ลูกวัยอนุบาลชอบเล่นกับผู้ใหญ่ค่ะ คนโปรดเลยคือพ่อแม่ แต่เขาก็ควรได้โอกาสเตรียมตัวฝึกทักษะสังคมเพิ่มขึ้น จะช่วยให้เรียนรู้ว่าเมื่อไปที่อื่นนอกจากบ้านแล้ว เขาไม่ได้ใหญ่อยู่เพียงคนเดียว การจะเล่นให้สนุกบางทีก็ต้องผลัดกัน เปลี่ยนกัน รอกัน จะช่วยลดความวิตกกังวลและความเครียดได้เมื่อถึงเวลาไปโรงเรียนจริงๆ
ส่วนการจะไปร่วมกลุ่มกับเด็กที่ไหนขึ้นอยู่กับความพร้อมทั้งของลูกและคุณค่ะ ประเด็นสำคัญอยู่ที่เด็กวัยนี้เริ่มต้นเข้าสังคมหรือผูกมิตรกับใครไม่เป็น และถ้าปล่อยเขาเล่นกับเด็กเล็กหรือเด็กวัยเดียวกัน โดยไม่มีผู้ใหญ่อยู่ด้วย ลองคิดภาพตามนะคะ เด็กเล็กที่ต่างมีตัวเองเป็นศูนย์กลาง (ฉันใหญ่ที่สุดในบ้าน) แถมทักษะการพูดก็ยังไม่แข็งแรง ภาพในหัวคุณคือเด็กน้อยผลัดกันเล่น แบ่งกันถือ เธอเล่นอันนี้ ฉันเล่นอันนี้ก็ได้จริงหรือค่ะ
เรามี 10 คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยให้พ่อแม่พาลูกวัยอนุบาลไปเล่นกับเด็กอื่น แบบสนุกและได้เรียนรู้มาฝากค่ะ
1. ลูกพร้อมหรือยัง:คุณอาจได้เจอครอบครัวที่น่ารัก พ่อแม่ที่คุยกันถูกคอในสนามเด็กเล่น คุณจัดสรรเวลาได้ แต่ไปลองเล่นแล้ว ลูกน้อยก็พร้อมใช้ห้าเล็บข่วนหน้าเพื่อนใหม่เวลาไม่ได้ดังใจ อย่างนี้คือพ่อแม่พร้อม แต่ลูกอาจยังไม่พร้อมนัก คำแนะนำคือ อย่าเพิ่งฝืนพาเขาไป เพราะถ้าลูกยังไม่พร้อมกับการมีเพื่อน การเล่นรวมกลุ่มจะกลายเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีฝังใจเขาไปจนโตได้ ที่สำคัญคุณแม่ยังจะปวดหัวมากๆที่ต้องคอยห้ามทัพลูกทุกวี่วัน
2. พักเบรกสักนิด: การเล่นเป็นงานที่หนักสำหรับมนุษย์ตัวเล็กๆ ทำให้เขาสูญเสียพลังได้มากแต่ก็ทำเจ้ามนุษย์จิ๋วลืมหิวไปชั่วขณะได้ แนะนำให้คุณแม่พกขนมติดกระเป๋า หรือถ้าให้ดีก็นัดแนะกับคุณพ่อคุณแม่บ้านอื่นด้วย เพื่อกำหนดเวลาพักเบรกอย่างเป็นเรื่องเป็นราว ให้เจ้าตัวเล็กเติมพลังแล้วค่อยกลับไปเล่นใหม่
3. อย่าลืมของเล่นสุดเจ๋ง: การแบ่งปันของเล่นเป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยให้การเล่นรวมกลุ่มของเด็กๆ เป็นไปอย่างราบรื่น และได้เรียนรู้ เช่น เป็นการทลายกำแพงระหว่างเด็กที่ขี้อายด้วย หรือกับเด็กที่หวงของสุดฤทธิ์ แม้อาจต้องใช้เวลาหน่อย แต่วิธีนี้จะช่วยให้เขาเห็นว่าของเล่นจะกี่ชิ้นก็ไม่สำคัญเท่ากับการเล่นกันหลายคนสนุกกว่าเล่นคนเดียวเยอะมากกก…
ดังนั้นของเล่นที่จะติดมือไปสนามเด็กเล่นหรือที่บ้านใคร ควรเลือกประเภทที่เล่นได้หลายๆคนค่ะ
4. เตรียมเกมไปเผื่อ:เพราะความสนใจและสมาธิของเด็กวัยอนุบาลยังสั้นอยู่ ถ้าลูกเริ่มหมดความสนใจกับการเล่นวิ่งไล่จับ ถ้าเตรียมตัวไปก็ไม่ต้องกลัวหมดมุก งูกินหาง ลิงชิงบอล วิ่งเปี้ยว เล่นกลางแจ้งเหนื่อย ก็มาพักทำกิจกรรมในร่ม วาดรูประบายสีสลับไปก็ยังได้ ความสนุกจะช่วยให้คุณผูกมิตรกับพ่อแม่และเด็กๆ บ้านอื่นได้ง่ายด้วย
5. ชวนเล่นแปลงร่าง: “แปลงร่าง” เป็นการเล่นจินตนาการที่โดนใจเด็กทุกยุค เพราะใครๆก็อยากเป็นซูเปอร์ฮีโร่หรือเจ้าชายเจ้าหญิงกันทั้งนั้น สำคัญตรงที่ก่อนแปลงร่าง ให้เด็กๆ หาฮีโร่ของตัวเองให้ได้“แปลงร่าง” ก็จะเป็นทางออกที่ดี เวลาเด็กๆ ต่างไม่ยอมกัน
6. จัดปาร์ตี้เครื่องดื่ม: เป็นวิธีทำความรู้จักกับครอบครัวอื่นๆอย่างไม่เคอะเขินระหว่างนั่งรอเจ้าตัวเล็กเล่นสนุกกับเพื่อนๆ (เมื่อเด็กๆ พอจะรู้วิธีเล่นแบบสงบได้ระยะเวลาหนึ่ง จากที่ทะเลาะทุกสองนาที) คุณก็ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเรื่องพัฒนาการหรือวิธีการเลี้ยงดูลูกในแบบฉบับของแต่ละบ้านอีกด้วย
7. นานไปไม่เหมาะ: ระยะเวลารวมกลุ่มสำหรับเด็กเล็กๆแค่วันละ 20-30 นาทีก็เพียงพอแล้ว ระยะเวลานานเกินไป เด็กๆ อาจเหนื่อย หิว ง่วง ความสนใจลดลง เป็นสาเหตุให้เกเรกันมากกว่าสนุก แต่ถ้าเด็กที่โตหน่อยหรือผ่านการเล่นรวมกลุ่มมาสักระยะหนึ่งแล้วก็อาจจะขยายเวลาเป็น 45-60 นาทีหรือสังเกตจากความสนใจของลูกคุณก็ได้
8. ชวนกันมาเล่นที่บ้าน:เมื่อได้ทำความรู้จักคุ้นเคยกันมาสักระยะ จะเปลี่ยนมาเล่นที่บ้าน เด็กๆ ก็ได้พัฒนาทักษะสังคมไปอีกขั้น และเด็กๆ ยังอยู่ในสายตาของคุณตลอดเวลามั่นใจเรื่องความปลอดภัยอีกด้วย
9. ปล่อยวางเรื่องความสะอาด: เมื่อเล่นนอกบ้านคุณไม่สามารถควบคุมเรื่องความสะอาดได้เลย กฎคือต้องอดใจปล่อยวางเรื่องความสะอาด ลูกกำลังจะเล่นแล้วคุณคอยขัดจังหวะเพราะกลัวจะเลอะเทอะ การเรียนรู้ของเขาก็จะไม่ต่อเนื่อง ที่สำคัญยังทำให้ลูกรู้สึกสูญเสียความมั่นใจอีกต่างหาก
10. ใจเย็น ยิ้มเข้าไว้: เด็กแต่ละบ้านแตกต่างกันนี่เป็นกฎอีกข้อเมื่อพาลูกไปเล่นนอกบ้าน จึงเป็นไปได้สูงที่เด็กบางคนอาจจะเล่นกับลูกคุณแรงไปจนทำให้คุณอดโมโหไม่ได้ แต่ถ้าลูกคุณยังสนุกอยู่หรือไม่มีท่าทีว่าเจ็บตัวเท่าไหร่ ควรปล่อยผ่านยิ้มเข้าไว้ อย่าเพิ่งทำลายบรรยากาศแสนสนุกของเด็กๆ คุณสามารถคุยกับพ่อแม่ของเด็กคนนั้นในภายหลัง หรือแม้แต่คุยกับลูกของคุณก็ยังได้
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง