– พกรายการคำถามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอ่อนเลข หรือปัญหาเรื่องการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ คุณกังวลเกี่ยวกับเรื่องอะไรของลูกบ้าง ก็จดไว้ล่วงหน้าเลย จะได้ไม่ลืมคุยหรือถามครูเมื่อถึงเวลา
– ทำใจกว้างเข้าไว้ ข้อสังเกตบางอย่างของคุณครูอาจทำให้คุณประหลาดใจ แต่ต้องพยายามรับฟังเอาไว้ก่อน เพราะความประพฤติที่บ้านของลูกอาจต่างจากความประพฤติที่โรงเรียนก็ได้ และอาจขอตัวอย่างจากคุณครู เช่น ถามว่า “ที่คุณครูบอกว่าลูกดิฉันชอบเล่นแรงๆตอนพักกลางวันน่ะค่ะ ช่วยอธิบายได้มั้ยคะว่าเขาทำอย่างไรบ้าง”
– พกคำแนะนำของคุณครูกลับบ้านด้วย ทั้งเรื่องการเตรียมตัวสอบ การช่วยลูกเรื่องการบ้าน และการปรับปรุงทักษะการเข้าสังคมของลูก
– กลับไปเล่าให้ลูกฟัง บางโรงเรียนก็ให้เด็กเข้าพบคุณครูพร้อมกับผู้ปกครองด้วย แต่ถ้าโรงเรียนที่ลูกคุณเรียนอยู่ไม่ได้มีนโยบายแบบนี้ คุณก็เล่าให้เขารับรู้ด้วยเลยว่าพูดถึงเขาในเรื่องอะไรกันบ้าง (อย่าลืมคำชมจากคุณครูล่ะ!)
คุณครูพูดแบบนี้ หมายความว่า…
คุณครูพูดว่า: “ลูกคุณมีความสามารถมากกว่าที่เห็นนะคะ”
เธอหมายความว่า: “ทุกวันนี้เขาพยายามเรียนแค่พอผ่านเท่านั้นเอง”
คุณครูพูดว่า: “เราต้องเน้นเรื่องทักษะการเข้าสังคมและปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆค่ะ”
เธอหมายความว่า: “ลูกคุณมีปัญหาเรื่องการผูกสัมพันธ์กับเพื่อนๆ”
คุณครูพูดว่า: “ที่บ้านต้องช่วยเสริมทักษะด้านการเรียนด้วยค่ะ”
เธอหมายความว่า: “กรุณาช่วยลูกเตรียมตัวสอบด้วย เพราะเขายังทำเองไม่ได้เลย”
คุณครูพูดว่า: “ลูกคุณไม่ค่อยกระตือรือร้นสักเท่าไรนะคะ”
เธอหมายความว่า: “เขามีส่วนร่วมในชั้นเรียนน้อยมาก ในขณะที่เพื่อนๆแย่งกันซักถามอย่างสนใจ”
คุณครูพูดว่า: “เขาต้องใช้ความพยายามในการอ่านอยู่เหมือนกันนะคะ”
เธอหมายความว่า: “ถ้าไม่อยากให้มีปัญหาเรื่องการอ่านตอนขึ้นชั้นประถม คุณต้องช่วยลูกและให้เขาฝึกทักษะนี้บ่อยๆด้วย”
บทความโดย: กองบรรณาธิการนิตยสารเรียลพาเรนติ้ง