอยากได้อะไรต้องได้ รับมือยังไงดี วัยนี้เป็นวัยที่แม่ต้องตามใจจริงเหรอ
สาเหตุ ลูก 4 ขวบ เอาแต่ใจ ร้องไห้หนักมากเวลาไม่ได้ดั่งใจ
- อาวุธที่ติดตัวมาแต่เกิดของเด็กเล็ก คือการร้องไห้โวยวาย เมื่อเกิดความคับข้องใจเพราะไม่รู้จะพูดออกมาตามใจคิดยังไงดี เด็กในวัยนี้เริ่มที่จะเรียนรู้การลองผิดลองถูกด้วยตัวเอง แบบไม่มีเหตุผลในการกระทำหรือแก้ปัญหา เรามักจะเห็นลูกทำโดยไม่ต้องถาม หรือพ่อแม่พูดแต่ไม่ทำตาม เป็นวัยที่กล้าลองว่าถ้าอยากได้อะไรแล้วร้องไห้เข้าไว้แล้วจะได้ ทำแบบนี้แล้วพ่อแม่จะยอม จากนั้นก็พัฒนากลายเป็นนิสัย
- การถูกพ่อแม่เอาใจ โอ๋ตามใจ ประคบประหงมตั้งแต่เล็ก ๆ มาโดยตลอด เมื่อถึงเวลาที่ถูกขัดใจ ก็จะร้องเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการและมีพฤติกรรมที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นจนกว่าจะได้ เช่น ลงไปนอนร้องไห้ ลงไปดิ้นที่พื้น โวยวายเสียงดัง เมื่ออยู่ในที่สาธารณะพ่อแม่ก็ต้องรับมือลูกด้วยการใจอ่อนยอมทำตาม ซึ่งการตามใจลูกมากเกินไปจะทำให้เด็กไม่รู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด เด็กจะเรียนรู้เองตามธรรมชาติว่าถ้าทำแบบนี้แล้วได้ผล ก็จะทำซ้ำ ๆ และจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนพ่อแม่ใจอ่อนยอมทำตามสิ่งที่ลูกต้องการ
- เด็กในช่วงอายุ 2-5 ปี เป็นช่วงที่เริ่มมีพัฒนาการทางอารมณ์และสังคม เริ่มมีความเป็นตัวของตัวเอง ชอบเจ้ากี้เจ้าการเล็กน้อย และยึดความคิดตัวเองเป็นหลัก ชอบท้าทาย ยังไม่สามารถแยกว่าอะไรถูกอะไรผิด เมื่อรู้สึกเครียด เกิดความขับข้องใจ จึงจัดการอารมณ์ตัวเองด้วยการร้องไห้ อาละวาด ก้าวร้าว ซึ่งนอกจากพฤติกรรมนี้จะเกิดขึ้นได้ตามช่วงวัยแล้ว อาจมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมในครอบครัว ปัญหาทางสุขภาพจิต โรคสมาธิสั้น โรคออทิสติก เป็นต้น
การ “ตามใจ” หรือยอมลูกตลอดจึงไม่ใช่วิธีบรรเทาอาการ “เอาแต่ใจ” ที่ถูกต้องนัก ถ้าหากคุณพ่อคุณแม่ช่วยลูกควบคุมอารณ์ร้องไห้เอาแต่ใจเป็น สอนให้ลูกรู้จักความผิดหวัง อดทนต่อความคับข้องใจ ลูกก็จะปรับตัวได้ง่าย ยอมตัดใจเร็ว ไม่ร้องไห้นาน
รับมือ ลูก 4 ขวบ เอาแต่ใจ
#1 พ่อแม่ต้องเข้าใจอารมณ์ของลูก
เนื่องจากลูกวัยนี้ยังไม่รู้วิธีจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง จึงแสดงพฤติกรรมโมโห ร้องไห้ เหวี่ยง วีน ก้าวร้าวออกมาให้เห็น เมื่อลูกมีพฤติกรรมแบบนี้ สิ่งที่แรกคุณพ่อคุณแม่ควรทำคือ สงบ หนักแน่น เข้าไปกอดลูก และปลอบลูกด้วยความใจเย็น รับฟังความรู้สึกลูก ไม่ดุด่าว่ากล่าว อธิบายเหตุผลด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน พร้อมเสนอทางเลือกที่ดีกว่า เช่น ชวนลูกเล่นหรือทำกิจกรรมอื่นเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจสิ่งที่ลูกเรียกร้อง ถ้าพ่อแม่ทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ ลูกจะซึมซับถึงการใช้เหตุผล ไม่ใช้อารมณ์โต้ตอบพ่อแม่ ไม่ติดนิสัยเอาแต่ใจไปจนโต
#2 สอนลูกให้รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา
รู้จักสิทธิของตนเองและเคารพสิทธิของผู้อื่น ไม่อยากได้หรือต้องการของเพื่อนมาเป็นของตัวเอง ด้วยการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าว ข่มขู่ สอนลูกว่าเมื่อทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมก็จะทำให้คนอื่นเสียใจ เป็นเด็กที่ไม่น่ารัก และสอนลูกให้รู้จักแบ่งปัน เสียสละ ความมีน้ำใจกับเพื่อน ในขณะเดียวกันก็สามารถสอนลูกให้รู้จักปกป้องสิ่งของของตัวเอง รู้จักกล่าวปฏิเสธที่จะไม่ให้อย่างสุภาพได้เช่นกัน
#3 สอนลูกให้รู้จักควบคุมอารมณ์
ชะลอความโกรธหรือระบายอารมณ์ด้วยการนับ 1-10 และเสริมแรงบวกเพื่อปรับพฤติกรรม เช่น คำชมเชย การกอด หอมแก้ม เมื่อลูกทำได้ตามที่ตกลงไว้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อ วิธีรับมือลูกเอาแต่ใจไม่ดราม่าเจ้าน้ำตา คลิกหน้า 2
#4 เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูก
การเลี้ยงดูลูกไม่ใช่แค่การอบรมสั่งสอนแต่ควรรวมไปถึงการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีเพื่อให้ลูกซึมซับ ด้วยการแสดงความรักในครอบครัว มีความอบอุ่น และสามัคคีกัน หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ส่งผลให้ลูกเลียนแบบ เช่น ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันต่อหน้าลูก สอนลูกด้วยการให้ข้อมูลพื้นฐานความเป็นจริง ไม่ใช้การขู่หรือพูดให้ลูกกลัว หรือให้ลูกดูรายการโทรทัศน์ที่มีพฤติกรรมรุนแรง เป็นต้น เนื่องจากเด็กวัยนี้จะมีพฤติกรรมชอบสังเกตและเลียนแบบ เมื่อลูกอยู่ในสภาพแวดล้อมในครอบครัวที่ดีมีความสุข ก็จะช่วยให้ลูกลดพฤติกรรมก้าวร้าว การเอาแต่ใจได้มากขึ้น
#5 สอนให้ลูกหัดช่วยเหลือตัวเองและเปิดโอกาสให้ลูกได้หัดตัดสินใจ
ดูแลลูกตามพัฒนาการที่เหมาะสมกับวัย พัฒนาการ เด็ก 4 ขวบ ในวัยนี้สามารถติดกระดุม ใส่เสื้อ รองเท้า และสามารถช่วยทำงานบ้านเล็ก ๆ น้อยได้แล้ว เช่น เช็ดโต๊ะกินข้าว จัด/เก็บที่นอน รดน้ำต้นไม้ เก็บของเล่น ปัดฝุ่น/กวาดบ้าน เป็นต้น และออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ได้เล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน เพื่อกระตุ้นพัฒนาการด้านทักษะอารมณ์และสังคมให้ลูก การฝึกให้ลูกได้ช่วยเหลือตัวเองและปล่อยให้ตัดสินใจทำเองได้อย่างอิสระในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ จะส่งผลให้ลูกอารมณ์ดี และรู้สึกไม่ถูกขัดใจ ควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น เพราะสามารถทำอะไรด้วยตัวเองได้มากขึ้นนั่นเอง เป็นการช่วยฝึกลูกให้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีความรับผิดชอบ
#6 พูดคุยและเล่นกับลูกให้บ่อย
เด็กวัยนี้มีการแสดงอารมณ์ที่หลากหลาย อาจยังคงมีอารมณ์หงุดหงิด เพราะการเปลี่ยนแปลงในกิจวัตรประจำวันหรือไม่ได้รับสิ่งที่ตัวเองต้องการ อยากให้มีคนสนใจฟัง นอกจากพ่อแม่จะคอยรับฟังลูกแล้ว ลองใช้ช่วงเวลาที่ลูกอารมณ์ดีตั้งคำถามถามลูกว่ารู้สึกยังไงบ้าง ทำไมถึงอยากได้สิ่ง ๆ นั้น ลูกคิดยังไงกับสิ่งที่ตัวเองอยากได้ พร้อมอธิบายเหตุผลให้ลูกเข้าใจ ให้เวลากับลูกในการเล่นและพูดคุยอย่างสม่ำเสมอ ความเข้าใจ ความรักก็จะทำให้ลูกไม่แสดงอาการเอาแต่ใจ ร้องไห้งอแง มาเป็นเครื่องมือต่อรองกับพ่อแม่
#7 ใช้วิธี Time Out เมื่อลูกเอาแต่ใจ
การลงโทษลูกอย่างสร้างสรรค์น่าจะเป็นขั้นตอนสุดท้าย หากลูกไม่ฟังคุณพ่อคุณแม่ ด้วยวิธี Time out ซึ่งเป็นวิธีหนึ่งในการปรับพฤติกรรม โดยกำหนดกฎให้ชัดเจนให้ชัดเจน อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงสิ่งที่ลูกจะโดนทำโทษว่าลูกจะต้องไปนั่งในที่ที่กำหนดไว้ (โดยใช้เวลา 1 นาที/อายุ 1 ปี) ซึ่งคุณพ่อคุณแม่จะต้องเด็ดเดี่ยว ไม่ตอบสนองต่ออาการดราม่าเจ้าน้ำตาของลูก เพื่อช่วยให้ลูกควบคุมอารมณ์ของตนเอง ทำให้อารมณ์สงบลงและเรียนรู้ว่าหากร้องไห้ อาละวาด เอาแต่ใจก็จะถูกทำโทษด้วยวิธีนี้ หลังจากลูกใจเย็นลงแล้ว ก็เข้าไปคุยปลอบลูกด้วยเหตุผลอีกครั้ง
ด้วยวิธีเหล่านี้ แม้จะช่วยแม่รับมือลูกเอาแต่ใจ ช่วยปรับพฤติกรรมลูก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเจ้าตัวเล็กจะเปลี่ยนแปลงได้ภายในสองสามวัน บางคนร้องไห้เอาแต่ใจไปจนถึง 7-8 ขวบก็มี หากแต่ช่วยฝึกให้ลูกรู้จักควบคุมอารมณ์ที่จะเอาแต่ใจเป็น รู้จักที่จะต้องผิดหวัง อดทนอย่างค่อย ๆ เป็นค่อย ๆ ไป เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ ที่สำคัญคือความรัก กำลังใจ และคำปลอบโยนจากพ่อแม่อย่างสม่ำเสมอก็จะช่วยให้เจ้าตัวน้อยปรับตัวได้นะคะ.
ขอบคุณบทความอ้างอิงจาก : www.honestdocs.co, www.kapook.com
อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ :
ลูก 3 ขวบ เอาแต่ใจ ดื้อรั้น ก้าวร้าว เจ้าอารมณ์ แม่ต้องรับมือยังไง?
หมอชี้! วิธีปราบ เด็กร้องไห้ ลูกร้องแบบไหนเรียกเอาแต่ใจ
เลี้ยงลูกอย่างไร? ไม่ให้เอาแต่ใจตัวเอง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่