ปัญหาบุคลิกภาพของเด็ก คือการที่เด็กหมกมุ่นอยู่กับพฤติกรรมบางลักษณะ เช่น ลูกชอบกัดเล็บ ชอบม้วนผมเล่น ลูกชอบแคะจมูก หรือชอบดูดนิ้ว ซึ่งในสายตาของพ่อแม่ถือว่าเป็นลักษณะการกระทำที่รบกวนจิตใจ ไม่เหมาะสม หรือเป็นปัญหาพฤติกรรมการแสดงออกของเด็ก
ซึ่งเชื่อว่า ปัญหาบุคลิกภาพของเด็ก ดังกล่าวอาจทำให้คุณพ่อคุณแม่รู้สึกเป็นกังวลหรือหนักใจไม่น้อย แต่ปัญหาบุคลิกภาพของเด็กข้างต้นนี้ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเจริญเติบโตของลูกน้อย ดังนั้นจึงถือเป็นเรื่องปกติ รวมถึงไม่ได้เป็นสัญญาณอันตรายของความผิดปกติร้ายแรงแต่อย่างไร และเด็กมักจะหยุดแสดงปัญหาบุคลิกภาพไปเองเมื่อโตขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เว้นเสียแต่ว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นผลหรือเป็นสาเหตุของปัญหาทางร่างกายหรือจิตใจ อีกทั้งยังอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้เช่นกัน
ปัญหาบุคลิกภาพของเด็ก
บุคลิกภาพของเด็ก ที่ดูเป็นปัญหาและสามารถพบได้มากที่สุดทั้งในเด็กและวัยรุ่น มีดังต่อไปนี้
-
ลูกชอบกัดเล็บ
รวมถึงการแคะเล็บ งานวิจัยคาดคะเนไว้ว่าประมาณร้อยละ 30 ถึงร้อยละ 60 ของเด็กและวัยรุ่นเคยมีประสบการณ์กัดและเคี้ยวเล็บจากนิ้วมือมากกว่า 1 นิ้ว นอกจากนี้เด็กบางคนอาจกัดเล็บเท้าด้วยเช่นกัน เด็กทั้งผู้ชายและผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อพฤติกรรมการกัดเล็บตั้งแต่ยังเล็กในอัตราที่ใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กโตขึ้น เด็กผู้ชายจะมีแนวโน้มการกัดเล็บที่สูงกว่า
-
ชอบม้วนผมเล่น
เด็กที่ชอบม้วน ลูบ และดึงผมนั้น ส่วนใหญ่มักเป็นเด็กผู้หญิง โดยพฤติกรรมการม้วนชอบผมเล่นอาจปรากฏในช่วงแรกเริ่มของวัยเด็ก ซึ่งอาจเป็นสาเหตุอันจะนำไปสู่พฤติกรรมการดึงผม ทั้งประเภทถอนและไม่ถอนผม ทั้งนี้ พฤติกรรมชอบม้วนผมเล่นหรือการดึงผมของเด็ก มักจะหายไปเองเมื่อเด็กโตขึ้น แต่หากพฤติกรรมดังกล่าวยังคงอยู่ การปรับปรุงพฤติกรรมอย่างง่ายๆ จะช่วยให้เด็กสามารถกำจัดปัญหาบุคลิกภาพไปได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กที่เริ่มแสดงพฤติกรรมการม้วน ลูบ และดึงผมเมื่อค่อนข้างโตหรือเป็นวัยรุ่นแล้ว การแก้ไขปัญหาก็จะยากขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งยังอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า รวมถึงโรคย้ำคิดย้ำทำ
อ่านต่อ >> “ปัญหาบุคลิกภาพของเด็ก (แคะจมูก, ดูดนิ้ว)” คลิกหน้า 2
-
ลูกชอบแคะจมูก
พฤติกรรมการแคะจมูกนั้น แม้ว่าจะเริ่มต้นในช่วงวัยเด็ก แต่ก็สามารถสืบเนื่องต่อไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ได้ โดยสถิติหนึ่งในปี ค.ศ.1995 ระบุว่าประมาณร้อยละ 91 ของผู้ใหญ่แคะจมูกเป็นประจำ อีกทั้งร้อยละ 8 ของจำนวนดังกล่าวยังรายงานว่าได้รับประทานสิ่งที่ตนเองแคะออกมาด้วย
-
ลูกชอบดูดนิ้ว
เนื่องจากเมื่อครั้งยังเป็นทารก นิ้วหัวแม่มือเป็นนิ้วที่สัมผัสกับปากเด็กมากที่สุดในขณะที่เด็กดูดนม ดังนั้น โดยปกติแล้ว เด็กจึงนิยมดูดนิ้วหัวแม่มือเป็นหลัก ทั้งนี้ เด็กที่ดูดนิ้วส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็ก ซึ่งอาจเริ่มได้ตั้งแต่อายุประมาณ 2-4 ขวบ เด็กบางคนอาจดูดนิ้วอื่นๆ ดูดมือ หรือดูดทั้งกำปั้น โดยบางคนจะแสดงพฤติกรรมดังกล่าวร่วมกับการดูดนิ้วหัวแม่มือ หรือบางคนอาจจะแสดงพฤติกรรมดังกล่าวแทนการดูดนิ้วหัวแม่มือ ซึ่งเหตุผลในการดูดนิ้วของเด็กส่วนใหญ่คือ เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ แต่หากลูกชอบดูดนิ้วบ่อยจนเกินไปทั้งที่อายุเกิน 4-5 ขวบไปแล้วอาจหมายถึงปัญหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับฟัน เช่น ฟันบนและฟันล่างเหลื่อมกัน (Overbite) หรือนิ้วติดเชื้อ รวมไปถึงการถูกล้อเลียนจนขาดความมั่นใจ
ทั้งนี้ยังมีปัญหาบุคลิกภาพของเด็กอื่นๆ ยังได้แก่ การกัดฟัน การโขกศีรษะ กัดริมฝีปาก การทำเสียงจากลำคอ เป็นต้น
สาเหตุของปัญหาบุคลิกภาพของเด็ก
ปัญหาบุคลิกภาพของเด็กๆ เหล่านี้ ถือเป็นพฤติกรรมที่สามารถทำให้เด็กรู้สึกดีได้ในทางใดทางหนึ่ง ดังนั้น เด็กจึงกระทำต่อเนื่องจนติดเป็นนิสัย ซึ่งความเคยชินเหล่านี้อาจช่วยเด็กในการแก้ไขปัญหา แต่ก็สามารถอาจก่อให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน พฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่งสำหรับเด็กที่รู้สึกเบื่อ
- สำหรับเด็กส่วนใหญ่แล้ว มักเป็นกลไกในการผ่อนคลายความกังวล ซึ่งเป็นผลมาจากประสบการณ์ตรงของเด็ก เพราะฉะนั้นเด็กจึงสร้างพฤติกรรมการกัดเล็บหรือม้วนผมเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ที่ตึงเครียดในลักษณะเดียวกับที่ผู้ใหญ่ระบายความเครียดด้วยการออกกำลังกาย ในทางกลับกัน เด็กบางคนแสดงพฤติกรรมดังกล่าวเมื่อรู้สึกผ่อนคลาย เช่น เมื่อกำลังจะหลับ หรือกำลังฟังเพลงสบายๆ
- มาจากพฤติกรรมสืบต่อจากช่วงวัยทารก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูดนิ้ว ซึ่งเป็นพฤติกรรมการผ่อนคลายตนเองของเด็ก อีกทั้งยังมีความเชื่อมโยงกับความรู้สึกพึงพอใจที่ได้จากการดูดนม ดังนั้น พฤติกรรมการดูดนิ้วจึงสามารถพบได้ทั่วไป ด้วยเพราะช่วยมอบความรู้สึกทางด้านบวกให้แก่เด็ก
- อาจเกิดจากครอบครัว โดยมีงานวิจัยกล่าวว่าพฤติกรรมการกัดเล็บมีความสัมพันธ์กับปัจจัยทางพันธุกรรม หรือแม้กระทั่งมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เด็กเห็นจากการสังเกตพฤติกรรมของคนในครอบครัว เพราะฉะนั้นหากในครอบครัวมีคนที่ชอบกัดเล็บ หรือมีประวัติการกัดเล็บ เด็กก็อาจมีปัญหาบุคลิกภาพตามไปด้วย อีกสาเหตุหนึ่งของปัญหาบุคลิกภาพของเด็ก ได้แก่ การพยายามเรียกร้องความสนใจจากผู้ปกครอง โดยหากเด็กรู้สึกว่าเมื่อใดผู้ปกครองมีท่าทีไม่ใส่ใจพวกเขา เด็กจะแสดงพฤติกรรมดังกล่าวให้ผู้ปกครองเห็น ทั้งนี้เพราะเด็กรู้ว่าจะเป็นการกระตุ้นผู้ปกครองให้มาสนใจ พร้อมทั้งว่ากล่าวตักเตือนหรือห้ามปรามพวกเขาไม่ให้กระทำพฤติกรรมดังกล่าว
อ่านต่อ >> “วิธีช่วยเหลือหรือแก้ไข ปัญหาบุคลิกภาพของลูก” คลิกหน้า 3
พ่อแม่จะช่วยเหลือหรือแก้ไข ปัญหาบุคลิกภาพของลูก ได้อย่างไร?
แม้ว่า ปัญหาบุคลิกภาพของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นการกัดเล็บ การม้วนผม การแคะจมูก และการดูดนิ้ว มักจะหายไปเมื่อเด็กเข้าสู่วัยเรียน เนื่องจากเด็กไม่ต้องการกระทำพฤติกรรมดังกล่าวอีกต่อไป หรือเด็กโตเกินกว่าจะแสดงพฤติกรรมดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ตาม หากผู้ปกครองไม่อยากให้เด็กมีปัญหาบุคลิกภาพ สามารถช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาบุคลิกภาพของเด็กได้ ดังนี้
- ชี้ให้เด็กเห็นถึงปัญหาบุคลิกภาพที่ไม่พึงประสงค์อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยสามารถใช้วิธีนี้ได้กับเด็กตั้งแต่อายุ 3-4 ขวบ เพื่อช่วยให้เด็กตระหนักถึงปัญหาพฤติกรรมของตนมากยิ่งขึ้น เมื่อเด็กแสดงปัญหาบุคลิกภาพ พ่อแม่อาจจะเริ่มจากการทักถึงพฤติกรรมดังกล่าว พร้อมกับกระตุ้นให้เด็กหยุดการกระทำนั้นโดยการขอความร่วมมือจากเด็ก ที่สำคัญหากเด็กยังคงแสดงปัญหาบุคลิกภาพต่ออีก พ่อแม่ก็ไม่ควรดุ วิพากษ์วิจารณ์ สั่งสอน หรือใช้วิธีการเด็ดขาด เช่น การลงโทษลูก เพราะอาจทำให้ปัญหาแย่ลงไปกว่าเดิมอีก
- ให้ลูกมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาบุคลิกภาพ โดยหากลูกกลับบ้านมาแล้วร้องไห้เพราะถูกเพื่อนล้อเลียนเรื่องพฤติกรรมการดูดนิ้วของตนเอง พ่อแม่ควรรับรู้ว่าลูกกำลังต้องการความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นพ่อแม่จึงควรถามลูกถึงวิธีการที่ลูกคิดว่าจะสามารถช่วยให้เขาหยุดพฤติกรรมดังกล่าวได้ หรือก่อนอื่นอาจจะถามถึงความสมัครใจว่าลูกอยากหยุดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์หรือไม่ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กได้คิด ตริตรอง และแสดงความมุ่งมั่น จากนั้นพ่อแม่ควรช่วยกันคิดหาทางออกของปัญหาบุคลิกภาพ โดยให้ลูกมีส่วนร่วมด้วย
- แนะนำพฤติกรรมหรือกิจกรรมอื่นให้แก่ลูก เช่น หากเห็นว่าลูกกำลังกัดเล็บ แทนที่จะห้าม พ่อแม่อาจจะชักชวนให้ลูกสะบัดมือไปมา ซึ่งวิธีการนี้จะช่วยให้ลูกตระหนักถึงพฤติกรรมของตนเองมากยิ่งขึ้น และจะเป็นสิ่งเตือนใจให้เด็กหยุดเมื่อเผลอกระทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ดังกล่าว นอกจากนี้พ่อแม่อาจหากิจกรรมให้ลูกทำ เพื่อให้เด็กได้จดจ่อกับสิ่งอื่นแทนการหมกมุ่นกับพฤติกรรมการกัดเล็บ ม้วนผม แคะจมูก หรือดูดนิ้ว เช่น ให้ลูกเป็นผู้ช่วยในการประกอบอาหาร หรือให้ลูกทำงานศิลปะ เป็นต้น
- ตัดปัญหาที่ต้นเหตุ เช่น หากเด็กมีพฤติกรรมการกัดเล็บ พ่อแม่ก็ควรตัดเล็บของลูกให้สั้น หรือให้ลูกทาโลชั่นชนิดไม่มีสารพิษที่มือบ่อยๆ ซึ่งนอกจากจะเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กกัดเล็บแล้ว ยังช่วยให้เด็กมีผิวพรรณชุ่มชื้น โดยผู้ปกครองอาจสนับสนุนให้เด็กทาโลชั่นหลังล้างมือทุกครั้งด้วยก็ได้
- ให้รางวัลและชื่นชมการควบคุมตนเองของลูก เช่น อนุญาตให้ลูกสาวใช้ยาทาเล็บถ้าลูกสามารถไว้เล็บให้ยาวได้ หรือหากลูกสามารถยับยั้งการดูดนิ้วได้ พ่อแม่อาจกระตุ้นให้ลูกมีพฤติกรรมทางบวกด้วยการชมเชย หรือให้รางวัลเล็กๆ น้อยๆ
- หมั่นสังเกต พร้อมทั้งให้รางวัลและชมเชยลูกอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพราะหากพ่อแม่ไม่สังเกตเห็นในเวลาที่ลูกแสดงพฤติกรรมในทางบวก ทำให้พลาดการให้รางวัลหรือคำชมเชยแก่เด็ก ในกรณีนี้ พฤติกรรมที่พึงประสงค์ที่กำลังเกิดขึ้นในเด็กก็อาจจะหายไป แล้วลูกก็อาจจะกลับไปมีปัญหาบุคลิกภาพดังเดิม ทั้งนี้เพราะพฤติกรรมที่พึงประสงค์ควรได้รับการกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ จนกว่าพฤติกรรมไม่พึงประสงค์จะค่อยๆ ลดและหายไป
ในการแก้ไข ปัญหาบุคลิกภาพของเด็ก นอกเหนือจากการตักเตือนอย่างอ่อนโยนและคำชมเชย สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ “เวลา” การจะเปลี่ยนนิสัยซึ่งเป็นความเคยชินของเด็ก จำเป็นต้องให้เวลาพวกเขาค่อยๆ ปรับตัว แล้วจึงแทนที่ด้วยลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์ ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องอดทน แล้วในท้ายที่สุดทุกอย่างย่อมผ่านไปได้ด้วยดี
อย่างไรก็ตามหาก ปัญหาบุคลิกภาพของเด็ก กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง และเด็กไม่มีท่าทีว่าจะหายขาดจากพฤติกรรมดังกล่าว ผู้ปกครองจำเป็นต้องหาสาเหตุของปัญหาของลูกให้พบ และควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการประเมินสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไข
ขอบคุณข้อมูลจาก : taamkru.com